วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566

สิ่งศักดิ์สิทธิ์


สังคมไทยจะเอาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้?

เราพูดกันว่าสังคมไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลานี้อาจจะต้องถามว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก หรือนับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก?

.

.... “สิ่งหนึ่งที่ขอย้ำเสมอในขณะนี้คือ สภาพความคิดความเชื่อของผู้คน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่อง“รากฐานของสังคม” สภาพความคิดความเชื่อของสังคมเป็นตัวบ่งชี้ถึงชะตากรรมของสังคมด้วย

.

.... ได้เคยเสนอว่า เวลานี้สังคมไทยมีสภาพอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ ความแพร่หลายของ“ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์” โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสังคมมาก จะปล่อยทิ้งให้คลุมเครืออยู่ไม่ได้ แต่เราก็ปล่อยกันมานานแล้ว 

.

.... การพัฒนาสังคมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของ“ปัญญา” ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่มีความชัดเจน ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเทพเจ้าและไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่พร่ามัว เราจะจมอยู่กับความไม่ชัดเจน และความคลุมเครือกระนั้นหรือ?

.

.... จริงอยู่ คนเรานั้นจะให้รู้ชัดเจนในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เราได้พยายามแสวงหาความชัดเจนหรือไม่ หรือยอมอยู่ภายใต้อำนาจความคลุมเครือ และความพร่ามัวนั้น สิ่งสำคัญคือ อย่างน้อยเราจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยจะเอาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ควรจะนำมาพูดจาถกเถียงกันให้ชัดเจน มิฉะนั้น สังคมไทยจะอยู่ด้วยความพร่ามัวและความคลุมเครือเหล่านี้เรื่อยไป สังคมที่ไม่มีความชัดเจนและพร่ามัวนั้นพัฒนาได้ยาก ฉะนั้นอย่าได้ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย มันมีความสำคัญมาก

.

.... ความเชื่อถือและปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้า ผีสาง อิทธิ ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไสยศาสตร์ อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของผู้อื่น หรือหวังพึ่งปัจจัยภายนอก การหวังพึ่งความช่วยเหลือของผู้อื่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหวังพึ่งคนมีอำนาจ หรือหวังพึ่งอำนาจลี้ลับก็ตาม ก็มีผลทำนองเดียวกัน คือทำให้อ่อนแอลงและเพาะนิสัยประมาท

.

.... แม้แต่ในกรณีที่ควรมีการช่วยเหลือกันตามบทบาทหน้าที่ (โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ เช่น ผู้ปกครองกับราษฎร) ถ้าอำนาจดลบันดาลภายนอกนั้นให้ความหวังเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่คลุมเครือ มีขอบเขตไม่ชัดเจนว่า..ฝ่ายที่ช่วยจะช่วยแค่ไหน และฝ่ายถูกช่วยจะต้องทำเองเท่าใด จะเกิดภาวะรีๆ รอๆ ครึ่งๆ กลางๆ จะทำอะไรก็ไม่ทำ การช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้เป็นโทษมาก ถ้าให้รู้แน่นอนลงไปว่าไม่มีใครช่วย จะดีกว่า คนที่รู้ชัดว่าไม่มีใครช่วย และจะต้องช่วยตัวเองอย่างเดียวแน่นอน แม้แต่สิ้นไร้ที่สุดก็จะดิ้นสุดฤทธิ์ เขาจะเข้มแข็งขึ้นมาและก้าวต่อไปได้ ดีกว่าคนที่มิใช่จะยากไร้นักหนา แต่มัวรีรอหันรีหันขวางอยู่กับความหวังที่ไม่ชัดเจน

.

.... เราพูดกันว่าสังคมไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลานี้อาจจะต้องถามว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก หรือนับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก ขยายความอีกหน่อยก็ได้ว่า เวลานี้เรานับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก และเอาไสยศาสตร์เป็นส่วนประกอบ หรือว่านับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก และเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบ ถ้าตั้งคำถามอย่างนี้อาจจะมีข้อพิจารณาที่ชัดเจนมากขึ้น

.

.... ลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมที่อยู่ใต้อำนาจครอบงำของความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ก็คือ นอกจากความพร่ามัว และคลุมเครือแล้ว ยังมีการหวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย คนไทยจำนวนมากเวลานี้หวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย โดยเฉพาะจากไสยศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่ชัดเจน จะเอาแน่ลงไปก็ไม่ได้ จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่เชิง พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ของสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญก็คือการมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะมีจริงหรือเป็นจริง เราก็ไม่หวังพึ่ง”

.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

*****


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น