วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

สงบเรียบง่าย..

 

#วิถีของสมณะ กับ #ฆราวาส


วิถีของสมณะ ความสงบ

ความเรียบง่าย.. เป็นวิถีอันประเสริฐ

ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะนักบวชบรรพชิตเท่านั้น

ญาติโยมก็สามารถดำเนินในวิถีของสมณะได้


ความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ

กินใช้สอยแต่น้อยเท่าที่จำเป็น

ไม่มักมาก ไม่ปรารถนามาก ไม่เป็นผู้โอ้อวด


เราเกิดขึ้นมาในยุคของทุนนิยม

ซึ่งสื่อกระแสโลกต่าง  ๆ ก็กระตุ้น

..ให้เราเป็นผู้มักมาก

..เป็นผู้มีความทะยานอยากมากอันไม่มีที่สิ้นสุด

..แข่งเด่นแข่งดีสารพัดสารเพ

ก็ทำให้ถูกความทุกข์บีบคั้นมาก

ที่ต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่าง ๆ อันไม่มีที่สิ้นสุด


เต็มไปด้วยหนี้สิน ปัญหาชีวิตต่าง ๆ

เคยรู้สึกเหนื่อยไหม ?

กับการดิ้นรนต่อสู้ชีวิตอันไม่มีที่สิ้นสุด

หลายคนก็ดิ้นจนตายเปล่านั่นหละ

เข้าใจว่าต้องมีทุกอย่าง 

ชีวิตเราถึงจะมีความสุขได้


ก็เรียกว่า ถูกโลกย้อมจิตย้อมใจ

ให้เราหลงไปแบบนั้น แท้ที่จริงแล้ว

ความสุขมันไม่ได้อยู่ที่ภายนอกที่ไหนเลย

มันอยู่ภายในใจของพวกเราทุกคนนี่เอง


ไม่มีเงินก็มีความสุขได้ ไม่มีรถก็มีความสุขได้

อยู่ป่าอยู่โคนไม้ก็มีความสุขได้

เพราะว่า ความสุขมันอยู่ภายในใจของเรา

มันไม่ได้ต้องไปดิ้นรนแสวงหาสิ่งใด ๆ ภายนอก


ความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ

ใช้แต่น้อย กินน้อย ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น

ตามมีตามได้ พึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมี

เราจะปลดภาระลงได้มากทีเดียว

ชีวิตเราจะเบาสบาย ปลอดโปร่งโล่งใจ

ปลดกิจภาระอันรกรุงรังทั้งหลายทั้งปวงลงได้มาก


ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนัก

บุคคลนั่นแหละผู้แบกของหนักพาไป

หลง ยึดมั่นมาก.. ก็ทุกข์มาก

หลงติดอยู่กับวังวนของโลกสมมุติมายา

อันไม่มีสาระแก่นสารเช่นนี้


โลก คือ มายาที่ปรุงแต่งหลอกลวงอันไม่มีที่สิ้นสุด

มันมีอะไรบ้างในโลกใบนี้ ที่เป็นแก่น เป็นสาระ

สุดท้ายมันก็ต้องสลายตัวไปหมด ทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นเอง

มันเป็นมายา ให้เราหลงติดข้องอยู่เท่านั้น

เราก็จมติดอยู่กับวังวนแห่งสังสารวัฏอยู่ร่ำไป


ความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ

ความเป็นผู้สงบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

เราเข้าใจว่า เราต้องมีเพื่อนฝูง มีสังคม

ยิ่งต้องมีเพื่อนฝูง ก็ต้องมีการแก่งแย่งแข่งขันกันมาก


แต่งตัวโทรม ๆ แต่งตัวปอน ๆ ..ก็กลัวน้อยหน้า

มีรถเก่า ๆ ..ก็กลัวน้อยหน้า

ทั้งที่ก็ขับไปได้เหมือนกัน ต้องรถหรู ต้องรถแบรนด์

เสื้อผ้าหน้าผม เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ก็ต้องเป็นแบรนด์

..กลัวน้อยหน้า ก็ต้องดิ้นรนไปสิ

หาเงินหาทองอันไม่มีที่สิ้นสุด


บางคนมักมาก ทะยานอยากมาก

ก็หลงผิดศีลผิดธรรม เพื่อให้ได้มา

เพื่อสนองความต้องการของตนเอง


ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์บ้าง

ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ทุจริตบ้าง

ประพฤติผิดในกามบ้าง

พูดปดมดเท็จบ้าง.. ก็ยิ่งเพิ่มความหนัก

เพิ่มภาระอันใหญ่หลวงให้แก่ตนเอง


นอกจากทุกข์ในปัจจุบันแล้ว

ก็เป็นภาระต่อไปในภายภาคหน้า

ชีวิตหลังความตาย ก็จะทุกข์กว่านี้อีกมากทีเดียว

ความหนักก็จะดึงให้เราจมลงไปสู่อบายภูมินั่นเอง


ผู้ที่เห็นโทษของสิ่งเหล่านี้

ก็ปลดภาระลงเสีย ดำเนินในวิถีของสมณะนี่หละ

เป็นผู้ที่เบาสบาย ไม่แบกภาระหนักเดินไป


การที่เราจะเดินในวิถีที่ถูกต้อง ต้องตัวเบานะ

ถ้าเราแบกสัมภาระตัวหนักไปมาก..

เราจะเดินไปได้สักกี่น้ำ

ไม่ช้าก็ต้องท้อใจ หลุดออกไปนอกเส้นทางนั่นเอง


แต่ถ้าเราปลดภาระหนักลงเสียได้

เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษ

เป็นผู้สงบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

เป็นผู้ปรารภความเพียร

ด้วยความที่เรามีกิจธุระน้อย มีภาระน้อย

..สิ่งยึดโยงน้อย ..สิ่งติดข้องน้อย

..สิ่งห่วงหาอาลัยอาวรณ์น้อย


ก็จะทำให้เรามีเวลาให้กับการปฏิบัติได้มากขึ้น

ให้เวลากับการปฏิบัติ ซึ่งเป็นแก่นเป็นสาระได้มากขึ้น

เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้มีสติตั้งมั่น มีจิตมั่นคง

เป็นผู้มีปัญญา


หนทางดำเนินในวิถีของสมณะ

คือ "หนทางอันประเสริฐ"


..เป็นหนทางที่เบาสบาย

..เป็นหนทางที่สงบเย็น ปลอดโปร่งโล่งใจ

จิตใจไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย

ไม่ทุรนทุราย ไม่ต้องเจอความเครียด

ความกังวล ความบีบคั้นต่าง ๆ

มีชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุขได้ในปัจจุบันธรรม


ถ้าฝึกตั้งแต่เด็ก.. ก็สงบเย็นตั้งแต่เด็ก

พบหนทางตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่ม..

ก็สงบเย็นตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่ม

พบตอนโต.. ก็สงบเย็นตอนโต

พบเมื่อไหร่ ดำเนินเมื่อไหร่..

ก็สงบสุข สุขใจเมื่อนั้น


จิตใจที่มีความเย็น มีความสบาย 

ไม่ต้องเร่าร้อน ไม่ต้องหิวกระหาย

ไปกับกระแสของโลกอันไม่มีที่สิ้นสุดนี้

เข้าถึงความสุข ความสงบ

ระงับจากภายใน มีความสุข มีความวิเวกอยู่


ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"รสพระธรรม ชนะรสทั้งปวง"

"สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี"

"ความสงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นสุข"

"พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง"


ใคร ๆ ก็ชอบรสอร่อย อาหารเลิศรส

สรรหารสต่าง ๆ มาเสพ

แต่รสเหล่านั้นน่ะ.. สุขน้อย ของหยาบ

แฝงไปด้วยความทุกข์มาก

โทษภัยตามมาก็มากเหลือเกิน


แต่รสพระธรรม..

รสแห่งความสงบวิเวก ประณีต

ไม่มีโทษภัย มีแต่ความชุ่มเย็น


เมื่อท่านทั้งหลายเข้าถึงสิ่งนี้

เข้าถึงธรรมะเป็นหลักของใจซะแล้ว

การดำเนินชีวิตของท่านทั้งหลายจะเปลี่ยนไป

ทุกอย่างจะเรียบง่าย มีแต่ความสงบระงับ

มีแต่ความเบาสบาย มีแต่ความปลอดโปร่ง โล่งใจ


ก้าวเดินไปตลอดวิถีทางอันประเสริฐนี้

พบกับความสุขในปัจจุบัน ความสุขในสัมปรายภพ

และสามารถหลุดพ้นจากเภทภัยในวัฏสงสารทั้งปวง


ไม่ต้องกลับมาพบกับ..

ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอีกต่อไป

กลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ

พบกับความสงบสุขที่แท้จริง

คือ พระนิพพาน ได้

.


ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร

4 ธันวาคม 2564

*****

Cr. https://www.facebook.com/707600716067818/posts/2103140459847163/

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

มรณานุสติ

 

ในการเจริญมรณสติ เราไม่ได้ห้ามความคิด แต่จะฝึกคิดอย่างเป็นระเบียบในกรอบที่กำหนดไว้ เราจะปล่อยให้จิตพิจารณาข้อธรรมไปทีละข้อ อารมณ์กรรมฐานในตอนนี้คือ ความคิดที่ต่อเนื่องอย่างมีทิศทาง เราเริ่มเจริญสมาธิโดยพิจารณาความตายแบบกว้างๆ จากนั้นค่อยน้อมเข้ามาสู่ตัว การน้อมพิจารณาสัจธรรมแห่งความตายเข้าสู่จิตใจจะช่วยให้การปฏิบัติธรรมของเราลุ่มลึกขึ้น 


การพิจารณาความตายจะทำให้เกิดมุมมองใหม่อันสงบเย็นต่อความผันผวนของชีวิต ช่วยให้ปล่อยวางสิ่งที่ชวนให้ว้าวุ่นและเลิกผัดวันประกันพรุ่ง เนื่องจากเราตระหนักได้ว่า “ความตายกำลังคืบคลานมาสู่เราในชาตินี้ ชีวิตนี้อย่างหลีกไม่พ้น” 


หลักพิจารณากว้างๆ บางประการเมื่อเริ่มภาวนาอาจมีดังนี้

ทุกคนล้วนต้องตาย สรรพสัตว์ที่เกิดมาและยังจะเกิดอีกย่อมตายหรือจะต้องตายอย่างแน่นอน

กายมนุษย์เปราะบางนัก เหตุแห่งความตายนั้นมีมากมายนานัปการ

ความตายเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา และทุกขณะ


เมื่อน้อมเข้ามาพิจารณาตนเอง อาจระลึกตามนี้ว่า

อายุขัยของเราหดสั้นลงทุกลมหายใจ

ความตายกำลังคืบคลานมาสู่เราโดยแน่แท้

เมื่อความตายมาถึง ทรัพย์สินเงินทองหรือความสำเร็จใดๆ ก็ช่วยอะไรเราไม่ได้

เมื่อความตายมาถึง คนที่เรารักก็ช่วยอะไรเราไม่ได้

เมื่อความตายมาถึง มีธรรมะเท่านั้นที่จะช่วยเราได้ 


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

******

Cr. https://www.facebook.com/318196051622421/posts/4775931539182161/

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2565

ศีล....

 #ปุจฉา : 

การที่ผมไม่สามารถรักษาศีลได้ครบ 

ผมดื่มบ่อย ผิดศีลข้อ 5 เป็นประจำ 

มีส่วนที่ทำให้การปฏิบัติ

พัฒนาไปได้ช้า หรือไม่ครับ?

.

#วิสัชนา : 

การปฏิบัติ…ถ้าดำเนินในวิถีที่ถูกต้อง 

ก็เรียกว่า ต้องเป็นผู้ที่ละการเบียดเบียนทั้งปวงนั่นเอง 


คำสอนของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์

จึงเริ่มต้นจากการละความชั่วทั้งปวง 

ทำความดีให้ถึงพร้อม แล้วจึงจะชำระจิต

ให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ 


#ศีล ย่อมเป็นบาทฐานอยู่แล้วนะ

ศีลเหมือนแผ่นดิน ถ้าเราไม่มีบาทฐาน

กุศลธรรมต่าง ๆ มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้เลย 


เวลาเราทำการเบียดเบียนต่อตัวเองและผู้อื่น

ผิดศีลผิดธรรม…มันก็เหมือนไฟที่กำลังเผาป่านี่แหละ 

พอไฟมันเผาป่า แป๊บเดียว ป่ามันวอดวายไปหมดเลย  


แต่เวลาเราทำกุศลธรรม 

มันเปรียบเหมือนเราปลูกป่านั่นแหละ 

โห…กว่าป่ามันจะโต

กว่าต้นไม้แต่ละต้นที่เราปลูก

มันจะโตนี่ มันใช้เวลานาน 


แต่พอเราจุดไฟเผานี่

แป๊บเดียวมันราบเป็นหน้ากลอง


ถ้าอย่างนั้นน่ะถามว่า…

ถ้าเราจะให้ป่ามันเต็มน่ะ เราต้องทำอะไรก่อนล่ะ? 

ต้องหยุดเผาก่อน หยุดการเบียดเบียนทั้งปวง 

หยุดความชั่วทั้งปวงให้ได้ก่อน 

วางศาสตราวุธ การเบียดเบียนทั้งหลายทั้งปวง 

ผิดศีลผิดธรรมต้องวางก่อน  


มันเหมือนเผาไฟในป่านั่นแหละ 

ต่อให้เราเพียรปลูกป่าเท่าไหร่ 

ถ้าเรายังไม่หยุดเผาไฟ มันก็ไม่เหลืออะไรหรอก 

วิบากรรมทุกอย่าง มันก็จะพา..

ให้เราพัดพาไปตามทิศทางต่าง ๆ นั่นเอง


เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม ต้องเริ่มต้นจาก..

ทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อน มี…สัมมาทิฏฐิ

พอเข้าใจถูก ก็จึง…ดำริถูก

ดำริออกจากกามคุณอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง 

ดำริในการไม่เบียดเบียน 

ดำริในการไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 


การดื่มสุราเมรัยน่ะ 

มันเป็นการเบียดเบียนตัวเองอยู่แล้ว 

ยิ่งถ้าดื่มจนเมามาย ศีลที่เหลือมันรักษาไม่ได้หรอก 

มันเมา มันขาดสติ มันหลงไปทำอะไรบ้างก็ไม่รู้


เพราะฉะนั้น ก็ต้องเริ่มจากการหยุดการเบียดเบียนให้ได้ก่อน 

มีความอ่อนโยนต่อตนเอง สงสารตัวเองบ้าง ว่า..

ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ไปน่ะ โทษที่ได้รับมันไม่คุ้มกันเลยทีเดียว 


วางของร้อน ของหนักลง… 

ให้โอกาสตัวเองได้เข้าถึงธรรมชาติที่บริสุทธิ์ 

เข้าถึงความสงบของจิตใจ 

อ่อนโยนต่อตนเอง อ่อนโยนต่อผู้อื่น 

ดำริจากการไม่เบียดเบียน ดำริในการไม่พยาบาท 

เมื่อดำริถูก ก็ก้าวเดินปฏิบัติให้ถูกต้องนั่นเองนะ  


เพราะฉะนั้น ให้ทำความเข้าใจ… 

การผิดศีล มันเหมือนเราเผาป่านั่นแหละ 

ส่วนการทำกุศลธรรม มันเหมือนเราปลูกต้นไม้ 

เราจะให้ป่ามันงาม เราต้องหยุดเผาก่อน

เราถึงจะมีโอกาสปลูก แล้วให้มันโตได้นั่นเอง

.


ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร

13 มกราคม 2565

******

Cr. https://www.facebook.com/707600716067818/posts/2096500563844486/

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565

อยู่กับปัจจุบัน 💕💕💕💕💕

 



ฉันเคยเชื่อว่าเวลาสามารถรักษาบาดแผลทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ที่จริงแล้ว การพาใจตัวเองกลับมาอยู่กับเวลาในปัจจุบันได้ต่างหากคือยารักษาโรคที่ดีที่สุด

..

พี่คนหนึ่งที่มักจะอยู่กับโลกปัจจุบันเสมอบอกฉันเป็นนัย ๆ ว่า ช่วงเวลาในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีเสน่ห์ เป็นช่วงเวลาที่เราได้สัมผัสสิ่งสวยงามที่มันเกิดขึ้น ณ เวลานั้น ถ้าอยากสัมผัสกับปัจจุบันให้ลึกซึ้งที่สุดคือการให้เวลาตัวเองได้อยู่กับความเงียบ และเราจะได้ยินเสียงของปัจจุบันมากขึ้น

..

ฉันเข้าใจเองว่า เสียงของปัจจุบัน มันก็เป็นเสียงธรรมดาในชีวิตที่เราอาจจะหลงลืมมันไป เสียงของลมพัดใบไม้ เสียงนกร้อง เสียงของแมลง น่าจะเป็นเสียงที่เราไม่ได้สังเกต ไม่ได้ใส่ใจฟัง จนเรากลับมาอยู่ในโลกปัจจุบัน เราถึงเพิ่งรู้สึกตัวว่าเสียงธรรมดาที่เราได้ยินอยู่ทุกวันมันเป็นเสียงของ “การมีชีวิตอยู่”

..

การรู้สึกตัวทุกขณะว่าห้วงเวลา ณ ปัจจุบัน เป็นโลกที่มีความหมายกับชีวิต ค่อย ๆ พาใจตัวเองเดินทางกลับมาอยู่กับโลกปัจจุบัน รับรู้ถึงความงามของปัจจุบันนั้น เราจะพบว่าการได้มีชีวิตอยู่ และได้สัมผัสกับความเงียบบ้าง เพื่อฟังเสียงของปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง เพียงแค่นี้ในหนึ่งวันของชีวิตก็มีคุณค่ามากมายแล้ว

..

#เสียงของปัจจุบัน #Wednesdayvibes