วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จิตเป็นธาตุรู้


.......
    คำว่า จิต นี้เป็นภาษาบาลี มีคำเรียกสิ่งที่เป็น จิตใจ อีก ๒ คำ คือ วิญญาณ มโน หรือ มนะ  คำว่า จิต วิญญาณ มโน ทั้งสามนี้เอามาใช้ในภาษาไทย จนคนไทยได้ยินได้ฟังและเข้าใจในคำภาษาไทยว่า ใจ แต่ว่ามีความหมายต่างกันตามที่ใช้ในภาษาธรรม
     ในภาษาธรรมนั้นส่วนใหญ่
     คำว่า จิต ใช้หมายถึงตัว ธาตุรู้ ที่เป็นภายใน  
     คำว่า วิญญาณใช้หมายถึงวิญญาณในขันธ์ ๕ ที่เป็นขันธ์ข้อที่ ๕ วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน เกิดความรู้คือเห็นรูปขึ้น ก็เรียกว่า จักขุวิญญาณ รู้ทางตา ดั่งนี้เป็นต้น
     คำว่า มโน นั้นใช้เป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖  คือ ตา หู จมูกลิ้น กายและมโนหรือมนะ คือใจ อันเป็นอายตนะข้อที่ ๖
    ในพระสูตรที่ ๒ ของพระพุทธเจ้า คืออนันตลักขณสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยลักษณะคือเครื่องกำหนดหมายขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน ก็ทรงแสดงขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธฺ กองเวทนา วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ว่าเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน และเมื่อผู้พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา พร้อมทั้งเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็หน่ายในขันธ์ ๕ หน่ายในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็สิ้นกำหนัด ติดยินดี และเมื่อสิ้นติดใจยินดี จิตก็วิมุติ คือ หลุดพ้น จากอาสวกิเลสเป็นเครื่องดองจิตทั้งหลาย อันนี้แสดงว่า จิต ต่างจากวิญญาณ จิต นั้นจะเป็นผู้ที่วิมุตติหลุดพ้น
      ในพระสูตรที่ ๓ อาทิตตปริยายสูตร พระสูตรที่แสดงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ซึ่งสิ่งทั้งปวงนั้นก็ทรงยกเอาอายตนะภายในภายนอก  อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและ มนะ คือใจ ว่าเป็นของร้อน ร้อนด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ร้อนด้วยความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศรก เป็นต้น และเมื่อเห็นว่าเป็นของร้อน จิตก็หน่าย เมื่อหน่ายก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดี จิต ก็วิมุตติหลุดพ้นเช่นเดียวกัน
       ก็แสดงว่า วิญญาณ ก็ดี มโนก็ดี เป็น สังขาร คือ สิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งต้องเป็นอนัตตาและต้องเป็นของร้อนดังกล่าว เพราะฉะนั้น จึงต่างกับคำว่า จิต
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ จิตวิญญาณในพระพุทธศาสนา พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช)
******

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น