วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สิริมงคลของชีวิต


       ชีวิตของทุก ๆ คนที่ผ่านพ้นไปในรอบปีหนึ่ง ๆ นับว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง เมื่อถึงวันเกิด บรรดาผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาจึงถือเป็นปรารภเหตุทำบุญน้อยหรือมาก เพื่อฉลองอายุที่ผ่านมาและเพื่อความเจริญอายุ พร้อมทั้งวรรณะ สุขะ พละ ยิ่งขึ้น
       ความเจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นพรที่ทุก ๆ คนปรารถนา แต่พรเหล่านี้หาได้เกิดขึ้นด้วยลำพังความปรารถนาเท่านั้นไม่ ย่อมเกิดจากการทำบุญ ฉะนั้น คนไทยเราส่วนมากจึงยินดีในการทำบุญ และยินดีได้รับพรอนุโมทนาจากพระสงฆ์หรือผู้ใหญ่ ยินดีประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในที่สุดแห่งการทำบุญ ถือว่าเป็นสิริมงคล
       พิจารณาดูพฤติกรรมในเรื่องนี้โดยตลอดแล้ว จะเห็นว่าพึงเป็นสิริมงคลจริง เพราะสาระสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าได้ทำบุญแล้ว คำอวยพรต่าง ๆ จึงตามมาทีหลัง สนับสนุนกันให้จิตใจมีความสุขขึ้นในปัจจุบันทันที ความสุขอันบริสุทธิ์นี้แหละคือบุญดังมีพุทธภาษิตตรัสไว้แปลความว่า " ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข " หมายถึงความสุขที่บริสุทธิ์ คือความสุขอันเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์ ซึ่งก็เรียกว่าบุญเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แปลความว่า " ผู้ที่ได้ทำบุญไว้บันเทิงเบิกบานเพราะเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตน ผู้ที่ทำบาปไว้อับเศร้า เพราะเห็นความเศร้าหมองแห่งกรรมของตน "
       อันกรรมบริสุทธิ์เกิดจากจิตใจที่บริสุทธิ์ เพราะสงบความโลภโกรธหลง ประกอบด้วยธรรมมีเมตตากรุณาเป็นต้น จะเห็นได้จากจิตใจของผู้ที่ได้ทำการบริจาคในการบุญต่าง ๆ ของผู้รักษาศีลและอบรมจิตใจกับปัญญา ใคร ๆที่เคยทำทาน รักษาศีล และอบรมจิตกับปัญญาดังกล่าว ย่อมจะทราบได้ว่ามีความสุขอย่างไร
       ตรงกันข้ามกับจิตใจที่เร่าร้อนจากกิเลสต่าง ๆ และแม้จะได้อะไรมาด้วยกิเลสมีความสุขตื่นเต้น ลองคิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเป็นความสุขจอมปลอม เพราะเป็นความสุขของคนที่หลงไปแล้ว เหมือนความสุขของคนที่ถูกเขาหลอกลวงนำไปทำร้าย ด้วยหลอกให้ตายใจด้วยเครื่องล่ออย่างใดอย่างหนึ่ง คนที่ตายใจเสียเพราะเหตุนี้คือคนที่ประมาทไปแล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า " คนประมาทเหมือนคนตาย " ไม่อาจจะเห็นสัจจะคือความจริงตามธรรมของพระพุทธเจ้า อาจคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ อย่างที่คิดว่าตนฉลาด ไม่มีอะไรจะช่วยบุคคลประเภทนี้ได้   นอกจากการทำบุญ   เพราะการทำบุญทุกครั้งไปย่อมเป็นการฟอกชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นทุกที เหมือนอย่างการอาบน้ำชำระร่างกาย ซึ่งทำให้ร่างกายสะอาดสบาย เมื่อจิตใจมีความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นตามสมควรแล้ว จะมองเห็นได้เองว่า ความสุขที่บริสุทธิืแท้จริงนั้นเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น   จะได้ปัญญาซาบซึ้งถึงคุณพระทั้งสามว่า..... " ความเกิดขึ้นของพระพุทธคุณทั้งหลายให้เกิดสุขจริง การแสดงพระสัทธรรมให้เกิดสุขจริง ความพร้อมเพรียงของสงฆ์คือหมู่ให้เกิดสุขจริง ความเพียรของหมู่ที่พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุขจริง "
         ผู้ที่มีจิตใจ กรรม และความสุขที่บริสุทธิ์ดังนี้ ชื่อว่าผู้มีบุญอันได้ทำแล้วในปัจจุบัน เป็นผู้มีความมั่นคงในตนเองอย่างที่ใคร ๆ หรืออะไรจะทำลายมิได้ และจะเจริญพร คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ยิ่ง ๆ ด้วยเดชบุญ..
*******
จากหนังสือ โลกและชีวิตในพุทธธรรม พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศ
********

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระวรคติธรรม


...ผู้เป็นคนดีย่อมสามารถฝึกตนไปสู่ความดีงามได้ นำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ และสามารถนำผู้อื่นไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ด้วย  ท่านจึงกล่าวว่า...ตนที่ฝึกดีแล้วย่อมเป็นเครื่องยังชีวิตให้สว่าง
...ทำดีแล้วต้องได้ดีเสมอไป ทำดีไม่ได้ดีไม่มีอยู่ในความจริง มีอยู่แต่ในความเข้าใจผิดของคนทั้งหลายเท่านั้น ทำดีแล้วต้องได้ดีแน่นอนเสมอไป ที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ นา ๆ ปรากฏขึ้น เหมือนทำดีไม่ได้ดีนั้นเป็นเพียงปรากฏสลับซับซ้อนแห่งการให้ผลของกรรมเท่านั้น เพราะกรรมนั้นไม่ได้ให้ผลทันตาทันใจเสมอไป แต่ถ้าเป็นเรื่องภายในใจแล้ว กรรมให้ผลทันทีที่ทำแน่นอน เพียงแต่ว่าบางทีผู้ทำไม่สังเกตด้วยความปราณีตเพียงพอจึงไม่รู้เห็น ขอให้สังเกตใจตนให้ดีแล้วจะเห็นว่าทันทีที่ทำกรรมดีผลจะปรากฏขึ้นในใจเป็นผลดีทันทีทีเดียว
...คำนินทาใด ๆ ไม่อาจทำให้คนดีเป็นคนไม่ดีไปได้ คนจะดีก็เพราะกรรม คนจะเลวก็พราะกรรม หาใช่ดีเพราะสรรเสริญ หรือเลวเพราะนินทาก็หาไม่...
พระวรคติธรรม  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

********
จากหนังสือ จิตตนคร  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
*********

วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ลม..


.....ฯลฯ......

...หน้าที่ของเราในการทำสมาธิมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
     ๑.รู้ลมเข้า ออก
     ๒.รู้จักปรับปรุงลมหายใจ
     ๓.รู้จักเลือกลมอย่างใหนสบายอย่างใหนไม่สบาย
     ๔.ใช้ลมที่สบายสังหารเวทนาที่เกิดขึ้น
...ลม เป็นชีวิตของกาย สติเป็นชีวิตของใจ
...ลม ปราบเวทนา สติ ปราบนิวรณ์
...ลม เหมือน สายไฟ 
   สติ เหมือน ดวงไฟ
   ถ้าสายไฟดี ดวงไฟก็สว่างแจ่ม
.....ฯลฯ......
จากหนังสือ เรื่องของลม พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม
*******

วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กรรมฐานอยู่ที่ใหน


...เหตุใด จึงเรียกว่า " กรรมฐาน "
    คำว่า " กรรมฐาน " คือที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต กรรมฐานนี้มี ๒ อย่าง ประกอบด้วยสมถกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐาน  สมถะเป็นบัญญัติ วิปัสสนาเป็นปรมัตถ์  บัญญัติอยู่ที่ใหน สมถะกรรมฐานอยู่ที่นั่น ปรมัตถ์อยู่ที่ใหน วิปัสสนาอยู่ที่นั่น 
    คำว่า " สมถะ " เป็นมรดกของใคร ก็ตอบได้ว่าเป็นมรดกของพวกอาภัสราพรหม ซึ่งติดมากับอภัสราพรหมตั้งแต่เริ่มมาถือปฏิสนธิเป็นโอปปาติกะในโลกยุคแรกโน้นแล้ว  สมถะทั้ง ๓๖ ประเภท มีมาตั้งแต่นั้น  แต่พระพุทธเจ้าทรงเพิ่มเติมอีก ๔ ประการ คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ และอุปสมานุสสติ จึงเป็นสมถกรรมฐาน ๔๐ ประการ
   หากถามว่า " วิปัสสนากรรมฐานเป็นมรดกของใคร " ก็ตอบได้ว่า " เป็นมรดกของพระพุทธเจ้า " เพราะพระองค์ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง วิปัสสนากรรมฐานเกิดเฉพาะในยุคที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เท่านั้น หากพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก คำว่า " วิปัสสนากรรมฐาน " ก็ไม่มี..
......ฯลฯ.......
( จากหนังสือ ทางเดินสู่พระนิพพาน หลวงพ่อธี วิจิตฺตธมฺโม เขียน พระมหายาจินต์ ธมฺมธโร แปล )
***********


วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กลิ่นศีล


*****
    วันหนึ่ง พระอานนทเถระอยู่ในที่อันสงัดในเวลาเย็นคิดว่า พระพุทธเจ้าเคยทรงแสดงกลิ่นของไม้ไว้ ๓ อย่าง คือ กลิ่นที่เกิดจากดอก เกิดจากแก่น และเกิดจากราก กลิ่นเหล่านั้นฟุ้งไปตามลมได้เท่านั้น ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นอะไรหนอที่ฟฟุ้งไปทวนลมได้ ท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามข้อสงสัย
    พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาพระอานนทเถระ โดยใจความพระพุทธพจน์ว่า
    " อานนท์ หญิงหรือชายก็ตามถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เว้นปาณาติบาท อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมรัย  เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ยินดีในการจำแนกทาน มีอัธยาศัยน้อมไปในทางเสียสละ คนเช่นนี้ย่อมได้รับการกล่าวสรรเสริญจากสมณพราหมณ์ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลาย กลิ่นแห่งความดีของเขาย่อมฟุ้งไปได้ทั้งตามลมและทวนลม "
    ดังนี้แล้ว ได้ตรัสคาถาแปลความว่า
   " กลิ่นดอกไม้ลอยไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นจันทร์ กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นกะลำพัก ก็ลอยทวนลมไม่ได้ ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ ลอยไปทวนลมได้ เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปได้ทุกทิศ บรรดากลิ่นหอมทั้งหลาย เช่น กลิ่นของไม้จันทน์ กฤษณา อุบล และมะลิ เป็นต้น  กลิ่นแห่งศีลเป็นเยี่ยม " (อัง.เอก-ติก.๒๐/๕๑๙/๒๙๐)
******
(จากหนังสือ โลกสงบร่มเย็นด้วยศีล โดย สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร)
                                                   

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เมื่อเห็นผิด...


ภาพจาก http://www.vet4polyclinic.com/th/article.aspx?id=86

       " พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ท่านเห็นไหมว่าเมื่อตอนเย็นวันนั้น หมาป่าตัวหนึ่งมันเดินอยู่ที่นี่ เห็นไหม มันจะยืนอยู่มันก็เป็นทุกข์ มันจะวิ่งไปมันก็เป็นทุกข์ มันจะนั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ มันจะนอนอยู่ก็เป็นทุกข์ จะเข้าไปอยู่ในถ้ำก็ไม่สบาย มันก็เป็นทุกข์ เพราะมันเห็นว่า การยืนอยู่นี้ไม่ดี การนั่งไม่ดี การนอนไม่ดี พุ่มไม้นี้ไม่ดี โพรงไม้นี้ไม่ดี ถ้ำนี้ไม่ดี มันก็วิ่งอยู่ตลอดเวลานั้น ความเป็นจริงหมาป่าตัวนั้นมันเป็นขี้เรื้อน มันไม่ใช่เพราะพุ่มไม้นั้น หรือโพรงไม้ หรือถ้ำ หรือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันไม่สบายเพราะมันเป็นขี้เรื้อน "
        ภิกษุทั้งหลายก็เหมือนกัน ความไม่สบายนั้นความเห็นผิดมีอยู่ ไปยึดธรรมที่มีพิษไว้มันก็เดือดร้อน ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย แล้วไปโทษแต่สิ่งอื่น ไม่รู้เรื่องของเจ้าของเอง  ไปอยู่วัดหนองป่าพงก็ไม่สบาย ไปอยู่อเมริกาก็ไม่สบาย ไปอยู่กรุงลอนดอนก็ไม่สบาย ไปอยู่วัดป่าบุ่งหวายก็ไม่สบาย ไปอยู่ทุกๆสาขา ก็ไม่สบาย ที่ไหนก็ไม่สบาย นี่ก็คือความเห็นผิดนั้นยังมีอยู่ในตัวเรานั่นเอง มีความเห็นผิดไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมอันมีพิษไว้ในใจของเราอยู่ อยู่ใหนก็ไม่สบายทั้งนั้น  นั่นคือเหมือนกันกับสุนัขนั้น ถ้าหากโรคเรื้อนมันหายแล้ว มันจะอยู่ตรงไหนมันก็สบาย อยู่กลางแจ้งมันก็สบาย อยู่ในป่ามันก็สบาย เรานึกอยู่บ่อย ๆ แล้วเราก็นำมาสอนพวกท่านทั้งหลายอยู่เรื่อย เพราะธรรมตรงนี้มันเป็นประโยชน์มาก... ฯลฯ..." (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
*******
จากหนังสือ ปฏิบัติกันเถิด " สัมมาทิฏฐิที่เยือกเย็น " พระธรรมเทศนา ของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
*******



*****
หลวงพ่อชา " ปฏิบัติกันเถิด" (คลิก)

*****
ผู้เข้ากันโดยธาตุ(คลิก)

******

วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ใจเป็นนาย...


       การบริหารจิต ก็คือการรักษาคุ้มครองจิต การฝึกฝนอบรมจิต หรือการทำจิตให้สงบ ให้สะอาดปราศจากความวุ่นวายเดือดร้อน ให้เข้มแข็ง ให้มีสุขภาพจิตดีและให้นำมาปฏิบัติใช้งานได้ดี พูดง่าย ๆ ก็คือการพัฒนาจิตนั่นเอง
     ประเทศชาติที่ได้รับการบริหารดี ได้รับการพัฒนาแล้วย่อมเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง ประชาชนในประเทศนั้นย่อมอยู่ดีกินดี มีความสงบสุขได้ฉันใด จิตที่บริหารดีแล้วพัฒนาแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือย่อมมีความเกษมสงบสุข
      ทุกคนที่เกิดมาล้วนแต่รักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้นและความสุขที่มนุษย์ต้องการนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ
        ๑.ความสุขทางกาย
        ๒.ความสุขทางใจ
      ความสุข ๒ อย่างนี้ ต้องอาศัยกันและกันคือ กายเป็นสุขแล้ว ก็จะทำให้ใจเป็นสุขด้วย หรือถ้าใจเป็นสุขแล้ว ก็จะทำให้กายเป็นสุขด้วย เช่นเดียวกับเรื่องของความทุกข์ เพราะกายกับจิตมีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้พระพุทธศาสนาจะยอมรับความสุขทั้งสองอย่างนี้ แต่ก็ยกย่องว่าจิตประเสริฐกว่ากาย เพราะกายรวมทั้งสมองเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิต จิตเป็นผู้นำ ดังพุทธภาษิตที่ว่า " มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า " คือ การทำทุกอย่างของคนเรานั้น มีใจเป็นผู้นำหรือผู้สั่งการทั้งสิ้น ส่วนกายนั้นเป็นเสมือนคนรับใช้เท่านั้น ดังสุภาษิตไทยที่ว่า " ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว "  และทางพระพุทธศาสนายกย่องความสุขทางใจดีกว่าความสุขอย่างอื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า " นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุข๋ " ซึ่งแปลว่า " ความสุขอย่างอื่นที่จะยิ่งกว่าความสงบไม่มี " นี้ก็แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การบริหารหรือการพัฒนาจิต
      แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า ทั้ง ๆ ที่จิตสำคัญกว่ากาย แต่คนเราก็เอาใจใส่กายและบำรุงร่างกายมากกว่าการเอาใจใส่จิตหรือการพัฒนาจิตของตน เช่น รับประทานอาหารวันละ ๓ ครั้ง อาบน้ำวันละ ๒ ครั้ง และยังมีเสื้อผ้าเครื่องประดับให้กับกาย นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายด้วยการบริหารกาย เช่น ด้วยการเล่นกีฬา และการเดิน เป็นต้น แม้ยารักษาโรค มนุษย์ก็มุ่งรักษาโรคกายเป็นส่วนใหญ่  แต่ปล่อยจิตของตนไว้ให้เศร้าหมอง สกปรก ขุ่นมัว ไม่ค่อยได้รับการบริหาร ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
      เพราะเหตุที่มนุษย์ปล่อยปละละเลยจิตของตน ไม่ให้ความสำคัญในการฝึกฝน ไม่บริหารจิตนี้เอง จึงปรากฏว่ามีคนในโลกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่จิตใจกับอ่อนแอ ไร้สมรรถภาพ เช่น ขี้กลัว ขี้โกรธ ตกใจง่ายหรือเป็นโรคประสาท เป็นต้น  ซึ่งก็ไม่อาจจะพบความสุขที่สมบูรณ์ได้ แม้จะมีเงินทองทรัพย์สินสมบัติและเกียรติยศชื่อเสียงก็ตาม เพราะจิตใจไม่ได้รับการบริหาร เป็นจิตที่อ่อนแอ ทำให้โรคคือกิเลสจับได้ง่าย โดยเฉพาะกิเลสประเภทนิวรณ์ ซึ่งเป็นตัวการขัดขวางการพัฒนาจิตเป็นอย่างมาก คือเป็นกิเลสที่กีดกันมิให้ใจมีความสงบสุขได้ แต่ทำให้เดือดร้อน หม่นหมอง หาความสุขได้ยาก เพราะจิตใจอ่อนแอขาดการบริหารนั่นเอง
       ฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงมีวิธีฝึกจิต บริหารจิตของตน เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมมีคุณภาพสูง ทั้งก่อให้เกิดความสุขแก่เจ้าของและสังคมส่วนรวมได้มาก
      .............
       การฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนา เรียกกันว่า จิตตภาวนาหรือการทำกรรมฐาน เป็นความสุขที่สงบเยือกเย็น ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร  เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยกามคุณทั้ง ๕ คือ ไม่ต้องอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย ซึ่งความสุขชนิดนี้ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า " นิรามิสสุข " คือ ความสุขที่ไม่ต้องอิงอามิสคือกามคุณ จัดเป็นความสุขที่แท้จริง.....
    ..............
(จากหนังสือ การบริหารจิต โดย พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ ป.ธ. ๙,ศน.บ.M.A. วัดโสมนัสวิหาร )
********





********
จิต (คลิก)

*****
ใจ - ใจ - ใจ (คลิก)

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อุปาทาน


" อุปาทาน " เปรียบเหมือนงูที่แสวงหาเหยื่อ ในขณะที่จับกบได้และคาบไว้ในปาก เพื่อจะกลืนกินเป็นอาหารของตน ยากที่จะบังคับให้งูนั้นปล่อยกบออกจากปากได้  ฉันใด อุปาทาน ก็ยึดมั่น ถือมั่นในกามคุณอารมณ์ และในภพต่าง ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน..
  อุปาทาน  แปลว่า ยึดมั่นอารมณ์ หมายความว่า ยึดมั่นอยู่ในกามคุณอารมณ์ ยึดมั่นอยู่ในกามภพ อรูปภพ ในขณะที่กำลังปรากฏเป็นอุปัตติภพของตน มี ๔ คือ  ๑. กามุปาทาน  ความยึดมั่นในกาม ยินดีในกาม 
         ( *** กาม ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ กาม เป็นภาษาบาลี มี ๒ ความหมาย คือ
           (๑) กิเลสกาม คือ ความติดใจ หรือรุนแรงถึงขั้นอยากได้ในวัตถุกาม..
           (๒) วัตถุกาม  คือ วัตถุที่มีลักษณะ ๖ อย่าง คือ ๑.อิฏฐา(น่าปรารถนา) ๒.กันตา(น่าใคร่ ๓.มนาปา(ถูกใจ) ๔.ปิยรูปา (น่ารัก) ๕.กามูปสัญหิตา(ประกอบด้วยกาม) ๖.ระชะนียา (ยั่วยวนชวนให้ชอบมาก)***จากหนังสือ เทคนิคเพิ่มสุข  โดย ภิกษุณีรุ้งเดือน นันทญาณี)
           ๒. ทิฏฐุปาทาน  ความยึดมั่นในทิฎฐิ
           ๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในการปฏิบัติผิด
           ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัว เป็นตน

  (จาก หนังสือ เพชรในดวงใจ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)


วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ครูแห่งแผ่นดิน


ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน




************
๕ ธันวาคม ๕๗ " เทิดไท้พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน "
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 
๘๗ พรรษา 




*****

*****



*****

(คลิกบนภาพ )
*****




*****
ทุ่งมะขามหย่อง (คลิก)


วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ขนสมบัติ..ลอยน้ำทิ้ง


เนรัญชรา  พุทธคยา อินเดีย
....ฯลฯ.....
ขน"สมบัติของคนบ้า"ลอยน้ำทิ้ง 
       หลังจากที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระอุรุเวลกัสสปะจึงเรียกบริวารทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย ชฏิล ๕๐๐ คนแต่เดิมนั้น เรียกว่า "คนบ้า" คือเป็นคนบ้าเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ทิฐิ มานะ รวมเรียกว่า กิเลส ๑๐ ประการ " บริขารเครื่องมือเครื่องใช้ของชฏิลทั้งปวงที่เคยมีมาและยังคงอยู่ตามกุฏิ ศาลาที่พักต่าง ๆ นั้น จงนำไปลอยทิ้งเสียให้หมด จากนั้น พระอรหันต์ผู้เป็นบริวารของท่าน จึงได้พากันเก็บสมบัติของคนบ้าเหล่านั้นไปลอยทิ้ง สมบัติเหล่านั้นประกอบด้วย 
         ๑.ม้วนสายสิญจน์ สำหรับทำขวัญ
         ๒.ม้วนสายสิญจน์ สำหรับทำเทียนโชคลาภเครื่องรางของขลัง
         ๓.ม้วนสายสิญจน์ สำหรับไว้โยงรอบบ้านกันผี กันภัย
         ๔.ม้วนสายสิญจน์ สำหรับผู้ข้อมือและห้อยคอ
         ๕.ธงผ้าขาว ผ้าแดง ร่ม ห่อชา ยาเส้น สำลี หมากกล้วยมะพร้าว ข้าวเปลือก ข้าวสาร สำหรับไว้ทำเครื่องไหว้ครู
         ๖.ลูกประคำคล้องคออยู่ก็ปลดออก และที่เก็บไว้ในย่ามในถังต่างๆ ก็เก็บทิ้ง
         ๗.กระป๋องและถัง สำหรับเก็บบริขารเหล่านั้น
         ๘.บาตรหรือขัน สำหรับทำน้ำมนต์
         ๙.มัดหญ้าคา สำหรับทำน้ำมนต์
        ๑๐.กระดานพร้อมทั้งเครื่องขีดเขียน สำหรับเขียนคำนวณทายทักดวงชะตา ทำยันต์
        ๑๑.ไม้บรรทัด สำหรับวัดทำตารางยันต์ และดวง
        ๑๒.ขี้ผึ้ง สำหรับทำเทียนโชคลาภ โชคชะตา
        ๑๓.ไม้พันเทียน สำหรับทำเทียน
        ๑๔.หม้อข้าวหม้อแกง
        ๑๕.มีด พร้า จอบ เสียม
        ๑๖.เครื่องบด เครื่องปั็มและแบบ สำหรับทำเครื่องรางของขลังวัตถุมงคล ทำเหรียญพระราชา และรูปเทพเจ้าต่าง ๆ
       "สิ่งของเหล่านี้ จงนำไปลอยน้ำเสียให้หมด" พระผู้เป็นบริวารก็พากันนำไปใส่เรือลอยน้ำไป 
         ขณะนั้น คยากัสสปะ ผู้เป็นน้องซึ่งมีอาศรมอยู่ริมแม่น้ำพร้อมบริวาร ๓๐๐ รูป ได้พบเห็นบริวารเหล่านั้นลอยมา จึงกล่าวกับบริวารว่า " ท่านอุรุเวลกัสสปะผู้พี่เป็นอะไรไปไม่รู้จึงนำเอาบริขารสิ่งของทั้งปวงใส่เรือลอยน้ำมา ไป ไป พวกเราขึ้นไปหา เกิดอะไรขึ้นกับพี่เราไม่รู้ "  จากนั้น พวกเขาจึงพากันไปที่อาศรมของพระอุรุเวลกัสสปะ เมื่อไปถึงก็พบว่า ท่านเหล่านั้นมีอาการลักษณะไม่เหมือนวันก่อน ๆ ตือมีความสงบเงียบเป็นพิเศษ ทุกรูปพากันนั่งสงบนิ่ง ณ พระพักตร์  พวกเขาจึงทูลถามว่า " เกิดอะไรขึ้นพระเจ้าข้า" พระพุทธองค์จึงทรงแสดง"อนัตตา"ให้ฟัง เมื่อฟังจบลงก็บรรลุเป็นอรหันต์ทั้งหมด
          หลังจากที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจึงกลับไปที่อาศรมแล้วนำเอา สมบัติของคนบ้า ๑๖ ชนิดดังกล่าว ใส่เรือลอยน้ำไป ...
          นทีกัสสปะพร้อมบริวาร ๒๐๐ รูป ได้พบเห็นแล้วคิดว่า "สมบัติเหล่านี้เป็นของชฏิลผู้พี่ ๒ รูป พร้อมด้วยบริวารจำนวน ๘๐๐ รูป พวกเขาประสบเหตุใดกันหนอ จึงพากันทิ้งลอยน้ำมาเช่นนี้  มาเถิดพวกเราเดินทางไปดูให้เห็นกับตา " 
          เมื่อเดินทางมาถึงก็พบว่าชฏิลทั้ง ๘๐๐ รูป บวชเป็นพระภิกษุพากันนั่งสงบเย็นอยู่อย่างนั้น จึงทูลถามเรื่องนี้กับพระพุทธองค์ 
          พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องความเป็นมาทั้งหมดแล้ว แสดงอนัตตาให้ฟัง นทีกัสสปะพร้อมด้วยบริวารรวม ๒๐๐ รูปก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วขนสมบัติคนบ้า ๑๖ ชนิดนั้น ทิ้งลอยน้ำไปพร้อมกับกล่าวว่า " สมบัติของคนบ้ากิเลส บ้าโลภะ บ้าโทสะ บ้าโมหะ จงลอยตามน้ำไปเสียเถิด"
           ..........           
            สมบัติบ้าเหล่านั้นก็ลอยตามน้ำไป ชาวบ้านและพราหมณ์ไปพบเห็นเข้าจึงพากันเก็บเอาไปใช้ต่อกันอย่างแพร่หลาย ความเชื่อในสมบ้ติบ้าเหล่านี้กระจายไปอย่างกว้างขวางจนกระทั่งมาถึงเมืองไตและเมือง....
           ...........
          พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมคือ อนัตตา ครั้งที่สาม โปรดชฏิล ๓ พี่น้อง จบลงแต่เพียงนี้....
           ............
....จากหนังสือ อนัตตาสุดยอด  หลวงพ่อธี วิจิตฺตธมฺโม เขียน พระมหายาจินต์ ธมฺมธโร ป.ธ.๙ สส.ม. แปล
*********

*****

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

" อนัตตา "

เนรัญชรา พุทธคยา อินเดีย
*****
.... ฯลฯ ......
     พระพุทธเจ้า เสด็จไปแสดง " อนัตตา " โปรดชฏิลตระกูลกัสสปะ
      เวลาตอนพลบค่ำของวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ พระพุทธองค์เสด็จถึงอุรุเวลาเสนานิคมอันเป็นที่อยู่ของชฏิล ๓ พี่น้อง แล้วตรัสว่า  " อุรุเวลกัสสปะ เราขอพักแรม ณ ที่นี้ด้วย "
      ท่านอุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า " ใครหรือบังอาจมาเรียกเราด้วยชื่อ ไม่เคยมีใครเรียกเราอย่างนี้มาก่อนเลย มีแต่เรียกเราว่า ท่านเจ้าคะ ท่านพระคุณเจ้า ท่านอาจารย์ อย่างนี้เท่านั้น "
       "ท่านนี้เย่อหยิ่งด้วยมานะเสียเหลือเกิน ท่านต้องการอะไร" 
       "ต้องการที่จะขอพักแรมที่นี่"
       " ที่นี่ไม่มีกุฏิที่พัก"
       " หากไม่มีกุฏิที่พัก จะขอพักในโรงบูชาไฟได้ใหม"
       " ได้อยู่ หากท่านไม่กลัวตาย เพราะว่าในโรงไฟนี้มีพญานาคตัวหนึ่ง ชอบเข้ามาในตอนกลางคืน เกรงว่ามันจะฉกกัดท่านตายเสียเท่านั้นแหละ "
       " นั่นไม่สำคัญ ขอเพียงท่านอนุญาตให้พักก็พอ "
       " อยากจะตายก็เชิญ "
      เมื่อได้รับอนุญาตให้พักแล้ว พระพุทธองค์ทรงสรงน้ำเสร็จแล้วก็เข้าไปในโรงไฟ ประทับนั่นเข้าผลสมาบัติอยู่ เวลา ๒๒ นาฬิกา พอพญานาคเข้ามาเห็นก็กระโจนพุ่งใส่พระพุทธองค์ทันที กระโจนพุ่งกี่ครั้งกี่หนก็ไม่ถึง กระโจนจนหมดแรงไปเอง เมื่อไม่สามารถทำร้ายพระพุทธองค์ จึงน้อมตัวลงถวายบังคม 
       รุ่งเช้าท่านอุรุเวลกัสสปะหัวหน้าชฏิลจึงเข้ามาตรวจดูโดยเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าถูกพญานาคฆ่าตายแล้ว  เมื่อมาถึงก็เห็นพญานาคนอนขดตัวหันหัวไปทางพระพุทธองค์ จึงกล่าวว่า " ท่านนี้มีอนุภาพไม่เบา แต่ว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์เช่นเรา ท่านจงเพียรปฏิบัติให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยเถิด"
        ในคืนที่สอง พระพุทธองค์ทรงย้ายไปพักตรงเชิงเขาใกล้กุฏิท่านอุรุเวลปัสสปะ ค่ำคืนนั้นมีเทวดาพากันมาฟัง อนัตตา รัศมีของเทวดาทำให้บริเวณนั้นสว่างไสวไปหมด ท่านอุรุเวลปัสสปะจึงว่า " เรามาอยู่ที่นี่ตั้ง ๓๐ ปี แล้ว ไม่เคยมีเทวดามาเฝ้าอย่างนี้สักครั้ง ท่านมีอนุภาพมาก แต่ว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์เช่นเรา ท่านจงเพียรปฏิบัติให้บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนเราเถิด"
         พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีมากมายหลายอย่าง เพื่อกำจัดทำลายทิฐิมานะของท่านอุรุเวลปัสสปะ จนไม่สามารถจะนำมากล่าวให้หมดสิ้นในที่นี้ได้
........
         " ทิฐิ และมานะ" มีความหมายดังนี้ มานะคือความเห็นผิดว่า กูมี กูเป็น เช่น กูมีการเรียนรู้มามาก มีอายุมาก มีพรรษามาก มีลูกศิษย์มาก มีบริวารมาก มียศ มีตำแหน่ง กูมีคนนับหน้าถือตา กูเป็นพระ กูเป็นอาจารย์ เป็นต้น ทิฐิ ได้แก่อัตตา เป็นความมเห็นผิดว่าเป็นกู มีกู โลภะคือความอยากได้ " อัตตา โลภะ และมานะ " รวมเรียกว่า ตัณหา
........
        ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำท่วม  ชฏิล ๕๐๐ ท่านต้องใช้เรือพายในการเดินทาง ส่วนพระพุทธองค์เสด็จบนน้ำได้ เมื่ออุรุเวลกัสสปะเห็นเข้าจึงกล่าวแก่พระพุทธองค์ว่า " ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนกับเรา จงพยายามปฏิบัติให้บรรลุเป้นพระอรหันต์ให้ได้ด้วยเถิด "                      พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า
          ๑. หา เห็นอะไรจึงเรียกว่า "เป็นพระอรหันต์
          ๒. เอาอะไรมาทำเป็น(มาวัด)ว่า "เป็นพระอรหันต์"
          ๓. จิตพระอรหันต์มีกี่ดวง
          ๔.งานของพระอรหันต์มีอะไรบ้าง
         ท่านอุรุเวลปัสสปะถูกถามด้วยคำถามอย่างนี้ก็ได้แต่นิ่งไป เพราะว่าไม่หา ไม่เห็นมาด้วยตนเองจึงตอบไม่ได้ เมื่อสำนึกได้จึงทิ้งมานะทางกาย ที่เย่อหยิ่งว่าตนมีอายุมาก มีพรรษามาก มีลูกศิษย์บริวารมาก แล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า ทิ้งมานะทางวาจา ที่เย่อหยิ่งไม่ยอมพูดจา แล้วหยิบยกนำเอาคำถามของพระพุทธเจ้าทูลถามกลับคืน
..........
         ฯลฯ
        ......จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เรียกว่า " ปรมัตถธาตุ " แปลว่าธาตุไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ รูป วิญญาณ เวทนา สุญญตะ  เป็นสภาวะอนัตตา...
        ฯลฯ
...........
        เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอธิบายให้เห็นแจ่มชัดถึงอนัตตาจบลง ท่านอุรุเวลปัสสปะพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน รับธรรมศรัทธา(เชื่ออนัตตา) แล้วต้ดวิจิกิจฉา(ความเชื่อผิด)ตาย อัตตาก็ดับลงพร้อมกัน ในทันใดนั่นเองสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหันตมรรค ก็เกิดขึ้นมากำจัดตัดกิเลสที่เหลือทั้งหมดแล้วก้าวสู่ความเป็นพระอรหันต์ (คำว่า อรหันต์ แปลว่า ผู้ตัดกิเลสตายหมดแล้ว) พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งวาจาว่า " เอหิ ภิกขุ" แปลว่า เป็นภิกขุแล้วมาเถิด (คำว่า ภิกษุแปลว่า ตัดทำลายกิเลสแล้ว) ดังนี้ ๓ ครั้ง ทันใดนั้น ผม หนวด เคราก็เกลี้ยงเกลาไปเอง จีวร บาตรก็สำเร็จด้วยฤทธิ์ ขณะนั้น พระอรหันต์เกิดขึ้นมาในโลกอีก ๕๐๐ องค์แล้ว.....
..........
จาก หนังสือ  อนัตตาสุดยอด หลวงพ่อธี วิจิตฺตธัมโม เขียน  พระมหายาจินต์ ธมฺมธโร ป.ธ.๙ สส.ม.แปล
******        

     

*********
ขนสมบัติ...ลอยน้ำทิ้ง (คลิก)

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ญาติโดยธรรม

" ญาติโดยธรรม "

*******

       คนเราเกิดมาย่อมมีญาติพี่น้อง คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายทั้งทางฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่นั้น ทางโลกเขาจัดเป็นพี่น้องกัน โดยปกติของคนทั่ว ๆ ไปแล้ว ย่อมเห็นแก่ญาติพี่น้องของตนเองดีกว่าของผู้อื่น ยกเว้นในบางกรณีที่อาจเห็นผู้อื่นดีกว่าญาติพี่น้องก็มี อันนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจและไม่พอใจในเรื่องนั้น ๆ
      ความสนิทของญาติพี่น้องนั้น เกิดจากความเป็นญาติทางเชื้อสายหรือวงศ์ตระกูล ความสนิทแบบนี้อาจลบเลือนได้ด้วยความขัดข้องหมองใจกันบางอย่าง  ถ้ายิ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ด้วยแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะขัดข้องหมองใจกันได้ง่าย   
       ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ทรงถามพระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่งว่า พระองค์เองได้ทำบุญอย่างมากมายในพระพุทธศาสนาถึงขนาดนี้ จะจัดว่าพระองค์นี้เป็นญาติกับพระพุทธศาสนาได้หรือไม่ พระเถระผู้ใหญ่ได้กล่าวว่า ยังไม่จัดเป็นญาติกับพระพุทธศาสนาได้ ถ้าจะให้เป็นญาติกับพระพุทธศาสนานั้น ต้องให้บุตรบวชในพระพุทธศาสนาเสียก่อน จึงจะจัดว่าเป็นญาติกับพระพุทธศาสนาได้                                                             แต่การเป็นญาติกับพระพุทธศาสนาแบบนี้ ก็ยังจัดว่าเป็นญาติภายนอกเพราะถึงจะมีลูกบวชเป็นพระ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ถ้าตนเองยังไม่ตกกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ก็ยังมีโอกาสไปเกิดในอบายภูมิได้ เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น บางคนมีลูกสำเร็จเป็นพระอรหันต์แต่บิดายังมีกรรมอยู่จึงต้องไปตกนรกก็มี
       แต่ถ้าเป็นญาติกันโดยธรรม จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเป็นญาติกันโดยมีธรรมเป็นตัวเชื่อม เพื่อให้เกิดความสนิทสนม และสามารถช่วยเหลือกันได้ด้วยใจที่เป็นธรรม อย่างนี้จัดว่าเป็นญาติกันโดยคุณธรรม ในจิตใจอันดีงามถึงภายนอกจะเป็นญาติหรือไม่เป็นญาติกันก็ตาม แต่ภายในใจเป็นผู้มีคุณธรรมความดีย่อมเสียสละด้วยจิตใจอันงาม
*****
          * ญาติแบบโลกนั้นนับกันตามเชื้อสายของบิดา - มารดา
          * ญาติแบบธรรมภายนอกนั้นมีคุณธรรมเป็นตัวเชื่อม
          * ญาติธรรมภายในนั้นหมายถึง บุคคลซึ่งปฏิบัติจนมีสภาวธรรมปรากฏขึ้นภายในจิตใจของตนเอง และสภาวะธรรมนั้นเป็นที่พึ่งของใจได้ บุคคลผู้มีภาวะแห่งกระแสธรรมที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ผู้นั้นก็จัดว่าเป็นญาติกับธรรมะภายในใจตน           
           * ญาติภายนอกนั้นดี แต่ยังไม่ยิ่ง
           * ญาติภายในนั้นประเสริฐเลิศหนักหนา
           * จงพากันพบญาติธรรมพร้อมนำพา
           * เพื่อนำมาซึ่งความสุขนิรันดร
*****
จากหนังสือ ประทีปส่องชีวิต โดย อริโย ภิกขุ



วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สีของใจ


ใจต่างผิวจึงทำให้โลกแบ่งแยก
       คนในส่วนต่าง ๆ ของโลก มีวรรณะ คือผิวต่างกัน เช่น ผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลือง และมีการถือผิวกัน เช่น คนผิวขาวดูหมิ่นเหยียดหยามคนผิวดำ  ทั้งในปัจจุบันนี้ ซึ่งต้องการให้ทุก ๆ คน ทุก ๆ ผิว มีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์เสมอกัน ก็ยังมีข่าวว่าได้มีการรังเกียจผิวแม้ในประเทศที่เจริญ นอกจากนี้ในบางประเทศ เช่น ในชมพูทวีปสมัยโบราณ (คือ อินเดีย ปากีสถานในปัจจุบัน)ก็ได้มีการแบ่งวรรณะเป็นอันมาก ในปัจจุบันนี้ แม้จะต้องการไม่ให้มีการถือผิวกาย ก็มี การแบ่งผิวทางการเมือง เกิดขึ้นแทนอย่างรุนแรง
        การถือผิวต่าง ๆ นี้ ถ้ามีมูลเหตุเกิดจากผิวกายเพียงอย่างเดียวก็แก้ได้ง่าย แต่ถ้ามีมูลเหตุเกิดจากกิเลสในใจคน เช่น อหังการ(การทำให้เป็นเรา) เช่นว่า เราต้องใหญ่โตข่มผู้อื่นลงให้ได้ ก็เป็นสิ่งที่แก้ยาก ฉะนั้น ผิวของใจนี่แหละจึงสำคัญกว่าผิวกาย  เมื่อผิวของใจเป็นอย่างไร ก็แสดงออกมาเป็นอย่างนั้น เป็นดังนี้เหมือนกันแก่คนทุกชาติชั้นวรรณะ
       พระพุทธเจ้าทรงแบ่งบุคคลในโลกออกเป็น ๖ จำพวก ตามสีผิวของใจ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรด ฯ ให้เขียนเป็นภาพอธิบายความหมายไว้ที่ต้นเสาในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ดังนี้
           ๑. กัณหาภิชาติ ชาติคนดำ คือใจหยาบช้าทารุณ เช่น พรานใจบาปต่าง ๆ (ตลอดถึงล่า ฆ่าสัตว์เล่นเป็นการสนุก)
           ๒. นีลาภิชาติ ชาติคนเขียว คือคนที่มีใจประกอบด้วยยุติธรรมมากขึ้น เช่น พิจารณาก่อนจึงนำไปลงโทษ
           ๓.โลหิตาภิชาติ ชาติคนสีเลือด คือคนมีจิตใจสูงขึ้นใฝ่หาศาสนาที่ถูกต้อง เหมือนดัง กษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า คนรับใช้  กำลังเดินไปเฝ้าพระพุุทธเจ้า
          ๔.หลิททาภิชาติ ชาติคนเหลือง คือคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เช่น ผู้มีศีลธรรม เปรียบเหมือนคนนุ่งขาวห่มขาวหรืออุาสกอุบาสิกา
          ๕.สุกกาภิชาติ ชาติคนขาว คือคนที่มุ่งปฏิบัติให้ละเอียดยิ่งขึ้นกว่าคฤหัสถ์ เหมือนอย่างพระภิกษุสงฆ์ ฤาษีหรือนักบวชผู้ปฏิบัติชอบทั่วไป
          ๖.ปรมสุกกาภิชาติ ชาติคนขาวอย่างยิ่ง คือ ท่านผู้บริสูทธิ์ทั้งหมด ได้แก่ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
           รวมเรียกว่า ฉฬาภิชาติ อภิชาติ ๖ ย่นลงเป็น ๓ คือ
          ๑.กัณหะ คนดำ ได้แก่คนชั่วโดยส่วนเดียว
          ๒.กัณหะสุกกะ คนดำ ๆ ขาว ๆ ได้แก่คนทำชั่วบ้างดีบ้าง
          ๓.สุกกะ คนขาว ได้แก่คนที่บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว
          คนสามัญทั่วไปอยู่ในประเภท ๒ แต่บางคนขาวแล้วค่อย ๆ ดำ เป็นคนต้นตรงปลายคด  บางคนดำแล้ว ค่อย ๆ ขาว เป็นคนต้นคดปลายตรง พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมพระบารมีสูงขึ้นโดยลำดับ จึงได้ทรงเปลี่ยวผิวของใจให้สูงขึ้น จนถึงขาวอย่างยิ่ง จะเรียกว่าลอกผิวออกหมดก็ได้ เพราะขาวอย่างยิ่งนั้นไม่ควรนับว่าเป็นสีอะไร
******
(จาก หนังสือ โลกและชีวิตในพุทธธรรม พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร)

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บทพระมหาปัฏฐาน


๗.ปฏฺฐาน
เหตุปจฺจโย   เหตุเป็นปัจจัย เหตุที่ตั้งอยู่เฉพาะแห่งผล มี ๖ อย่าง ได้แก่ อกุศลเหตุ ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ กุศลเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อกุศลเหตุเป็นปัจจัยแดนเกิดแห่งผล คืออุดหนุนให้เกิดนาม รูป หรือ จิต เจตสิก และรูปฝ่ายอกุศล กุศลเหตุเป็นปัจจัยแห่งนามรูปฝ่ายกุศล เหมือนอย่างรากแก้วของต้นไม้ใหญ่ เป็นที่ตั้งอยู่ได้ของต้นไม้ และช่วยอุดหนุนต้นไม้ให้งอกงาม
อารมฺมณปจฺจโย   อารมณ์เป็นปัจจัย อารมณ์เป็นเรื่องเจตสิกทั้งหลายยึดหน่วง มี ๖ อย่าง ได้แก่
รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป
สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง
คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น
รสารมณ์ อารมณ์คือรส
โผฏฐัพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง
ธัมมารมณ์ อารมณ์คือ ธรรม ได้แก่เรื่องของรูปเป็นต้นที่ได้ประสบแล้วในอดีต
อารมณ์เหล่านั้นเป็นปัจจัยแห่งเหตุ ๖ ประการเหล่านั้น เพราะจิตและเจตสิกทั้งปวงต้องอาศัยยึดหน่วงอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้ เหมือนอย่างคนชราหรือทุพพลต้องอาศัยไม้เท้าหรือเชือกเป็นเครื่องยึดหน่วง จึงทรงตัวลุกขึ้นเดินไปได้
อธิปติปจฺจโย   อธิบดีเป็นปัจจัย อธิบดีคือธรรมที่เป็นใหญ่กว่าสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตน แบ่งเป็น ๓ ประเภทก่อนคือ
อารัมมณาธิปติ อธิบดีคืออารมณ์ชนิดที่น่าปรารถนาอย่างแรง ๑
สหชาตาธิปติ อธิบดีคือธรรมที่เกิดร่วมกัน ๑
สหชาตาธิปติ มี ๔ อย่างคือ
ฉันทาธิปติ อธิบดีคือฉันทะเจตสิก ความพอใจที่เกิดขึ้นในใจ
วิริยาธิปติ อธิบดี คือวิริยะเจตสิก ความเพียรที่เกิดขึ้นในใจ
จิตตาธิปติ อธิบดี คือความเอาใจใส่จดจ่อ
วิมังสาธิปติ อธิบดีปัญญาเจตสิก ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาเกิดขึ้นในใจอารมณ์อย่างแรงเป็นอธิปติปัจจัย เพราะทำให้นามธรรม คือจิตและเจตสิกน้อมไปยึดอย่างหนักหน่วง ส่วน อธิบดี ๔ มีฉันทะเป็นต้น เป็นอธิปติปัจจัยเพราะสามารถยังธรรม ซึ่งเกิดร่วมกับตน และนามธรรมอื่นซึ่งไม่สามารถจะเป็นอธิบดีได้ ให้น้อมไปตามอำนาจของตน
อนนฺตรปจฺจโย   ธรรมที่เกิดเป็นลำดับไม่มีระหว่างคั่นเป็นปัจจัย คือสามารถยังจิตตุปบาท (ความเกิดแห่งจิต) อันสมควรกันให้เกิดขึ้นในลำดับของตน ได้แก่ นามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดก่อน เป็นปัจจัยอุดหนุนแก่นามธรรม คือจิตและเจตสิกที่เกิดทีหลัง ได้แก่ช่วยอุปการะให้เกิดขึ้นสืบต่อกันไปโดยไม่ว่างเว้น คือไม่มีระหว่างคั่นเว้นไว้แต่จุติจิตของพระอรหันต์
สมนนฺตรปจฺจโย
ธรรมที่เกิดเป็นลำดับสืบต่อกันเรื่อยไป ไม่มีธรรมอื่นมาคั่นระหว่างเลยทีเดียวเป็นปัจจัย ได้แก่นามธรรมที่เกิดก่อนเป็น สมนันตรปัจจัยแก่นามธรรมที่เกิดภายหลัง คล้ายกับอนัตรปัจจัย
สหชาตปจฺจโย
ธรรมที่เกิดร่วมเป็นปัจจัย คือ ธรรมที่เกิดร่วมกันต่างเป็นปัจจัยอุดหนุนกันเอง ด้วยอำนาจที่ยังธรรมที่เกิดร่วมกันให้เกิดพร้อมกัน เพราะเมื่อตนไม่เกิด แม้ธรรมที่เกิดร่วมกันก็ไม่เกิดขึ้นได้ เหมือนอย่างดวงไฟเกิดพร้อมกับแสงไฟ เมื่อไม่มีดวงไฟ แสงไฟก็มีขึ้นไม่ได้ เช่น นามขันธ์ ๔ มหาภูตรูป ๔ ปฏิสนธิหทัยวัตถุ เป็นสหชาตปัจจัย
อญฺญมญฺญปจฺจโย
ธรรมแต่ละอย่างต่างต้องอาศัยกันและกันเป็นปัจจัย คือธรรมที่เป็นอุปการะโดยอุดหนุนกันและกันให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างไม้ ๓ อัน ต่างพิงอาศัยกันจึงตั้งอยู่ได้ ได้แก่นามขันธ์ ๔ช่วยอุดหนุนกันและกันเกิดขึ้นมหาภูตรูป ๔ ช่วยอุดหนุนกันและกันเกิดขึ้น ปฏิสนธินามขันธ์ ๔ และปฏิสนธิหทัยวัตถุ ช่วยอุดหนุนกันและกันเกิดขึ้น
นิสฺสยปจฺจโย
ธรรมเป็นปัจจัยโดยเป็นนิสัยที่อาศัย คือเป็นที่อาศัยโดยอธิษฐานการ คืออาการที่ตั้งมั่น ๑ เป็นที่อาศัยโดยนิสสยาการ คืออาการที่อ้างอิงอาศัย ๑ ธรรมเป็นนิสัยปัจจัยที่อาศัยโดยอาการที่ตั้งมั่นนั้นได้แก่ปฐวีธาตุ เป็นที่อาศัยตั้งมั่นแห่งธาตุอื่น วัตถุ ๖ มีจักขุเป็นต้น เป็นที่อาศัยตั้งมั่นแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้น เหมือนอย่างแผ่นดินที่อาศัยตั้งมั่นของต้นไม้เป็นต้นบนแผ่นดิน ธรรมเป็นนิสัยที่อาศัยโดยอาการที่อิงอาศัยนั้น ได้แก่นามขันธ์ ๔ เป็นที่อิงอาศัยกันและกัน อาโป เตโช วาโยก็
เหมือนกัน เหมือนอย่างแผ่นผ้าเป็นที่อาศัยแห่งจิตกรรมภาพวาดเขียน
อุปนิสฺสยปจฺจโย
ธรรม เป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสัยที่อาศัยอย่างแรงกล้า ได้แก่อารมณ์อย่างแรงกล้า เหมือนอย่างอารมณ์ที่เป็นอธิปติปัจจัยเป็นที่อาศัย อย่างแรงกล้าให้เกิดธรรมที่เกิดจากอารมณ์นั้นเป็นปัจจัย เรียกว่าอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ธรรมเป็นปัจจัยโดยอุปนิสัยที่อาศัยอย่างแรงกล้าคือ อารมณ์ ธรรมที่เกิดเป็นลำดับ ไม่มีระหว่างคั่นอย่างแรงกล้าเหมือนอย่าง อนันตรปัจจัย เป็นอุปนิสสยปัจจัยให้เกิดธรรมที่เกิดจากธรรมนั้นเป็นปัจจัยโดยไม่มีระหว่างคั่น เรียกว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย ธรรมเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสัยที่อาศัยอย่างแรงกล้า คือธรรมที่เกิดเป็นลำดับไม่มีระหว่างคั่น เหตุที่มาจนเป็นปกตินิสัยแล้ว ไม่เกี่ยวข้องด้วยอารัมณปัจจัย เป็นเหตุที่ตนทำให้เกิดขึ้นเอง เช่นกุศลธรรม อกุศลธรรมต่างๆ ก็ดี เป็นเหตุฝ่ายกุศลและอกุศล ที่เนื่องจากการเสวนาซ่องเสพบุคคลและอาหารเป็นต้นของตนก็ดี เรียกว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย ธรรมเป็นปัจจัยโดยอุปนิสัยที่อาศัยอย่างแรงกล้า คือเหตุที่ทำมาจนเป็นอุปนิสัยแล้ว
ปุเรชาตปจฺจโย
ธรรมที่เกิดก่อนเป็นปัจจัย คือธรรมที่เกิดขึ้นก่อนแล้วยังคงมีอยู่ไม่ดับไป ได้แก่รูปธรรมที่เกิดขึ้นก่อนแล้วยังไม่ดับไป เป็นปัจจัยอุดหนุนนามธรรม คือจิตและเจตสิกให้เกิดขึ้น เปรียบเหมือนพระอาทิตย์และพระจันทร์เกิดขึ้นก่อนยังไม่ดับ สัตว์โลกทั้งหลายจึงได้อาศัยเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในโลก
ปจฺฉาชาตปจฺจโย
ธรรมที่เกิดภายหลังเป็นปัจจัย ได้แก่ นามธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดทีหลัง เป็นปัจจัยปัจจัยอุดหนุนแก่รูปธรรมที่เกิดก่อนให้ตั้งอยู่ได้จนครบอายุ อายุของรูปธรรมเท่ากับอายุของจิต ๑๗ ดวง รูปธรรมที่เกิดก่อนจะตั้งอยู่ได้ตลอด ๑๗ ขณะจิตนี้ ก็เพราะจิตและเจตสิกที่เกิดทีหลังอุปถัมภ์ให้ตั้งอยู่และให้เจริญ มีอุปมาเหมือนอย่างต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้ว จะตั้งอยู่และเจริญขึ้นได้ ก็ด้วยอาศัยน้ำฝนที่ ตกลงมา หรือเอาน้ำรดในภายหลัง หรือมีอุปมาเหมือนอย่างลูกนกแร้งที่ยังเล็ก บินไปหาอาหารมิได้ ก็ได้อาศัยเจตนาที่หวังอาหารนั่นเองบำรุงเลี้ยง จนกว่าจะบินออกไปหาอาหารเองได้
อาเสวนปจฺจโย
ธรรมที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์บ่อย ๆ เป็นปัจจัย ได้แก่โลกิยชวนจิตที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ชื่อว่าเสพอารมณ์บ่อย ๆ เป็นปัจจัยอุดหนุนธรรมที่เป็นเชื้อสายชาติเดียวกันให้เกิดขึ้น เช่น เมื่อกุศลชวนจิตดวง ๑ เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยอุดหนุนกุศลชวนจิตชนิดเดียวกันให้เกิดขึ้นเป็นดวงที่ ๒ เป็นปัจจัยอุดหนุนต่อกันไปดังนี้ จนถึงดวงที่ ๗ ซึ่งเป็นตัวเจตนาลงสันนิษฐานให้สำเร็จกิจอย่างหนึ่ง ๆ เหมือนอย่างบุคคลที่เรียนวิชาใดอย่างหนึ่งมาแล้ว ย่อมเรียนวิชาอย่างเดียวกันต่อขึ้นไปได้ง่าย และเร็วขึ้นจนกระทั่งสำเร็จการเรียนวิชาอย่างนั้น
กมฺมปจฺจโย
กรรมเป็นปัจจัย กรรมได้แก่เจตสิกธรรม คือเจตนา ความจงใจ เป็นปัจจัยปรุงแต่งจัดแจงจิต เจตสิกธรรมที่เกิดในจิต กัมมชรูป รูปที่เกิดแต่กรรม และจิตตชรูป รูปที่เกิดแต่จิต ที่เกิดรวมกันเป็นสหชาตธรรม เช่นเมื่อจิตและเจตสิกรับรูปารมณ์เป็นต้น เกิดโลภจิตขึ้น กรรมคือเจตนาที่เป็นสหชาตเกิดร่วมอยู่ด้วย ก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งจัดแจงโลภจิตนั้นให้เข้ารับรูปารมณ์เต็มที่ เป็นเหตุให้แสดงอาการของโลภะออกมาทางกายวาจา ด้วยอำนาจโลภมูลเจตนา อีกอย่างหนึ่ง กรรมที่เป็น นานาขณิกะเกิดขึ้นในขณะต่าง ๆกัน เป็นปัจจัยเพาะพืชพันธุ์ไว้ เมื่อกุศลเจตนา และอกุศลเจตนาเกิดขึ้นพร้อมกับจิตนั้นดับไปแล้ว กรรมคือเจตนานี้ยังเพาะพืชพันธุ์ไว้ มีอำนาจส่งผลให้ปรากฏขึ้ในภายหลัง
วิปากปจฺจโย
วิบากเป็นปัจจัย วิบากคือธรรมที่เป็นผลของกุศล และอกุศล ได้แก่วิบากนามขันธ์ ๔ หรือวิบากจิตเจตสิก เป็นปัจจัยอุดหนุนซึ่งกันและกัน และเป็นปัจจัยอุดหนุนปฏิสนธิกัมมชรูปและจิตตชรูป วิบากเป็นปัจจัยอุดหนุนวิบากนี้ มีอุปมาเหมือนอย่างชราซึ่งเป็นวิบาก เกิดสืบมาจากชาติชรา ในตอนแรก ๆ ที่ติดมาตั้งแต่เป็นทารก เป็นปัจจัยอุดหนุนชราในตอนหลัง ๆ โดยลำดับ
อาหารปจฺจโย
อาหารเป็นปัจจัย สภาพที่นำผลมา คือประมวรมาซึ่งผลของตน ๆ ชื่อว่าอาหาร เป็นปัจจัยอุปถัมภ์รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย อาการปัจจัยนี้มี ๔ อย่างคือ
กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ได้แก่โอชาภายนอกที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ เป็นรูปอาหาร เป็นปัจจัยอุดหนุนรูปกาย
ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ
มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตนาจงใจ
วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
สามข้อ(หลัง)นี้เป็นนามอาหาร เป็นปัจจัยอุดหนุนนามธรรม คือจิตเจตสิกที่ประกอบด้วยตน และอุดหนุนจิตตชรูปและปฏิสนธิกัมมชรูป ซึ่งมีนามอาหารและจิตเจตสิกนั้นเป็นสมุฏฐาน อาหารเหล่านี้ เป็นปัจจัยอุดหนุนรูปธรรมและนามธรรมของสัตว์ทั่วทั้ง ๓๑ ภูมิ เพราะสัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร
อินฺทฺริยปจฺจโย
อินทรีย์เป็นปัจจัย ธรรมที่เป็นใหญ่ คือกระทำซึ่งความเป็นใหญ่ยิ่งชื่อว่าอิทรีย์ มี ๒๒คือ
จักขุนทรีย์ อินทรีย์คือ ตา
โสตินทรีย์ อินทรีย์คือ หู
ฆานินทรีย์ อินทรีย์ คือจมูก
ชิวหินทรีย์ อินทรีย์ลิ้น
กายินทรีย์ อินทรีย์คือกาย
มนินทรีย์ อินทรีย์คือใจ
อิตถินทรีย์ อินทรีย์คือหญิง
ปุริสินทรีย์ อินทรีย์คือชาย
ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
สุขินทรีย์ อิทรีย์คือสุข
ทุกขินทรีย์ อินทรีย์คือทุกข์
โสมนัสสินทรีย์ อินทรีย์คือโสมนัส
โทมนัสสินทรีย์ อินทรีย์คือโทมนัส
อุเปกขินทรีย์ อินทรีย์คืออุเบกขา
สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศัทธา
วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือเพียร
สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติ
สมาธินทรีย์ อินทรีย์คือสมาธิ
ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา
อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ อินทรีย์คือโสดาปัตติมรรค
อัญญินทรีย์ อินทรีย์คือโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตมรรค
อัญญาตาวินทรีย์ อินทรีย์คืออรหัตผล
อินทรีย์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๆ เช่นตา ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในการเห็นรูป และยกเว้นอิตถีภาวะเสีย เหลือ ๒๐ เป็นปัจจัยและเป็นผลแห่งปัจจัยของกันและกัน
ฌานปจฺจโย
ฌานเป็นปัจจัย ฌานคือการเพ่งอารมณ์อย่างแน่วแน่ประกอบด้วยองค์เป็นปฐม คือ วิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา เป็นปัจจัยอุดหนุนนามขันธ์ ๔ และจิตชรูป ปฏิสนธิกัมมชรูป ที่เกิดพร้อมกับตน อีกอย่างหนึ่ง ฌานมี ๒ คือ
อารมมณูปนิชฌาน เพ่งอารมณ์ทางสมถภาวนา
ลักขณูปนิชฌาน เพ่งลักษณะทางวิปัสสนาภาวนา คือไตรลักษณ์ ต่างเป็นปัจจัยอุดหนุนตามอำนาจของตน
มคฺคปจฺจโย
มรรคเป็นปัจจัย มรรคคือธรรมที่เป็นประดุจหนทาง เพราะเป็นธรรมนำให้มุ่งหน้าไปสู่สุคติ ทุคติ และนิพพาน องค์มรรค ๙ได้แก่
ปัญญา
วิตก
สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ
วิริยะ
สติ
เอกัคคตา
ทิฏฐิ
องค์มรรคเหล่านี้ เว้น ทิฏฐิ(ความเห็นผิด)ข้อที่ ๙ เหลือ ๘ เป็นฝ่ายกุศล องค์มรรค ๔ คือ วิตก วิริยะ เอกัคคตา ทิฏฐิ เป็นฝ่ายอกุศล และองค์มรรค ๘ ฝ่ายอัพยากฤต เป็นปัจจัยอุดหนุนให้ไปสู่ สุคติ ทุคติ และนิพพานตามประเภท และอุดหนุนสหชาตธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับตนให้ ไปสู่อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันตน และ ให้ทำกิจ ตามหน้าที่ของตนๆ
สมฺปยุตฺตปจฺจโย
ธรรมที่สัมปยุตกันเป็นปัจจัย ธรรมที่ประกอบพร้อมกัน ๔ ประการ คือธรรม ๒ อย่าง
เมื่อเวลาเกิด ก็เกิดพร้อมกัน
เมื่อเวลาดับ ก็ดับพร้อมกัน
มีอารมณ์เป็นอันเดียวกัน
มีที่อาศัยอันเดียวกัน
เรียกสัมปยุต ได้แก่ จิต และ เจตสิก ที่เป็นนามธรรมด้วยกัน เป็นปัจจัย และผลของปัจจัยของกันและกัน แม้จะมีหน้าที่ ต่างกันแต่ก็สัมปยุตประกอบกันได้สนิท ดังจะยกตัวอย่างนามขันธ์ ๔ เวทนาขันธ์ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญาขันธ์ ทำหน้าที่จำอารมณ์ สังขารขันธ์ทำหน้าที่ปรุงแต่งอารมณ์ วิญญาณขันธ์ ทำหน้าที่รู้อารมณ์ แม้จะต่างหน้าที่กันแต่ก็สัมปยุตกันสนิท เหมือนอย่างเภสัชจตุมธุรส ประกอบด้วยของ ๔ อย่าง คือ น้ำมันเนย ๑ น้ำมันงา ๑ น้ำผึ้ง ๑ น้ำตาล ๑ มีรสเข้ากันสนิทจนไม่อาจจะแยกรสออกจากกันได้
วิปฺปยุตฺตปจฺจโย
ธรรมที่วิปปยุตกันเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่สัมปยุตกันดังกล่าวในข้อก่อน เรียกวิปปยุตธรรม ได่แก่นามและรูป นามเป็นวิปปยุตธรรมของรูป รูปก็เป็นวิปปยุตตธรรมของนาม เพราะไม่ประกอบด้วยลักษณะของสัมปยุตธรรมครบทุกอย่าง ดังเช่น เมื่อจิตเกิด แม้จิตตชรูปจะเกิดด้วย แต่ก็ขาดลักษณะข้ออื่น ทั้งรูปและนามแม้จะเป็นวิปปยุตธรรมของกัน แต่ก็เป็นปัจจัยอุดหนุนกันและกัน เพราะต่างอาศัยกันเป็นไป เหมือนต่างอาศัยกันเป็นไป เหมือนอย่างคน ๒ คน มิใช่ญาติกัน แต่ก็อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน อีกอย่างหนึ่ง วิปปยุตปัจจัยนี้ เปรียบเหมือนรส ๖ อย่างคือ หวาน๑ เปรี้ยว ๑ ฝาด ๑ เค็ม ๑ ขม ๑ เผ็ด ๑ รวมเป็นรสเดียวกันไม่ได้ แต่ก็อาศัยปรุงเป็นแกงอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเป็นปัจจัยอุดหนุนกันได้
อตฺถิปจฺจโย
ธรรมที่มีอยู่เป็นปัจจัย ธรรมที่มีอยู่คือธรรมที่ปรากฏมีอยู่ในระหว่างอุปปาทะ (ความเกิด) ฐิติ (ความตั้งอยู่) ภังคะ (ความดับ) คือยังมีอยู่ในระหว่างนั้นยังไม่ดับไป ธรรมที่ชื่อว่ามีอยู่อย่างมีกำลังกล้า คือยังมีอยู่ในฐิติ ความตั้งอยู่ เป็นปัจจัยอุดหนุนธรรมที่เป็นผลของตนให้เกิดขึ้น ข้อสำคัญเป็นปัจจัยอุปถัมภ์ธรรมที่เป็นผลของตนให้ดำรงอยู่ เหมือนอย่างพื้นดินที่มีอยู่ อุปถัมภ์ต้นไม้ที่มีอยู่เหมือนกันให้งอกงามและตั้งอยู่ เช่นนามขันธ์ ๔ เป็นอัตถิปัจจัยกันและกัน มหาภูตรูป ๔ เป็นอัตถิปัจจัยกันและกัน นามรูปในขณะปฏิสนธิเป็นอัตถิปัจจัยกันและกัน
นตฺถิปจฺจโย
ธรรมที่ไม่มีเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่มีคือธรรมที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัย อุดหนุนธรรมเช่นเดียวกันให้เกิดขึ้น สืบต่อไปในลำดับ ดังที่กล่าวแล้วในอนันตรปัจจัย เช่นจิต เจตสิกดวงที่ ๑ ดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ดวงที่ ๒ เกิดสืบต่อไปในลำดับ ถ้าดวงที่ ๑ ไม่ดับ ดวงที่ ๒ ก็เกิดขึ้นมิได้ เหมือนอย่างแสงสว่างกับความมืด เมื่อแสงสว่างดับไป ความมืดจึงปรากฎขึ้นได้
วิคตปจฺจโย
ธรรมที่ปราศจากไปเป็นปัจจัย ธรรมที่ปราศจากไป คือธรรมที่ถึงความดับ เป็นปัจจัยอุดหนุนธรรมเช่นเดียงกันให้เกิดขึ้นในลำดับเช่นเดียวกับนัตถิปัจจัย
อวิคตปจฺจโย
ธรรมที่ไม่ปราศจากไปเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่ปราศจากไป คือธรรมที่ยังไม่ถึงความดับ เป็นปัจจัยอุปการะที่ยังมีอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับ อัตถิปัจจัย 
********
คำแปลพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
(สมเด็จพระญาณสังวร-เจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร)
จาก http://www.watsacramento.org/w-article-074B-t.htm
********