วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สูตรเกษียณหมอสันต์


Cr.Fwd line
สูตรเกษียณหมอสันต์

     1. จัดเวลาเพื่อตัวเองวันละ 1-2 ชั่วโมง ทุกวัน ตอนเช้าหลังตื่นนอนใหม่ๆดีที่สุด เพื่อออกกำลังกายและฝึกสมาธิ ข้อนี้สำคัญที่สุด ถ้าคุณทำข้อนี้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปอ่านข้ออื่น เพราะถ้าคุณทำข้อนี้ไม่ได้แสดงว่าคุณเป็นทาสความคิดของคุณเองจนโงหัวไม่ขึ้นกู่ไม่กลับไปเสียแล้ว เพราะลูกเล่นที่ความคิดของคุณจะใช้กีดกันไม่ให้คุณเข้าถึงความรู้ตัวก็คือการพยายามบอกว่าคุณไม่ว่าง คุณไม่มีเวลา แม้คุณเกษียณแล้วความคิดมันยังพร่ำบอกคุณว่าคุณไม่มีเวลา ถ้าทั้งๆที่คุณได้เวลามาวันละ 8 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 5 วันแล้วคุณยังเชื่อความคิดของคุณอยู่อีกว่าคุณไม่มีเวลา ผมก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้แล้ว เพราะคุณได้ตกเป็นทาสความคิดของคุณโดยสมบูรณ์แบบเสียแล้ว

     อนึ่ง ในการออกกำลังกาย ถ้าเบื่ออย่างหนึ่งคุณก็เปลี่ยนไปทำอีกอย่างหนึ่ง เปลี่ยนจนคุณพบวิธีที่ถูกใจทำแล้วสนุก

     2. เมื่อฝึกสมาธิ ให้มุ่งวางความคิด นอกจากวางความคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้แล้ว ให้วางความเป็นบุคคลว่าตัวฉันชื่อนี้อยู่บ้านเลขที่นี้จบเมืองนอกเมืองนามาอย่างนั้นอย่างนี้ วางไว้ก่อน วางความเป็นเจ้าของร่างกายนี้ว่านี่มันเป็นร่างกายของฉัน วางไว้ก่อน วางให้หมดชั่วคราว ให้เหลือแต่ความรู้ตัวที่เป็นความว่างแต่ตื่นอยู่และพร้อมรับรู้ อย่าหวังพบเห็นหรือบรรลุอะไรจากการฝึกนั่งสมาธิเป็นอันขาด เพราะนั่นคือช่องทางไปสู่ความบ้า แค่ให้จิตใจได้สงัดจากความคิดจนความเบิกบานที่ก้นบึ้งของจิตมีโอกาสได้โผล่ขึ้นมาบ้างก็พอแล้ว

     3. ยอมรับ ยอมแพ้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วตรงหน้า (surrender) ยอมรับทุกอย่าง อย่างที่มันเป็น แยกความรู้ตัวซึ่งเป็นผู้ดู ออกจากสถานะการณ์ชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกดู ความได้เปรียบของคนแก่ก็คือไม่ต้องรู้สึกผิดว่าตัวเองละเลยสังคม เพราะใจมันยอมรับข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าเดี๋ยวตัวเองก็จะตายแล้ว อย่าผูกขาดการแก้ปัญหาไว้คนเดียวเลย ทิ้งปัญหาไว้ให้เด็กรุ่นหลังเขาแก้กันเองบ้างเถอะ การปลดทิ้งความรู้สึกผิดแบบนี้เสียได้เป็นการเพิ่มโอกาสที่ใจจะยอมรับทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่มากขึ้น โอกาสบรรลุอิสรภาพทางใจก็มากขึ้น

     4. เมื่อมีปัญหาระดับจะเป็นจะตายเกิดขึ้น..อย่าคิด หายใจเข้าออกลึกๆ กลับไปสู่ความรู้ตัวอย่างน้อยสักสองสามนาทีก่อน อย่ารีบตัดสินใจหรือลงมือทำอะไร ปล่อยปัญหาทุกอย่างให้คลี่คลายตัวมันไปเอง เฝ้าดูอยู่นิ่งๆ อย่ายึกยัก อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แค่คอยรับมือเฉพาะส่วนเล็กๆเฉพาะหน้าที่แก้ไขได้ไปทีละช็อตๆ เรื่องใหญ่ๆที่แก้ไขไม่ได้ปล่อยไว้รอให้พระพรหมมาจัดการเอง มาถึงวัยนี้แล้วควรจะเรียนรู้ได้แล้วว่าปัญหาทุกอย่างมันมีวิธีคลี่คลายตัวของมันเอง ไม่มีใครไปยุ่งมันก็จะคลี่คลายตัวของมันเอง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุปัจจัยเป็นกลไกที่จะคลี่คลายตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าเป็นคนแก่แบกโลกหรือคนแก่ที่พยายามเข้าไปแก้ทุกปัญหา มิฉะนั้นคุณจะกลายเป็นคนแก่เจ้าปัญหาไปโดยไม่รู้ตัว

     5. ปล่อยวาง ที่ว่าปล่อยวางนั้นนะ ปล่อยวางอะไรหรือ "ความคิด" นั่นแหละคือสิ่งที่จะต้องปล่อยวาง เพราะสิ่งที่จะทำให้เป็นทุกข์ นอกจากความคิดของตัวเองแล้ว..อย่างอื่นไม่มี เกษียณแล้วยิ่งคิดให้น้อยยิ่งดี ยิ่งเบิกบานมากยิ่งดี ตัวชี้วัดความสำเร็จของชีวิตวัยเกษียณมีสองตัวเท่านั้น คือ (1) ความคิดน้อยลง (2) ความเบิกบานมากขึ้น

     6. ลดความคาดหวังในตัวคนอื่นลงจนเหลือศูนย์ รวมทั้งความคาดหวังต่อสามีหรือภรรยาหรือลูกหลานด้วย คนสูงอายุมักอดไม่ได้ที่จะมองเห็นคนอื่นเป็นคนโง่ง่าวไม่เอาไหนกิเลสหนากะโหลกกะลาไปหมด เกษียณแล้วให้เปลี่ยนโลกทัศน์ไปมองคนอย่างไม่พิพากษาบ้าง ลองหัดเทคนิคนี้กับหมากับแมวดูก่อนก็ได้ มองมันอย่างไม่พิพากษา อย่าไปเสียเวลาทะเลาะด่าว่าคนอื่น จงให้อภัยแทน คนที่สอนได้ก็สอน คนที่สอนไม่ได้ก็ปล่อยเขาไปตามยถากรรมของเขา

     7. อย่าไปหวังอะไรกับชีวิตที่เหลือ ในเรื่องนี้ผมอาจจะพูดไม่เหมือนคนอื่นนะเพราะผมพูดจากประสบการณ์ของผมเอง ผมมองว่า "ความหวัง" นี่แหละที่เป็นตัวร้าย มันร้ายพอๆกับ "ความกลัว" เลยทีเดียว เพราะทั้งความหวังและความกลัวมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกัน คือมันคอยลากเราหนีหรือลี้ภัยออกไปจากปัจจุบันไปอยู่กับอนาคตซึ่งเป็นเพียงความคิด ทำให้เราหมดโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นวิธีใช้ชีวิตที่ดีที่สุด ชีวิตที่ดีคือชีวิต ณ ปัจจุบัน วันนี้ ทีละขณะๆ อยู่นิ่งๆ ปล่อยทุกอย่างให้เข้ามาหา ยอมรับมัน ไม่ต้องหนี มาร้าย มาดี ยอมรับหมด มันมาแล้วก็รับมือไปทีละช็อต การกระเสือกกระสนแสวงหาหลักประกันอนาคต เช่นเพิ่มวงเงินประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ขยันตระเวณหาหมอ ห้าหมอ เจ็ดหมอ ขยันกินยากินวิตามินทีละกำมือ เป็นการแสดงออกของความกลัวที่พาเราหนีไปจากปัจจุบัน ซึ่งวิธีนี้ไม่มีวันที่จะทำให้เรามีสุขภาพดีได้ เพราะสุขภาพจะดีก็ต่อเมื่อเราได้ใช้ชีวิตในวันนี้อย่างเบิกบาน ไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบอยู่กับความหวาดกลัวและเอาแต่หนี

     8. หมั่นให้ทาน สละทรัพย์ แบ่งปันให้ผู้อื่น ลูกหลานจะว่าคุณเป็นคนแก่เลอะหลงใช้เงินไม่เป็นก็อย่าไปสนใจ เงินของคุณไม่ใ่ช่เงินของพวกเขา ถ้าพวกเขาอยากอดออมให้พวกเขาอดออมของเขาเอง อย่ามาบังคับให้คุณอดออมแต่พวกเขาจ่ายเงิน อย่าหวงเก็บเงินไว้ให้ลูกหลาน เพราะการหวงเงินไว้ให้ลูกหลานก็คือการหวงเงินไว้ให้อีโก้หรือตัวตนของคุณเองนั่นแหละ มันจะส่งผลให้คุณกลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไปไหนไม่รอดโดยไม่ทันรู้ตัว การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่ดีหากวางแผนและทำตามแผนโดยไม่คิดกังวลต่อยอด แต่การบ่มเพาะความกังวลว่าวันหน้าจะมีเงินไม่พอใช้จะทำให้คุณต้องอยู่กับความกังวลนั้นตลอดไปจนตายไม่ว่าคุณจะมีเงินกี่แสนกี่ล้าน เพราะวันหน้ามันไม่มีอยู่จริงดอก แต่ความกังวลและหวงทรัพย์สมบัติมันมีผลลบต่อคุณในวันนี้แล้ว ผมจึงเชียร์ให้คุณขยันสละทรัพย์โดยไม่หวังอะไรกลับมา ทุกครั้งที่คุณสละทรัพย์ ความยึดถือในทรัพย์สมบัติของคุณจะลดลงไป ความพร้อมที่จะตายของคุณจะค่อยๆเพิ่มขึ้น

     9. เมื่อคิดจะทำอะไร ให้คิดทำเพื่อผู้อื่น หรือเพื่อโลก ไม่ว่าจะเป็นทำธุรกิจ ทำงานอดิเรก หรือทำงานจิตอาสา ให้คิดว่าทำเพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ จะปลูกดอกไม้ก็เพื่อให้คนอื่นได้มาชื่นตาชื่นใจ จงใจเลือกทำเฉพาะเรื่องที่คุณทำแล้วมีความสุข เวลาทำให้ทำด้วยความตั้งใจจดจ่อราวกับเจ้าสาวตั้งใจทอเสื้อให้ชายคนรักใส่ แต่อย่าหวังผลว่าจะสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่องานเสร็จแล้วก็วาง ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลวก็วาง ไม่ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงาน ไม่ต้องแสวงหาชื่อเสียงยามแก่ เพราะชื่อเสียงเป็นอีโก้ที่จะทำให้คุณเข้าถึงความรู้ตัวอันเป็นแหล่งของความสงบสุขที่ภายในยากยิ่งขึ้น

     ขอให้น้องใหม่วัยเกษียณจากทุกอาชีพ มีความสุขกับชีวิตในวันนี้ทุกๆคนนะครับ แค่วันนี้วันเดียว ก็เหลือแหล่แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศืลป์
cr.fwd line
********

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

วันนี้ทำความดีแล้วหรือยัง



ตั้งแต่โยมพ่ออาตมาเสีย โยมแม่อยู่คนเดียว หลังๆ อาตมาจึงโทรไปคุยบ่อยๆ วันหนึ่ง โยมแม่ถอนใจ
ใหญ่ แล้วพูดว่า "ไม่รู้อยู่ทำไม อยู่ไปวันๆ ไปไหนก็ไปไม่ได้ เป็นภาระของคนอื่น ไม่รู้อยู่ทำไม" เสียงสั่นเครือของท่านน่าสงสารจริงๆ

อาตมาจึงสั่งโยมแม่ว่า "ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอให้แม่ทำความดีวันละข้อ อะไรก็ได้ ไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเล็กๆ ก็ได้ แต่ขอให้เป็นเรื่องที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจได้ โยมแม่ถามว่าอยู่ไปทำไม คำตอบของอาตมาคือ อยู่ไปเพื่อทำความดี วันไหนคนเราทำความดี วันนั้นไม่ว่างเปล่า วันนั้นไม่เป็นหมัน ความดีคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมายและมีความสุข"

ทุกวันนี้เมื่ออาตมาโทรไปที่บ้าน ก่อนอื่นต้องถามโยมแม่ว่า "วันนี้ทำความดีแล้วหรือยัง" ถ้าทำแล้ว อาตมาก็ชื่นชมให้กำลังใจ โยมแม่มีความสุข

การตอบแทนบุญคุณ ไม่ได้อยู่ที่การปรนนิบัติ หรือการรับใช้อย่างเดียว การให้โอกาสให้ท่านทำบุญทำกุศล และรู้จักอนุโมทนาในความดีที่ท่านได้ทำไว้แล้ว คือการช่วยสุขภาพจิตของผู้สูงอายุที่สำคัญมาก
พระอาจารย์ ชยสาโร

Cr.https://www.facebook.com/238296179593402/photos/a.238316889591331.54695.238296179593402/1392134794209529/?type=3&theater

วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ซุบซิบกับขโมย


บทความนี้ดีมาก
ซุบซิบกับขโมย อย่างไหนเลวร้ายกว่ากัน
กาลครั้งหนึ่ง ชายชราคนหนึ่งปล่อยข่าวว่าเพื่อนบ้านเป็นขโมย ทำให้ชายหนุ่มถูกจับ หลายวันต่อมา เขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ หลังจากนั้น เขาฟ้องชายชราที่กล่าวหาเขาผิด ๆ
ในศาล ชายชราบอกผู้พิพากษาว่า “มันแค่ความเห็น ไม่ได้ทำอันตรายใคร”
ก่อนตัดสิน ผู้พิพากษาสั่งให้ชายชรา “เขียนคำพูดทั้งหมดที่เจ้าพูดเกี่ยวกับเขาลงในกระดาษ ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ โปรยออกจากหน้าต่างรถระหว่างทางกลับบ้าน แล้วกลับมาฟังคำตัดสินพรุ่งนี้”
วันรุ่งขึ้น ผู้พิพากษาบอกให้ชายชราไปเก็บเศษกระดาษที่โปรยไว้วันวานกลับมาก่อนฟังคำตัดสิน ชายชราบอกว่าทำไม่ได้ ลมพัดมันกระจายไปทั่ว จนเขาไม่รู้แล้วว่ามันปลิวไปไหนบ้าง
ผู้พิพากษาตอบว่า “ในทำนองเดียวกัน คำพูดหรือความเห็นธรรมดา สามารถทำลายชื่อเสียงของคนคนหนึ่งถึงขั้นที่คนคนนั้นไม่สามารถกู้คืนได้ ถ้าพูดดีเกี่ยวกับคนอื่นไม่ได้ ก็อย่าพูดอะไรเลย ขอให้เราทุกคนเป็นนายของปากเรา เพื่อไม่ต้องเป็นทาสของถ้อยคำ"
“การซุบซิบเลวร้ายกว่าการขโมย เพราะมันขโมยศักดิ์ศรี เกียรติ ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของคนอื่นซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะกู้คืน ดังนั้น จำไว้ว่า เมื่อเท้าเจ้าก้าวพลาด ยังกลับมาทรงตัวได้ใหม่ แต่เมื่อลิ้นเจ้าพลาด พูดพล่อย ๆ เจ้าไม่มีวันเอาคำพูดของเจ้าคืนได้เลย”

Cr.จาก Fwd Line

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คิดก่อนพูด...



วิธีคิดแบบวิภัชชวาท  ความจริง วิภัชชวาท ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูด หรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามการคิดกับการพูดเป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด ก่อนจะพูดก็ต้องคิดก่อน.....ตัวอย่างแห่ง วิภัชชวาท....
   อภัยราชกุมารพระองค์ผู้เจริญ คำพูดที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของผู้อื่น พระองค์ตรัสหรือไม่?
    พระพุทธเจ้า:  นี่แน่ะ ราชกุมารในเรื่องนี้ จะตอบลงไปข้างเดียวไม่ได้ (ต่อจากนั้น ได้ทรงงแยกแยะคำพูดที่ตรัสและไม่ตรัสไว้มีใจความต่อไปนี้)
      ๑)คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น  -  ไม่ตรัส
      ๒)คำพูด ที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
      ๓)คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น เลือกกาลตรัส
      ๔)คำพูดไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
      ๕)คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่น ไม่ตรัส
      ๖)คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส
ฯลฯ
(จากหนังสือ วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม พระพรหมคุณาภรณ์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)