วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

ยานอันประเสริฐ


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

ในคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ 

ในชาณุสโสณิพราหมณสูตร   


ในครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี 

ในเช้าวันหนึ่งพระอานนท์ซึ่งเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก 

เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี 

ท่านก็เห็นรถของชาณุสโสณิพราหมณ์ขับสวนทางออกมา 

รถสมัยนั้นก็คือรถที่เทียมด้วยม้า 

ไม่ใช่มีเครื่องยนต์เหมือนสมัยนี้ 

เขาใช้ม้าเทียมรถวิ่งไป 

เรียกว่ายาน 


ชาณุสโสณิพราหมณ์เขาแต่งรถทุกอย่างเป็นสีขาวล้วน 

ทำด้วยเงิน ทำประดับด้วยสีขาวล้วน 

ม้าที่เอามาเทียมรถ ๔ ตัวขาวทั้งหมด สีขาวล้วนเลย 

ตัวรถก็สีขาว เชือกก็หุ้ม หุ้มด้วยเงินสีขาว 

ด้ามประตักก็สีขาวอีก ร่มสีขาว 

ผ้าโพกหัว เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าสีขาวล้วน 

ตัวรถทุกอย่างเครื่องประดับทั้งหมดสีขาวหมด 

พัดวาลวิชนีก็สีขาว 

ประชาชนทั้งหลายก็ดู 

ตื่นเต้นพออกพอใจว่าสวยงามมาก 

ต่างก็พากันยกย่องสรรเสริญว่า 

รถยานนี้เป็นยานอันประเสริฐ 

มีความงดงาม 


เมื่อพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต 

หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว  

ก็ได้เข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้า 

เล่าให้พระองค์ฟังว่าไปบิณฑบาต 

ได้เห็นรถของชาณุสโสณิพราหมณ์ล้วนแต่ขาวล้วน 

ชาวเมืองทั้งหลายก็พากันยกย่องสรรเสริญ 

ว่าเป็นยานอันประเสริฐ 


ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า 

พระองค์จะทรงบัญญัติยานอันประเสริฐในพระธรรมวินัยนี้ 

ได้บ้างหรือไม่หนอพระพุทธเจ้าข้า 


พระองค์ก็ตรัสว่า 

อานนท์ 

ตถาคตจะบัญญัติยานอันประเสริฐในพระธรรมวินัยนี้ได้ 

#ยานอันประเสริฐในพระธรรมวินัยนี้คืออริยมรรคมีองค์๘ 

#เรียกว่าพรหมยานบ้าง #ธรรมยานบ้าง 

เป็นยานอันประเสริฐ 


มี #สัมมาทิฏฐิ #ความเห็นชอบ 

ผู้ใดเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว 

จะเป็นธรรมที่กำจัดราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่สุดได้ 

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ 

เข้าไปรู้เห็นในทุกข์ 

ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอย่างไรต้องรู้จัก 

เหตุให้เกิดทุกข์ 

ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะต้องละ 

รู้ด้วยการต้องละ 

ตัณหาดับไป ทำลายตัณหา ก็เป็นนิพพาน เป็นนิโรธความดับทุกข์ 

ส่วนอริยมรรคเป็นข้อปฏิบัติ เป็นปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์ ต้องรู้จัก 

นี่เป็นสัมมาทิฏฐิ 


#สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ 

ดำริออกจากกาม 

ดำริออกจากการเบียดเบียน 

ดำริออกจากการพยาบาท  

หรือดำริอยู่ในรูปนามขันธ์ ๕ 


สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ 

ก็เป็นศีล 


การเว้นจากกายทุจริต เว้นวาจาทุจริต เว้นมโนทุจริต 


#สัมมาวาจา เว้นจากวจีทุจริต ๔ 

ถ้าเราเว้น ถือว่าเรามีอริยมรรค 

เว้นพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดหยาบคายเพ้อเจ้อ 

พูดแต่คำจริง 

พูดแต่คำไพเราะสุภาพ 

พูดแต่คำสมัครสมานสามัคคี 

พูดแต่คำที่มีสาระมีประโยชน์ 

เป็นสัมมาวาจา 


กายของเราก็เว้นฆ่าสัตว์เสีย  

เว้นลักทรัพย์ 

เว้นประพฤติผิดในกาม 

เราก็จะมีกายสุจริต 

มี #สัมมากัมมันตะ การงานชอบ 

การงานที่เราทำไม่เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม 

อาชีพของเราก็ต้องให้สุจริตไว้ 

เราจะประกอบอาชีพอะไรต่าง ๆ 

มันจะต้องไม่เกี่ยวกับการเบียดเบียนผู้อื่น 

หรือไม่เกี่ยวกับการเข่นฆ่าประหัตประหาร 

ไม่เกี่ยวกับการทุจริตฉ้อโกง 

ไม่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ 

ไม่เกี่ยวกับการต้องไปโกหกหลอกลวง 

เหล่านี้เป็นต้น 

อาชีพของเราบริสุทธิ์ เป็นอาชีพที่ถูกต้อง 

มันก็จะเป็นอริยมรรคประกอบกันอยู่  

เป็นส่วนของศีล 


อริยมรรคก็ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา 

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นส่วนของปัญญา 

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นส่วนของศีล 

สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็น ส่วนของสมาธิ 


#สัมมาวายามะ เพียรชอบ 

เพียรโดยการประพฤติปฏิบัติอยู่ 

ที่เราเพียรเจริญภาวนา 

ถือว่าเป็นการเพียรละบาป เพียรระวังไม่ให้บาปเกิด 

เพียรให้กุศลเกิด เพียรรักษากุศลให้เจริญ  

เพียรให้มีสติสัมปชัญญะ 

สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นมาก็เป็นกุศล 

กุศลเกิดก็เท่ากับละบาปไปในตัว 

เมื่อเพียรให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่เสมอ ๆ 

ก็เท่ากับระวังไม่ให้บาปมันเกิดขึ้น 


ถ้าเราเผลอ ไม่มีสติ 

เดี๋ยวก็โลภ โกรธ หลงขึ้นมา 

ถ้ามีสติ รักษาจิตใจ มีสติ ระวังสำรวมอยู่ 

จิตเราเป็นกุศลต่อเนื่อง 

อกุศลมันก็เกิดไม่ได้ 


ถ้าขาดสติ พอตาเห็นรูป 

เดี๋ยวมันก็โกรธบ้าง หลงบ้าง โลภบ้าง 

ฟังเสียงถ้าขาดสติก็ไม่โลภก็โกรธ ไม่โกรธก็หลง 

ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสถูกต้อง คิดนึก 

ขาดสติแล้วเดี๋ยวมันก็โกรธ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หลงอยู่อย่างนั้น 


ฉะนั้นเมื่อมีสติอยู่ 

พยายามเพียรระลึก เพียรรู้ ภาวนา 

สติเกิดขึ้น กุศลเกิดขึ้น ละบาปไปในตัว 

นี่เป็นความเพียรชอบ 


#สัมมาสติ ระลึกชอบ 

ต้องระลึก ระลึกรู้กายในกาย 

เวทนาในเวทนา 

จิตในจิต 

ธรรมในธรรมอยู่เนือง ๆ 


หายใจเข้าออกเรียกว่ากายอย่างหนึ่ง 

ยืน เดิน นั่ง นอน ก็คือกาย 

คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ก็เป็นกาย 

พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หัวใจ ตับ ปอด เป็นของปฏิกูล 

ก็เป็นกาย 


ความรู้สึกสบาย ไม่สบาย เฉย ๆ ก็เป็นเวทนา 


จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ 

จิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ 

จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ 

ต้องคอยระลึกรู้อยู่ 

เป็นการ เป็นสัมมาสติ 

ตามดูรู้เท่าทันจิตในจิตอยู่ 


หรือว่ามันมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นในจิต 

บางครั้งมันมีราคะ มีโทสะ มีฟุ้งซ่าน 

หงุดหงิด รำคาญเกิดขึ้นในจิตใจ 

เราก็กำหนดรู้ 

รู้ว่ามันเกิดกิเลสขึ้นในใจเรา 

ละมันได้ก็รู้ 


หรือว่ามันมีธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น  

เกิดศรัทธา เกิดปีติ 

เกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 

จิตมีสมาธิ มีปีติในธรรม 

มีความสงบ มีความตั้งมั่น 

ก็ระลึกรู้ไป 

เพื่อให้มีปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งตามความเป็นจริง 

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน 


สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ 

ก็ต้องประกอบกันไป 

มีทั้งสติ มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญาประกอบกันอยู่ 

#สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ 

จิตที่ตั้งมั่นดีก็จะเป็นจิตปราศจากอกุศลธรรม ปราศจากนิวรณ์ 

ประกอบกันไป ศีล สมาธิ ปัญญา 


อันนี้เป็นยานอันประเสริฐ 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า 

#ผู้ใดได้เจริญในอริยมรรค 

#เจริญแล้วทำให้มากแล้ว 

#จะเป็นธรรมที่กำจัดราคะโทสะโมหะในที่สุดได้ 

พระองค์ก็จึงตรัสว่า 

อานนท์ #นี่แหละคือยานอันประเสริฐในพระธรรมวินัยนี้ 


(ชาณุสโสณิพราหมณสูตร ตอนที่ ๑) 


ปฏิบัติบูชา การบูชาอันสูงสุด 

ธรรมสุปฏิปันโน ๑๐ 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

****

Cr.https://www.facebook.com/share/eez8UsB42rTwaRic/?mibextid=oFDknk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น