วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566

จิต...


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

จิตนี้ถ้าเราไม่ฝึก ก็จะกวัดแกว่งดิ้นรน 

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุรูปหนึ่ง 

ภิกษุรูปนี้เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า 

ในคราวหนึ่งก็ไปกับพระองค์ 

ชื่อว่าพระเมฆิยะ 

ปกติก็จะตามพระพุทธเจ้าไป 

อย่างไปบิณฑบาตก็ไปด้วย ถือบาตรถือจีวร 

แสดงว่าเวลาเดินออกจากป่า ยังเปียกยังแฉะ ก็จะยังไม่นุ่งห่ม 

พอจะเข้าเขตบ้านก็จะมีการนุ่งห่ม 

ก็ถือบาตรถือจีวรอย่างนี้ 

พอเข้าเขตบ้านก็ส่งบาตร 

ขากลับจากบิณฑบาตก็รับบาตรพระพุทธเจ้าเดินกลับมา 


พระเมฆิยะได้ผ่านสวนมะม่วงที่อยู่ริมแม่น้ำก็รู้สึกชอบใจ 

ที่นี่ร่มรื่น น่าประพฤติปฏิบัติ 

ระหว่างที่เดินตามพระพุทธเจ้ามา ก็เลยกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า 

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ 

ขอพระองค์โปรดรับบาตรของพระองค์ไปเถิด 

ข้าพระองค์จะขออนุญาตไปนั่งปฏิบัติที่สวนมะม่วง"  


พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า 

"เมฆิยะ เธอจงรอก่อน 

คอยให้ภิกษุอื่นมาก่อน 

ตถาคตอยู่องค์เดียว" 

ที่จริงพระพุทธเจ้าก็รู้ว่าเมฆิยะยังอินทรีย์อ่อน 

ถ้าปล่อยออกไปก็ปฏิบัติไม่ได้ 

พระองค์ก็บอกว่า "รอให้ภิกษุมาผลัดเปลี่ยนก่อน เธอค่อยไป" 


เมฆิยะก็ไม่ฟัง อ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง 


พระพุทธองค์ก็บอกว่า 

"รอก่อน รอให้ภิกษุมาเปลี่ยนก่อน 

ตถาคตอยู่องค์เดียว" 


เมฆิยะก็บอกว่า 

"ข้าพระองค์ยังเป็นผู้ที่จะต้องปฏิบัติ เพราะยังมีกิเลส 

ส่วนพระองค์ไม่มีภาระเรื่องการจะละกิเลสแล้ว"  


แม้พระพุทธองค์จะห้ามไว้ก็ไม่ฟัง 

เอาบาตรคืนให้พระองค์ 

แล้วก็ไปนั่งปฏิบัติที่สวนมะม่วงริมแม่น้ำ 

ปฏิบัติไปแล้วก็ไม่ได้ความอะไร 

จิตก็เกิดกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก 

กามวิตก คือจิตแล่นไปในกามคุณอารมณ์ 

เกิดความกำหนัดยินดีในกาม 

จิตแล่นไปในความพยาบาทอาฆาตเคียดแค้น 

บางทีเรื่องอะไรผ่านมาแล้ว 

จิตแวบไปถึง ก็ยังเคียดแค้นอยู่ 

คิดไปในการที่จะเบียดเบียน 

วุ่นวายใจมาก ทำอะไรไม่ได้ 

ที่สุดก็ต้องกลับมา 

กลับมาแล้วก็มากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า 

ตนเองไปปฏิบัติแล้ว ก็มีแต่กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก 


พระพุทธเจ้าก็จึงตรัสว่า 

"เมฆิยะ ตถาคตก็บอกเธอแล้วว่าให้รอก่อน  

ให้ภิกษุอื่นมาก่อน เธอค่อยไป 

เธอก็ไม่ฟังถึง ๓ ครั้ง 

เธอได้ทำกรรมอันหนัก"  


แล้วบอกว่า 

"ธรรมดาภิกษุไม่ควรทำตามใจตนเอง 

ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของจิต 

เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติที่แล่นไปเร็ว 

ควรทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน" 


แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเป็นคาถาขึ้นว่า 

ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ 

ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ 

อุชุ กโรติ เมธาวี 

อุสุกาโรว เตชนํ 

วาริโชว ถเล ขิตฺโต 

โอกโมกตอุพฺภโต 

ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ 

มารเธยฺยํ ปหาตเวฯ 


ซึ่งแปลว่า 

จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก 

บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมทำจิตให้ตรง 

เหมือนช่างศรดัดลูกศร 

จิตนี้เมื่อผู้ทำความเพียร ยกขึ้นจากกามคุณทั้ง ๕ 

แล้วซัดไปด้วยวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้ละบ่วงแห่งมาร 

ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาที่พรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำวางไว้บนบก ดิ้นรนอยู่ 


จิตมันดิ้นรน ผนฺทนํ 

ดิ้นรนคือไม่ยอมอยู่ในอารมณ์เดียว 

ชอบดิ้นไปหาอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ 

โดยเฉพาะไปในอารมณ์ในรูปสวย เสียงเพราะ 

กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสน่าใคร่น่าปรารถนา 

เรื่องราวเรื่องนั้นเรื่องโน้น 

แล้วก็ไปเกลือกกลั้วอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ 

จิตแล่นไป แล้วก็ไปเกลือกกลั้วอยู่กับอารมณ์นั้น 

ทั้งเรื่องไม่ดีก็แล่นไปจมอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น 


จิตนี้กวัดแกว่ง 

คือไม่สามารถจะดำรงอยู่ในอารมณ์เดียว 

ไม่สามารถจะอยู่นิ่ง ๆ ได้ 

เหมือนเด็กอยู่นิ่งไม่ได้ ไปมาลุกลนอยู่เรื่อย 

หรือเหมือนลิง ลิงมันไม่ยอมอยู่นิ่ง 

มันก็กระโดดโลดเต้นของมันอยู่อย่างนั้น 

ฉะนั้นจิตนี้ถ้าไปกระทบโลกธรรม 

มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ 

มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ 

ก็ดิ้น กวัดแกว่ง 

แม้ได้อารมณ์ดี มันก็กวัดแกว่ง 

ชอบใจ ติดใจ ลิงโลด ฟู 

พออารมณ์ไม่ดี เปลี่ยนไป แฟบลงมาอีก 

จิตเป็นอย่างนี้ 


ฉะนั้นจิตถ้าถูกราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กลุ้มรุม 

จิตใจก็กวัดแกว่งซัดส่าย 

รักษายากที่จะไม่ให้ตกไปในอารมณ์ที่ชั่ว 

มันจะไปท่าเดียว 


แล้วจะทำอย่างไร? 

ก็ต้องมีสติ มีสติเป็นเชือกผูกไว้ 

เหมือนกับโคป่าที่ยังไม่ได้รับการฝึก 

มันก็จะดิ้นรน 

เจ้าของโคก็ต้องเอาเชือกผูกไว้กับหลัก 

ดิ้นไปดิ้นมา ขาด ก็ต้องไปตามมาผูกไว้ 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid032ySH1UHZjcdUJbK73bVFQcgiASBWsMCDfC5bfHVwe7DtcZrmLhuQRKHCAcoAaaUKl&id=100050180992815&mibextid=Nif5oz

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น