วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2566

วันอาสาฬหบูชา


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่

...................................

ป ฐ ม เ ท ศ น า 

วันนี้เป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่ง

ในทางพระพุทธศาสนา

เป็นวันที่บังเกิดมี

พระรัตนตรัยครบ ๓ ประการ

เรียกกันว่า #วันอาสาฬหบูชา

ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

วันนี้เป็นวันบังเกิดมีขึ้นของ

พระธรรมและพระสงฆ์

จากการประกาศธรรมเป็นครั้งแรก

ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

หลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์

และ #มีผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขอบวช

#เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ

พระสูตรนี้มีชื่อว่า“#ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”

พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

ซึ่งเป็นนักบวช ๕ ท่าน ที่คอยติดตาม

ปฏิบัติรับใช้พระองค์ในคราว

ที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ

ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ

ครั้งนั้นพระองค์

ทรงทรมานร่างกายตนเอง

ด้วยวิธีการต่างๆ ตามความเชื่อ

ของคนในสมัยนั้นว่า

การทรมานตนเองเท่านั้น

เป็นหนทางที่จะทำให้บรรลุธรรมสูงสุดได้

พระองค์จึงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

ทุกวิธีอย่างยวดยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นการยืนขาเดียว

นอนบนขวากหนาม เอาตัวย่างไฟ

กลั้นลมหายใจ

อดอาหารจนพระวรกายผ่ายผอม

มีก้นแหลมเหมือนเท้าอูฐ

เวลาเอาพระหัตถ์แตะที่ท้อง

ก็กระทบกระดูกสันหลัง

เมื่อสัมผัสผิวหนังโลมา(ขน)ก็หลุดร่วง

พอลุกขึ้นยืนก็เซล้มสลบไป

ในที่สุดพระองค์ทรงคิดว่า

นี่คงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์แน่

เพราะกระทำถึงที่สุดเช่นนี้แล้ว

ก็ยังไม่สามารถสิ้นอาสวกิเลสได้

พระองค์จึงหยุดการทรมานพระวรกาย

กลับมาเสวยพระกระยาหารดังเดิม

ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงเข้าใจผิด

คิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรแล้ว

เลยพากันหนีพระองค์ไป

ครั้นถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

พระองค์ก็ทรงประสบความสำเร็จ

ในการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองคยา

เรียกกันว่า วันวิสาขบูชา

ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่บังเกิดมีพระรัตนตรัย

ประการแรก คือ พระพุทธเจ้า

(ทรงมีพระนามว่า

”พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าฯ)

เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็ดำริ

ที่จะประกาศธรรมแก่บุคคลที่สมควร

ได้รับฟังธรรมะจากพระองค์

เพื่อจะได้รู้ตามเห็นตาม

นี่คือพระมหากรุณาอันยิ่งของพระพุทธองค์

จากนั้นจึงทรงพิจารณาถึงบุคคล

ที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด

ในเบื้องแรกทรงนึกถึงอาจารย์สองท่าน

ที่เคยสอนฌานสมาบัติให้ก่อน

ที่จะบำเพ็ญทุกรกิริยา

คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร

และอุททกดาบส รามบุตร

ซึ่งอาจารย์ ๒ ท่านนี้ ได้สมาบัติชั้นสูง

หากว่าได้รับฟังธรรมจากพระองค์

ก็น่าจะสามารถเข้าใจในธรรมที่ทรงแสดงได้

แต่เมื่อพระองค์ทรงตรวจดู

ด้วยทิพพจักขุญาณแล้วก็ทราบว่า

อาจารย์ทั้ง ๒ ได้มรณภาพเสียแล้ว

ไปเกิดในชั้นของอรูปพรหม

ที่มีขันธ์ ๔ ขันธ์ มีแต่นามขันธ์

ไม่มีรูปขันธ์ที่จะรับคำสอนของพระองค์ได้

(ไม่มีตา หู ฯลฯ)


พระองค์ทรงตรัสแสดงทางสายกลาง

หรือมัชฌิมาปฏิปทา หรือ มรรค ๘

อันเป็นหนทางให้ถึงซึ่งพระนิพพาน

ที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วดังนี้

๑. ความเห็นชอบ ได้แก่ ความรู้ในอริยสัจ ๔

(ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

หรือเห็นไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

หรือการเห็นปฏิจจสมุปบาท

(การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น)

๒ ความดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมะ

การดำริออกจากกาม

อพยาบาท ดำริออกจากการพยาบาท

อวิหิงสา ดำริออกจากการเบียดเบียน

๓ การเจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔

ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ

ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ

๔ การกระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓

ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม

๕ การเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นจากมิจฉาชีพ

ประกอบสัมมาชีพในการเลี้ยงชีวิต

๖ ความเพียรชอบ ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔

คือ การเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้น

เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น

เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้น

แล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไป

๗ ความระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔

คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณา

สิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง

โดยการมีสติสัมปชัญญะ

ระลึกรู้อยู่ที่ฐานทั้ง ๔

คือ กาย เวทนา จิต และธรรม อยู่เนืองๆ

เพื่อให้เห็นตามความจริงว่า

ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

๘ ความตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่

ความสงัดจากกาม

ความสงัดจากอกุศลธรรม

เข้าถึง ปฐมฌาน ทุติยฌาน

ตติยฌาน และจตุตถฌาน

มรรค ๘ ดังกล่าวนี้ถ้าย่อให้เหลือ ๓

คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

(ข้อ ๑-๒ อยู่ในส่วนของปัญญา,

ข้อ ๓-๕ อยู่ในส่วนของศีล,

ข้อ ๖-๘ อยู่ในส่วนของสมาธิ)

ดังนี้แล้วพระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า

ทางสายกลางได้ก่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม

ทำให้พระองค์เกิดปัญญาญาณ

ที่เป็นไปเพื่อความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

แล้วได้ตรัสแสดงถึง อริยสัจ ๔

เป็นลำดับๆ ไปว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางสายกลาง

ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว

ก่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ก่อให้เกิดปัญญา

ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบกิเลส

เพื่อความรู้ยิ่ง ความรู้แจ้ง

และเพื่อความดับทุกข์

“#ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

#ก็อริยสัจ คือ #ทุกข์ นี้มีอยู่

คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์

ความตายเป็นทุกข์

ความโศก ความร่ำไรรำพัน

ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ

ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์

ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ

ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ

มีความความปรารถนาสิ่งใด

ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์”

“ขันธ์ ๕” อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปทาน

(ความยึดมั่นถือมั่น)

ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

๑ รูป คือ ส่วนที่เป็นสรีระร่างกาย

๒ เวทนา คือ ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์

ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือ เฉยๆ

๓ สัญญา คือ ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย

ให้รู้อารมณ์นั้นๆได้ (ความจำได้หมายรู้)

๔ สังขาร คือ ส่วนที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว

หรือเป็นกลางๆ (ความปรุงแต่ง คิดนึกต่างๆ)

๕ วิญญาณ คือ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งทางอารมณ์

เป็นความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖

มีการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การรู้รส

การรู้สัมผัสทางกาย การรู้ธรรมารมณ์ทางใจ

ขันธ์ ๕ นี้ ย่อลงมาแล้วเหลือ ๒ คือ รูป และนาม

(ข้อ ๑ จัดเป็นรูปขันธ์, ข้อ ๒ ถึง ๕ จัดเป็นนามขันธ์)

หากจะจัดขันธ์ ๕ เข้าเป็นประเภท

ของ ปรมัตถธรรม ๔ คือ

จิต เจตสิก รูปและนิพพาน

จะได้ดังนี้คือ

*วิญญาณขันธ์ จัดเป็น จิตปรมัตถ์

*เวทนาขันธ์,สัญญาขันธ์,สังขารขันธ์

จัดเป็น เจตสิกปรมัตถ์(ส่วนที่ประกอบกับจิต)

*รูปขันธ์ จัดเป็น รูปปรมัตถ์

*ในส่วนของนิพพาน เป็นขันธวิมุตติ

คือพ้นจากขันธ์ ๕

จากนั้นพระองค์ได้ตรัสแสดงอริยสัจข้อที่ ๒

คือ #สมุทัย หรือเหตุให้เกิดทุกข์ ไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

#อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์

(สมุทัย)นี้มีอยู่ คือความทะยานอยาก(ตัณหา)

อันเป็นความผูกพันให้เกิดภพใหม่

ประกอบด้วยความยินดีพอใจ

ความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่

ความทะยานอยาก ในอารมณ์ที่ใคร่(กามตัณหา)

ความทะยานอยาก

ในความอยากมีอยากเป็น(ภวตัณหา)

ความทะยานอยาก ในความอยากไม่มี

อยากไม่เป็น(วิภวตัณหา)”

แล้วพระองค์ได้ตรัสแสดงอริยสัจข้อที่ ๓

คือ #นิโรธ หรือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย #อริยสัจคือความดับ

#ไม่เหลือแห่งทุกข์(นิโรธ)นี้มีอยู่

คือความดับสนิทแห่งตัณหานั้นทั้งหมด

เป็นความสละทิ้ง สลัดคืน

เป็นความปล่อยและไม่พัวพันกับตัณหานั้น”

จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงถึงอริยสัจข้อ ๔

คือ #มรรค หรือข้อปฏิบัติที่ทำให้ถึง

ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย #อริยสัจคือข้อปฏิบัติ

#ที่ทำให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์(มรรค)นี้มีอยู่

คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ

อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้นั่นเอง

ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ

การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ

ระลึกชอบและตั้งจิตมั่นชอบ”

เมื่อพระองค์ได้ตรัสแสดงอริยสัจทั้ง ๔ แล้ว

พระองค์ได้ทรงประกาศว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว

ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว

วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว

แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า

อริยสัจคือทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ

ก็อริยสัจคือทุกข์นั้น

เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้

และเราได้กำหนดรู้อริยสัจคือทุกข์นั้นแล้ว”

จากนั้นพระองค์ได้ประกาศ

ถึงความหลุดพ้น

และไม่กลับมาเกิดอีกของพระองค์ดังนี้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ตราบเมื่อปัญญาเครื่องรู้เห็น

ตามความเป็นจริง

อันมี ปริวัฏฏ์ ๓ อาการ ๑๒ ในอริยสัจ

ได้หมดจดแก่ตถาคตแล้ว

เราได้ปฏิญาณว่า

ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว

ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก

มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์

พร้อมทั้งสมณพราหมณ์

พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์”

ปัญญารู้เห็นได้เกิดแก่ตถาคตว่า

ความหลุดพ้นของตถาคตไม่กลับมากำเริบอีก

“#ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา

#บัดนี้ความเกิดอีกย่อมไม่มีแก่เราตถาคต”

นี่คือคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ที่พระองค์ทรงประกาศยืนยัน

แก่ปัญจวัคคีย์ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วจริงๆ

เพราะมีญาณหยั่งรู้เห็น

อันมีปริวัฏฏ์ ๓ อาการ ๑๒

ไม่ได้ทรงประกาศแบบเลื่อนลอย

ปริวัฏฏ์ แปลว่า หมุนรอบ

คือญาณทั้ง ๓ หมุนรอบอริยสัจทั้ง ๔ แต่ละข้อ

โดยสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ

จึงรวมเป็นอาการ ๑๒

ญาณ ๓ คือ ความหยั่งรู้ มี ๓ ได้แก่

๑ #สัจจญาณ คือญาณหยั่งรู้สัจจะ

คือ รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ

เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ

ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ

๒ #กิจจญาณ คือญาณหยั่งรู้กิจหรือหน้าที่

ที่จะต้องกระทำ

-กิจที่ควรกระทำต่อทุกข์

คือ ปริญญากิจ(กำหนดรู้)

-กิจที่ควรกระทำต่อเหตุให้เกิดทุกข์(ตัณหา)

คือ ปหานกิจ(การละ)

-กิจที่ควรกระทำต่อความดับทุกข์(นิโรธ)

คือ สัจฉิกริยากิจ (การทำให้แจ้ง)

-กิจที่ควรกระทำต่อข้อปฏิบัติ

ให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค)

คือ ภาวนากิจ (การทำให้เกิดขึ้น เจริญขึ้น)

๓ #กตญาณ คือญาณหยั่งรู้การอันทำแล้ว

คือหยั่งรู้ว่า กิจอันควรกระทำในอริยสัจ ๔

แต่ละอย่างนั้นได้ทำเสร็จแล้ว

ในข้อนี้ได้แก่ ญาณที่พระองค์ทรงรู้ว่า

พระองค์ทรงกำหนดรู้ทุกข์แล้ว

พระองค์ทรงละตัณหาได้แล้ว

พระองค์ทรงกระทำนิโรธให้แจ้งแล้ว

และมรรคนั้นพระองค์ทรงภาวนา

จนกระทั่งถึงที่สุดแล้ว

นี่คือพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์

ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

ในวันอาสาฬหบูชา

ในครั้งนั้น ๑ ใน ๕ คือโกณฑัญญะ

ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม ว่า

“#สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

#สิ่งทั้งปวงนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เมื่อท่านโกณฑัญญะ

ได้บรรลุโสดาปัตติผล

สำเร็จเป็นอริยบุคคลชั้นที่ ๑

คือ โสดาบันแล้ว

จึงได้ขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก

ในพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ทรงประทานการบวช

ให้แก่ท่านอัญญาโกณฑัญญะ

โดยทรงเปล่งพระวาจาว่า

“ท่านจงมาเป็นภิกษุเถิด

ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว

ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์

เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”

วิธีอุปสมบทที่พระพุทธองค์

ทรงประทานด้วยพระองค์เอง

โดยการเปล่งพระวาจาเช่นนี้

เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

ในการแสดงปฐมเทศนาครั้งนั้น

ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ได้ทำให้มีผู้รู้ตามเห็นตามพระองค์

เทวดาทั้งหลายที่ทราบต่างพากัน

กล่าวแซ่ซ้องยังเสียงให้บันลือลั่นไปทั่วว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรง

แสดงธรรมอันยอดเยี่ยม

ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

เป็นธรรมที่สมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม

หรือใครๆ ในโลกจะคัดค้านไม่ได้”

ดังนี้แล้วจึงยังให้เหล่าทวยเทพ

และพรหมทั้งหลาย

ที่ได้ทราบเปล่งเสียงให้บันลือ

แพร่สะพัดต่อ ๆ กันไปทุกชั้น

ยังให้ทั่วหมื่นโลกธาตุสั่นสะเทือนหวั่นไหว

และเกิดโอภาสคือแสงสว่าง

อันใหญ่หลวงหาประมาณมิได้

เพราะฉะนั้นวันอาสาฬหบูชา

จึงเป็นวันสำคัญยิ่ง

เป็นวันที่บังเกิดมีพระรัตนตรัย

ครบทั้ง ๓ ประการ ดังได้กล่าวแล้ว

พระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอันสูงสุด

ของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย

ผู้ใดมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

และได้เข้าถึงอริยสัจ ๔

ผู้นั้นชื่อว่าได้ที่พึ่งอันเกษม

ได้ที่พึ่งอันประเสริฐสุด

หากใครได้อาศัยที่พึ่งนี้แล้ว

จะสามารถนำพาชีวิตจิตใจ

ให้พบกับสันติสุขอันไพบูลย์ได้

ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีศรัทธา

มีกำลังใจที่จะพากเพียรในการเรียนรู้

และประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม

คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เพื่อถึงซึ่งความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน


............................

ธัมโมวาท โดย‎หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid037Za7txs1rmT5uLvm5XqLxEXK1gFdBF4BSjNunS9g3MnZ6S96aiVQz3CpTFmL9fzcl/?mibextid=Nif5oz

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น