วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา...ที่ควรรู้ (๔)


...ฯลฯ...
จิตตนิยาม : กฏธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต
       เมื่อ " อุตุนิยาม " และ " พืชนิยาม " มีความเหมาะสมแล้ว กล่าวคือ มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เหมาะสม มี ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่สมดุล และมีพืชเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานรองรับให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า " สัตว์ " และจะมี " จิตตนิยาม " หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิตมารับช่วงต่อเป็นลำดับถัดไป
        สาระสำคัญของ " สัตว์ " ในที่นี้คือ การมีสิ่งที่เรียกว่า " ความรู้สึกนึกคิด " หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า " จิต " เกิดขึ้น
        ทัศนะทางพระพุทธศาสนานั้น " พืช " ไม่มี " จิต " และได้อาศัย " จิต " เป็นเครื่องจำแนกความแตกต่างระหว่าง " พืช " กับ " สัตว์ " และยังได้แสดงไว้ชัดว่า " จิต " เป็นธรรมชาติอีประเภทหนึ่ง จัดเป็นธรรมชาติฝ่ายนามธรรม ที่แตกต่างออกไปจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ซึ่งเป็นธรรมชาติฝ่ายรูปธรรม แต่สามารถทำงานหรือทำหน้าที่ร่วมกับธรรมฝ่ายรูปธรรมได้โดยผ่านสิ่งที่เรียกว่า " ประสาท " หรือ " ระบบประสาท "
         ดังนั้น สาระสำคัญของ " สัตว์ " ที่นอกจากจะมีจิตแล้ว ยังต้องมีสิ่งที่เรียกว่า " ประสาท " อีกด้วย
         จิตตนิยาม ที่เป็นพื้นฐานควบคุมการทำงานของจิตหรือพฤติกรรมความเป็นไปของสัตว์ต่าง ๆ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า " สัญชาตญาณ "
          "สัญชาตญาณ"คือความรู้ที่มีมาพร้อมจิต เป็นความรู้ที่มีมาแต่กำเนิด และเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องมีใครสั่งสอน เพื่อที่จะควบคุมความเป็นไปต่าง ๆ ของสัตว์ และทำให้สัตว์ทั้งหลายสามารถรักษาตัวรอดและดำรงชีวิตอยู่ได้
           สัตว์ทุกชนิดจะต้องที"สัญชาตญาณ"ที่ " จิตนิยาม " หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิตให้มา
.................
           เรื่องของ"จิตตนิยาม" ในกรณีของ"มนุษย์" มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากมนุษย์มีระบบประสาทที่มีความสมบูรณ์พิเศษ ประกอบกับมีคุณภาพของ "จิต" ที่มีศักยภาพสูง
            ดังนั้น " มนุษย์ " นอกจากจะมีเรื่องของ " สัญชาตญาณ " ดังที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมี " ภาวิตญาณ " คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ฝึกฝน ไม่ได้มีมาเองหรือเกิดขึ้นองมาแต่กำเนิด เพิ่มเติมมากไปกว่าสัตว์อื่น ๆ
          และจาก " จิตตนิยาม " ในเรื่อง " ภาวิตญาณ " นี้เองจึงทำให้" มนุษย์ " มีพัฒนาการในการดำรงอยู่ที่มากไปกว่าและแปลกไปกว่าที่เป็นไปเองตามสัญชาตญาณ เมื่อนานเข้า " ภาวิตญาณ " นี้ได้เข้าไปแทนที่และถึงกับลบล้าง " สัญชาตญาณ " อะไรบางอย่าง จนถึงจุดหนึ่งได้ทำให้มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่โดยลำพังเพียงสัญชาตญาณเช่นสัตว์อื่น ๆ อีกต่อไป ต้องมีการเรียนรู้่และฝึกฝนอบรมจนมีความรู้อะไรบางอย่างเพิ่มเติม จึงจะทำให้สามารถดำรงอยู่ได้ และกลายเป็นชีวิตที่ต้องขึ้นกับการฝึกฝนอบรมตนเป็นสำคัญ จนในที่สุดกลายเป็นชีวิตที่นำเอาผลจากการฝึกอบรมมาเป็นเครื่องวัดและตัดสินคุณค่า - ความสำเร็จในความเป็นมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับพุทธพจน์บทหนึ่งที่ตรัสว่า " ทนฺโต เสฎโฐ มนุสฺโสสิ " แปลว่า " ในหมู่มนุษย์ คนที่ประเสริฐ คือคนที่ฝึกแล้ว " ซึ่งมีนัยสำคัญว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนตน และเพราะการเรียนรู้และฝึกฝนตน จึงทำให้มนุษย์มีความประเสริฐ เลิศและวิเศษ ไม่ได้หมายความอย่างที่อาจเข้าใจผิดกันมากว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ กล่าวคือ พอเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้นก็ประเสริฐขึ้นมาทันที
         จิตตนิยาม คือ " ภาวิตญาณ " จึงเป็นสิ่งกำหนดให้ชีวิตของมนุษย์ ต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง
         หากมนุษย์ไม่เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง หรือเรียนรู้และฝึกฝนที่ไม่ถูกวิธี ก็จะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถเอาตัวรอด หรือดำรงชีวิตอยู่ได้ และอาจกลายเป็นชีวิตที่ก่อปัญหาให้เกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง
        แต่หากมนุษย์ได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเองอย่างถูกวิธีแล้วจะกลายเป็นชีวิตที่มีความประเสริฐ และเลิศลำ้สุดประมาณ
         สัตว์ที่ดำรงชีพอยู่ด้วย " สัญชาตญาณ " อีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า สัตว์นั้น ๆ ไม่สามารถพัฒนาตนให้มากไปกว่าที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ จึงมีวิถีชีวิตและรูปแบบการดำรงอยู่ที่ไม่มีความแตกต่างกันนักในสัตว์แต่ละประเภท
          ส่วนมนุษย์ซึ่งมี " ภาวิตญาณ "ทำให้สามารถเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนาตนได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ทั้งในทางที่เจริญขึ้นหรือเสื่อมลงกว่าที่เป็นไปตามสัญชาตญาณก็ได้  เราจึงสามารถเห็นความแตกต่างในชีวิตและสังคมของมนุษย์ ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรมคือจิตใจได้มากมายเหลือเกิน กล่าวเฉพาะในด้านจิตใจ มีตั้งแต่คนดีที่สุดจนถึงคนเลวที่สุด  คนมีน้ำใจกรุณามหาศาลอย่างที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์ จนถึงคนที่มีจิตใจอำมหิตโหดเหี้ยม สามารถฆ่าล้างเผ่าพันธู์มนุษย์ได้
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )
********



**************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น