วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๖)



 ,,,ฯลฯ...
ธรรมนิยาม : กฏธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย
       ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า " กรรมนิยม " มี " ความสุขและความทุกข์ " เป็นสิ่งที่ควบคุมการกระทำของมนุษย์ เพื่อให้รู้ว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่กระทำไม่ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว เรื่องทั้งหมดก็น่าจะยุติแต่เพียงเท่านี้ ไม่น่าจะมีนิยามอีกต่อไป
        แต่แล้วมนุษย์กลับมามีปัญหากับเรื่อง " ความสุขและความทุกข์ " ที่เกิดขึ้นนั้นเสียงเอง กล่าวคือ เกิดมีปัญหาที่ว่า " รักสุขเกลียดทุกข์ " ขึ้นมาในจิตใจ ทั้ง ๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้ว " สุขและทุกข์ " ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะให้ " รักหรือเกลียด " เลย
         ทั้งนี้เพราะ " ความสุขและความทุกข์ " ที่เกิดขึ้น โดยธรรมชาติแล้วเป็นเสมือนมาตรบอกเพื่อให้ทราบถึงความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องของการกระทำของมนุษย์เท่านั้น
 ................
          ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มีผลทำให้จิตของมนุษย์ตกอยู่ในภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ฟู ๆ แฟบ ๆ ไปตามอำนาจของ " ความสุขและทุกข์ " ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา หาความเป็นปกติสุขที่แท้จริงไม่ได้
          นอกจากนั้นปัญหายังรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการไปหลงมัวเมากับรสชาติของ " ความสุข " ที่เกิดจากการตอบสนองความอยากของตน จนสามารถกระทำได้ทุกอย่างและทุกวิธีการในทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งรสชาติของความสุขอย่างที่ต้องการนั้น
................
          " ธรรมนิยาม " เป็นกฏธรรมชาติที่ครอบคลุมกฏธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งหมด ครอบคลุมทุกสิ่งไม่มีข้อยกเว้น ทั้งสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง(สังขตธรรม) และสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (อสังขตธรรม หรือ นิพพาน)
................
             กฏธรรมชาติใน " ธรรมนิยาม " มี ๒ กฏใหญ่ คือ :-
           ๑) กฏอิทัปปัจจยตา  และ
           ๒) กฏไตรลักษณ์
          ๑. กฏอิทัปปัจจยตา มีสาระอย่างที่ได้แสดงไว้ว่า
          " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี,
             เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น,
             เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี,
             เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป "
            กฏอิทัปปัจจยตา แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นสังขตธรรมย่อมมีการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการสร้างหรือการดลบันดาล หรือเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ หรือดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น 
              นิยามต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ อุตุนิยาม พืชนิยาม จิตตนิยาม และกรรมนิยาม อันที่จริงเป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของ " ธรรมนิยาม " ที่ปรากฏในด้านต่าง ๆ เท่านั้นเอง ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัย และทำให้เกิดอะไรขึ้น
          ๒. กฏไตรลักษณ์ คือกฏที่แสดงให้เห็นภาวะหรือสามัญลักษณะ ๓ ประการ ที่เสมอเหมือนกันของสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย กล่าวคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
          " อนิจจัง " คือ ภาวะ " ไม่เที่ยง " หรือ " เปลี่ยนแปลง " หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ อยู่ในภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีกรอบของการเปลี่ยนแปลงเป็นที่แน่นอน คือ เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ว่า " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี "
           " ทุกขัง " คือภาวะ " ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ " หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในภาวะกำลังเปลี่ยนแปลงนั้น มีภาวะที่ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกันให้ไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้
           " อนัตตา " มีความหมายว่า " ไม่ใช่ตัวตน " หมายความว่าไม่มีสิ่งใดที่จะยึดถือเอาเป็นสาระหรือแก่นสารได้ว่าเป็นตนหรือของตนและไม่สามารถบังคับบัญชาให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามอำเภอใจตนได้
            จิตของบุคคลผู้รู้และเข้าถึง " ธรรมนิยาม " จะเห็นว่า " ความสุขและความทุกข์ " อันที่จริง เสมอเหมือนกันโดยความเป็นเหตุปัจจัยที่ว่า " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี "
            เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ให้ผลเป็นสุข ก็สุข : เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ผลเป็นทุกข์ ก็ทุกข์ และทุกข์ที่เกิดขึ้น ล้วนถูกต้องแล้ว ซึ่งต่างก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงไม่ทำให้เกิดความหลงรักในสุข และหลงเกลียดในทุกข์
             นอกจากนั้นบุคคลผู้รู้แจ้งและเขาถึง " ธรรมนิยาม " เมื่อจะกระทำการใด ๆ ก็จะกระทำด้วยความรู้เท่าทันในความจริง และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติในเรื่องนั้น ๆ (=กฏอิทัปปัจจยตา) และที่สำคัญคือด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น กล่าวคือ  ไม่หวังผล ไม่บังคับ ไม่คาดคั้น ไม่เร่งรัดผลให้เกิดขึ้นตามอำเภอใจตน(=กฏไตรลักษณ์) เพราะรู้เท่าทันว่า ผลย่อมเกิดขึ้นตามเหตุ โดยไม่เกี่ยวกับความหวังหรือการคาดคั้นของใคร ๆ 
           เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นใด ๆ นี้เอง จึงทำให้จิตของบุคคลมีแต่ความปลอดโปร่งโล่งเบา ไม่มีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ ฟู ๆ แฟบ ๆ ไม่มีความสะดุ้งหรือหวั่นไหว เป็นอิสระ และเป็นไทปลอดพ้นจากการร้อยรัดเสียดแทงจากสิ่งทั้งปวง ซึ่งในพุทธศาสนาเรียกจิตชนิดนี้ว่า " วิมุตติจิต " หรือ " จิตหลุดพ้น " ซึ่งเป็นอุดมคติแท้จริงและสูงสุดที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาไปได้สมดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า " บุคคลหมดสิ้นอุปทาน(=ความยึดมั่นถือมั่น)ย่อมปรินิพพาน "
           จิตที่เข้าถึง " ธรรมนิยาม " นี้ เป็นผลของภาวิตญาณ(การเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง)สูงสุดในทางจิตใจของมนุษย์ ที่สามารถพัฒนาและบรรลุถึงได้ ทำให้กลายเป็นบุคคลอุดมคติที่อยู่เหนืออำนาจความบีบคั้นที่มาจาก " สัญชาตญาณ " ทั้งหมดได้.. เป็นผู้ที่ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตเกิดความหวั่นไหว หรือเกิดความทุกข์ ได้อีกต่อไปโดยเด็ดขาดและสิ้นเชิง ชีวิตที่ดำรงอยู่มีแต่การกระทำที่ถูกต้องและอำนวยต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์และความสุขแก่สรรพสิ่งอย่างไม่มีประมาณ
...ฯลฯ....
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
**********


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น