วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้(๓)


...ฯลฯ...
พืชนิยาม :  กฏธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพืชพันธุ์
    เมื่อ " อุตุนิยาม "  หรือกฏธรรมชาติที่ทำให้ภาวะของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพมีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะทำให้ " ธาตุดิน " มีคุณสมบัติที่จะก่อเกิดเป็น " สารอินทรีย์ " ได้ ธรรมชาติก็จะมี " พืชนิยาม " หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพืชพันธุ์ มารับช่วงต่อ กล่าวคือ ทำให้เกิดสิ่งที่เป็น " สารอินทรีย์ " ที่เรียกว่า " พืช " ขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้นไปกว่าเรื่องของ " อุตุนิยาม " คือมีความสามารถในการสร้างสิ่งที่เหมือนกับตัวเองขึ้นและเพิ่มปริมาณมากขึ้นได้เรียกความสามารถนี้ว่า " การสืบพันธุ์พืช " หรือ " การสืบพันธุ์ "
      การเกิดขึ้นของพืช ในแง่หนึ่งเป็นดัชนีชี้วัดให้รู้ว่า " อุตุนิยาม " หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพนั้นมีความเหมาะสมจริง พื้นที่ใดมีพืชเกิดขึ้นอุดมสมบูรณ์ ย่อมหมายความว่า อุตุนิยามหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่นั้นทๆ มีความเหมาะสมแล้วหรือมีความสมดุลอย่างดี
        ในทางตรงข้าม หากพื้นที่ใด " ไม่มีพืช " หรือ " พืช " ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า " อุตุนิยาม " ในพื้นที่บริเวณนั้น ไม่มีความเหมาะสม เป็นพื้นที่ที่สภาวะแวดล้อมทางกายภาพไม่ดีไม่รองรับต่อสิ่งมีชีวิตที่จะอาศัยและดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข
          นัยสำคัญของการเกิดขึ้นของ "พืช" คือการแบ่งสารวัตถุ(ดิน- น้ำ-ลม-ไฟ ที่อยู่ในภาวะสมดุล)ที่เป็น " สารอนินทรีย์ "  ให้อยู่ในสภาพของ " สารอินทรีย์ " ซึ่งเป็นสารที่เป็นโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และ " พืชนิยาม " ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นและกระจายตัวของ " พืช " ไปในส่วนต่าง ๆ บนพื้นพิภพอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อเตรียมการอะไรบางอย่าง ให้นิยามในลำดับถัดไปคือ " จิตตนิยาม " สามารถเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้
           การเกิดขึ้นของ " พืช " นอกจากเป็นเรื่องของ " สารอินทรีย์ " ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว พิจารณาอีกแง่หนึ่ง เป็นการตระเตรียมให้เกิดมีสิ่งที่เรียกว่า " ปัจจัย ๔ " (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นไปในลำดับถัดไปด้วย
           นอกจากนั้น " พืช " ยังสามารถย้อนกับมามีบทบาทต่อ " อุตุนิยาม " ด้วย  โดยช่วยรักษาระบบความสมดุลของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือความสมดุลของ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ให้สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้นโดยการ...
        @.. เป็น "ป่าไม้" ซึ่งเป็นแหล่งให้ความชุ่มชื้นและความเย็นทำหน้าที่ควบคุม " ธาตุไฟ " หรือเป็นตัวปรับอุณหภูมิหรืออาจเรียกว่าเป็นแอร์คอนดิชั่นของโลก ทำให้ลมฟ้าอากาศ และฤดูกาล เป็นไปโดยปกติ
        @..เป็น " ป่าต้นน้ำ " ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เพื่อควบคุม " ธาตุน้ำ " หรือควบคุมและจัดระบบการจัดสรรของน้ำในธรรมชาติ
        @..ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ " ธาตุลม " กล่าวได้ว่า " พืช " เป็นแหล่งผลิด " อ๊อกซิเจน " หรือ " ปราณ " ซึ่งเป็นพลังงานสำคัญในการจัดเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
       @..การเกิดและตายของพืช อันที่จริงเป็นกลวิธีการปรับปรุงสภาพของดินที่สำคัญ ทำให้ " ธาตุดิน " มีคุณภาพที่ดีและเหมาะสมยิ่งขึ้น ๆ ตลอดเวลา
        ดังนั้น การกระทำใดที่มีผลต่อ " พืช " ดังเช่นที่ปรากฏชัดในปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่อง " การตัดไม้ทำลายป่า " จึงเป็นมหันตภัยที่หน้ากลัวและใหญ่หลวงที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง เพราะไปทำลายสิ่งที่เป็นตัวการรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ
       " การตัดไม้ทำลายป่า " โดยเฉพาะที่ไปทำลายแอร์คอนดิชั่นของโลก เรื่องนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งของ " ภาวะโลกร้อน " นอกเหนือจากสาเหตุที่มาจากการเผาผลาญพลังงานที่มากมายมหาศาล จนเกิดภาวะเรือนกระจก
       " การทำลายป่าต้นน้ำ " ทำให้แหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย ซึ่งจะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำคลองแห้งลง เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างมากในฤดูแล้ง เพราะไม่มีป่าต้นน้ำคอยดูดซับน้ำฝน แล้วค่อย ๆ ปล่อยลงมาเติมแก่แม่น้ำลำคลอง : และยังทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงในฤดูฝน เพราะฝนตกมาเท่าไรก็ไหลลงสู่พื้นราบเท่านั้น ไม่มีป่าต้นน้ำคอยซับน้ำไว้ และยิ่งหากมีการตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณภูเขาอื่น ๆ ด้วย ก็เท่ากับเป็นการเปิดหน้าดิน ไม่มีรากไม้คอยยึดเหนี่ยวหน้าดินไว้  เมื่อมีฝนตกหนัก ก็จะมีการพัดพาเอาหน้าดินดังกล่าวให้ไหลงมาพร้อมกับต้นไม้ที่ถูกตัด เกิดเป็นดินโคลนถล่มพร้อมท่อนซุง ดังที่มีข่าวให้ได้ยินบ่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องหน้ากลัวอีกมากเช่นกัน
...ฯลฯ....
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน  จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
..........
..........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น