วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๕)


...ฯลฯ...
กรรมนิยาม : กฏธรรมชาติเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์
       เมื่อ " จิตตนิยาม " มีความเหมาะสมจนทำให้เกิด"สัตว์"ต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อมี " มนุษย์ " เกิดขึ้น; นัยสำคัญของความแตกต่างระหว่างสัตว์อื่น ๆ กับมนุษย์ อย่างที่กล่าวไปแล้ว คือ สัตว์อื่น ๆ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่มนุษย์ดำรงชีพอยู่ด้วยทั้งสัญชาตญาณและภาวิตญาณ
         การดำรงชีพของสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ด้วย " สัญชาตญาณ " นั้นอันที่จริงก็นับว่ามีผลดีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ที่จะไม่มีการกระทำที่เป็นการทำลายระบบนิเวศในสิ่งแวดล้อมเลย
        สำหรับ " มนุษย์ " นั้นมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือเรื่อง " ภาวิตญาณ " จึงทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกใหม่ซึ่งมีความแปลกแยกไปจากธรรมชาติที่เป็นอยู่และมีอยู่เดิมได้มาก
         สิ่งแปลกใหม่ที่มนุษย์กระทำขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญยิ่ง เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อนิยามต่าง ๆ ได้โดยตรง กล่าวคือ สามารถทำให้ภาวะความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพืชและสัตว์ อันเป็นผลมาจากอุตุนิยาม พืชนิยาม และจิตตนิยาม หมดสิ้นหรือสูญสิ้นสภาพที่จะธำรงไว้ซึ่งความเกื้อกูลกันของนิยามต่าง ๆ ที่จะเสริมต่อกันจนเป็นระบบนิยาม ๕ ให้เป็นเสมือนตึก ๕ ชั้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
           นอกจากนั้นกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ยังสามารถทำให้เกิดสิ่งที่เป็น " มลพิษ " ขึ้นในสิ่งแวดล้อม ส่งผลและทำอันครายต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมถึงมนุษย์ด้วยอย่างหน้ากลัว
..............
          เรื่อง " กรรมนิยาม " นี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของ"มนุษย์" และเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ " มนุษย์ " โดยเฉพาะ
          หลักหรือกฏธรรมชาติ ในเรื่อง " กรรมนิยาม " มีอยู่ว่า " การกระทำทุกอย่างย่อมมีผล: การกระทำที่ดีถูกต้อง ย่อมให้ผลเป็นความสุข  และการกระทำที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง ย่อมให้ผลเป็นความทุกข์ "
           " กรรมนิยาม " อาศัย " ความสุขและความทุกข์ " เป็นสิ่งควบคุมการกระทำของมนุษย์  กล่าวคือ เมื่อมนุษย์กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะบังเกิดผลให้เป็นความสุข ความสงบ และสันติ แต่หากกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็จะบังเกิดผลให้เป็นความทุกข์ ความเดือดร้อน และภัยพิบัติต่าง ๆ
            การกระทำที่ " ถูกต้อง " และ " ไม่ถูกต้อง " ของมนุษย์พิจารณาจากอะไร ? 
           คำตอบ คือ อยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง อุตุนิยาม พืชนิยาม และจิตตนิยาม ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
           การกระทำที่ " ถูกต้อง " คือการกระทำที่สอดคล้องกับนิยามต่าง ๆ ที่นำไปสู่ผลคือ ความสุข ความสมดุล และยั่งยืน
           การกระทำที่ " ไม่ถูกต้อง "  คือ การกระทำที่มีผล คือความทุกข์ และเป็นการทำลายนิยามต่าง ๆ ให้เกิดปัญหาและความเดือดร้อน
...............
           หากมนุษย์ยังมองไม่เห็นถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องของตนหรือไม่สำนึกแล้วแก้ไขในการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้น และยังมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องมากขึ้น  ก็จะมีความทุกข์เป็นผลเกิดขึ้นในการดำรงชีพมากขึ้น หนักขึ้น รุนแรงขึ้นตามลำดับ จนถึงจุดหนึ่ง " กรรมนิยาม " ก็อาจจะต้องถึงกับทำการล้าง " มนุษย์ " ให้แทบหมดสิ้นไป เพราะการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้นได้ไปกระทบต่อนิยามต่าง ๆ ที่มีอยู่ จนทำให้ไม่สามารถรองรับการกระทำของมนุษย์ในลักษณะนี้ได้อีกต่อไป เพื่อที่จะได้เริ่มต้นใหม่ และเป็นเสมือนการเยียวยารักษานิยามต่าง ๆ ให้สามารถยังคงดำรงอยู่และทำหน้าที่ต่อไปได้
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
.................
ปัญญา..ที่ควรรู้ (๔)
.................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น