...ฯลฯ...
จากปัญญา จึงมาสู่หน้าที่
ปัญญาที่รู้เข้าใจในธรรมชาติของตนเอง ตลอดจนนิยาม ๕ ที่ได้กล่าวมาแล้ว อันที่จริงก็คือความรู้เกี่ยวกับกฏธรรมชาติที่เป็นตัวควบคุมความเป็นไปของชีวิต และสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับชีวิต
คำว่า " กฏ " นี้ มีใจความสำคัญว่า " จะต้องปฏิบัติตาม " หากไม่ปฏิบัติตาม ก็จะนำมาซึ่งปัญหาและความเดือดร้อนต่าง ๆ
กล่าวอีกนัย ; เพราะธรรมชาติมี "กฏ " หรือ " นิยาม ๕ " ควบคุมความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ นี้เอง สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติจึงมี " หน้าที่ " ที่จะต้องปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ หรือ นิยาม ๕ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดและความเป็นปกติสุขในการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง
และสิ่งที่มีหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามในที่นี้โดยเฉพาะก็คือ " มนุษย์ " ทั้งนี้เพราะ มนุษย์เท่านั้นที่มี " ภาวิตญาณ " ที่สามารถเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยอิสระทั้งในทางที่เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งของมนุษย์เอง รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ก็จะต้องได้รับการอบรมให้มีความรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษาจะขาดเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เลย
กล่าวได้ว่าหลักประกันความสงบสุข สันติ ของมนุษย์รวมไปถึงทุกสิ่งในธรรมชาติที่แท้จริงและยั่งยืน ขึ้นอยู่กับมนุษย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ว่าจะรู้จักและปฏิบัติตนให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ ดังที่กล่าวไปแล้วได้มากน้อยเพียงไร
การกระทำใดที่มีผลไปทำลายกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ นี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แท้จริงเป็นเรื่องใหญ่และนับเป็นการกระทำที่ร้ายแรงที่สุด เสียหายที่สุด อาจเปรียบได้กับการกระทำที่เป็น " อนันตริยกรรม " ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกรรมที่เลวร้ายที่สุด ให้ผลหนักที่สุด เทียบได้กับ " ปิตุฆาต - มาตุฆาต " คือการฆ่าพ่อ-แม่ของตนเองเลยทีเดียว
ทั้งนี้เพราะ " มนุษย์ " เป็นผลผลิตของกฏธรรมชาติหรือ นิยาม ๕ ;พัฒนาการของนิยาม ๕ มองในแง่หนึ่งก็เพื่อสร้าง " มนุษย์ " รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติให้มีภาวะเหมาะสมเพื่อการรองรับการอุบัติและดำรงอยู่ของกฏธรรมชาติหรือ นิยาม ๕ จึงเปรียบได้ว่าเป็น " พ่อ-แม่ " ของมนุษยชาติ รวมตลอดถึงสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติทั้งหมด การกระทำที่ไปทำลายกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ จึงเป็นเสมือนการฆ่าพ่อแม่ที่เป็นผู้สร้างและผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งจะส่งผลเสียหายร้ายแรงไม่เพียงต่อมนุษย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติที่เป็นผลมาจากนิยาม ๕ ทั้งหมด
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือบัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักงานบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
**********
**********
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น