วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เหตุผลแห่งวัฏสงสาร


ความสำคัญของหลักปฏิจจสมุปบาท
               หลักปฏิจจสมุปบาท (การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันและกันเกิดขึ้น) มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา พระโพธิสัตว์ได้ทรงพิจารณาเห็นหลักปฏิจจสมุปบาทในขณะที่ทรงพยายามค้นคว้าหาความจริงของชีวิตก่อนที่จะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ได้ทรงพิจารณาใคร่ครวญโทษของชราและมรณะ เป็นต้น เช่นกับที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ประพฤติปฏิบัติในขณะที่กำลังตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย การได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะหลังจากที่ได้เห็น คนแก่ คนเจ็บและคนตาย ทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติละทิ้งชีวิตทางโลกเสด็จออกผนวชเพื่อแสวงหาอมตธรรมที่พ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งล้วนเป็นภัยอันน่ากลัวของชีวิต
               สัตว์โลกต่างต้องการหลีกให้พ้นภัยอันน่ากลัวนี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ภัยนี้กลับเฝ้าติดตามเหล่าสัตว์ไปเสียทุกภพชาติไม่มีวันจบสิ้น การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏที่หาจุดจบไม่ได้นี้เป็นเหมือนเรือนจำที่ขังคนไว้กับความทุกข์ทรมาน เพราะชีวิตก็คือการเกิดและการตายต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง
              ชีวิตของเป็ดและไก่เป็นต้น เป็นตัวอย่างที่น่าสังเวชยิ่ง บ้างตกเป็นอาหารตั้งแต่ยังอยู่ในไข่ พวกที่รอดมาจนฟักเป็นตัวได้ก็มักถูกฆ่าเมื่อเติบโตขึ้น พวกมันเกิดมาเพื่อจะเป็นอาหารของมนุษย์เท่านั้น ชะตาชีวิตที่ต้องเกิดมาเพื่อถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นสิ่งที่น่าอเนจอนาถและน่ากลัวโดยแท้ ทว่าเป็ดไก่เหล่านั้นกับดูจะพอใจชีวิตเพลิดเพลินอยู่กับการกิน การทะเลาะจิกตีกัน มันคงคิดว่าจะมีชีวิตอีกนาน ไม่รู้เลยว่าความจริงชีวิตนั้นสั้นนัก เพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่เดือนก็ต้องตาย
              ชีวิตของมนุษย์เราก็ไม่ต่างกัน ไม่ได้ยืนยาวมากนัก คนที่อายุ ๕๐ หรือ ๖๐ ปี จะรู้สึกว่าอดีตเหมือนเพิ่งผ่านมา อันที่จริงแล้วเวลา ๖๐ - ๗๐ ปีในโลกมนุษย์นั้นเทียบได้กับเวลาเพียง ๑ วันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เท่านั้น และจะยิ่งสั้นมากเมื่อเทียบกับอายุของพรหม แต่พรหมที่มีอายุยืนยาวหลายร้อยหลายพันกัปก็ยังนับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสังสารวัฏอันยาวนานจนหาจุดจบไม่ได้ เพราะเทวดาและพรหมยังคงมีแก่และตายไปในสที่สุด ถึงแม้ว่าเทวดาและพรหมจะปราศจากการเจ็บป่วยหรือแก่ชราที่ปรากฏให้เห็น แต่ก็ยังมีความเสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลา ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ไม่มีสัตว์โลกชนิดใดเลยที่จะหนีพ้นจากความแก่และความตายได้
การพิจารณาของพระโพธิสัตว์
             เมื่อพระโพธิสัตว์พิจารณาถึงสาเหตุของความแก่ ทรงดำริย้อนจากปลายห่วงโซ่แห่งปฏิจจสมุปบาทกลับไปหาข้างต้นกล่าวคือ
  • ความแก่ ความตาย มีการเกิด เป็นปัจจัย
  • - การเกิด มีกรรมที่เรียกว่า กรรมภพ เป็นปัจจัย
  • - กรรมภพ มีอุปาทาน(ความยึดมั่น) เป็นปัจจัย
  • - อุปาทาน มีตัณหา(ความทะยานอยาก)เป็นปัจจัย
  • - ตัณหา มีเวทนา(ความรู้สึกสุขทุกข์หรือวางเฉย) เป็นปัจจัย
  • - เวทนา มีอายตนะ(เช่น ตาเห็นรูป เป็นต้น) เป็นปัจจัย
  • - อายตนะ มีนามรูป เป็นปัจจัย
  • - นามรูป มีวิญญาณ เป็นปัจจัย
  • - วิญญาณ มีสังขาร(การขวนขวายทำกรรม)เป็นปัจจัย
  • - สังขาร มี อวิชชา(ความไม่รู้ตามความจริง) เป็นปัจจัย
*******
(จากหนังสือ ปฏิจจสมุปบาท เหตุผลแห่งวัฏสงสาร พระโสภณมหาเถระ(มหาสีสยาดอ)รจนา พระพรหมโมลี(สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.๙M.A.Ph.d)ตรวจชำระ   พระคันธสาราภิวงศ์ แปลและเรียบเรียง)

             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น