๔. ปุคฺคลปญฺญตฺติ
ฉ ปญฺญตฺติโย บัญญัติ
คือการแสดงประกาศแต่งตั้งทั้งหลาย ๖
ขนฺธติปญฺญตฺ บัญญัติว่า ขันธ์
อายตนปญฺญตฺติ บัญญัติว่า อายตนะ
ธาตุปญฺญตฺติ บัญญัติว่า ธาตุ
สจฺจปญฺญตฺติ บัญญัติว่า สัจจะ
อินฺทฺริยปญฺญตฺติ บัญญัติว่า อิทรีย์
ปุคฺคลปญฺญตฺติ บัญญัติว่า บุคคล
กิตฺตาวตา ปุคคลานํ
ปุคฺคลปญฺญตฺติ บัญญัติซึ่งบุคคลทั้งหลายว่า
เป็นบุคคล กำหนดประมาณเท่าไร
สมยวิมุตฺโต บุคคลผู้พ้นแล้วโดยสมัย
คือบุคคลผู้ได้วิโมกข์ หรือสมาบัติ ๘ ตามกาล ตามสมัย
และมีอาสวะบางเหล่าสิ้นแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา ได้แก่พระอริยบุคคล ๓
จำพวกเบื้องต้นผู้ได้สมาบัติ ๘
อสมยวิมุตฺโต บุคคลผู้พ้นโดยไม่มีสมัย
คือบุคคลผู้มิได้มีวิโมกข์ ๘ ตามกาล ตามสมัย แต่มีอาสวะทั้งหลายสิ้นแล้ว
เพราะเห็นด้วยปัญญา ได้แก่พระอรหันต์ สุกขวิปัสสก อีกอย่างหนึ่ง
พระอริยบุคคลทั้งปวง ชื่อว่าอสมยวิมุตต์ เพราะได้อริยวิโมกข์ตามลำดับขั้น
อริยวิโมกข์ไม่มีสมัยกำเริบอีกได้
กุปฺปธมฺโม บุคคลผู้มีธรรมยังกำเริบ
คือบุคคลผู้ได้รูปสมาบัติ หรืออรูปสมาบัติ ยังไม่คล่องแคล่วชำนาญ
มีฐานะโอกาสจะอาศัยความประมาทเสื่อมจากสมาบัตินั้นได้
อกุปฺปธมฺโม บุคคลอันมีธรรมอันไม่กำเริบได้
คือบุคคลผู้ได้รูปสมาบัติ หรืออรูปสมาบัติคล่องแคล่วชำนาญ
ไม่มีฐานะโอกาสจะประมาทเสื่อมจากสมาบัตินั้นได้
ได้แก่พระอนาคามีและพระอรหันต์ผู้ได้สมาบัติ อีกอย่างหนึ่งพระอริยบุคคลทั้งปวง
ชื่อว่าอกุปปธัมมะ เพราะอริยวิโมกข์ของท่านเป็นธรรมไม่กำเริบอีกได้
ปริหานธมฺโม บุคคลผู้มีธรรมยังเสื่อมได้
คือบุคคลผู้มีธรรมยังกำเริบได้นั่นแล
อปริหานธมฺโม บุคคลผู้มีธรรมอันไม่เสื่อมได้
คือบุคคลผู้มีธรรมอันไม่กำเริบได้นั่นแล
เจตนาภพฺโพ บุคคลผู้ควรเพื่อถึงความไม่เสื่อม
เพราะเจตนาเอาใจใส่ คือ บุคคลผู้ได้รูปสมาบัติ ยังไม่คล่องแคล่วชำนาญ
เมื่อเอาใจใส่อยู่ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัตินั้น
อนุรกฺขนาภพฺโพ บุคคลผู้ควรเพื่อถึงความไม่เสื่อมด้วยคอยรักษาไว้
คือบุคคลได้รูปสมาบัติหรืออรูปสมาบัติ
ยังไม่คล่องแคล่วชำนาญเมื่อคอยรักษาอยู่ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัตินั้น
ปุถุชฺชโน บุคคลผู้เป็นปุถุชนมีกิเลสเกิดหนาแน่น
คือบุคคลผู้ยังละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้นยังไม่ได้ และไม่ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์เหล่านั้น
โคตฺรภู บุคคลผู้ถึงญาณครอบโคตร
คือบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมก่อน แต่จะก้าวเข้าสู่อริยธรรม
โดยไม่มีธรรมอื่นขั้นระหว่าง ได้แก่ผู้ล่วงโคตร คือมณฑลบัญญัติปุถุชน
จะย่างสู่โคตรอริยชน กำลังอยู่ในภาวะที่มิใช่ปุถุชน มิใช่อริยชน
ภยูปรโต บุคคลผู้งดเว้นเพราะความกลัว
ได้แก่พระเสขบุคคล ๗ และปุถุชนผู้มีศีล ปุถุชนกลังภัย ๔ คือทุคคติภัย ภัยคือทุคคติ
วัฏฏภัย ภัยคือวน กิเลส กรรม วิบาก กิเลสภัย ภัยคือกิเลส อุปวาทภัย
ภัยคือความติเตียน จึงงดเว้นบาป พระเสขบุคคลแม้ตั้งอยู่ในอริยมรรค อริยผล
ก็ยังกลัวภัย ๓ เว้นทุคคติภัย
อภยูปรโต บุคคลผู้งดเว้นเพราะความไม่กลัว
ได้แก่พระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ตัดภัยได้เด็ดขาด
ภพฺพาคมโน บุคคลผู้ควรเพื่อมาแน่แท้ในกุศลธรรมทั้งหลาย
คือบุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยกัมมาวรณ์เครื่องกั้น คือกรรม ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕
ไม่ประกอบด้วยกิเลสสาวรณ์ เครื่องกั้นคือกิเลส ได้แก่
นิตยมิจฉาทิฏฐิไม่ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ เครื่องกั้นคือวิบาก ได้แก่อเหตุกปฏิสนธิ
และทุเหตุกปฏิสนธิ เป็นผู้มีศรัทธา มัฉันทะ มีปัญญา ไม่บ้าใบ้เป็นภัพพบุคคล
สมควรบรรลุมรรคผลได้
อภพฺพาคมโน บุคคลผู้ไม่ควรเพื่อมาแน่แท้ในกุศลธรรมทั้งหลาย
คือบุคคลผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้น ๓ อย่างนั้น เป็นผู้ปราศจากศรัทธาเป็นต้น
เป็นอภัพพบุคคล ไม่สมควรบรรลุมรรคผล
นิยโต บุคคลผู้เที่ยงแน่แท้
คือบุคคลทำอนันตริยกรรม ๕ และบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฐิ ๒จำพวก
เที่ยงแน่แท้ที่จะไปสู่นรก พระอริยบุคคล ๘จำพวก เที่ยงแน่แท้ต่อมรรคผลสูง ๆขึ้นไป
และเที่ยงแน่แท้ต่อ อนุปปาทาปรินิพพาน
อนิยโต บุคคลผู้ไม่เที่ยงแน่แท้
คือบุคคลนอกจากนิยตบุคคลเหล่านั้นเพราะมีคติไม่แน่นอน
ปฏิปนฺนโก บุคคลผู้ปฏิบัติแล้ว
คือบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ ได้แก่ตั้งอยู่แล้วในมรรค ๔
มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น
ผเลฏฺฐิโต บคคลผู้ตั้งอยู่แล้วในผล
คือบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยผล ๔ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
อรหา บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์
คือบุคคลผู้ละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ ด้วยการละโดยไม่มีส่วนเหลือ
อรหตฺตาย ปฏิปนฺโน บุคคลปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์
คือบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์เบื้องปลายทั้ง ๔มี รูปราคะเป็นต้น
******
คำแปลพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
(สมเด็จพระญาณสังวร-เจริญ
สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร)
จาก http://www.watsacramento.org/w-article-074B-t.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น