วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ภาวนาญาณ


"...ความรู้ด้าน ภาวนาญาณ นี้ เราจะศึกษาหาจากตำรับ ตำราอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ความรู้ใด ๆในตำรับ ตำรา แม้แต่ความรู้ในด้านปริยัติ ที่พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถา 
นี้ถือว่าเป็นความรู้ด้านปริยัติ เป็น จินตาญาณ ...เป็น สุตาญาณ.. ยังไม่ถึงขั้น ภาวนาญาณ...."
"....ความรู้เรื่อง ภาวนา เราเรียนจากใหน เราเรียนจากร่างกาย ยาววา หนาคืบ เรียนที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ .....เราบอกกันไม่ได้ ถ้าบอกมันก็เป็นปริยัติ เป็น สุตาญาน เป็น จินตาญาณ  แต่นี่เราต้องการ ภาวนาญาณ ...มันจะเห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง แทงตลอดเอง เรียกว่า ภาวนาญาณ ...ความรู้ ขั้นนี้ ในขณะเรากำหนดจิตของเรา  คิดหนอ ๆ ๆ เราจะเห็นอาการคิดของเรา มันคิดเรื่องอะไร มีอะไรแฝงในจิตในใจของเรา ความคิดที่เกิดโดยอัตโนมัตินี้เรืยกว่า ภาวนาญาณ..."

                  (บางส่วนบางตอนจากธรรมะบรรยาย ของ พระราชปริยัตยากร)

1 ความคิดเห็น:

  1. ภาวนา 4 (การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกอบรม, การพัฒนา : cultivation; training; development)
    1. กายภาวนา (การเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ : physical development)
    2. สีลภาวนา (การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน : moral development)
    3. จิตภาวนา (การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น : cultivation of the heart; emotional development)
    4. ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา : cultivation of wisdom; intellectual development)

    ในบาลีที่มา ท่านแสดงภาวนา 4 นี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์
    (จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
    พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

    ตอบลบ