วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วังจันทรเกษม


มุ่งสู่กรุงเก่า.." ราชธานีเก่า อู่ข้าว อู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี 
คนดีศรีอยุธยา"


          พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสักหรือที่เรียกว่า คูขื่อหน้าในอดีต ทางทิศเหนือ มุมตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ใกล้ตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
         หลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า พระราชวังจันทรเกษมหรือวังหน้า สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาประมาณ พ.ศ.๒๑๒๐ ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้ไว้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
         นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และมหาอุปราชที่สำคัญถึง ๘ พระองค์ คือ
         ๑.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 
          ๒.สมเด็จพระเอกาทศรถ
         ๓.เจ้าฟ้าสุทัศน์(พระราชโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถ)
         ๔.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 
         ๕.ขุนหลวงสรศักดิ์(พระเจ้าเสือ)
         ๖.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
         ๗.สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
         ๘.กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์(เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ)
         ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการบูรณะและปรับปรุงพระราชวังจันทรเกษมขึ้นใหม่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม
           ******
          ปัจจุบัน คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม.....

......


......

         หลังจากติดต่อสอบถาม จ่ายค่าเข้าชมคนไทย ๒๐ บาท ต่างชาติ ๑๐๐ บาท (ผมได้รับสิทธิ์ผู้สูงอายุเลยไม่ต้องจ่ายครับ)

         เริ่มที่ พลับพลาจตุรมุข เป็นห้องที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่ในพระราชวังแห่งนี้ ได้แก่ พระแท่นบรรทม พระราชอาสน์พร้อมเศวตฉัตร พระบรมฉายาลักษณ์ และเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก


.....
....
....
....
....
          ต่อไปเราจะไปชม พระที่นั่งพิมานรัถยา จัดแสดงโบราณศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พระยาโบราณราชธานินทร์เก็บรวบรวม ได้แก่ ประติมากรรมที่สลักจากศิลา เช่น เทวรูป และพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะสมัยลพบุรี กลุ่มพระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา ที่พบในพระพาหาซ้ายของพระมงคลบพิตร รวมทั้งพระพิมพ์แบบต่าง ๆ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ประณีตงดงามหลายชิ้นจัดแสดงร่วมอยู่ด้วย

(ภาพบน)จากพลับพลาจตุรมุข มีทางเดินไปพระที่นั่งพิมานรัถยาด้านข้าง
(ภาพล่าง)พระที่นั่งพิมานรัถยามองจากด้านหน้า

....
....
....
....

ลงจากอาคารหลังใหญ่ ด้านหน้าของอาคาร
จะมีเรือนขนาบด้านข้างซ้ายและขวา


ปรัศว์ซ้าย(ปรัศว์ - ข้าง,สีข้าง) ภายในแสดง
เรื่องราวความเป็นมาของพระราชวังจันทรเกษม


.....


ปรัศว์ขวา(ปรัศว์ - ข้าง,สีข้าง) ภายในแสดง
ภาพถ่ายในอดีต


กลุ่มอาคารพระที่นั่งพิมานรัถยายังมีอีกหนึ่งหลังอยู่ด้านหลังคืออาคารเชิญเครื่อง 



        หลังจากชมพระที่นั่งพิมานรัถยา แล้วเดินอ้อมไปด้านหลัง ก็จะพบอาคารสโมสรเสือป่า ซึ่งพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นที่ชุมนุมกองเสือป่าของมณฑลกรุงเก่า  อาคารนี้ได้รับพระราชทานรางวัลสถาปัตยกรรมไทยอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์พระราชทานรางวัล  ซึ่งไม่เปิดให้ชมภายใน


           ผ่านไปอีกนิดก็จะถึงพระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์(หอส่องกล้อง) เป็นอาคารทรงสูง ๔ ชั้น สูง ๒๒ เมตร  สันนิษฐานว่าสร้างครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้พังลงตั้งแต่ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นตามแนวรากฐานเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อทรงใช้เป็นที่ศึกษาดาราศาสตร์

เราสามารถขึ้นไปชมภายในอาคาร
มีนิทรรศการพระราชกรณียกิจของ ร.๔ 
และชมทัศนียภาพดยรอบของวังจันทรเกษม ได้ครับ


           ลงจากหอส่องกล้องแล้วเราจะไปชมอาคารมหาดไทย (รูปตัวแอล) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์) เป็นสมุหเทศาภิบาลกรุงเก่า

      อาคารนี้มีนิทรรศการให้ชม คือ วิถีชีวิตชาวกรุงเก่ากับสายน้ำ เครื่องป้ันดินเผา อาวุธยุทธภัณฑ์ ศิลปวัตถุพุทธบูชา


....

....

....

....


อาคารนี้จะมีห้องที่ระลึกพระยาโบราณราชธานินทร์


....

....


....


            อาคารหลังสุดท้ายคือ โรงม้าพระที่นั่ง  สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในสมัย รัชกาลที่ ๕ พระยาโบราณราชธานินทร์ใช้เป็นที่ตั้ง โบราณพิพิธภัณฑ์

....
ภาพถ่ายมุมสูงจากพระที่นั่งพิศัยศัลลักษณ์(หอส่งกล้อง)
พลับพลาจตุรมุข พระที่นั่งพิมานรัตยา อาคารสโมสรเสือป่า

....
อาคารมหาดไทย โรงม้าพระที่นั่ง  พระที่นั่งพิมานรัตยา




ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ
       ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือนำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม และแผ่นพับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
*********



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น