วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

..อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน..


พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชรญ์บรมไตรโลกนาถ
(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่)

  เมื่อสองอาทิตย์ก่อนมีโอกาสไปถีบจักรยานรอบเกาะเมืองอยุธยา เนื่องจากเอารถยนต์ไปซ่อมไม่อยากนั่งรออยู่ที่อู่ ก็เลยไปเช่าจักรยานที่เกสเฮ้าส์หน้าสถานีรถไฟอยุธยา ค่าเช่า ๓๐ บาทต่อวัน ทางร้านขอบัตรประชาชนไว้เท่านั้น.........ตั้งใจไว้นานแล้วว่า หากมีโอกาสเมื่อใดจะไปไหว้พระที่วัดหน้าพระเมรุ  ซึ่งตามพงศวดารมีเหตุการณ์สำคัญที่วัดนี้สองครั้งคือ ใน พ.ศ.๒๑๐๖ พระมหาจักรพรรดิ์ใด้ใช้สถานที่นี้เจรจาสงบศึกกับพม่า  และเมื่อ พ.ศ.๒๓๐๓ เมื่อคราวที่พระเจ้าอลองพญา ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งที่บริเวณวัดหน้าพระเมรุ กับ วัดหัสดาวาส ซึ่งอยู่ติดกับวัดหน้าพระเมรุ พระเจ้าอลองพญาทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง ปรากฏว่าปืนใหญ่ได้แตกต้องพระองค์บาดเจ็บสาหัสประชวรหนักจนต้องยกทัพกลับไปทางเหนือ และยังไม่พ้นแดนเมืองตาก พระองค์ก็สิ้นพระชนม์....   ........วัดหน้าพระเมรุมีพระพุทธรูปที่สำคัญสององค์คือ หลวงพ่อพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชรญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานในพระอุโบสถ และ พระคันธารราช พระพุทธรูปศิลาองค์ใหญ่อายุประมาณ ๑๕๐๐ ปี ประดิษฐสถานในพระวิหารสรรเพชรญ์... ..


พระคันธารราช



วัดหัสดาวาส ที่เห็นไกลออกไปเป็นพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ 
..ปืนใหญ่พม่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณต้นไม้ใหญ่ในภาพ..


คลองคูเมือง หรือแม่น้ำลพบุรี กั้นอยู่ระหว่างวัดหน้าพระเมรุ กับพระราชวัง
...ถนนที่เห็นคือถนนอู่ทอง ซึ่งเป็นถนนที่ล้อมรอบเกาะเมืองอยุธยา...
....ต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ตามแนวกำแพงพระราชวัง...

       
..มองจากวัดหน้าพระเมรุ ออกไป  ทิวไม้ข้างหน้าคือพระที่นั่งสุริยามรินทร์..
..จากวัดหน้าพระเมรุข้ามคูเมืองไปพระราชวังประมาณ ๕๐๐ เมตร..


พระที่นั่งสุริยามรินทร์


พระที่นั่งสรรเพชรญ์


พระที่นั่งตรีมุข


แนวกำแพงวัง ตรงข้ามกับวัดหน้าพระเมรุ

     วัดหน้าำพระเมรุเป็นอีกวัดหนึ่งที่ไม่ถูกพม่าทำลายในสมัยกรุงศรีอยุธยา..ด้วยบุญญาธิการของหลวงพ่อพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชรญ์บรมไตรโลกนาถพระประธานในพระอุโบสถ จึงทำให้รอดพ้นจากภยันตรายจากการเผาทำลาย โบราณสถานต่าง ๆในวัดยังคงสภาพเดิม หากท่านมีโอกาสไปเที่ยวอยุธยา อย่าลืมแวะไปนมัสการนะครับ.....
                                                                                                                                   

                                                                   ............................


3 ความคิดเห็น:

  1. เพลง : อิฐเก่าเล่าตำนาน
    ศิลปิน : ชินกร ไกรลาศ
    เนื้อเพลง :

    เพลงอิฐเก่าเล่าตำนาน
    ขับร้องโดย คุณชินกร ไกรลาศ
    อิฐเก่าเล่าตำนาน
    กรุงเอย...กรุงศรีอยุธยา....
    ทัศนาปูชนียสถาน....
    อิฐเก่าเก่าเหล่านี้มีตำนาน
    วาดวิมานบนดินถิ่นราชัน.... (ดนตรี...)
    คนเก่าเล่าให้ฟัง วัดเวียงวังดั่งสวรรค์
    น้ำรอบมีขอบขัณฑ์ กำแพงกั้นชั้นนอกใน
    ล้นเกล้าเจ้าอู่ทอง ครองนครสุขสดใส
    ชื่อเสียง ธ เกรียงไกร แผ่ขยายพระบารมี
    ทรงธรรม์สวรรคต โศกสลดทั้งกรุงศรี
    ความรักสามัคคี เสนาบดีเสื่อมทรามลง
    ข้าศึกจึงฮึกหาญ มารุกรานเพื่อประสงค์
    ยุคใดไทยสามัคคี ไพรีหวาดผวา
    ยุคไหนในพารา ริษยาแตกแยกกัน
    เครือญาติหวาดระแวง เนื่องจากแย่งครองเขตขัณฑ์
    ดุจช้างที่ชนกัน หญ้าแพรกนั้นย่อมล้มตาย
    คนดีมีฝีมือ คนซื่อก็สูญหาย
    ถูกฆ่าน่าเสียดาย บ้างแยกย้ายหนีซานซม
    ราชการงานเมือง มีแต่เรื่องที่ขื่นขม
    สมบัติผลัดกันชม เป็นสังคมเฉพาะกาล (ดนตรี...)
    ศัตรูอยู่นอกรั้ว ขุนนางมัวสนุกสนาน
    ไส้ศึกส่งสัญญาณ ข้าศึกผ่านเข้าสบาย
    ทัพโจรปล้นธานินทร์ เผาทรัพย์สินจนเสียหาย
    ต้อนคนไปมากมาย ถูกร้อยหวายเป็นเชลย
    อดีตปัจจุบัน คล้ายคลึงกันพี่น้องเอ๋ย
    จะเทียบหรือเปรียบเปรย ตามที่เคยรู้เห็นมา
    คนซื่อฝีมือดี มักจะมีคนอิจฉา
    ย้ายไปให้ไกลตา เพราะเหตุว่าชอบขัดใจ
    ความรักสามัคคี เป็นสิ่งดีทุกสมัย
    แบ่งสรรปันน้ำใจ เป็นผู้ใหญ่เอื้ออาทร
    อิฐเก่าที่เราเห็น ดูไว้เป็นอนุสรณ์
    มองไปใจสะท้อน ภาพมาหลอนถึงปัจจุบัน (ดนตรี...)

    ตอบลบ
  2. ระหว่าง พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๐๓ ที่พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยานี้อยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศ พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา การรบกับพม่าครั้งนี้พระเจ้าอุทุมพร(ขุนหลวงหาวัด)ได้ลาผนวชมาช่วยทำศึก พอเสร็จศึกพม่ายกทัพกลับไปแล้วพระองค์ก็ทรงกลับไปผนวชดังเดิม
    ด้านพม่า เมื่อพระเจ้าอลองพญาประชวรเนื่องจากปืนใหญ่แตกต้องพระองค์ ณ ที่ตั้งค่ายที่วัดหน้าพระเมรุ ก็ยกทัพกลับไปพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้ามังระพระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติ ในปี พ.ศ.๒๓๐๗ ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่งและได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลายาวนานและกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐....

    ตอบลบ
  3. ...การศึกครั้งสุดท้าย พ.ศ.๒๓๑๐ รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ นี้ ใกล้กรุงจะแตกนี้ประชาชนสิ้นหวังในการป้องกันพระนคร ต่างพากันถวายฎีกาทูลขอให้เจ้าฟ้าอุทุมพรลาผนวชมาการศึก แต่จะด้วยความเกรงพระทัยพระเชษฐาที่ไม่ได้มาร้องขอด้วยพระองค์เอง เจ้าฟ้าอุทุมพรจึงมิได้ลาผนวช ปล่อยให้พระเจ้าเอกทัศน์พระเชษฐา ป้องกันพระนครด้วยพระองค์เอง..และกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า เมื่อวันที่ ๑๓ เม.ย.๒๓๑๐...

    ตอบลบ