วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

ตำนานบ้านเกิด...


เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากสิน พ.ศ.๒๓๐๙
(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)


     ผมเกิดที่บ้านชายสิงห์ ต.อุทัย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ครับ..อ.อุทัย นั้นแม้จะอยู่ห่างตัวจังหวัดประมาณ ๑๑ ก.ม.แต่เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วถือว่าเป็นแดนสนธยา  จริง ๆ เพราะการคมนาคมลำบากมาก มีเพียงทางเรือตามลำคลองข้าวเม่าเท่านั้น มีเรือยนต์โดยสารแล่นรับส่งเพียงวันละหนึ่งเที่ยว  บ้านเราสมัยนั้นหน้าแล้งก็เดินตามคันนา ถ้าหน้าน้ำ น้ำท่วมทุ่งก็ใช้เรือพาย  ผูกเรือไว้ที่บันใดบ้านนั่นแหละครับ  ผมชอบวิถีชีวิตในช่วงหน้าน้ำ ก็ประมาณเดือน ตุลาคมถึงประมาณเดือนธันวาคม น้ำจะเอ่อจากริมคลองเข้ามาใต้ถุนบ้าน แต่ไม่ท่วมพื้นบ้านเพราะเป็นบ้านไทยใต้ถุนสูงครับ  จะเห็นว่าพวกเราไม่เรียกว่า "น้ำท่วม" แต่เราจะเรียกว่า "หน้าน้ำ" เพราะน้ำจะมาเข้าทุ่งนาที่เราปลูกข้าวไว้ พอน้ำลดก็เกี่ยวข้าว แถมได้ กุ้ง หอย ปู ปลา ในช่วงเวลานี้ ทำน้ำปลา กะปิ ปลาร้า ไว้กินตลอดทั้งปีอีกด้วย  ใกล้ ๆ บ้านผมมีจะมีลำคลองอีกลำคลองหนึ่ง เราเรียก "คลองชนะ" จะอยู่กลางทุ่งนาไหลจากทางทิศเหนือ ลงมาทางใต้ มารวมกับคลองข้าวเม่า ที่บ้านชายสิงห์นี่แหละครับ...
        ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเดิมทุ่งนาแถวบ้านผมเรียกว่า ทุ่งชายเคือง...มีตำนานเล่าว่า..


ทุ่งชายเคือง 
พ.ศ.๒๑๒๙
พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เสด็จกรีฑาทัพใหญ่ลงมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ขณะนั้นข้าวในนาทุ่งหันตราทิศตะวันออกยังเกี่ยวไม่เสร็จข้าศึกเข้ามาใกล้ จึงโปรดให้พระยากำแพงเพชร ว่าที่สมุหกลาโหมคุมกองทัพออกไปป้องกันผู้คนที่เกี่ยวข้าว พระมหาอุปราชยกกองมาถึงให้กองทหารม้ามาตีกองทัพพรยากำแพงเพชรแตกพ่ายเข้าพระนคร  สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรจ รับสั่งให้จัดกองทัพแล้วสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกันยกทัพออกไปทันที ได้รบพุ่งกับข้าศึก ณ ทุ่งชายเคือง เป็นสามารถสมเด็จพระเอกาทศรถถูกกระสุนปืนฉลองพระองค์ขาดตลอดพระกร แต่หาต้องพระองค์ไม่ รบกันอยู่จนเวลาพลบค่ำ ข้าศึกถอยออกไปจากค่ายพระยากำแพงเพชรที่ตีได้นั้น เมื่อการปะทะยุติลงแล้วจึงเสด็จกลับพระนคร
ทุ่งชายเคืองวันนี้มีแต่รถเกี่ยวข้าว ..ชาวบ้านไปเข้าโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ
พ.ศ.๒๓๐๙
ณ วันเสาร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๑๒๘ ตรงกับวันที่ ๓ มกราคม ๒๓๐๙ พระเจ้าตากสิน(พระยาวชิรปราการ)ทรงเล็งเห็นความแตกแยกขาดความสามัคคีของคนไทย คงต้องเสียกรุงแก่พม่าแน่นอน จึงพร้อมด้วยทหารเอก ๔ นาย ประกอบด้วย หลวงพิชัยอาสา หลวงพรมเสนา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา และทหารอีกราว ๕๐๐ นาย ตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าจากค่ายวัดพิชัยสงครามมุ่งไปทางทิศตะวันออกปะทะสู้รบกับทหารพม่าเรื่อยมา จนถึงคูค่ายทิศตะวันออกทุ่งชายเคือง มีชายฉกรรณ์จากหมู่บ้านมาช่วยรบ จนกองกำลังของพระองค์ได้ชัยชนะ หมู่บ้านที่ชายฉกรรณ์ออกมาสู้รบนั้นภายหลังชื่อว่าบ้านชายสิงห์  และคูค่ายภายหลังเรียกว่า คลองชนะ กองกำลังของพระเจ้าตากสินเดินทางต่อมาได้เวลารุ่งอรุณที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง หมู่บ้านนั้นภายหลังเรียกว่าบ้านอุทัย คือ อำเภออุทัย ในปัจจุบัน...



คลองชนะในปัจจุบัน

ปากคลองชนะที่ใหลมารวมกับคลองข้าวเม่าที่บ้านชายสิงห์

คลองข้าวเม่าที่ไหลผ่านบ้านชายสิงห์

..............................
บนเส้นทางนี้มีวัดโกโรโกโส 
เดิมเป็นวัดร้างเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโบราณ
 และถูกพม่าเผาทำลาย
จนเหลือแต่ซาก มีพระพุทธรูป หลวงพ่อแก้วหรือหลวงพ่อดำ
 เดิมนั้นเศียรขาดตกอยู่ที่พื้น
ปัจจุบันชาวบ้านได้ร่วมกันบูรณะ 



วัดโกโรโกโส อยู่ตรงข้ามกับวัดสะแก หลวงปู่ดู่ 


*****
ศาลเจ้าพ่อธนู ข้าวเม่า ตั้งอยู่ใกล้ปากคลองข้าวเม่า 
ใกล้ประตูน้ำวัดกระสังข์
(บรรพบุรุษของผมเคยอาศัยอยู่ย่านนี้ก่อนเคลื่นย้ายไปตั้งรกราก
บ้านท่าต้นจิก ต.หนองไม้ซุง อ.อุทัย )


*****

ศาลเจ้าที่ตลาดสามง่าม อายุกว่า ๑๐๐ ปี  หน้าที่ว่าการอำเภออุทัย




ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ





2 ความคิดเห็น:

  1. ..ตำนาน..ที่เล่าต่อกันมา..อีกส่วนหนึ่ง..
    เส้นทางพระเจ้าตากหนี วันเสาร์ ตอนเที่ยงคืน ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๒๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๐๙ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในพระนคร ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายติดลามมาถึงสะพานช้างวงคลองข้าวเปลือก แล้วข้ามมาติดป่ามะพร้าว ป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดฉัททันต์ ติดกุฎีวิหารและบ้านเรือนมากกว่าหมื่นหลังไฟไหม้ในพระนครยังไม่ดับ พระยาตากก็ยกสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนออกจากค่ายวัดพิชัย เดินทัพไปทางบ้านหันตราพม่ายกพลติดตามทัน ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ พม่าต่อต้านมิได้ก็ถอยกลับไปพระยาตากเดินทัพต่อไปทางบ้านข้าวเม่า จนถึงบ้านสามบัณฑิต เวลาสองยามเศษ เมื่อมองกลับไปเห็นแสงไฟรุ่งโรจน์โชตนาการยังไหม้กรุงอยู่ ก็ให้หยุดพักทัพ วันอาทิตย์ รุ่งเช้า พระยาตากเดินทัพไปถึงบ้านโพสามหาว หรือโพสาวหาญ หรือโพสังหาร พม่ายกพลติดตามไปอีก ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ ทัพพม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายแพ้ไปพระยาตากให้เดินทัพต่อไป ตอนเย็นถึงบ้านพรานนก หยุดพักแรม ให้ทแกล้วทหารออกไปลาดเลี้ยวเที่ยวหาอาหาร พบกองทัพพม่ายกมาจากบางคาง (ปราจีนเก่า) พม่าไล่ติดตามมา พระยาตากจึงขึ้นม้าพร้อมพระยาตากจึงขึ้นม้าพร้อมไพร่พลออกรบพม่าก่อน กองทัพพม่าแตกพ่ายกระจายไป...(ตรงกับ วันที่ ๔ มกราคม ...ถือว่าเป็นวันทหารม้า)

    ตอบลบ
  2. วันทหารม้า กำเนิดจากวีรกรรมที่ บ้านพรานนก ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระยาตากในขณะนั้นยังทรงเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกองทหารผ่านมาทางบ้านธนู บ้านข้าวเม่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2309
    ตลอดทางของการรบ ชาวบ้านได้จัดส่งข้าวเม่า ให้เป็นเสบียงและส่งธนูให้แก่ทหารใช้เป็นอาวุธ กองทหารได้ปะทะกับพม่าที่คลองแห่งหนึ่ง พระยาตากตีทหารพม่าแตกพ่าย จึงตั้งชื่อคลองว่า "คลองชนะ" ฝ่ายทหารพม่าได้ติดตามไปอย่างกระชั้นชิดตลอดระยะทางที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา พระยาตากต้องต่อสู้กับพม่าถึง 4 ครั้ง แต่กองทหารพม่าก็ไม่ยอมลดละ และไล่ตามไปทันที่บ้านโพธิ์สังหาร มีหญิงสาวชาวบ้านชื่อนางโพ ได้ช่วยรบกับพม่าจนเสียชีวิต และภายหลังจากพระยาตากกู้ชาติได้แล้ว จึงได้ระลึกถึงกลับมาตั้งชื่อหมู่บ้านโพธิ์สังหาร เป็นหมู่บ้านโพสาวหาญ และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน และมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ พรานนก หรือเฒ่าคำ ซึ่งเป็นผู้ช่วยจัดเสบียงอาหารให้กับกองทหารพระยาตากในระหว่างสงคราม ในปัจจุบันมีรูปปั้นให้ประชาชนเคารพที่หมู่บ้านพรานนก อำเภออุทัย
    กองทัพบกไทยจึงตั้งวันที่ 4 มกราคม ของทุกปี เป็นวันทหารม้า
    ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

    ตอบลบ