วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กตัญญูกตเวที

 


นอกเหนือไปจากเบญจศีล-เบญจธรรม ที่ช่วยให้สังคมสงบสุขและน่าอยู่แล้ว อีกหลักธรรมหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ "ความกตัญญูกตเวที” ที่พระพุทธเจ้าเองก็ยังตรัสไว้ว่า "นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี” ซึ่งหมายความว่า ใครก็ตามประพฤติปฏิบัติตนด้วยหลักธรรมนี้ ย่อมเหมือนมีตัวชี้วัดบ่งบอกได้ว่า คนผู้นั้นย่อมเป็นคนดีอย่างแน่นอน และคนดีที่ว่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ตนเองมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า แต่ยังช่วย "รักษา” สิ่งรอบตัวเขาให้ดีไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้ เรามาเล่าสู่กันฟัง

 
     คำว่า "กตัญญูกตเวทิตา” ประกอบด้วยคำว่า "กตัญญู” หมายถึง การรู้คุณ ระลึกคุณของผู้มีพระคุณ ส่วน "กตเวทิตา” หมายถึง การตอบแทนบุญคุณ การปฏิบัติตนตอบแทนผู้มีพระคุณ ดังนั้น "กตัญญูกตเวทิตา” จึงหมายถึง การรู้คุณและตอบแทนคุณต่อผู้มีพระคุณต่อเรา
 
     สำหรับสิ่งที่เราควรกตัญญูและตอบแทนบุญคุณ มีดังต่อไปนี้
 
     ๑.กตัญญูต่อบุคคล เช่น บรรพบุรุษ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พ่อแม่ พี่น้อง ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ นักบวช ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน สามีภริยา ฯลฯ กล่าวได้ว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่มีพระคุณต่อเราทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น บรรพบุรุษหรือพ่อแม่ ท่านก็เป็นต้นธารแห่งกำเนิดของเราไม่มีท่าน เราก็ไม่มีตัวตนเช่นวันนี้ ไม่มีชาติ พระมหากษัตริย์ เราก็อาจจะเป็นพวกเร่ร่อน ไม่มีแผ่นดินให้อยู่อาศัย ต้องถูกไล่ไปมา ไม่มีศาสนา เราก็จะไม่มีหลักยึด ชีวิตอาจล่องลอยไร้แก่นสาร หาความสุขความเจริญไม่ได้ ไม่มีครูบาอาจารย์สอนสั่ง เราก็อาจไม่มีวิชาความรู้ กลายเป็นคนเบาปัญญา หรือไม่มีวิชาชีพทำมาหากิน ไม่มีผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน ก็ไม่มีคนดูแลสอนงานหรือช่วยงาน เราก็อาจไม่มีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ไม่มีสามีภริยา เราก็จะไม่มีเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า คนเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์ เราจึงควรตอบแทนด้วยการแสดงความรัก ความหวังดีอย่างเหมาะสมตามโอกาส และให้ความช่วยเหลือท่านตามสมควร ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เบียดเบียนหรือสร้างความเดือดร้อนต่อตนเองหรือผู้อื่นด้วย จึงจะเป็นการกตัญญูกตเวทีที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเพื่อนที่มีพระคุณ ใช้ให้เราไปทำร้ายศัตรูของเขา เราก็ยอมไปทำเพราะถือว่า ต้องแทนคุณ เช่นนี้ก็ไม่ถูกต้อง และจะกลายเป็นการสร้างบาปแก่เราและผู้มีพระคุณเพิ่มขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องรู้จักเลือกแทนคุณให้ดีและเหมาะสมด้วย
 
     ๒.กตัญญูต่อสัตว์ที่มีคุณและทำประโยชน์ให้เรา สัตว์เหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงสัตว์เดรัจฉาน และเราเป็นผู้เลี้ยงดูมัน แต่มันก็มีคุณต่อเราไม่น้อย เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่เราใช้ไถนา ใช้เป็นพาหนะ ใช้ในการทำมาหากิน ใช้แสดงเพื่อหารายได้ หรือสุนัข ที่เราเลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา ช่วยเฝ้าบ้าน หรือช่วยนำทาง (คนตาบอด) เหล่านี้ต่างก็ถือได้ว่ามีคุณต่อเรา ไม่มีเขา เราก็จะต้องลำบาก เราจึงควรดีต่อเขาด้วยการไม่ทำร้าย เลี้ยงดูอย่างเหมาะสม พาไปรักษาเมื่อเจ็บป่วย และไม่ทอดทิ้งเขาเมื่อหมดประโยชน์แล้ว
 
     ๓.กตัญญูต่อสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อตน สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งของที่ใช้ในการทำมาหากิน ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต จนมีฐานะมั่นคงขึ้น หลายคนจะรู้สึกว่าสิ่งนั้นๆมีพระคุณ เป็นของ "คู่ชีพคู่ใจ” ที่ช่วยให้ตนมีวันนี้ได้ เช่น รถที่บางคนใช้ทั้งเป็นพาหนะประจำตัวเพื่อไปติดต่องานหรือใช้รับจ้างทั่วไป ไม้คานที่เคยใช้หาบของขายตอนเริ่มทำกิน หม้อก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ตั้งแต่ยังเป็นแผงข้างทาง จนสามารถเซ้งคูหาหน้าร้านได้ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้แม้จะไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ก็เป็นอุปกรณ์เครื่องมือหากินที่หลายคนรู้สึกซาบซึ้งในคุณของมันที่มีส่วนในการก่อร่างสร้างตัว จึงมักเก็บไว้เป็นของที่ระลึกหรือบูชา ไม่ขาย ถือเป็นของนำโชคประจำตระกูล
 
     นอกจากสิ่งของที่ใช้ในการทำมาหากินแล้ว สิ่งมีคุณอื่นๆ เช่น บ้าน บริษัท โรงเรียน ห้องสมุด หรือของใช้สาธารณะ อย่างเครื่องออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ ห้องน้ำสาธารณะ รวมถึงสภาพแวดล้อมอย่างแม่น้ำ ลำคลอง อากาศ พืช ฯลฯ ก็ล้วนมีคุณไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อเราทั้งสิ้น เมื่อเราได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ ก็ควรจะแทนคุณ ด้วยการใช้อย่างถูกต้อง คุ้มค่า ระมัดระวัง และช่วยกันดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดี อยู่เสมอ เพื่อเราจะได้ใช้ไปนานๆ และยังเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย
 
     จะเห็นได้ว่า ใครก็ตามที่มี "ความกตัญญูกตเวที” ไม่ว่าต่อบุคคล สัตว์ สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมอย่างที่พูดถึง คนผู้นั้นก็จะตอบแทนหรือตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นด้วยความรักและความปรารถดี เพราะรู้และตระหนักถึงอุปการะคุณที่ได้รับ และสิ่งนี้เองที่จะนำมาซึ่งการ "รักษา” นั่นคือ การช่วยกันดูแล ปกป้อง พิทักษ์บุคคล สัตว์ สิ่งของเหล่านั้นให้อยู่ดี มีสุข และสามารถทำประโยชน์ต่อตัวเราหรือผู้อื่นไปได้ตราบนานเท่านาน ซึ่งในที่นี้ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเขาด้วย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า "ความกตัญญูกตเวทิตา” เป็นธรรมะหรือหลักธรรมหนึ่งที่ช่วย "รักษา” โลกของเราให้คงอยู่
*******
Cr.http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=5632&filename=i

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น