....ฯลฯ....
...ระบบไตรสิกขาเพื่อการพัฒนาอย่างองค์รวม ฯ...
ในการกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะแสดงพฤติกรรมอะไร หรือมีกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม เราสามารถฝึกฝนพัฒนาตนและสำรวจตรวจสอบตนเองตามหลัก ไตรสิกขา นี้ ให้มีการศึกษาครบทั้ง ๓ อย่าง ทั้ง ศีล สมาธิ และ ปัญญา พร้อมกันไปทุกคราว คือเมื่อทำอะไรก็พิจารณาดูว่า
* พฤติกรรม หรือ การกระทำ ของเราครั้งนี้ จะเป็นการเบียดเบียนทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครหรือไม่ จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมเสียหายอะไร ๆ บ้างไหม หรือว่าเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสร้างสรรค์ ( ศีล )
*ในเวลาที่จะทำนี้ จิตใจ ของเราเป็นอย่างไร เราทำด้วยจิตใจที่เห็นแก่ตัว มุ่งร้ายต่อใคร ทำด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือไม่ หรือทำด้วยความเมตตา มีความปรารถนาดี ทำด้วยศรัทธา ทำด้วยสติ มีความเพียร มีความรับผิดชอบเป็นต้น และในขณะที่ทำสภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร เร่าร้อน กระวนกระวาย ขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือว่ามีจิตใจที่สงบ ร่าเริง เบิกบาน เป็นสุข เอิบอิ่ม ผ่องใส ( สมาธิ )
* เรื่องที่ทำครั้งนี้ เราทำด้วย ความรู้ความเข้าใจ ชัดเจนดีแล้วหรือไม่ เรามองเห็นเหตุผล รู้เข้าใจหลักเกณฑ์ความมุ่งหมาย มองเห็นผลดีผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และหนทางแก้ไขปรับปรุงพร้อมดีแล้วหรือไม่ ( ปัญญา )
ด้วยวิธีปฏิบัติอย่างนี้ คนที่ฉลาดจึงสามารถฝึกศึกษาพัฒนาตนและตรวจสอบวัดผลการพัฒนาตนได้เสมอตลอดทุกครั้งทุกเวลา...
....ฯลฯ.....
(หนังสือ พุทธธรรม(ฉบับเดิม) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต))
*****
หมายเหตุ ส่วน มิจฉาสมาธิ แปลว่า ความตั้งใจผิด ได้แก่จดจ่อ ปักใจแน่วในกามราคะ เช่น จดจ่อความสุข,
จดจ่อความสบายในสมาธิ,
ความจดจ่อในพยาบาท เป็นต้น (ข้อ ๘. ใน มิจฉัตตะ ๑๐) หรือตีความในแง่ของการปฏิบัติทางพุทธศาสนาได้ว่า มิจฉาสมาธิ คือสมาธิที่มิได้นำไปใช้เพื่อการสนับสนุนการเจริญวิปัสสนา แต่เป็นการหลงผิดนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆทางโลกหรือโลกิยะ อันเป็นไปเพื่อความสุขสบาย เป็นไปทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาเป็นจำนวนมาก (จาก http://www.nkgen.com/367.htm )