วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โกรธ...

...ฯลฯ...
....ลักษณะของความโกรธ...
    ทีนี้จะพูดถึงลักษณะของความโกรธ พอเป็นเครื่องกำหนดจดจำ
    โกรธในอัตราน้อย ๆ เราจะเรียกว่าขัดใจ เช่น หงุดหงิด กระทบกระทั่งแห่งจิต นี่มันเป็นความโกรธในอันดับน้อย อันดับต่ำ ที่เรียกในบาลีว่า ปฏิฆะ
     ทีนี้อันดับสองขึ้นมาก็คือ โกรธ โกรธเต็มความหมาย นี่บันดาลโทสะ งุ่นง่าน ถ้าจะเรียกตามบาลีก็เรียกว่า โกธะ
     ทีนี้อันดับต่อไปอีก มันก็คือ ผูกโกรธ ผูกโกรธไว้ ความอาฆาต พยาบาทจองเวร อย่างนี้เรียกว่า อุปนาหะ  อุปนาหะคือ ผู้โกรธไว้ หรือ เวระ..จองเวร
     ทั้งสามอย่างนี้คือความโกรธ ในลักษณะที่มันต่าง ๆ กัน โกรธไม่สู้มาก และโกรธสมบูรณ์ จนกระทั่งโกรธโดยผูกไว้ รักษาไว้
      คำว่า ปฏิฆะ  หมายถึง หงุดหงิดขัดใจ
      คำว่า โกธะ    นี่โกรธโดยสมบูรณ์
      คำว่า โทสะ  มันแปลว่า ประทุษร้าย เมื่อโกรธแล้วก็ไปประทุษร้ายอีกที เดี๋ยวนี้เราจะเอาแต่ความโกรธ ไม่ประทุษร้ายผู้อื่น  อุปนาหะ ก็ผูกอาฆาตไว้
      ทีนี้ดูในชีวิตประจำวัน ยิ่งอยู่ที่บ้าน ที่ออฟฟิศ ที่ทำงานเนื่องกันหลายคน มักจะมีสิ่งเหล่านี้ หงุดหงิด กระทบกระทั่งเป็น ปฏิฆะ นี่จะมีมากที่สุด ถ้าเป็นผู้ไม่ได้อบรมในทางธรรมะหรือศาสนามาก่อน ถ้ามีการศึกษาอย่างเลว ๆ แห่งสมัยปัจจุบันนี้ ทั้งโลกมันไม่มีระบบไหนที่สอนให้กำจัดความโกรธ ระวังความโกรธ  ในการศึกษาของพวกลูกเด็ก ๆ สมัยก่อนก็ยังค่อยยังชั่ว ทีนี้โกรธเต็มที่คงจะมีได้นาน ๆ ครั้ง ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ฆ่ากันตายหมด ทีนี้ผูกโกรธไว้นี้ก็ไม่ใช่เล็กน้อย มันก็มีอย่างที่เรียกว่า สุมเผาตัวเอง คนอื่นหรือคู่เวรกันไม่รู้สึกอะไรก็ได้ แต่ผู้ที่อาฆาตหรือจองเวรนี้มันเหมือนกับทำลายตัวเองอยู่เรื่อยไป ฉะนั้น ไปสอบดู...ของใคร ใครก็ไปสอบดูว่าเรามีโรคโกรธนี่กี่มากน้อย และอย่างไรบ้าง ? นี้คือสิ่งที่เรียกว่า ความโกรธ โดยเค้าก็มีอยู่ ๓ ระดับอย่างนี้..
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ การเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉาง  พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ))

2 ความคิดเห็น: