วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566

สัมมาทิฐิ





เราอาจคิดแหวกแนว (think outside the box) ได้บางอย่างก็จริง แต่ก็เป็นไปโดยคิดอยู่ในกล่องหรือภายใต้แนวทางอื่นๆ อยู่ดี ที่จริงแล้ว การยกคำอุปมาเรื่องกล่องหรือแนวทาง (boxes) อาจไม่ใช่วิธีคิดที่ดีที่สุดเกี่ยวกับความคิด การพิจารณาในแง่ของกรอบความคิดอาจจะมีประโยชน์กว่า การคิดอย่างมีระบบไม่ว่าจะในลักษณะใดล้วนอยู่ภายใต้กรอบของค่านิยม ความเชื่อ ฐานคิดและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมทั้งสิ้น มีความคิดประเภทเดียวที่ไม่ดำรงอยู่ในกรอบใดๆ นั่นคือความคิดฟุ้งซ่านสะเปะสะปะ เมื่อคิดด้วยปัญญา เราไม่จำเป็นต้องหาวิธีคิดแหวกแนว แต่เราจะพิจารณาทบทวนกรอบความคิดของเรา
ในการปฏิบัติธรรม สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบเอื้อให้เรามีกรอบความคิดที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ช่วยกำหนดเงื่อนไขว่าเราควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดในชีวิตบ้าง ควรให้ความสำคัญอย่างไร และความหมายอย่างใดที่เราจะได้จากสิ่งนั้น หลวงปู่มั่นสอนว่าทุกสิ่งที่เรารู้เห็นนั้นสอนธรรมะให้เราอยู่เสมอ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้สม่ำเสมอจากสิ่งที่สอนเราอยู่เสมอได้อย่างไร สัมมาทิฏฐิเป็นเสมือนนั่งร้านที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้นั้น
การยอมรับในศักยภาพแห่งการบรรลุธรรม รวมถึงหลักไตรลักษณ์และอริยสัจ ๔ ทำให้เราเป็นนักศึกษาแห่งชีวิตอย่างแท้จริง หากไม่มีสัมมาทิฏฐิ การเจริญสติอาจให้ผลเป็นความเข้าใจลึกซึ้งบางอย่างได้ แต่ไม่อาจจะซึมซับเป็นความเข้าใจแจ้งในระดับที่จะเอื้อต่อการหลุดพ้นได้
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

********
Cr.https://www.facebook.com/jayasaro.panyaprateep.org/posts/pfbid0f9vgCyCjeWcofU1wGevU7XMwuuPqEw3jnvGguttC4MUTtiqi4ods7qg8ZexwQubwl

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น