วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566

วิธีปฏิบัติต่อทุกขเวทนา


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

วิธีปฏิบัติต่อทุกขเวทนา มีวิธีอยู่ ๒ แบบ 

แบบประจัญบาน กับแบบชั้นเชิง 


… แบบประจัญบาน 

ก็คือปวดก็เข้าไปดูที่ปวด 

ดูไปที่ในปวด ปวดในปวด 

ปวดมันปวดตลอดเวลาไหม? 

มันมีแรงมีค่อยไหม? 

มันมีแรง ๆ จี๊ด แล้วมันก็เบาลง เดี๋ยวจี๊ด 

การเห็นมันคลายมันเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้ทนได้ 

เห็นว่ามันแรง มันผ่อน ก็ทำให้ช่วย ค่อยยังชั่วหน่อย 

เดี๋ยวมันก็แรงอีก แล้วทนไปเดี๋ยวก็คลาย 

ดูความเปลี่ยนแปลงของมันอย่างวางเฉย 

ทรมานไหม? 

ปวดเจ็บทรมาน ขาแทบแตก 

ต้องวางเฉย ดูความเปลี่ยนแปลงในปวดในทุกข์ 

เวทนาจนที่สุดเขาก็ดับไปเอง 

แต่ต้องนาน เลยชั่วโมง บางคนต้องเลยชั่วโมง 


แบบที่ ๒ … แบบชั้นเชิง 

ไม่ไปประจัญบาน 

#ไม่ต้องไปใส่ใจตรงที่ปวด 

ไปใส่ใจดูจิต ดูจิตใจ ดูลมหายใจ ดูสภาวะอื่น ๆ 

โดยเฉพาะ #รู้จิตใจไว้ #เอาใจมารู้ที่ใจ 

ถ้าใจมารู้ใจ ใจก็จะทิ้งปวดไปหนึ่งขณะ 

ใจรู้ใจสองขณะ ก็ทิ้งปวดสองขณะ 

ใจรู้ลมหายใจ ก็ทิ้งความปวดเป็นขณะ ๆ 

มันก็จะไม่ทรมาน 


มันรับได้ทีละอย่าง 

ไปรับรู้จิตรู้ใจ มันก็ไม่รู้ปวด 

แต่มันดึงกลับมาอีก 

มันก็จะรู้สึกเห็นมันสลับไปสลับมา 

และทำให้เห็นว่า "จิต" กับ "ปวด" เป็นอย่างเดียวกันหรือคนละอย่าง? 

ความปวดอยู่ที่ไหน? ร่างกาย 

รู้ปวดอยู่ที่ไหน? 

จิตผู้รู้มันอยู่ข้างบน 

แต่มันมีกระแสไปดูปวดได้ ไปรับรู้ปวด 


จิตไปรู้ปวด ใช่ความปวดไหม? 

มันไปรู้ปวด แต่มันไม่ใช่ความปวด 

แต่ถ้าไม่รู้จิตไว้ จิตมันก็ไปรวมกับปวด 

กลายเป็นเหมือนอันเดียวกัน แล้วก็กลายเป็นตัวเราปวด 

แต่ถ้ามีการแยกมาดูจิต ดูจิตไว้ 

ก็จะเห็นว่าปวดเป็นอย่างหนึ่ง จิตเป็นอย่างหนึ่ง 


รู้จิตแล้วหัดให้จิตมันเป็นอย่างไร? 

วางเฉย 

วางไม่เป็นก็ต้องสอนว่า 

วางนะ ปวดไม่ใช่เรา ช่างเขา 

รักษาจิต วาง 

สอน ๆ มันไปก่อน เตือนเขาไปก่อน 

ปล่อยวางนะ เตือน ปล่อย  

ได้ #เห็นปวดเป็นอย่างหนึ่ง #จิตเป็นอย่างหนึ่ง  

นี่ถือว่ามีปัญญา 

เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑  

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น