วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566

..สักแต่ว่า..

 




1 ความคิดเห็น:

  1. ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่
    .............................
    ความนึกคิด มีอยู่บ่อย ๆ มีอยู่เรื่อย ๆ
    ก็ให้ระลึกรู้ความนึกคิดที่เกิดขึ้นอย่างสักแต่ว่า อย่างปล่อยวาง
    #แค่รู้ว่าคิดเท่านั้น
    #ไม่ต้องสาวไปว่าคิดเรื่องอะไรเป็นอะไร
    ในทางการปฏิบัติเจริญสติภาวนา
    ถ้าเราไปสาวมัน ก็เท่ากับช่วยกันคิด
    รู้ความคิดอย่างสักแต่ว่า
    รู้แค่นั้น
    สังเกตว่าความคิดมันคิดขึ้นมาก็หมดไป คิดขึ้นมาก็หมดไป
    ถ้ามีสติรู้ทันความคิดอยู่บ่อย ๆ
    เรื่องราวของความคิดจะถูกตัดขาดไป
    เวลาคิด
    จิตมันจะไปสู่เรื่องราวที่เป็นอดีตบ้าง เรื่องราวที่เป็นอนาคตบ้าง
    เรื่องที่ไม่ดี ใจก็เป็นทุกข์
    อย่างคิดไปในอดีตว่าเราถูกคนนั้นแกล้ง ถูกคนนั้นโกง ถูกคนนั้นว่า
    พอเราคิดไปถึงเรื่องไม่ดีในอดีต
    ใจเราก็เกิดความโกรธ เกิดความเสียใจ เกิดความวุ่นวายใจ
    ถ้าจิตเราคิดไปถึงอนาคต คิดถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็จะกลัว
    เราจะป่วยเป็นมะเร็งหรือเปล่า กลัวที่จะตาย
    คิดไปใจก็วุ่นวาย เกิดทุกข์ขึ้นมา
    หรือว่าได้ยินเขาว่าโลกนี้จะแตก น้ำจะท่วมโลก
    เกิดความวิตกกังวล เกิดความหวั่นไหว เกิดความกลัว
    เมื่อเราเกิดความวิตกกังวลก็เป็นทุกข์
    ถามว่าเราทุกข์เพราะโลกแตกหรือว่าทุกข์เพราะอะไร?
    โลกมันยังไม่ทันแตก เราก็ทุกข์
    เราทุกข์เพราะความคิดของเรา
    ทุกข์เพราะความคิดความปรุงแต่งของเราเองต่างหาก
    ท่านจึงสอนให้ดูใจในปัจจุบันนี้ไว้
    ให้จิตใจเราอยู่ในปัจจุบันไว้
    แล้วจะทำอย่างไรให้อยู่ในปัจจุบันได้?
    ทำอย่างไรถึงจะสลัดเรื่องอดีตได้เรื่องอนาคตได้ เพื่อใจเราจะได้สบาย?
    ก็ใช้การรู้ทัน
    #ใช้การมีสติรู้ทันความคิดที่มันกำลังคิดขึ้นมา
    พอมันคิดก็รู้ มันคิดขึ้นมาอีกก็รู้
    ตัวที่เข้าไปรู้ เขาเรียกว่ามีสติ
    มีสติสัมปชัญญะเข้าไปรู้ทันความคิด
    เมื่อรู้เท่าทันความคิดบ่อย ๆ ก็จะสลัดเรื่องอดีตเรื่องอนาคต
    ทำให้จิตหายจากความทุกข์
    หายจากความวิตกกังวล หายจากความเศร้าโศก
    ถ้าจิตมันอยู่ในปัจจุบัน มันจะไม่เศร้าโศก
    เกิดความสงบ สบาย ผ่องใส
    การมีสติรู้ทันเป็นเครื่องมือสำคัญ
    ที่จะทำให้ชีวิตเราอยู่ร่มเย็นเป็นสุขขึ้น
    ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ
    เวลาจิตใจเป็นอย่างไร ก็คอยรู้ทัน
    ตาเห็นรูป คอยรู้
    หูได้ยินเสียง คอยระลึกรู้
    ได้กลิ่น ระลึกรู้
    ลิ้มรส ระลึกรู้
    กายสัมผัสถูกต้อง ระลึกรู้
    ใจคิดนึก ใจปรุงแต่ง ใจวิตกกังวล ระลึกรู้
    เมื่อมันเลยไปสู่ความวิตกกังวล
    ไปสู่ความโกรธ ความวุ่นวายใจ ความฟุ้งซ่าน
    มันเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นมาในใจแล้ว
    ก็รู้เท่าทันใจที่มันกำลังเกิดเรื่องใหญ่
    เป็นการกู้สถานการณ์กลับคืนมาให้ดีขึ้น
    .............................
    ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
    เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

    ตอบลบ