วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ความสุข


ฯลฯ
    ในคัมภีร์อังคุตรนิกาย ทุกนิบาต ทรงจำแนกความสุขออกไปทั้งโดยประเภท และโดยระดับ เป็นคู่ๆ มากมายหลายคู่ เช่น สุขของคฤหัสถ์กับสุขของบรรพชิต กามสุขกับเนกขัมมสุข โลกิยสุขกับโลกุตรสุข สุขของพระอริยะกับสุขของปุถุชน เป็นต้น
   แต่วิธีแบ่งที่เป็นลำดับขั้นชัดเจน ละเอียด และดูง่าย ไม่ซับซ้อน น่าจะได้แก่วิธีแบ่งเป็น ๑๐ ชั้น หรือความสุข ๑๐ ชั้น ซึ่งมีในที่มาหลายแห่ง แบ่งดังนี้.
   ๑.กามสุข  สุขเนื่องด้วยกาม ได้แก่ความสุขโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยกามคุณ ๕
   ๒.ปฐมฌานสุข  สุขเนื่องด้วยปฐมฌาน ซึ่งสงัดจากกามและอกุศลทั้งหลาย ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
  ๓.ทุติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยทุติฌาน ซึ่งประกอบด้วย ปีติ สุข และเอกัคคตา
  ๔.ตติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยตติฌาน ซึ่งประกอบด้วยสุข และเอกัคคตา
  ๕.จตุตถฌานสุข สุขเนื่องด้วยจตุตถฌาน ซึ่งประกอบด้วยอุเบกขา และเอกัคคตา
  ๖.อากาสานัญจายตนสมาปัตติสุข  สุขเนื่องด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ซึ่งล่วงพ้นรูปสัญญาได้สิ้นเชิง ปฏิฆสัญญาล่วงไปหมด ไม่มนสิการนานัตตสัญญา นึกถึงแต่อากาศอันอนันต์เป็นอารมณ์
  ๗.วิญญาณัญจายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ซึ่งคำนึงวิญญาณอันอนันต์เป็นอารมณ์
  ๘.อากิญจัญญายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ซึ่งคำนึงภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
  ๙.เนวสัญญานาสัญญายตนปัตติสุข สุขเนื่องด้วยเนวส้ญญานาสัญญายตนสมาบัติ อันถึงภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
  ๑๐.สัญญาเวทยิตนิโรธสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ อันถึงภาวะที่ดับสัญญาและเวทนาทั้งหมด
      ถ้าจะจัดให้ย่อเข้า สุข ๑๐ ข้อนี้ รวมเข้าได้เป็น ๓ ระดับ
  ๑.กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม
  ๒.ฌานสุข หรือ(อัฏฐ)สมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยฌาน หรือสุขเนื่องด้วยสมาบ้ติ ๘ แยกเป็น ๒ ระดับย่อย
   ๒.๑ สุขในรูปฌาน หรือสุขเนื่องด้วยรูปฌาน ๔
   ๒.๒ สุขในอรูปฌาน หรือสุขเนื่องด้วยอรูปฌาน ๔
  ๓.นิโรธสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยนิโรธสมาบัติ
      สุขทั้ง ๑๐ ขั้นนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับขั้น  เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย  หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น
      ท่านสอนให้มองความสุขเหล่านั้นตามความเป็นจริง ทั้งด้านที่เป็นสุขและด้านที่มีทุกข์เข้ามาปน คือมองทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ทั้งแง่ที่เป็นคุณและแง่ที่เป็นโทษ......
      เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณึตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสิ่งที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ อย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป
     เมื่อใด จิตหลุดพ้นเด็ดขาดแล้ว ตัดเยื่อใยได้สิ้น ก็จะไม่วกเวียนกลับมาหาความสุขที่หยาบอีกต่อไป คงเสวยแต่สุขที่ประณีตสำหรับจิตที่เป็นอิสระอย่างเดียว
      ข้อที่ว่านี้ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม....
ฯลฯ
จากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)

..................
...................

***********     
    

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โลกุตรจิต




    รูปฌานสี่ อรูปฌานสี่เป็นภาวะจิตอยู่ระดับโลกิยะ เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพุทธกาล  ส่วนโสดาบันจนถึงอรหันต์เป็นภาวะจิตอยู่ระดับโลกุตระ  เป็นธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าค้นพบด้วยพระองค์เอง
    มีพระอาคันตุกะรูปหนึ่ง ชอบเข้าฌาน จิตได้ความสงบ (สมถะ)  แต่พอออกจากฌานก็ปรุงแต่งเหมือนเดิม เมื่อท่านเห็นว่าการฝึกจิตไม่ก้าวหน้า จึงถามหลวงพ่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า:-
   " กระผมเคยฟังหลวงพ่อเทศน์ว้นก่อนว่า ผู้ที่ติดในฌานจะไม่เห็นแจ้งพระนิพพาน เพราะถูกอัตตาของรูปนามปิดบัง  ฉะนั้นให้ทำอย่างไร จึงจะเห็นแจ้งพระนิพพานครับ?"
     หลวงพ่อจึงพูดให้ฟังว่า:-
    "ต้องมองให้เห็นว่า รูปนามไม่มี"
...................
จากหนังสือ นิทานพุทธะ  พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ 

....................


วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เห็นตัวเอง


     พระอาทิตย์คล้อยลับยอดภูเขาอันสูงตระหง่านอยู่หลังสำนัก ทำให้บรรยากาศในบริเวณของวัดเงียบสงัด เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับผู้ฝักใฝ่เพื่อบรรลุ มรรค ผล นิพาน
    หลวงพ่อได้เดินดูภายในบริเวณสำนัก และได้พบลูกศิษย์กำลังเดินจงกลมอยู่หน้ากุฏิพอดี ผู้เป็นศิษย์จึงถือโอกาสถามป้ญหาธรรมะซึ่งค้างคาใจมานานแล้วว่า:-
    " หลวงพ่อครับ ผมเคยฟังมาว่า การปฏิบัติธรรมคือการดูตัวเอง เมื่อดูตัวเองก็จะเห็นตัวเอง แต่ผมก็ยังคลุมเครืออยู่ว่าเห็นตัวเอง คือ เห็นอย่างไร?"
    หลวงพ่อจึงให้คำตอบกับลูกศิษย์ไปว่า:-
    " ที่ว่าเห็นตัวเอง ก็คือ เห็นว่าไม่มีตัวเอง"
.................
จากหนังสือ นิทานพุทธะ  พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ
................
................

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ

ฯลฯ

       วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ ก็คือ การนำเอาโยนิโสมนสิการมาใช้ในทางปฏิบัติ แม้จะมีหลายอย่างหลายวิธี แต่เมื่อว่าโดยหลักการ ก็มี ๒ แบบ คือ โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัดหรือกำจัดอวิชชาโดยตรง และ โยนิโสมนสิการเพื่อมุ่งสกัดหรือบรรเทาตัณหา
       โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัดหรือกำจัดอวิชชาโดยตรงนั้น ตามปกติเป็นแบบที่ต้องใช้ในการปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด
      โยนิโสมนสิการเพื่อมุ่งสกัดหรือบรรเทาตัณหา มักใช้ปฏิบัติขั้นต้นๆ ซึ่งมุ่งเตรียมพื้นฐานหรือพัฒนาตนเองในด้านคุณธรรมให้เป็นผู้พร้อมสำหรับการปฏิบัติขั้นสูงขื้นไปเพราะเป็นเพียงขั้นขัดเกลากิเลส 
       แต่โยนิโสมนสิการหลายวิธีใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งกำจัดอวิชชา และบรรเทาตัณหาไปพร้อมกัน
       วิธีโยนิโสมนสิการเท่าที่พบในบาลี และพอประมวลเป็นแบบใหญ่ๆได้ดังนี้
      ๑.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
      ๒.วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ
      ๓.วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์
      ๔.วิธีคิดแบบอริยสัจจ์/คิดแบบแก้ปัญหา
      ๕.วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์
      ๖.วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก
      ๗.วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
      ๘.วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม
      ๙.วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน
     ๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชวาท

ฯลฯ
    ๑.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ...อาจเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นวิธีโยนิโสมนสิการแบบพื้นฐาน..
   ๒.วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ หรือกระจายเนื้อหาเป็นการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเองอีกแบบหนึ่ง ในทางธรรมท่านมักใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสาร...ไม่เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงให้หายยึดมั่นถือมั่นในสมมติบัญญัติ โดยเฉพาะการพิจารณาเห็นสัตว์บุคคลเป็นเพียงการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕....
   ๓.วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง....อนิจจัง...ทุกขัง..... อนัตตา.....
    ๔.วิธีคิดแบบอริยสัจจ์/คิดแบบแก้ปัญหา  ....หลักการหรือสาระสำคัญ ก็คือ การเริ่มต้นจากปัญหาหรือความทุกข์ที่ประสบ โดยกำหนดรู้ ทำความเข้าใจกับปัญหาคือความทุกข์นั้นให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข ในขณะเดียวกันก็กำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ และเป็นไปได้อย่างไร แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหา.......
    ๕.วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ หรือความคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย คือพิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ ระหว่าง ธรรม กับ อรรถ  หรือ หลักการกับความมุ่งหมาย เป็นความคิดที่มีความสำคัญมาก ในเมื่อจะลงมือปฏิบัติธรรมหรือทำตามหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย ไม่กลายเป็นการกระทำที่คลาดเคลื่อน เลื่อนลอย หรืองมงาย.....
   ๖.วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก......ตัวอย่างแสดงแนวคิดแบบคุณโทษและทางออกนี้ ก็คือ พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า อนุบุพพิกถา  ซึ่งเป็นแนวทางการสอนธรรมแบบหลักที่ทรงใช้ทั่วไปหรือใช้เป็นประจำโดยเฉพาะก่อนทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔  กล่าวถึง การครองชีวิตดีงาม โอบอ้อมอารี ช่วยเหลือกัน ดำรงตนในสุจริต ที่เรียกว่า ทาน และศีล    แล้วแสดงชีวิตที่มีความสุขความอิ่มเอิบพรั่งพร้อมที่เป็นผลของการครองชีวิตที่ดีงาม ที่เรียกว่า สัคคะ ...จากนั้นแสดงแง่เสีย ข้อบกพร่อง โทษ ความไม่สมบูรณ์เพียงพอของความสุข ความพรั่งพร้อมเช่นนั้น เรียกว่า กามาทีนวะ ...และในที่สุดแสดงทางออกพร้อมทั้งผลดีของทางออกนั้น เรียกว่า เนกขัมมานิสังสะ  เมื่อผู้ฟังเห็นผลดีของทางออกนั้นแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ต่อท้ายตอนจบ....
    ๗.วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม ...หรือการพิจาณาเกี่ยวกับปฏิเสวนา คือการใช้สอยบริโภค เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา...วิธีคิดแบบนี้ ใช้พิจารณาในการเข้าเกี่ยวข้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค ใช้สอย ซื้อหา หรือการครอบครอง โดยมุ่งให้เข้าใจเลือกเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์กับชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและผู้อื่น...เกื้อกูลความเจริญงอกงามของคุณธรรม...ไม่เป็นทาสของวัตถุ....เช่น อาหารที่กินด้วยปัญญาเพื่อคุณค่าแท้มื้อหนึ่งราคาสิบบาท  อาจจมีคุณค่าต่อแก่ชีวิตร่างกายมากกว่าอาหารมื้อเดียวราคา ๑,๐๐๐ บาท ที่กินด้วยตัณหาเพื่อสนองความอยาก หรือเพื่อเสริมราคาของตัวตนและหนำซ้ำอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกาย.......
    ๘.วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม อาจเรียกง่ายๆว่า วิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบกุศลภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเท่าและขัดเกลาตัณหา จึงจัดได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติระดับต้นๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรมและสร้างเสริมสัมมาทิฎฐิที่เป็นโลกิยะ.....
   ๙.วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน...ลักษณะของความคิดชนิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ ความคิดทีเกาะติดกับอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคตนั้น พูดได้สั้นๆ ว่าได้แก่ความคิดที่เป็นไปในแนวทางของตัณหา หรือคิดด้วยอำนาจตัณหา หรือพูดในภาษาสมัยใหม่ว่าตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์....อาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว..ฟุ้งซ่าน..ฝันเพ้อ..ปรุงแต่งซึ่งไม่มีฐานของความจริงในปัจจุบัน เพราะอึดอัดไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ ปรารถนาจะหนีจากปัจจุบัน......
 ๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท  ความจริง วิภัชชวาท ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูด หรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามการคิดกับการพูดเป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด ก่อนจะพูดก็ต้องคิดก่อน.....ตัวอย่างแห่ง วิภัชชวาท....
   อภัยราชกุมาร: พระองค์ผู้เจริญ คำพูดที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของผู้อื่น พระองค์ตรัสหรือไม่?
    พระพุทธเจ้า:  นี่แน่ะ ราชกุมารในเรื่องนี้ จะตอบลงไปข้างเดียวไม่ได้ (ต่อจากนั้น ได้ทรงงแยกแยะคำพูดที่ตรัสและไม่ตรัสไว้มีใจความต่อไปนี้)
      ๑)คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น  -  ไม่ตรัส
      ๒)คำพูด ที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
      ๓)คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส
      ๔)คำพูดไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
      ๕)คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
      ๖)คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส
ฯลฯ
(จากหนังสือ วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม พระพรหมคุณาภรณ์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)




*********************

วิธีชนะใจตนเอง (คลิก)

...................................

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กรรม...

ฯลฯ
     " ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบกรรม พึงทราบเหตุเกิดแห่งกรรม พึงทราบความแตกต่างแห่งกรรม พึงทราบวิบากแห่งกรรม พึงทราบความดับแห่งกรรม พึงทราบข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม...
     " ภิกษุทั้งหลาย เจตนา เราเรียกว่า กรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ..
     " เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน? ผัสสะ เป็นเหตุเกิดแห่งกรรมทั้งหลาย.
     " ความแตกต่างแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นไฉน? คือ กรรมที่เสวยผลในนรก ก็มี  กรรมที่เสวยผลในกำเนิดดิรัจฉาน ก็มี กรรมที่เสวยผลในแดนเปรต ก็มี  กรรมที่เสวยผลในโลกมนุษย์ ก็มี  กรรมที่เสวยผลในเทวโลก ก็มี  นี้เรียกว่า ความแตกต่างแห่งกรรมทั้งหลาย.
    " วิบากแห่งกรรม เป็นไฉน?  เรากล่าวถึงวิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ อย่าง คือ วิบากในปัจจุบัน หรือในที่อุบัติ หรือในเบื้องต่อๆ ไป,นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม.
    " ความดับแห่งกรรม เป็นไฉน?  เพราะผัสสะดับ กรรมก็ดับ , มรรคามีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐนี้แหละ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรม กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.
    ฯลฯ
จากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)


วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ปฏิบัติอยู่แค่ใหน ?

ปฏิบัตติปุจฉาวิสัชนา
*********************
ก.ถามว่า ผู้ปฏิบัติศาสนาโดยมากปฏิบัติอยู่แค่ใหน?
ข.ตอบว่า ปฏิบัติอยู่ภูมิกามาพจรกุศลโดยมาก

ก.ถามว่า ทำไมปฏิบัติอยู่เพียงนั้น?
ข.ตอบว่า อัธยาศัยของคนโดยมากยังกำหนัดอยู่ในกาม เห็นว่ากามารมณ์ที่ดีเป็นสุข ส่วนที่ไม่ดีเห็นว่าเป็นทุกข์ จึงได้ปฏิบัติในบุญกิริยาวัตถุ มีการฟังธรรมให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น หรือภาวนาบ้างเล็กน้อย เพราะความมุ่งเพื่อจะได้สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติ เป็นต้น ก็คงเป็นภูมิกามาพจรกุศลอยู่นั่นเอง เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไปแล้วย่อมถึงสุคติบ้าง ไม่ถึงบ้าง แล้วแต่วิบากจะจัดไป เพราะไม่ใช่นิตยบุคคล คือยังไม่ปิดอบาย เพราะยังไม่บรรลุโสตปัตติผล

..ฯลฯ..
(จากหนังสือ ปฏิปัตติปุจฉาวิสัจชนา ปุจฉา:พระธรรมเจดีย์(จูม พนฺธโล) วิสัชนา:พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ)

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การเพ่งโทษ


...ฯลฯ...

การเพ่งโทษตนเอง เป็นการฝึกตนที่ได้ผลจริง
      บัณฑิตไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่น บัณฑิตจะเพ่งโทษตนเอง การเพ่งโทษตนเองนั้นเป็นการฝึกตนเองอย่างหนึ่งที่จักเกิดผลจริง การเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวิสัยของผู้ไม่ใช่บัณฑิต ผู้ที่เพ่งแต่โทษผู้อื่น ไม่เพ่งโทษตนเอง ย่อมไม่เห็นโทษของตนเอง ย่อมไม่เห็นความบกพร่องที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น ย่อมไม่รู้ว่ามีโทษเพียงไรในแง่ใด ไม่มีโอกาสจะแก้ไขตนเอง แต่จะมุ่งไปแก้ผู้อื่น ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างใด ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ว่าจะยอมให้แก้ เพราะถ้าเป็นผู้อื่นที่เป็นบัณฑิต ก็ย่อมแก้ตนเองอยู่แล้ว ฝึกตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่สนใจที่จะแก้ตนเองฝึกตนเองอยู่แล้ว ผู้อื่นจะไปแก้จึงเป็นไปได้ยาก ทุกคนจะดีหรือชั่ว...สำคัญที่ตนเอง ตนเองมีความดีพอจะยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ดีงามของตน ย่อมยินดีฝึกตน ย่อมยินดีแก้ไขตน ย่อมมีโอกาสเป็นคนดียิ่งขึ้น...
...ฯลฯ...
............................
(จากหนังสือ การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง พระนิพนธ์ 

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
*******************************
เช่นนั้นเอง(คลิก)


วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กายคตานุสติกรรมฐาน

  ..ฯลฯ..
     กายคตานุสติกรรมฐาน บางทีเรียกกันง่ายๆ ว่า "กายคตาสติกรรมฐาน" เป็นกรรมฐานที่มีอนิสงค์มาก เพราะทำให้ละ"สักกายทิฐิ" อันเป็นสังโยชน์ข้อต้น ได้โดยง่ายและเป็นกรรรมฐานที่พิจารณาร่างกาย ให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน  มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยเจ้าทุกๆ พระองค์ที่จะบรรลุพระอรหัตผลได้ จะต้องผ่านการพิจารณากรรมฐานทั้ง ๓ กองนี้เสมอ มิฉะนั้นจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะสรรพกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ และหลง ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทาน ว่าเป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น
     การพิจารณาละกิเลส ก็ต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อม ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกาย อันกว้างศอก ยาววา และหนาคืบ นี่เอง
..ฯลฯ..
(จาก หนังสือวิธีสร้างบุญบารมี พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์ที่ ๑๙ วัดบวรนิเวศวิหาร)
........................


วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เทวธรรม

   มีพระภิกษุสองรูป คือ อาจารย์กับลูกศิษย์ เดินจาริกไปด้วยกัน พอตกเย็นทั้งสองแวะพักที่ศาลาริมป่าช้าแห่งหนึ่ง ในศาลามีพระพุทธรูปคงจะเก่าแก่พอสมควร ประชาชนพอทราบข่าว ต่างก็แห่งกันมา  บางคนก็ขอเลขหวย บางรายขอวัคถุมงคล ฯลฯ
   อุบาสกที่เป็นหัวหน้าได้ปรารภขึ้นว่า 
   "พระพุทธรูปในศาลาองค์นี้ มีเทวดารักษา ชาวบ้านพอมีปัญหาเดือดร้อน ก็มักจะมาบนบานและแก้บนด้วยการเซ่นบวงสรวงเป็นประจำ"
   พระอาจารย์จึงพูดให้ฟังว่า
   "เทวดาที่คุ้มครองเราได้จริง คือ หิริโฮตัปปะ เรียกว่า เทวธรรม หมายถึง ธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติให้เป็นเทวดา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลก"
.................
(จากหนังสือ นิทานพุทธะ พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ)