วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ความสุข


ฯลฯ
    ในคัมภีร์อังคุตรนิกาย ทุกนิบาต ทรงจำแนกความสุขออกไปทั้งโดยประเภท และโดยระดับ เป็นคู่ๆ มากมายหลายคู่ เช่น สุขของคฤหัสถ์กับสุขของบรรพชิต กามสุขกับเนกขัมมสุข โลกิยสุขกับโลกุตรสุข สุขของพระอริยะกับสุขของปุถุชน เป็นต้น
   แต่วิธีแบ่งที่เป็นลำดับขั้นชัดเจน ละเอียด และดูง่าย ไม่ซับซ้อน น่าจะได้แก่วิธีแบ่งเป็น ๑๐ ชั้น หรือความสุข ๑๐ ชั้น ซึ่งมีในที่มาหลายแห่ง แบ่งดังนี้.
   ๑.กามสุข  สุขเนื่องด้วยกาม ได้แก่ความสุขโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยกามคุณ ๕
   ๒.ปฐมฌานสุข  สุขเนื่องด้วยปฐมฌาน ซึ่งสงัดจากกามและอกุศลทั้งหลาย ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
  ๓.ทุติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยทุติฌาน ซึ่งประกอบด้วย ปีติ สุข และเอกัคคตา
  ๔.ตติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยตติฌาน ซึ่งประกอบด้วยสุข และเอกัคคตา
  ๕.จตุตถฌานสุข สุขเนื่องด้วยจตุตถฌาน ซึ่งประกอบด้วยอุเบกขา และเอกัคคตา
  ๖.อากาสานัญจายตนสมาปัตติสุข  สุขเนื่องด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ซึ่งล่วงพ้นรูปสัญญาได้สิ้นเชิง ปฏิฆสัญญาล่วงไปหมด ไม่มนสิการนานัตตสัญญา นึกถึงแต่อากาศอันอนันต์เป็นอารมณ์
  ๗.วิญญาณัญจายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ซึ่งคำนึงวิญญาณอันอนันต์เป็นอารมณ์
  ๘.อากิญจัญญายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ซึ่งคำนึงภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
  ๙.เนวสัญญานาสัญญายตนปัตติสุข สุขเนื่องด้วยเนวส้ญญานาสัญญายตนสมาบัติ อันถึงภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
  ๑๐.สัญญาเวทยิตนิโรธสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ อันถึงภาวะที่ดับสัญญาและเวทนาทั้งหมด
      ถ้าจะจัดให้ย่อเข้า สุข ๑๐ ข้อนี้ รวมเข้าได้เป็น ๓ ระดับ
  ๑.กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม
  ๒.ฌานสุข หรือ(อัฏฐ)สมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยฌาน หรือสุขเนื่องด้วยสมาบ้ติ ๘ แยกเป็น ๒ ระดับย่อย
   ๒.๑ สุขในรูปฌาน หรือสุขเนื่องด้วยรูปฌาน ๔
   ๒.๒ สุขในอรูปฌาน หรือสุขเนื่องด้วยอรูปฌาน ๔
  ๓.นิโรธสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยนิโรธสมาบัติ
      สุขทั้ง ๑๐ ขั้นนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับขั้น  เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย  หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น
      ท่านสอนให้มองความสุขเหล่านั้นตามความเป็นจริง ทั้งด้านที่เป็นสุขและด้านที่มีทุกข์เข้ามาปน คือมองทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ทั้งแง่ที่เป็นคุณและแง่ที่เป็นโทษ......
      เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณึตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสิ่งที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ อย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป
     เมื่อใด จิตหลุดพ้นเด็ดขาดแล้ว ตัดเยื่อใยได้สิ้น ก็จะไม่วกเวียนกลับมาหาความสุขที่หยาบอีกต่อไป คงเสวยแต่สุขที่ประณีตสำหรับจิตที่เป็นอิสระอย่างเดียว
      ข้อที่ว่านี้ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม....
ฯลฯ
จากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)

..................
...................

***********     
    

1 ความคิดเห็น:

  1. ..."ภิกษุทั้งหลาย กามคุณมี ๕ อย่างดังนี้ คือ รูปทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยตา...เสียงทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยหู...กลิ่นทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยจมูก...รสทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยลิ้น...โผฏฐัพพะทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยกาย ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้น่ารัก ชักให้อยาก เย้ายวนชวนติดใจ,เหล่านี้แลคือกามคุณ ๕ อาศัยกามคุณ ๕ ประการเหล่านี้ มีความสุข มีความฉ่ำใจ(โสมนัส)ใดเกิดขึ้น นี้คือส่วนดี(อัสสาทะ,ความหวานชื่น)ของกามทั้งหลาย "นี้เรียกว่ากามสุข"....จากหนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต)

    ตอบลบ