วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กรรม...

ฯลฯ
     " ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบกรรม พึงทราบเหตุเกิดแห่งกรรม พึงทราบความแตกต่างแห่งกรรม พึงทราบวิบากแห่งกรรม พึงทราบความดับแห่งกรรม พึงทราบข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม...
     " ภิกษุทั้งหลาย เจตนา เราเรียกว่า กรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ..
     " เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน? ผัสสะ เป็นเหตุเกิดแห่งกรรมทั้งหลาย.
     " ความแตกต่างแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นไฉน? คือ กรรมที่เสวยผลในนรก ก็มี  กรรมที่เสวยผลในกำเนิดดิรัจฉาน ก็มี กรรมที่เสวยผลในแดนเปรต ก็มี  กรรมที่เสวยผลในโลกมนุษย์ ก็มี  กรรมที่เสวยผลในเทวโลก ก็มี  นี้เรียกว่า ความแตกต่างแห่งกรรมทั้งหลาย.
    " วิบากแห่งกรรม เป็นไฉน?  เรากล่าวถึงวิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ อย่าง คือ วิบากในปัจจุบัน หรือในที่อุบัติ หรือในเบื้องต่อๆ ไป,นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม.
    " ความดับแห่งกรรม เป็นไฉน?  เพราะผัสสะดับ กรรมก็ดับ , มรรคามีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐนี้แหละ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรม กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.
    ฯลฯ
จากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)


1 ความคิดเห็น:

  1. ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งกรรม เหตุแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอย่อมรู้ชัดชึ่งชีวิตประเสริฐ (พรหมจริยะ) อันทรงปัญญาเฉียบคม ซึ่งเป็นที่ดับแห่งกรรมนี้..
    ่ "ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง กรรมใหม่ กรรมเก่า ความดับกรรม และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรม..
    "กรรมเก่าเป็นไฉน? ตา..หู..จมูก..ลิ้น..กาย..ใจ พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ซึ่งถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่เสวยเวทนา,นี้เรียกว่า กรรมเก่า
    "ภิกษุทั้งหลาย กรรมใหม่เป็นไฉน? กรรมที่บุคคลกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในบัดนี้ เรียกว่า กรรมใหม่
    "ภิกษุทั้งหลาย ความดับกรรมเป็นไฉน? ภาวะที่สัมผัสวิมุตติ เพราะความดับไปแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เรียกว่า ดับกรรม
    "ภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรมเป็นไฉน? ได้แก่มรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐนี้เอง กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรม.
    "ภิกษุทั้งหลาย กายนี้มิใช่ของพวกเธอ และมิใช่ของใครอื่น พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ซึ่งถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เกิดจากเจตจำนง เป็นที่เสวยเวทนา.
    "ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ เหล่านี้ คือ โลภะ..โทสะ..โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมที่ทำเพราะโลภะ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นต้นเหตุ มีโลภะเป็นที่ก่อตัวขึ้น ย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของบุคคลนั้นเกิดขึ้น กรรมนั้นให้ผลในที่ใด เขาย่อมเสวยผลของกรรมในที่นั้น จะเป็นในปัจจุบัน หรือในที่อุบัติ หรือในเบื้องต่อๆไปก็ตาม ฯลฯ กรรมที่ทำเพราะโทสะ...กรรมที่ทำเพราะโมหะ..(ก็เช่นเดียวกัน) ฯลฯ
    "ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้คือ อโลภะ..อโทสะ..อโมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะอโลภะ เกิดจากอโลภะ มีอโลภะเป็นต้นเหตุ มีอโลภะเป็นที่ก่อตัวขึ้น เมือปราศจากอโลภะแล้ว กรรมนั้นเป็นอันถูกละหมดไป มีมูลขาดแล้ว ถูกทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ถูกทำให้ไม่มีเหลือ ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกต่อไป..ฯลฯ กรรมที่ทำเพราะอโมหะ...กรรมที่ทำเพราะอโมหะ..(ก็เช่นเดียวกัน) ฯลฯ
    จากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)

    ตอบลบ