วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กายคตานุสติกรรมฐาน

  ..ฯลฯ..
     กายคตานุสติกรรมฐาน บางทีเรียกกันง่ายๆ ว่า "กายคตาสติกรรมฐาน" เป็นกรรมฐานที่มีอนิสงค์มาก เพราะทำให้ละ"สักกายทิฐิ" อันเป็นสังโยชน์ข้อต้น ได้โดยง่ายและเป็นกรรรมฐานที่พิจารณาร่างกาย ให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน  มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยเจ้าทุกๆ พระองค์ที่จะบรรลุพระอรหัตผลได้ จะต้องผ่านการพิจารณากรรมฐานทั้ง ๓ กองนี้เสมอ มิฉะนั้นจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะสรรพกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ และหลง ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทาน ว่าเป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น
     การพิจารณาละกิเลส ก็ต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อม ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกาย อันกว้างศอก ยาววา และหนาคืบ นี่เอง
..ฯลฯ..
(จาก หนังสือวิธีสร้างบุญบารมี พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์ที่ ๑๙ วัดบวรนิเวศวิหาร)
........................


3 ความคิดเห็น:

  1. .....
    การพิจารณาก็คือให้มีจิตใคร่ครวญ เห็นสภาพความเป็นจริงว่า อันร่างกายของคนและสัตว์ ที่ต่างก็เฝ้าทันุถนอม ว่าสวยงามเป็นที่สนิทเสน่หา ชมเชยรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูล สกปรกโสโครก ไม่สวยงาม ไม่น่ารักใคร่ทะนุถอม เป็นมูตรเป็นคูถ เป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็นพืชผักและซากศพของสัตว์ ที่บริโภคเข้าไปในกระเพาะนั้น คือเป็นดุจป่าช้า ที่รวมฝังของซากศพทั้งหลายนั่นเอง พืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ก็ล้วนแต่เป็นของที่สกปรก เมื่อขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลาย ก็ยิ่งเป็นของที่สกปรกโสโครกซึ่งต่างก็พากันรังเกียจว่าเป็น "ขี้" สารพัดขี้ ซึ่งแม้แต่จะเหลือบตาไปมอง ก็ยังไม่อยากที่จะมอง แต่แท้ที่จริงแล้วในท้อง กระเพาะ ลำไส้ ภายในร่างกายของทุกผู้คน ก็ยังคงมีบรรดา "ขี้" เหล่านี้บรรจุอยู่ เพียงแต่มีหนังห่อหุ้มปกปิดไว้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้น...
    (จาก หนังสือวิธีสร้างบุญบารมี พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์ที่ ๑๙ วัดบวรนิเวศวิหาร)

    ตอบลบ
  2. ..กายคตานุสติกรรมฐานนั้น ความจริงก็เป็นเพียงสมถภาวนาที่ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ขั้นปฐมฌาณ แต่ก็เป็นสมถภาวนา ที่เจือไปด้วยวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผล ตามสภาพเป็นจริงของสังขารธรรม หรือสภาวธรรม...(จาก หนังสือวิธีสร้างบุญบารมี พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์ที่ ๑๙ วัดบวรนิเวศวิหาร)

    ตอบลบ
  3. ...กายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เมื่อได้พิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความสกปรกโสโครกของร่างกาย จนรู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่น่ารัก ไม่น่าใคร่ จึงเป็นกรรมฐานที่มีอำนาจทำลายราคะกิเลส และเมื่อได้รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวมากๆเข้า จิตก็จะมีกำลัง และเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย ทั้งของตนเองและของผู้อื่น จึงเป็นการง่ายที่ "นิพพิทาญาณ" จะเกิดขึ้น และเมื่อ "นิพพิทาญาณ" ได้เกิดขึ้นแล้ว จนมีญาณทัสสนะเห็นแจ้งอาการพระไตรลักษณ์ว่า ร่างกายเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ ใช่เขา แต่อย่างใดจิตก็น้อมไปสู่ "สังขารรุเปกขญาณ" ซึ่งมีอารมณ์อันวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในร่างกายและคลายกำหนัดในรูปนามขันธ์ ๕ เรียกว่า จิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งจะนำไปสู่การละ "สักกายทิฐิ" อันเป็นการละความเห็นผิดในร่างกายนี้เสียได้ ถ้าละได้เมื่อใด ก็ใกล้ที่จะบรรลุความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา คือเป็น "พระโสดาบัน" สมจริงตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า การเจริญกรรมฐานกองนี้จะไม่ห่างจาก มรรค ผล และนิพพาน...(จาก หนังสือวิธีสร้างบุญบารมี พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์ที่ ๑๙ วัดบวรนิเวศวิหาร)

    ตอบลบ