วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๑)


.....เรื่องสังขารนี้ จึงเป็นข้อที่ควรทำความเข้าใจ และพิจารณาในทางวิปัสสนากรรมฐานได้เป็นอย่างดียิ่ง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน แต่ในที่นี้ก็ต้องการที่จะให้มีความเข้าใจในความหมายของคำว่าสังขาร เพียงว่าได้แก่สิ่งที่ผสมปรุงแต่งขึ้น หรืออาการที่ผสมปรุงแต่งขึ้น เรียกว่าสังขาร และที่ท่านจำแนกสังขารไว้เป็น ๓ คือกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร.... 
...กายสังขารนั้นก็ได้แก่ปรุงแต่งกาย อธิบายว่าลม อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ได้ชื่อว่ากายสังขารปรุงแต่งกาย เพราะว่าเป็นเครื่องบำรุงปรนปรือกายอยู่ตลอดเวลา กายดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีลมอัสสาสะปัสสาสะ บำรุงปรนปรืออยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ดังจะพึงเห็นได้ว่าทุกๆ คนนั้นไม่มีหยุดหายใจ กายจึงดำรงอยู่ได้ ที่เรียกว่าชีวิต หากหยุดหายใจเมื่อใด กายก็ดำรงอยู่ไม่ได้   ฉะนั้น ลมอัสสาสะปัสสาสะจึงเรียกว่ากายสังขาร เป็นเครื่องปรุงกาย ..
..วจีสังขารแปลว่าปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกวิจารที่แปลว่าความตรึกความตรอง วิตกวิจารนี้เองเป็นต้นของวาจาที่ทุกๆ คนพูด ก็คือว่าพูดจากใจที่วิตกวิจาร คือที่ตรึกตรอง อาจจะกล่าวได้ว่าจิตใจนี้พูดก่อน คือตรึกตรองขึ้นมาก่อน จึงพูดออกทางวาจา หรือว่าวาจาจึงพูดออกมา ถ้าหากว่าไม่มีวิตกวิจาร ขึ้นในจิตใจก่อน การพูดอะไรออกไปทางวาจาก็เป็นวาจาของคนที่เพ้อคลั่ง หรืออาการที่เพ้อหรือที่กล่าวในเวลาหลับ และจะไม่เป็นภาษา ฉะนั้น วาจาที่ทุกๆ คนพูดนี้จึงออกมาจากจิตใจ ที่มีวิตกมีวิจาร คือที่ตรึกตรอง ฉะนั้น วิตกวิจารจึงเรียกวจีสังขาร เป็นเครื่องปรุงวาจา ...

... จิตตสังขาร ปรุงแต่งจิต ก็ได้แก่ สัญญา เวทนา เวทนานั้นก็ได้แก่ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญานั้นก็ได้แก่ความจำได้หมายรู้ เช่นจำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะจำธรรมะคือเรื่องราว เวทนาสัญญานี้ เรียกกลับกันว่าสัญญาเวทนา เป็นเครื่องปรุงจิต คือปรุงจิตใจให้คิดไปต่างๆ ความคิดไปต่างๆ นั้นอาศัยสัญญาเวทนา ถ้าหากว่าไม่มีสัญญาคือความจำได้หมายรู้ ไม่มีเวทนาคือรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็คิดอะไรไม่ได้ เพราะทุกๆ คนนั้น จะไปคิดในเรื่องที่ตนเองจำไม่ได้ หรือว่าที่ลืมไปแล้วนั้น หาได้ไม่ จะคิดอะไรได้ ก็ต้องคิดได้ตามที่จำได้เท่านั้น ....(สมเด็จพระญาณสังวร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น