วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567

หลักของวิปัสสนา


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

#หลักของวิปัสสนาข้อที่๑ 

#ระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏ 


ระลึกรู้มาที่กาย 

ถ้าในใจเห็นเป็นรูปร่าง หน้าตา รูปทรงความหมาย 

มันยังเป็นบัญญัติ เป็นสมมติ 


ต้องรู้ไปถึงความรู้สึก 

ความไหว ความกระเพื่อม 

แข็ง อ่อน ร้อน เย็น สุข ทุกข์ 

อันนี้ถึงจะเป็นตัวสภาวะ 


ถ้ามันมีทั้งรูปร่าง มีทั้งความรู้สึก 

มันก็จะมีสมมติบ้างปรมัตถ์บ้าง 

บัญญัติ ปรมัตถ์ 


จนกระทั่งมันทิ้งสมมติ 

ไม่มีรูปร่างในใจ มีแต่ความรู้สึก 

ไม่มีภาษา ไม่มีรูปร่าง ไม่มีความหมาย 

มีแต่ความรู้สึก 

ก็คือเรียกว่าอยู่กับปรมัตถ์ล้วน ๆ ของจริงล้วน ๆ 

บอกไม่ได้ว่านั่งอยู่ที่ไหน เป็นใคร 

อย่าไปตกใจ 


การบอกได้คือเอาสมมติเข้ามาเติม  

อยู่กับสภาวะจริง ๆ มันจะไม่รู้เลยว่านั่งอยู่ตรงไหน เป็นใคร 

แต่มีสภาวะอยู่ 

อย่างน้อยก็มีจิตใจ 

มีจิต มีตรึก มีนึก มีความรู้สึกอยู่  

ให้รู้ไปที่จิตใจอย่างนี้ 


#หลักวิปัสสนาข้อที่๒  

#วางใจให้ถูกต้อง 


วางใจที่ถูกต้อง คือวางใจอย่างไร? 

วางใจเป็นกลาง 

กลางของอะไร? 

ทางซ้ายทางขวา ยินดียินร้าย 

ซ้ายยินดี ขวายินร้าย 

เป็นกลางก็คือ อยู่ระหว่างไม่ยินดีไม่ยินร้าย 

กำหนดดูอะไรก็เฉย ๆ 

วางเฉย ไม่ยินดียินร้าย 

แนวทางที่ถูกต้องต้องเป็นอย่างนั้น 


เจอฟุ้ง ก็รู้ฟุ้งเฉย ๆ ไม่ว่าอะไร 

อย่าไปโกรธเกลียด อย่าไปไม่ชอบชิงชัง 

เจอปวด ก็รู้ปวดเฉย ๆ ไม่ว่าอะไร 

อย่าไปอยากให้มันหายหรือไปโกรธไปเกลียด 

ดูอะไรให้วางใจเฉย ๆ 


กำหนดลมหายใจก็วางใจเฉย ๆ 

กำหนดการยืน เดิน นั่ง นอน ก็วางใจเฉย ๆ ไม่ยินดีร้ายด้วย 


เจอเสียงหนวกหูมา ก็รู้เสียง 

สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ยินร้าย วางเฉย 

เจอรสอาหารอร่อยก็วางเฉยหรือยินดี? 

ยินดีก็เป็นโลภะ เป็นราคะ รสตัณหาอีก 

ให้วางเฉย 

เจอความสุขก็รู้ความสุข 

เจอปีติ รู้ปีติเฉย ๆ 

วางใจเป็นกลาง วางเฉยเป็นอย่างดี ไม่ยินดียินร้ายได้ไหม 

ฝึกไป 

ดูความฟุ้งอย่างวางเฉย 

ดูความปวดอย่างวางเฉย 


ในกรณีที่ปวด 

จะฝึกจะวางใจอย่างไร? จะทำใจอย่างไร?  

มันมีแบบประจัญบาน กับแบบชั้นเชิง 

จะเอาอันไหน? 


ประจัญบานก็ปวดตรงไหนก็ดูไปตรงนั้น 

ดูปวดในปวด 

ในปวดมันจะมีแรง มีค่อย 

แต่มันจะทรมานเยอะ 

เอาจิตเข้าไปดู มันจะเสวยอารมณ์นั้นมาก 

มันก็จะปวดมาก 

แต่อาศัยทน ดูความเปลี่ยนแปลงในนั้น 

นั่งไปเป็นชั่วโมง ๆ ก็หายปวด 

แต่มันจะผ่านทารุณเยอะ 

ก็ดับได้ 

ตอนหลังก็เจอปวดอื่น ๆ ก็เรื่องเล็กแล้ว 

เพราะมันเจอปวดใหญ่ 

มันจะเจ็บตัวเยอะ 

บางทีก็บาดเจ็บ 


วิธีที่ ๒ ก็คือชั้นเชิง 

ไม่ไปเพ่งความปวด 

แต่ไประลึกรู้อย่างอื่น 

ไปดูลมหายใจเข้าออก 

ไประลึกรู้ดูจิตใจ 

โดยเฉพาะกำหนดดูใจ แล้ววางเฉย 

ฝึกจิตให้วางเฉย 


ปวดแล้วทำใจเฉย ๆ ได้ไหม? 

เป็นไปได้ไหมที่ขาปวด แต่ใจเฉย? 

โยมว่ามันเป็นไปได้ไหม? 

ถ้าเชื่อว่าเป็นไปได้ก็ลองฝึกไป 

เราก็คนหนึ่งเหมือนกัน 

ต้องคิดอย่างนั้น 

มันเป็นได้ก็ฝึกได้ เราก็คนหนึ่ง 

ปวดไม่ต้องไปสนใจมัน ไม่ต้องไประแวงระวัง 

ปล่อยมัน 


สอนใจ 

ปวดไม่ใช่เรา ปวดไม่ใช่เรา ปล่อย 

ดูใจ รักษาใจ วางเฉย ปล่อยวาง วางเฉย 

ฝึกแล้วฝึกอีก ใจมันก็จะมีโอกาสวางเฉยเป็น 

แล้วก็จะเห็น เกิดปัญญารู้เห็นว่า 

ความปวด … กับจิตใจที่รู้ปวด … เป็นคนละอย่างกัน 

มันเห็นปวดเป็นอย่างหนึ่ง จิตใจเป็นอย่างหนึ่ง 

นี่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ แยกสภาวะ 


ฝึกสูงขึ้นไป 

เห็นปวดไม่เที่ยง ปวดไม่ใช่ตัวเราของเรา 

จิตใจไม่เที่ยง จิตใจไม่ใช่ตัวเรา 

มันก็เป็นญาณปัญญาวิปัสสนาสูงขึ้นด้วย 

เพราะฉะนั้นต้องฝึก  


#หลักวิปัสสนาข้อที่๓ 

#พิจารณาตามความเป็นจริง 

กำหนดดูอะไร ก็สังเกตพิจารณาดูว่า 

มันเปลี่ยนแปลงไหม มันหมดไปดับไปไหม 

เปลี่ยนแปลงก็คืออนิจจัง ไม่เที่ยง เปลี่ยนตลอด 

ทุกขัง เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เกิดดับ 

อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน 

ก็จะเป็นญาณปัญญาของวิปัสสนา 


วิปัสสนาจะเห็นอย่างนี้ 

จะเข้าไปรู้เห็นถึงความไม่เที่ยง 

ความเปลี่ยนแปลงเกิดดับ 

ความไม่ใช่ตัวเราของเรา 

เป็นปัญญารู้เห็นอย่างนี้ 

ถ้ารู้เห็นอย่างนี้มาก ๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย 

เมื่อเบื่อหน่าย จิตก็คลายกำหนัด 

เมื่อคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้น 


วิปัสสนาต้องมีญาณรู้เห็น 

ปัญญาที่รู้เห็นแจ้ง ก็คือรู้เห็นตามความเป็นจริง 

ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน 

เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย 


ถ่ายทอดสด พระธรรมเทศนา 

คอร์สกรรมฐานสั้นเทศกาลปีใหม่ (๒๙-๑๒-๖๖) 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

******

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid0qAEKGnJ3SWMikp3aYngcoN4DJtMXmXE4EtjFPWVVzZe1P1rtiJ68Bbo91ynHNkmtl/?mibextid=UyTHkb

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น