วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

นิพพานเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง

...ฯลฯ...
                   ได้มีภาษิตกล่าวไว้ แปลว่า " นิพพานเป็นบรมสุข คือ สุขอย่างยิ่ง "
             นิพพาน คือ ความละตัณหาในทางโลกและทางธรรมทั้งหมด ปฏิบัติโดยไม่มีตัณหาทั้งหมด คือการปฏิบัติถึงนิพพาน
             ได้มีผู้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า...
             " ธรรม " (ตลอดถึง) " นิพพาน " ที่ว่า " เป็นสันทิฏฐิโก อันบุคคลเห็นเอง " นั้นเป็นอย่างไร
             ได้มีพระพุทธดำรัสตอบโดยความว่าอย่างนี้ คือ
              ผู้ที่มีจิตถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำเสียแล้ว ย่อมเกิดเจตนาความคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ผู้อื่นบ้าง ทั้งสองฝ่ายบ้าง ต้องได้รับทุกข์โทมนัสแม้ทางใจ เมื่อเกิดเจตนาขึ้น ดังนั้น ก็ทำให้ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร คือ กาย วาจา ใจ และคนเช่นนั้นก็ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองตามความเป็นจริง
            แต่ว่าเมื่อละความชอบ ความชัง ความหลง เสียได้ ไม่มีเจตนาความคิดที่จะเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ไม่ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองตามเป็นจริง ไม่ต้องเป็นทุกข์โทมนัส  แม้ด้วยใจ    " ธรรม "(ตลอดถึง) " นิพพาน " ที่ว่า " เห็นเอง " คือเห็นอย่างนี้
            ตามที่ตรัสอธิบายนี้ เห็นธรรม ก็คือเห็นภาวะหรือสภาพแห่งจิตใจของตนเอง ทั้งในทางไม่ดี ทั้งในทางดี จิตใจเป็นอย่างไร ก็รู้อย่างนั้นตามเป็นจริง ดังนี้เรียกว่า..เห็นธรรม..
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร ? สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น