วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567

อรหันต์ในบ้าน


 Cr.fwd.line

******

คราวหนึ่ง "สมเด็จโต" ได้รับนิมนต์ให้แสดงธรรม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกมาท่ามกลางเหล่าขุนนาง ครั้นพอพบหน้าท่าน เจ้าผู้ครองแผ่นดินก็ทรงสัพยอกว่า...


"ท่านเจ้าคุณ เห็นเขาชมกันทั้งเมืองว่าท่านเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ต้องขอพิสูจน์หน่อย"


สมเด็จโตทรงทูลว่า


"ผู้ที่ไม่เคยฟังในธรรม ครั้นเขาฟังธรรม และได้รู้เห็นในธรรมนี้แล้ว เขาก็ชมว่าดี ขอถวายพระพรมหาบพิตร"


และวันนี้อาตมาจะมาเทศน์เรื่อง 

"พระอรหันต์อยู่ในบ้าน"


ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหล่าขุนนางต่างก็มีความสงสัย เพราะเคยได้ยินแต่ว่าพระอรหันต์ท่านจะอยู่ในถ้ำ - ในป่า - ในเขา ในที่เงียบสงัดหรือที่วัดวาอารามเท่านั้น แต่ทำไมสมเด็จโตจึงกล่าวว่าจะเทศนาเรื่อง "พระอรหันต์อยู่ในบ้าน"


ในขณะที่ทุกคนพากันคิดสงสัยอยู่นั้น ฝ่ายสมเด็จโตทรงทราบด้วยญาณวิถีของทุกคน ท่านจึงขยายความต่อไปว่า...

.

"จิตพระอรหันต์เป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านละจากความโลภ ความหลง ไม่ยินดียินร้ายในเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม"


"หากใครได้ทำบุญกับพระอรหันต์แล้วไซร้ ถือได้ว่าเป็นลาภอันประเสริฐที่สุด บุญที่ได้ทำกับท่านจะให้ผลในชาติปัจจุบันทันที ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า ทุก ๆ คนจึงมุ่งเสาะแสวงหาแต่พระอรหันต์ที่อยู่นอกบ้าน แต่ไม่เคยมองเห็นพระอรหันต์ที่อยู่ในบ้านเลย"


ทุก ๆ คนที่นั่งฟังเทศนาอยู่ในที่แห่งนั้น ต่างทำสีหน้างุนงงไปตามกัน 

สมเด็จโตจึงเทศนาต่อไปว่า...


"พระอรหันต์คือ พระผู้ประเสริฐ คนเราทั้งหลายพยายามค้นหาพระผู้ประเสริฐ เพียงหวังที่จะยึดท่าน เกาะผ้าเหลืองท่าน เกาะหลังของท่าน เพื่อให้ท่านพาไปสู่ความสุข แม้ว่าท่านจะอยู่ไกลสุดขอบฟ้า เราก็ยังอุตสาห์ดั้นด้นดิ้นรนไปหา เพียงหวังเพื่อยึดเหนี่ยวและบูชาท่าน"


"แต่พระที่อยู่ภายในที่ใกล้ตัวที่สุดกลับมองข้าม มองไม่เห็นเหมือนใกล้เกลือแต่กลับไปกินด่าง อันน้ำใจของพ่อ - แม่ที่ให้ต่อลูก มีแต่ความบริสุทธิ์ ไม่คิดหวังสิ่งตอบแทนเช่นเดียวกับน้ำใจของพระอรหันต์ที่ให้ต่อมนุษย์ก็มีความบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน"


"พ่อแม่จึงเปรียบเสมือนพระอรหันต์ของลูก ท่านมีน้ำใจบริสุทธิ์ต่อลูกมากมายนัก ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่อยู่ในท้อง ท่านทนทุกข์ทรมานแต่ท่านก็ไม่เคยปริปากบ่นสักนิด"


"แม้ลูกเกิดมาแล้วพิกลพิการ หูหนวก ตาบอด ท่านก็ยังรัก ยังสงสาร เพราะท่านคิดเสมอว่า นั้นคือสายเลือด ไม่เคยคิดรังเกียจและทอดทิ้ง แต่ท่านกลับจะเพิ่มความรักความสงสารมากยิ่งขึ้น"


"ครั้นตอนที่เราเป็นเด็กเล็ก ๆ ก็ซุกซน รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราเคยหยิก เคยข่วน ทุบ ตี เตะ ต่อย กัด หรือด่าทอพ่อแม่ต่าง ๆ นานา เพราะความไร้เดียงสา ท่านก็ไม่เคยโกรธเคือง กลับยิ้มร่าชอบใจ เพิ่มความรักความเอ็นดูให้เสียอีก"


"แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบชั่วดี แต่บางครั้งด้วยความโกรธ ความหลง เราก็ยังทุบตีหรือด่าทอท่านอยู่ แทนที่ท่านจะโกรธหรือถือโทษเอาผิดต่อเรา ท่านกลับยอมนิ่งเฉย ยอมที่จะทนรับทุกข์เพียงฝ่ายเดียว ยอมเสียน้ำตา ยอมเป็นเครื่องรองรับมือ รับเท้า และปากของเรา"


"สำหรับลูกแล้ว ท่านเสียสละให้ทุกอย่าง ท่านให้อภัยในการกระทำของเราเสมอ เพราะท่านกลัวเราจะมีบาปติดตัว จึงยอมที่จะทุกข์เสียเอง ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะรักเรา และหวังดีต่อเราอย่างจริงจังและจริงใจเหมือนพ่อแม่"


"ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนเราเติบใหญ่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และกำลังทรัพย์ให้แก่เราอย่างมากมาย จนไม่อาจประมาณค่าเป็นตัวเลขได้"


"ในบางครั้งลูกหลงผิดเป็นคนชั่วด้วยอารมณ์แห่งโทสะ เป็นคนเมาขาดสติ ก่อกรรมทำเข็ญเป็นที่เดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ในสายตาของท่านแล้ว เมื่อมีภัยสู่ลูกก็ยังปกป้องรักษา ช่วยเหลือลูกอย่างเต็มกำลังและสุดความสามารถยอมเสียทรัพย์สินและเงินมากมาย เพื่อให้ลูกได้พ้นผิด"


"ถึงแม้ว่าในบางครั้งลูกต้องถูกจองจำหมดแล้วซึ่งอิสรภาพด้วยอาญาแห่งแผ่นดินก็คงมีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่คอยหมั่นดูแลไปเยี่ยม คอยส่งน้ำส่งข้าวปลาอาหาร คอยให้กำลังใจแก่ลูก และรอนับเวลาที่ลูกจะกลับมาสู่อ้อมกอดอีกครั้งหนึ่ง"


"น้ำใจที่มีต่อลูกเช่นนี้เปรียบเท่ากับน้ำใจของพระอรหันต์โดยแท้ พ่อแม่จึงเป็นพระอรหันต์ในบ้านของเราจริง ๆ ทำไมพวกท่านจึงไม่คิดที่จะทำบุญกับพระอรหันต์ที่อยู่ในบ้านของท่านเล่า"


"สำหรับลูก ถึงแม้พ่อแม่จะเป็นโจร เป็นคนชั่วในสายตาของบุคคลอื่น แต่สำหรับลูกแล้วท่านเสียสละได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง แม้แต่ชีวิตท่านก็สามารถเสียสละให้ลูกได้ พ่อแม่มีลูกนับ ๑๐ คนเลี้ยงดูมาเติบใหญ่ แต่ลูก ๑๐ คน กลับเลี้ยงดูพ่อแม่เพียง ๒ คนไม่ได้ ชอบเกี่ยงกัน เพราะลูกเหล่านั้นกำลังลืมคำว่าพระคุณของพ่อแม่"


"ยามที่พ่อแม่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราควรที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่โดยการซื้ออาหารการกิน ซื้อเสื้อผ้า พาท่านไปทำบุญทำทาน เข้าวัดเข้าวา อะไรก็ตามที่ทำแล้วให้ท่านมีความสุขก็ควรทำให้ท่าน และเลี้ยงดูจิตใจท่าน เชื่อฟังในโอวาทคำเตือนของท่าน"


"คำพูดคำจาที่จะพูดกับท่านก็ต้องระมัดระวังเพราะคนแก่นั้นใจน้อย ต้องรักษาน้ำใจท่านไว้ด้วยคำพูดที่นิ่มหู ไม่ปล่อยทิ้งให้ท่านอยู่อย่างว้าเหว่ คอยเอาใจใส่ปรนนิบัติดูแลท่านอย่างใกล้ชิด"


"แต่คนส่วนมากมักจะทำบุญให้พ่อแม่ เมื่อยามที่ท่านตายจากเราไปแล้ว นั่นคือการพลาด และเป็นการพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเรา ซึ่งความจริงแล้วเราควรที่จะทำบุญให้กับพ่อแม่ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้กตัญญูกตเวที"


"ขอให้สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังธรรมในวันนี้ จงกลับไปทำบุญกับพ่อแม่ผู้เป็นพระอรหันต์ในบ้าน การทำบุญแบบนี้จะได้อานิสงส์ทันตาเห็นในชาติปัจจุบัน"


"พระอรหันต์ที่อยู่นอกบ้าน พวกท่านไม่อาจจะล่วงรู้ได้ว่าองค์ใดจริง หรือไม่จริง แต่ที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด เป็นของจริงและบูชาได้อย่างแน่นอน ไม่เคยเห็นผู้ใดเลยที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่แล้ว ต้องพบกับความวิบัติ ไม่เคยมี มีแต่เจริญรุ่งเรือง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟก็ไม่ไหม้ มีแต่ความสุข"


"ขอให้ท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้ จงใช้สติและพิจารณาในเรื่องราวต่าง ๆ ที่อาตมาได้เทศนาให้ฟังในครั้งนี้ให้ดี แล้วประโยชน์ และความสุข ก็จะบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย อย่างทันตาเห็น"


"เอวัง...ก็มีด้วยประการฉะนี้

ขอถวายพระพร"


ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและข้าราชบริพาร ได้ฟังคำเทศนาของสมเด็จโตจบลง บ้างน้ำตาก็คลอเบ้า บ้างน้ำตาก็หลั่งไหลออกมาสุดที่จะกลั้นได้ ด้วยความรู้สึกรักสงสาร และคิดถึงพระคุณพ่อแม่ขึ้นมาอย่างจับจิตจับใจอย่างที่ไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลย เจ้าผู้ครองแผ่นดินแห่งสยามประเทศ จึงตรัสด้วยพระสุรเสียงอันสั่นเครือว่า...


"ท่านเจ้าคุณท่านเทศน์ได้จับใจยิ่งนัก และขอให้ทุกคนจงกลับไปทำบุญกับพ่อแม่ผู้เป็นพระอรหันต์เถิด"


--- Cr. เทพ สุนทรศารทูล

จากหนังสือ อุตตริมนุสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น