วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การปล่อยวาง


เวลาฝึก สังเกตว่าจะพยายามเริ่มจากศูนย์ ก็คือการทำความรู้สึกตัว
เริ่มจากไล่ทีละส่วน ไปเรื่อยๆ จนสามารถรู้สึกได้ทั้งตัว เรียกว่า... สติเต็มฐาน
ใหม่ๆ มันยังทำไม่ได้หรอก มันจะรู้สึกเป็นส่วนๆ
บางคนก็รู้สึกที่การหายใจบ้าง
ที่การกระเพื่อม ที่ หน้าอกหน้าท้องบ้าง
ที่มือบ้าง ที่เท้าบ้าง ที่การเคลื่อนบ้าง
แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ สติมีกำลัง
การรับรู้มันก็จะกว้างขึ้นๆ เรื่อยๆ
จนสามารถรู้สึกได้ทั้งตัวเลย
....ก็รู้สึกทั้งตัวไปเรื่อยๆ สบายๆ
ถ้าสามารถพัฒนาสติจนเต็มฐาน คือ รู้สึกได้ทั้งตัว
มันจะเป็นไปด้วยการหลุดออก คลายออก
จากอารมณ์ต่างๆ น้อมไปเพื่อการปล่อยวางโดยธรรมชาติเลย
จะไม่มีคำว่า ไปยึดกาย หรือ ไปยึดจิตเลย
คือ จะรู้สึกได้ทั้งตัวไปเรื่อยๆ สบายๆเลย
....อารมณ์ต่างๆ ก็หลุดออกไป
พอละเอียด มันก็จะหลุดจากฐานของกาย
เข้าสู่ฐานของเวทนา
....เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
พอละเอียดขึ้นไปอีก
มันจะหลุดจากฐานของเวทนา
เข้าสู่ฐานของจิต เกิดความตั้งมั่น ตื่นรู้อยู่ภายใน
" สัมมาสมาธิ " ไม่ใช่อาการที่โฟกัส จดจ่อ
มันเกิดความตั้งมั่นที่ถูกต้อง
สภาวะ ก็จะเกิดการหลุดออก
คลายออกจากอารมณ์ต่างๆ
ก็คือ การปล่อยวางอารมณ์นั่นเอง
เพียงแค่เราทำความรู้สึกตัว
จนสามารถรู้สึกตัวได้อยู่เนืองๆ
มันจะเกิดการปล่อยวางโดยธรรมชาติเลย
จากการหลุดจากอารมณ์หยาบๆ
เรื่องของ นิวรณ์ต่างๆ แล้วเข้าสู่สัมมาสมาธิ
เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
....เกิดปีติ เกิดความซาบซ่าน ทั่วกายขึ้นมา
พอฝึกไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งปิติ ก็หลุดออกไป
เข้าสู่ความโปร่ง โล่งเบาสบาย
ทั่วทั้งตัว กายเบาจิตเบา
พอฝึกไปเรื่อยๆ แม้กระทั่ง สุขก็หลุดออกไป
....เข้าสู่ อุเบกขา มีความสงบ ตั้งมั่น
มีความตื่นรู้ อยู่ภายใน
ฐานของจิตก็จะมีความตั้งมั่น ตื่นรู้อยู่
ซึ่งพอเราฝึกไปเรื่อยๆ ซึ่งสติมีกำลัง
....ก็จะสามารถยกจิต ขึ้นสู่วิปัสสนาญาณได้
บางที พระพุทธองค์ ก็ทรงเรียกว่า
" เปลื้องจิต หรือ การทำจิตให้ปล่อย "
แม้กระทั่ง จิต ก็สามารถปล่อยจิตได้
ด้วยการเกิดสภาวะ รู้ ตื่นแล้วก็เบิกบาน
การรับรู้มันก็จะกว้างขึ้นๆ เรื่อยๆ
ถ้าเรานึกถึง สัญลักษณ์ ในทางพระพุทธศาสนา
เราจะนึกถึงอะไร?
คำว่า พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ก็จะนึกถึง ดอกบัว ใช่ไหม
จากเป็นเมล็ดพันธุ์ อยู่ใต้โคลนตมค่อยๆเพาะบ่ม ค่อยๆ เติบโตขึ้น ค่อยๆ ผุดขึ้นมา อยู่ใต้น้ำ
เมื่อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพาะบ่มไปเรื่อยๆ
ก็ค่อยๆ เติบโต จนแทงขึ้นมาเหนือผิวน้ำ
กลายเป็น ดอกบัวตูมขึ้นมา
....นั่นแหล่ะ สภาวะรู้ จิตมีกำลัง
และเมื่อโตเต็มที่ ดอกบัวก็บานออก
รู้....ตื่น...เบิกบาน....
การเพาะบ่ม กำลังสติก็เช่นกัน
พอฝึก เจริญสติเนืองๆ ทำให้มาก เจริญให้มาก
จนเกิดความตื่นรู้ ขึ้นมา
เมื่อสติ มีกำลังพอ ก็จะเกิดสภาวะ รู้ ตื่น แล้วก็ เบิกบาน ขึ้นมา
โดยเฉพาะ ช่วงที่พาฝึก
ถ้าท่านทั้งหลาย มีพื้นฐานที่ดี
" โดยเฉพาะฐานกาย "
ถ้ามีฐานกายที่ดี จนสามารถฝึก รู้สึกได้ทั้งตัว
ช่วงที่ถ่ายทอดธรรม ท่านทั้งหลาย ก็จะสามารถเข้าถึงสภาวธรรมที่ประณีต ลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ
พอนำเข้าสู่ ฐานของจิต
จิตเกิดความตั้งมั่น ตื่นรู้ขึ้นมา
จนมีกำลังพอ เวลายกจิตขึ้นสู่ " วิปัสสนาญาณ "
การรับรู้มันจะกว้างออก เกิดสภาวะเบิกบานขึ้นมา
เมื่อเกิดสภาวะเบิกบาน
ธรรมทั้งหลาย ก็จะปรากฎตามความเป็นจริง
แม้กระทั่ง จิตก็ถูกเปลื้องออกไป
ปล่อยวางจิตได้
จึงเกิด การรู้เห็นตามความเป็นจริง
เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา
เมื่อดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณ
เห็นการแตกดับของรูปนาม ขันธ์ 5
จึงเกิดการเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
จากสิ่งที่ยึด ที่หลงอยู่
....น้อมไป เพื่อการปล่อยวาง
จิตก็หลุดพ้น จากการยึดมั่นถือมั่น
สามารถที่จะ " สลัดคืน " สู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ก็เป็นไปเพื่อการหลุดออก คลายออก สละ ละ วาง
ครั้งหนึ่ง ก็มีพราหมณ์ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า...
ที่พระองค์ ทรงประกาศ พระสัทธรรม
มีสักบทไหม ที่รวม ทั้งหมด ของพระพุทธศาสนาเลย
ท่านทั้งหลาย ว่า มีไหม?
ที่พระองค์แสดงธรรมไว้มาก มีไหม ที่บทเดียว รวมทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ ตรัสว่ามี ก็คือ
" ธรรมทั้งปวง ใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น
หรือ การปล่อยวาง นั่นเอง "
ความไม่ยึดมั่น ถือมั่น
พระองค์ตรัสว่า ผู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง ธรรมบทนี้
ชื่อว่า ได้ฟังธรรมทั้งหมด ของพระพุทธศาสนา
แล้วผู้ที่ได้ฟังธรรมบทนี้ แล้วปฏิบัติตามธรรมบทนี้
ก็คือ การไม่ยึดมั่น ถือมั่น หรือ การปล่อยวาง
ชื่อว่า ได้ปฏิบัติตามธรรมทั้งหมด
ของพระพุทธศาสนา
เป็นทั้งหลักธรรม ปริยัติ
เป็นทั้งวิธีการ ปฏิบัติ
และ ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมบทนี้
คือ ความไม่ยึดมั่น ถือมั่น หรือ การปล่อยวาง
แล้วได้รับผล จากธรรมบทนี้
ชื่อว่า ได้รับผล ทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
เป็นทั้ง ปริยัติ หลักธรรม
เป็นทั้ง ปฏิบัติ วิธีการดำเนิน วิธีการปฏิบัติ
และเป็นทั้ง ปฏิเวธ ผลของการปฏิบัติ
ก็คือ ความไม่ยึดมั่น ถือมั่น
หรือ การปล่อยวางนั่นเอง
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติจะเป็นไปเพื่อการหลุดออก คลายออกจากอารมณ์ต่างๆ
ถ้าท่านทั้งหลาย เริ่มต้นที่ถูกต้อง
ก็คือ สัมมาสติ
รู้สึกกาย รู้สึกใจ จนรู้สึกทั้งตัวไปเรื่อยๆ
เมื่อสร้างเหตุถูก
ผลมันจะถูกต้องโดยธรรมชาติเลย
มันจะเป็นไปเพื่อการปล่อยวาง
เพื่อการหลุดออก คลายออก
เริ่มจากการปล่อยวางอารมณ์หยาบๆ
เข้าสู่สภาวะของสมาธิ
แล้วค่อยๆ ปล่อยวาง...ปลดปิติออก ....
ปลดสุขออก... ปลดอุเบกขาออก....
....สุดท้าย ก็เปลื้องจิตออก เกิดวิปัสสนาญาณ
จนสามารถถอดถอน ตัณหา อุปาทาน
หลุดจากการยึดมั่น ถือมั่น
หยั่งเข้าสู่ อมตธรรม
ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
ซึ่งเนื้อของความบริสุทธิ์
ปราศจากการยึดมั่น ถือมั่น
ปราศจาก การปรุงแต่งทั้งปวง
....นั่นคือ ทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
ก็คือ ความไม่ยึดมั่น ถือมั่น
ถ้าเราฝึกถูก ผลมันถูกโดยธรรมชาติเลย
เราจะไม่มีปัญหา ว่าทำไมมันยึดกาย
ทำไมมันยึดจิต
มันจะเป็นไปเพื่อการสลัดออกโดยธรรมชาติ
ถ้าเราเริ่มต้นได้ถูกต้อง ก็คือ รู้ธรรมเฉพาะหน้า
รับรู้สภาวธรรมที่ปรากฏ ด้วยความเป็นกลาง
ด้วยความตั้งมั่น
โดย พระมหาวรพรต กิตติวโร
พระวิปัสสนาจารย์ั
***************
Cr.
https://www.facebook.com/duenjitpage/posts/1556756371152244
**************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น