วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คนเลี้ยงไก่


ภาพจากอินเตอร์เนต

     หลวงพ่อชา  เล่าเรื่อง.. “คนเลี้ยงไก่
มีคนเลี้ยงไก่  2 คน 
คนที่  1 ทุกเช้าจะเอาตะกร้าเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ แล้วก็เก็บ "ขี้ไก่" ใส่ตะกร้ากลับบ้าน!! แล้วทิ้งไข่ไก่ให้เน่าไว้ในโรงเรือน เมื่อเขาเอาขี้ไก่กลับถึงบ้าน  ทั้งบ้านก็เหม็นหึ่ง ไปด้วยกลิ่นขี้ไก่ !!! คนทั้งบ้านต้องทนกับกลิ่นเหม็น!!! 
คนเลี้ยงไก่คนที่  2 เอาตะกร้าเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ เก็บ "ไข่ไก่"  ใส่ตะกร้าเอากลับบ้าน เขาเอาไข่ไก่ลงเจียว กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบ้าน คนทั้งบ้านได้กินไข่เจียวแสนอร่อยไข่ไก่ที่เหลือเขาก็เอาไปขาย แล้วได้เงินมาใช้จ่ายในบ้าน ทุกคนในบ้านมีความสุขมาก..... 
 ในชีวิตของเราพวกเรา เป็นคนเก็บ "ไข่ไก่" หรือ เก็บ"ขี้ไก่"
เราเป็นคนเก็บ "ขี้ไก่" โดยเฝ้าแต่เก็บเรื่องร้ายๆ แย่ๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเราไว้ในหัวของเรา และมีความทุกข์ตลอดเวลาที่คิดถึงมัน!!!
หรือเราเป็นคนที่เก็บ "ไข่ไก่" เราจดจำสิ่งที่ดีๆที่เกิดในชีวิตของเรา และมีความสุขทุกครั้งที่คิดถึงมัน!! 
 คนเราส่วนใหญ่ชอบเป็นคนเก็บ "ขี้ไก่"
เราถึงต้องเป็นทุกข์ตลอดเวลา เรื่องความเสียใจ ความผิดพลาด ความเจ็บใจ ฯลฯ มักจะติดอยู่ในใจ ของเรานานเท่านาน 
ถ้าเราอยากมีความสุขในชีวิต เลือกเก็บ "ไข่ไก่" กับ ทิ้ง "ขี้ไก่" ไปเถอะ ชีวิตของเราจะได้มีความสุขซักที ... 
จงยังประโยชน์ .ปัจจุบัน
ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด
*** ธรรมะจากหลวงพ่อชา สุภัทโท
*******
***************

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตะปูตอกใจ..


       พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามเจโตขีลสูตรนำสติปัฏฐาน ...
       ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม  ทรงสอนให้พระภิกษุทั้งหลาย ให้ละกิเลสอันเป็นเสมือนตะปูที่ตอกตรึงจิต ๕ ประการ และกิเลสที่ผูกพันจิต ๕ ประการ ซึ่งหากภิกษุไม่สามารถถอนกิเลสที่เปรียบเสมือนตะปูที่ตอกตรึงจิต และกิเลสที่ผูกพันจิต รวม ๑๐ ประการนี้ได้  ก็จะไม่มีความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัย
       ตะปูตอกตรึงใจ ๕ ประการ เรียกสั้นว่า เจโตขีละ อันได้แก่มีกังขา  คือ
      ๑.สงสัยในพระศาสดา
      ๒.สงสัยในพระธรรม
      ๓.สงสัยในพระสงฆ์
      ๔.สงสัยในสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
      ๕.มักโกรธ ขัดใจใน สพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมทั้งหลาย
       และกิเลสอันเป็นเครื่องผูกพันจิต ๕ ประการ คือ
      ๑.ความติดใจ ยินดีในกาม ทำให้จิตไม่มีสมาธิ
      ๒.ความติดใจ ยินดีในกายของตน  มุ่งที่จะทำนุบำรุงกายให้มีความสุข จะต้องอยู่ในที่ที่มีความสุขทางกาย
      ๓.ความติดใจ ยินดีในรูปภายนอกต่าง ๆ มุ่งแต่จะประดับตกแต่งให้วิจิตรพิสดาร จนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม
      ๔.ความที่กินและก็นอน ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ เสียทั้งทางโลกและทางธรรม
      ๕.ความปรารถนาที่จะไปสวรรค์ เป็นความปรารถนาที่สวนทางกับมรรคผลนิพพาน
*****
       และพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมที่จะทำให้ไปสู่ความสำเร็จมรรคผล นิพพานคือ อิทธิบาท ๔ อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะและวิมังสา และตรัสเพิ่มอีกข้อหนึ่ง คือ ขันติ อันหมายถึงความอดทน อดกลั้น  ซึ่งหากภิกษุทำกิจให้สำเร็จรวม ๑๕ ข้อ ข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว  ก็จะทำให้การปฏิบัติทางสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุถึงความสำเร็จได้....
*****
(เรียบเรียงจาก ธรรมะบรรยาย อบรมจิต ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และพระไตรปิฎกฉบับประชาชน)
*****


********

*******
นิวรณ์  (คลิก)

*********

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กังวานธรรม

....ฯลฯ....
     พุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น คำว่า พระไตรปิฎก   กายคือตัวเรานี่แหละ  เป็นตู้พระไตร เป็นตู้พระธรรม วาจาคือสิ่งที่พูดเปล่งออกมา เป็นพระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่
     พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ก็ดวงจิต ดวงใจนี่แหละ ตัวเราทุุกคน ก็ให้เข้าเถิดว่า นี่คือ ตู้พระธรรม ตู้พระไตรปิฎก ตู้พระไตร หอพระไตร หอพระธรรม เมื่อได้กาย วาจา จิตมาแล้ว ชื่อว่าเราได้พระธรรมที่ยังไม่ได้เปิดอ่าน ยังไม่ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ยังไม่ได้เจริญธรรมกรรมฐาน มีอยู่ก็เหมือนกับไม่มี เพราะยังเอามาใช้การอะไรไม่ได้ 
      เหมือนกับว่านั่งเฝ้าตู้พระธรรมอยู่ แต่ไม่รู้พระธรรม นั่งเฝ้าตู้พระไตรอยู่แต่ไม่รู้พระไตรปิฎก อาศัยอยู่ในตู้พระธรรมวินัย วัตถุศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ไม่รู้ไม่เข้าใจ กิเลสมันพาไป กิเลสมันพานั่ง กิเลสมันพานอน กิเลสมันพากิน กิเลสมันพาวุ่นวาย ตั้งแต่เกิดมาจนตาย ทุกภพทุกชาติ คือไม่สังวรระวัง ไม่ตั้งใจปฏิบัตไม่ปฏิบัติรักษาจิตใจของตัวเอง กาย วาจา จิต ปล่อยให้กาย วาจา จิต นี้หลงใหลไปตาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่ออะไรกระทบมา ก็ไม่มีปัญญาพินิจพิจารณา เป็นต้นว่า ตาเห็นรูป รูปนั้นมันจะเป็น รูปเรา รูปเขา รูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุข้าวของ รูปต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า อากาศ รูปอะไรก็ตาม เมื่อมันมาปรากฏในสายตานั้นแล้ว ต้องกำหนดพิจารณา อย่าให้มันหลงใหลไปอย่างเดียว..
....ฯลฯ...
(จากหนังสือ กังวานธรรม พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธจาโร) สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่)
*****

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

มือแห่งบุญ

....ฯลฯ...
     เป็นที่เห็นกันอยู่  ว่าทุกคนมีชีวิตที่มิได้ราบรื่นเสมอไป ไม่มีสุขตลอดชีวิต ไม่มีทุกข์ตลอดชีวิต ไม่พบแต่สิ่งดีงามตลอดชีวิต ไม่พบแต่สิ่งชั่วร้ายตลอดชีวิต   แต่ละคนพบอะไร ๆ ทั้งดีทั้งร้ายหนักบ้างเบาบ้าง โดยที่บางทีก็ไม่เป็นที่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น เช่น บางคนเกิดในครอบครัวที่ต่ำต้อย ลำบากยากจน พอเกิดได้ไม่นาน เงินทองจำนวนมากก็เกิดขึ้นในครอบครัว เป็นลาภลอยของมารดาบิดาบ้าง เป็นความได้ช่อง ได้โอกาสทำธุรกิจการงานบ้าง ใคร ๆ ก็จะต้องพูดกันว่าลูกที่เกิดใหม่นั้นเป็นผู้มีบุญ ทำให้บิดามารดามั่งมีศรีสุข ถ้าไม่คิดให้ดี ก็เหมือนจะเป็นการพูดไปเรื่อย ๆ ไม่มีมูลความจริง และทั้งพูดและผู้ฟังก็มักจะไม่ใส่ใจพิจารณาให้ได้ความรู้สึกลึกซึ้งจริงจัง
     แต่ถ้าพิจารณา ด้วยคำนึงถึงเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมก็น่าจะเชื่อได้ว่าเด็กที่เกิดใหม่นั้นเป็นผู้มีบุญมาเกิด ผู้มีบุญคือผู้ที่ทำบุญทำกุศล ทำคุณงามความดีไว้มากในอดีตชาติ อันความเกิดขึ้นของผู้มีบุญนั้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับมีบุญห้อมล้อมรักษา แม้ชนกกรรมจะนำให้เกิดลำบาก แต่เมื่อบุญที่ทำไว้มากกว่า กรรมไม่ดีที่นำให้ลำบากก็ต้องถูกตัดรอนด้วยอำนาจของกุศลกรรม คือ บุญอันยิ่งใหญ่กว่า คือเกิดมาบิดามารดายากจน "มือแห่งบุญ " ก็จะต้องเอื้อมมาโอบอุ้มให้พ้นจากความลำบากยากจน ให้มั่งมีศรีสุขควรแก่บุญที่ได้ทำไว้
       ผู้ที่เกิดในที่ลำบากยากจน แต่เมื่อมีบุญเก่าได้กระทำไว้มากมายเพียงพอ " มือแห่งบุญ " ก็จะเอื้อมมาโอบอุ้มให้พ้นความยากลำบากได้อย่างรวดเร็ว พ้นจากความยากจนดังปาฏิหาริย์ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ เด็กบางคนทำบุญทำกุศลไว้ดี แต่ชนกกรรมนำให้ไปเกิดกับบิดามารดาที่ยากแค้นแสนสาหัส พอเกิดมารดาบิดาก็หาทางช่วยให้ลูกพ้นความเดือดร้อน นำไปวางไว้หน้าบ้านผู้มั่งมีศรีสุข ที่รู้กันว่าเป็นผู้มีเมตตา แล้วเด็กนั้นก็ได้เป็นสุขอยู่ในความโอบอุ้มของ " มือแห่งบุญ " ควรแก่บุญที่เขาทำไว้....
   ....ฯลฯ....
(จากหนังสือ ชีวิตนี้น้อยนัก พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
******

******

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อชา "..ปฏิบัติกันเถิด..."

...วิธีปฏิบัติ...
     จงหายใจเข้า หายใจออกอยู่อย่างนี้แหละ อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น ใครจะยืนเอาก้นขึ้นฟ้าก็ช่าง อย่าไปเอาใจใส่ อยู่แต่กับลมหายใจเข้าออก ให้ความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ ทำอยู่อย่างนี้แหละ
     ไม่ไปเอาอะไรอื่น ไม่ต้องคิดว่าจะเอานั่นเอานี่ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ให้รู้จักแต่ลมเข้า..ลมออก..ลมเข้า..ลมออก..พุธ เข้า โธ ออก  อยู่กับลมหายใจอย่างนี้แหละ เอาอันนี้เป็นอารมณ์ ให้ทำอยู่อย่างนี้จนกระทั่งลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จัก ลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จัก ให้รู้จักอยู่อย่างนั้น จนจิตสงบ หมดความรำคาญไม่ฟุ้งซ่านไปไหนทั้งนั้น ให้มีแต่ลมเข้าลมออก ลมออกลมเข้าอยู่อย่างนั้น ให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ ยังไม่ต้องมีจุดหมายอะไรหรอก นี่แหละเบื้องแรกของการปฏิบัติ
...เมื่อใจสงบ  กายก็สบาย...
    ถ้ามันสบาย ถ้ามันสงบ มันก็จะรู้จักของมันเอง ทำไปเรื่อย ๆ ลมก็จะน้อยลง อ่อนลง กายก็อ่อน จิตก็อ่อน มันเป็นไปตามเรื่องของมันเอง นั่งก็สบาย ไม่ง่วง ไม่โงก ไม่หาวนอน จะเป็นอย่างใด ดูมันคล่องของมันเองไปทุกอย่าง นิ่งสงบ จนพอออกจากสมาธิแล้ว จึงมานึกว่ามันเป็นอย่างไรหนอ แล้วก็นึกถึงความสงบอันนั้น ไม่ลืมสักที
    สิ่งที่ติดตามเราเรียกว่า สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เราจะพูดอะไร จะทำอะไร จะไปนั่น จะมานี่ จะไปบิณฑบาตรก็ดี จะฉันจังหันก็ดี จะล้างบาตรก็ดี ก็ให้รู้จักเรื่องของมัน ให้มีสติอยู่เสมอ ติดตามมันไป ให้ทำอยู่อย่างนี้...
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ ปฏิบัติกันเถิด การนั่งสมาธิ ที่ใช้ความอดทนเป็นที่ตั้ง  หลวงพ่อชา สุภัทโธ)

****
เมื่อเห็นผิด  (คลิก)

*******
อารมณ์ของวิปัสสนา (คลิก)

*********

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หมดทุกข์ หมดยาก



      ....ฯลฯ....
      " ทางพระสอนให้ละชั่วทำความดี แต่ก็ไม่ให้ติดอยู่ในความดี ให้บำเพ็ญจิตให้ยิ่งขึ้นจนถึงไม่ติดดีติดชั่วจึงจะพ้นจากโลกนี้ไปได้ 
         เพราะแม้คุณความดีจะส่งผลให้เป็นสุขไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นเทพ อินทร์ พรหม ก็ตาม แต่เมื่อกุศลกรรมความดีนั้น ๆ หมดลง ก็ย่อมต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก  
        ทางพระจึงมุ่งสอนให้มุ่งภาวนา จำจิตให้รวม ระวังตั้งมั่น ทำจิตให้มีปัญญารู้ความเป็นจริงด้วยตนเอง จงถอดถอนอุปทานความยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ ออกเสียจึงจะเป็นไปเพื่อความสิ้นภพสิ้นชาติ ..หมดทุกข์ หมดยาก ..โดยแท้จริง "
   ....ฯลฯ....
(จากหนังสือ สุข สงบ เยือกเย็น ๑๐๔ ปี ชา่ตกาล หลวงปู่สิม พุทฺธจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่)

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จิตเป็นธาตุรู้


.......
    คำว่า จิต นี้เป็นภาษาบาลี มีคำเรียกสิ่งที่เป็น จิตใจ อีก ๒ คำ คือ วิญญาณ มโน หรือ มนะ  คำว่า จิต วิญญาณ มโน ทั้งสามนี้เอามาใช้ในภาษาไทย จนคนไทยได้ยินได้ฟังและเข้าใจในคำภาษาไทยว่า ใจ แต่ว่ามีความหมายต่างกันตามที่ใช้ในภาษาธรรม
     ในภาษาธรรมนั้นส่วนใหญ่
     คำว่า จิต ใช้หมายถึงตัว ธาตุรู้ ที่เป็นภายใน  
     คำว่า วิญญาณใช้หมายถึงวิญญาณในขันธ์ ๕ ที่เป็นขันธ์ข้อที่ ๕ วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน เกิดความรู้คือเห็นรูปขึ้น ก็เรียกว่า จักขุวิญญาณ รู้ทางตา ดั่งนี้เป็นต้น
     คำว่า มโน นั้นใช้เป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖  คือ ตา หู จมูกลิ้น กายและมโนหรือมนะ คือใจ อันเป็นอายตนะข้อที่ ๖
    ในพระสูตรที่ ๒ ของพระพุทธเจ้า คืออนันตลักขณสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยลักษณะคือเครื่องกำหนดหมายขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน ก็ทรงแสดงขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธฺ กองเวทนา วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ว่าเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน และเมื่อผู้พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา พร้อมทั้งเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็หน่ายในขันธ์ ๕ หน่ายในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็สิ้นกำหนัด ติดยินดี และเมื่อสิ้นติดใจยินดี จิตก็วิมุติ คือ หลุดพ้น จากอาสวกิเลสเป็นเครื่องดองจิตทั้งหลาย อันนี้แสดงว่า จิต ต่างจากวิญญาณ จิต นั้นจะเป็นผู้ที่วิมุตติหลุดพ้น
      ในพระสูตรที่ ๓ อาทิตตปริยายสูตร พระสูตรที่แสดงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ซึ่งสิ่งทั้งปวงนั้นก็ทรงยกเอาอายตนะภายในภายนอก  อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและ มนะ คือใจ ว่าเป็นของร้อน ร้อนด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ร้อนด้วยความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศรก เป็นต้น และเมื่อเห็นว่าเป็นของร้อน จิตก็หน่าย เมื่อหน่ายก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดี จิต ก็วิมุตติหลุดพ้นเช่นเดียวกัน
       ก็แสดงว่า วิญญาณ ก็ดี มโนก็ดี เป็น สังขาร คือ สิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งต้องเป็นอนัตตาและต้องเป็นของร้อนดังกล่าว เพราะฉะนั้น จึงต่างกับคำว่า จิต
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ จิตวิญญาณในพระพุทธศาสนา พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช)
******