วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปล่อยวาง..ปล่อยปละละเลย


...เมื่อวันก่อน  กัลยาณมิตร อยู่ที่ปากน้ำพาไปไหว้พระที่วัดอโศกการาม  ไปสักการะอนุสาวรีย์พระเจ้าอโศกมหาราชที่ตั้งอยู่ภายในวัด...พระเจ้าอโศกมหาราช  ทรงเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา...
                                           ********
       ชาวพุทธ คือผู้ปล่อยวางได้ แต่ไม่ปล่อยปละละเลย  
      สำหรับปุถุชน ความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นเครื่องฝึกตนเท่านั้น
      จึงจะต้องระวังมาก เพราะความไม่ยึดมั่นของปุถุชนที่เอามาปฏิบัตินั้น เรารับมาด้วยสัญญา ไม่ใช่ปัญญา  คือ  เราฟังคำ สั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไป เราก็เกิดความทุกข์บีบคั้นจิตใจ เพราะมันไม่เป็นไป ตามที่เราต้องการ เราฟังแล้วก็เลื่อมใส เห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้น และชอบใจ นำ มาปฏิบัติ
         ในกรณีอย่างนี้ เรียกว่าได้ ปัญญา มานิดหน่อย แต่ตัวหลักปฏิบัติ ที่รับมาเป็นเพียง สัญญา เท่านั้น และเราก็รับเอาหลักนั้นมาปฏิบัติตาม สัญญาว่า เอ้อ ต่อไปนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรนะ กลับไปบ้านก็บอกว่า นี่ไม่ใช่ลูกของเรา นี่ไม่ใช่ภรรยาของเรา นี่ไม่ใช่เงินของเรา เราไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งนั้น ก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร นี่คือเกิดความประมาทแล้ว
         การที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรนี้ เป็นเพียง ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เพราะความไม่ยึดมั่นตัวนี้ ไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่แท้ มันเป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่เกิดจากสัญญา แล้วเราก็เอาตัวความไม่ยึดมั่นนี้มาจับยึดเข้าไว้อีกที่หนึ่ง เลยเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น จึงว่า ต้องระวังให้ดี ถ้าเป็นปุถุชน จะทำ ได้แค่นี้    ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้น เกิดจากปัญญา  เมื่อเราเห็นสิ่งทั้งหลายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว เรารู้ทันสัจธรรมแล้ว ความเป็นไปของมันก็ไม่เข้ามาบีบคั้นจิตใจของเรา จิตใจของเราเป็นอิสระ ต่อจากนั้นเราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ตามเหตุตามผลด้วยปัญญา
         หลักการนี้สำคัญมาก ถ้าเรามีทรัพย์ ก็ปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้อง ตามเหตุผล ทรัพย์มีเพื่ออะไร ก็นำ ไปใช้ให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์นั้น ไม่ใช่ไปมัวยึดมั่นถือมั่นให้เป็นเหตุบีบคั้นจิตใจให้มีความทุกข์  แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ไม่รับผิดชอบ ต้องใช้มันให้สมคุณค่า ให้ถูกต้องตามความหมายของมัน ทรัพย์ก็เกิดประโยชน์แท้จริง ถ้าทำ ได้อย่างนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็น  ชาวพุทธแท้ คือ ผู้ปล่อยวางได้ แต่ไม่ปล่อยปละละเลย
         น่าจะถือเอาพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ  ตามคตินี้  พระองค์ก็คงทรงพระดำริว่า ทรัพย์นี้เราจะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้  และมันก็ไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่สาระที่แท้จริงของชีวิต มันไม่สามารถให้ความสุขที่แท้และยั่งยืนแก่ชีวิต เราเคยลุ่มหลงแสวงทรัพย์มาเป็นเครื่องแสดงความยิ่งใหญ่ และบำรุง บำเรอความสุขสบายของตนเอง ต่อไปนี้ไม่เอาแล้ว เราจะไม่ลุ่มหลงมัวเมากับมัน  แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทิ้งทรัพย์นั้น แต่เปลี่ยนมาปฏิบัติต่อทรัพย์ด้วยเหตุผล โดยพลิกความหมายของทรัพย์ไปในทางใหม่ว่า ทรัพย์นั้นไม่ใช่มีความหมายที่จะเป็นเครื่องบำเรอให้เราเป็นสุข เพราะเรามีความสุขได้เองแล้ว  เราพัฒนาจิตใจด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของ พระพุทธเจ้า  เรามีความสุขที่ประณีตกว่าแล้ว ทรัพย์สินสมบัติเหล่านี้ กับทั้งอำนาจ ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา  แต่ถ้าเรารู้จักใช้ มันก็เป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุข เป็นเครื่องมือของธรรมที่จะทำ ความดีให้แก่สังคม
        นับแต่นั้นมา พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ทรงให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์และอำนาจ โดยตรัสว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของพระองค์นี้ จะไม่มีความหมาย   ถ้าไม่ช่วยให้ประชาชนปฏิบัติธรรม และได้โปรดให้จารึกข้อความนี้ไว้ในศิลาจารึก  และพระองค์ก็ได้ใช้ทรัพย์และอำนาจนั้นในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน  ทำความดีเป็นการใหญ่ตามนโยบาย...ธรรมวิชัย......

    (จากหนังสือ จากริกบุญ  จารึกธรรม   พระพรหมคุณาภรณ์  ..ปยุตโต )
********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น