วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แด่เธอผู้มาใหม่ (๒)

        

     ขั้นแรก ทำใจให้สบาย ๆ อย่าเคร่งเครียด อย่าไปคิดว่าเราจะปฏิบัติธรรม แต่ให้คิดเพียงว่า เราจะสังเกตดูร่างกายของเราเองเท่านั้น สังเกตแล้วจะรู้ได้แค่ใหนก็ไม่เป็นไร เอาแค่ว่าจะเฝ้าสังเกตให้ได้เท่าที่ทำได้ก็พอ
      เมื่อทำใจสบาย ๆ แล้ว ลองนึกถึงร่างกายของเรา นึกถึงให้รู้พร้อมทั้งตัวเลยก็ได้ เหมือนเรากำลังดูหุ่นยนต์อยู่สักตัวหนึ่ง ที่มันเดินได้ เคลื่อนไหวได้ ขยับปากได้ กลืนอาหารอันเป็นวัตถุเข้าไปในร่างกาย ขับถ่ายอาหารออกจากร่างกายได้
       ถ้าเราเห็นหุ่นยนต์ที่ชื่อว่าตัวเรา มันทำโน่นทำนี่ไปเรื่อย ๆ เราเป็นคนดูเฉย ๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะเห็นแจ้งประจักษ์ใจตนเองว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นวัตถุก้อนหนึ่งเท่านั้น มีความไม่หยุดนิ่ง ไม่คงที่ แม้แต่วัตถุที่ประกอบกับเจ้าหุ่นตัวนี้ ก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงไหลเข้าไหลออกอยู่ตลอดเวลา เช่น หายใจเข้า แล้วก็หายใจออก กินอาหารและน้ำแล้วขับถ่ายออก ไม่ใช่สิ่งที่เป็นก้อนธาตุที่คงที่ถาวร ความยึดถือด้วยความหลงผิดว่า กายเป็นเรา ก็จะบรรเทาเบาบางลงได้ แล้วก็จะเห็นอีกว่า ยังมีธรรมชาติที่เป็นผู้รู้ร่ายกาย อาศัยอยู่ในร่างกายนี่เอง
        เมื่อเห็นชัดแล้วว่า กายนี้เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่คงที่ ไม่ใช่ตัวเรา คราวนี้ก็ลองมาสังเกตสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายนี้ต่อไป เป็นการเรียนรู้เรื่องของเราเองให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก
        สิ่งที่แฝงอยู่ในร่างกายที่เห็นได้ง่าย ๆ คือ ความรู้สึกว่าเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เฉย ๆ บ้าง เช่น เมื่อเราเห็นหุ่นตัวนี้เคลื่อนใหวไปมา ไม่นานก็จะเห็นความปวดเมื่อย ความหิวกระหาย หรือความทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้แทรกเข้าเป็นระยะ ๆ พอความทุกข์นั้นผ่านไปทีหนึ่ง ก็จะรู้สึกสบายไปอีกช่วงหนึ่ง(รู้สึกเป็นสุข) เช่น กระหายน้ำ เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น พอได้ดื่มน้ำ ความทุกข์เพราะความกระหายน้ำก็ดับไป หรือนั่นนาน ๆ เกิดความปวดเมื่อย รู้สึกเป็นทุกข์ พอขยับตัวเสียก็หายปวดเมื่อย รู้สึกว่าทุกข์หายไป(รู้สึกเป็นสุข)
         บางคราวมีความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะรู้ความทุกข์ทางกายได้ต่อเนื่องยาวนานขึ้น เช่น เกิดปวดฟันติดต่อกันนาน ๆ เป็นวัน ๆ ถ้าคอยสังเกต รู้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น ก็จะเห็นชัดว่าความปวดนั้นเป็นสิ่งที่แทรกอยู่กับเหงือกและฟัน แต่ตัวเหงือกและฟัน มันไม่ได้เจ็บปวดด้วยเลย กายเหมือนหุ่นยนต์ที่ไม่มีความเจ็บปวด เพียงแต่มีความเจ็บปวดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แฝงอยู่ในกาย
        เราก็จะรู้ชัดว่า ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกเฉย ๆ ไม่ใช่ร่ายกาย แต่เป็นสิ่งอีกสิ่งหนึ่งที่แทรกอยู่ในร่างกายและที่สำคัญ เจ้าความรู้สึกเหล่านั้น ก็เป็นสิ่งที่กำลังถูกรู้ ถูกดูอยู่เช่นเดียวกับร่างกายนั้นเอง...
        ถัดจากนั้น เรามาเรียนรู้เรื่องราวของตัวเองให้ละเอียดมากขึ้น คือคอยสังเกตให้ดีว่า เวลาที่เกิดความทุกข์ขึ้นนั้นจิตใจของเรามันจะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจตามมาด้วย เช่น หิวข้าวแล้วจะโมโหง่าย เหนื่อยก็โมโหง่าย เจ็บไข้ก็โมโหง่าย เกิดความใคร่แล้วไม่ได้รับการตอบสนองก็โมโหง่าย ให้เราหัดรู้เท่าทันความโกรธที่เกิดขึ้นในเวลาที่เผชิญกับความทุกข์...
         ในทางกลับกัน เมื่อเรา้้เห็นของสวยงาม ได้ยินเสียงที่ถูกใจ ได้กลิ่นหอมถูกใจ ได้ลิ้มรสที่อร่อย ได้รับสิ่งสัมผัสร่างกายที่นุ่มนวล มีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ได้คิดถึงสิ่งที่พอใจ เราจะเกิดความรักใคร่พึงพอใจในสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส และได้คิดนึกนั้น ก็ให้รู้เท่าทันความรักใคร่พอใจที่เกิดขึ้น พอเรารู้จักความโกรธหรือความรักใคร่พอใจแล้ว เราก็สามารถรู้จักกับอารมณ์อย่างอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ความลังเลสงสัย ความอาฆาตพยาบาท ความหดหู่ใจ ความอิจฉาริษยา ความคิดลบหลู่ผู้อื่น ความผ่องใสอิ่มเอิบของจิตใจ ความสงบในจิตใจ ฯลฯ........(ยังมีต่อ)


แด่เธอผู้มาใหม่   http://navy09.blogspot.com/2013/08/blog-post_8.html
แด่เธอผู้มาใหม่ (จบ)   http://navy09.blogspot.com/2013/08/blog-post_6608.html

ขอบพระคุณข้อมูลจากหนังสือ"วิถีแห่งความรู้แจ้ง ๑ " โดยนายปราโมทย์ สันตยากร/"สันตินันท์"/" อุบาสกนิรนาม" พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น