วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แด่เธอผู้มาใหม่


เรื่องเรียบง่ายและธรรมดา ที่เรียกว่า ธรรมะ
          เป็นการยากที่เราจะเห็นได้ว่า ธรรมะเป็นเรื่องเรียบง่ายและธรรมดาที่สุด เพราะภาพลักษณ์ของศาสนา หรือของธรรมะ ที่เรารู้จักนั้น ดูอย่างไรก็ไม่ธรรมดาเลย เริ่มตั้งแต่ภาษาที่ใช้ เต็มไปด้วยภาษาบาลี มีศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะมากมาย แค่ทำความเข้าใจศัพท์ก็ยากนักหนาแล้ว
          พอรู้ศัพท์แล้วลงมือศึกษาตำราจริง ๆ ก็พบความยากอีกคือ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้มีมากมายเหลือเกินและตำราที่พระรุ่นหลังมาท่านเขียนไว้มีอีกมากมาย
           บางทีพอท่านพอใจที่จะลงมือปฏิบัติ ก็มีปัญหาอีกว่า สำนักปฏิบัติมีมากมาย ทุกสำนักบอกว่าแนวทางของตนถูกตรงที่สุดตามหลักมหาสติปัฏฐาน บางทีก็ทับถมสำนักอื่นหน่อย ๆ ว่าสอนไม่ตรงทาง
           ความยากลำบากนี้ พบกันทุกคนครับ ทำให้ผมต้องนั่งถามตนเองว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะศึกษาธรรมได้อย่างง่าย ๆ โดยไม่ต้องรู้ศัพท์บาลี หรือไม่ต้องอ่านหนังสือ หรือเข้าสำนักปฏิบัติใด ๆ เลย
           ความจริงธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เป็นเรื่องง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ดังที่ผู้ได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ มักจะอุทานว่า " แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า ธรรมที่ทรงแสดงเหมือนดังเปิดของคว่ำให้หงาย " ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรนักที่ผู้ฟังจะรู้สึกเช่นนั้น ก็เพราะผู้ฟังเอง เกิดมากับธรรม อยู่กับธรรม จนตายไปกับธรรม เป็นแต่นี้มาแต่ไรแล้ว เพียงแต่มองไม่เห็นว่า ธรรมได้แสดงตัวอยู่ที่ใหน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงชี้แนะก็สามารถรู้เห็นตามได้โดยง่าย
            อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเข้าทรงถึงพร้อมด้วยความรอบรู้ สามารถอธิบายธรรมอันยุ่งยากซับซ้อนให้ย่นย่อเข้าใจง่าย สามารถขยายความธรรมอันย่นย่อให้กว้างขวางพอเหมาะแก่ผู้ฟัง ทรงปราศจากอุปสรรคทางภาษา คือสามารถสื่อธรรมด้วยภาษาทีึ่ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่เหมือนผู้ศึกษาและสอนธรรมจำนวนมากในรุ่นหลัง ที่ทำธรรมะซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและแสนธรรมดา ให้กลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน และไกลตัวเสียเหลือประมาณ จนเกินความจำเป็นเพื่อความพ้นทุกข์และสั่งสอนด้วยภาษาที่ผู้ฟังไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย
           แท้ที่จริงแล้วธรรมะเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้จนถึงขนาดที่เรียกว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเอง และขอบเขตของธรรมะก็มีเพียงนิดเดียว คือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความทุกข์
            ถ้าจะศึกษาธรรมะ ก็ศึกษาลงไปเลยว่า " ความทุกข์อยู่ที่ใหน เกิดขึ้นได้อย่างไร และดับไปได้อย่างไร " และความสำเร็จของการศึกษาธรรมะ อยู่ที่ปฏิบัติจนเข้าถึงความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อความรอบรู้รกสมอง หรือเพื่อความสามารถในการอธิบายแจกแจงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดาร
           แท้จริงแล้ว ความทุกข์ของคนเราอยู่ในกายในจิตของตนนั่นเอง สนามศึกษาธรรมะของเรา จึงอยู่ที่กายที่จิตนี้แหละ  แทนที่เราจะเที่ยวเรียนรู้ออกไปภายนอก ก็ให้เราย้อนเข้ามาศึกษาอยู่ในกายในจิตของเรานี้แหละ วิธีการก็ไม่มีอะไรมากขอเพียงให้หัดสังเกตกายและจิตของเราเองให้ดี เริ่มต้นง่าย ๆ จากการสังเกตร่างกายก่อนก็ได้.....(ยังมีต่อ).....


แด่เธอผู้มาใหม่(๒)  http://navy09.blogspot.com/2013/08/blog-post_2230.html
 แด่เธอผู้มาใหม่(จบ)  http://navy09.blogspot.com/2013/08/blog-post_6608.html

ขอบพระคุณข้อมูลจากหนังสือ"วิถีแห่งความรู้แจ้ง ๑ " โดยนายปราโมทย์ สันตยากร/"สันตินันท์"/" อุบาสกนิรนาม" พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน


         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น