ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่
.............................
พระพุทธเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์
ฉะนั้นคำสอนพระองค์ตรัสไว้เป็นสัจธรรมเป็นความจริง
ตรัสสิ่งใดแล้วเป็นความจริงอย่างนั้น
เรื่องทุกข์ อะไรที่เป็นทุกข์
อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
อะไรความดับทุกข์
อะไรเป็นข้อปฏิบัติความดับทุกข์
อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ
จะเป็นอย่างนั้น ไม่มีการผิดเพี้ยนเป็นอย่างอื่น
แม้กาลเวลาจะผ่านมาอย่างไร ๆ ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่
#เรามีโอกาสเป็นมนุษย์มาพบพุทธศาสนาถือว่าโชคดีมาก
#ที่เราไม่ไปฟังคำสอนในทางผิด
#พุทธศาสนาถือว่าสอนถูกที่สุดสมบูรณ์สูงสุด
#ผลเข้าถึงวิมุตติหลุดพ้น #เข้าถึงนิพพาน
การเข้าถึงนิพพาน เข้าถึงความดับทุกข์ ไม่มีที่อื่น ไม่มีในคำสอนที่อื่น ๆ
พระองค์ก็ยืนยันไว้
ตอนที่จะดับขันธปรินิพพาน
สุภัททปริพาชกนักบวชนอกศาสนาจะขอเข้าเฝ้าให้ได้
พระอานนท์ก็ห้ามไว้
อย่าเลย พระองค์ประชวรมากแล้ว
ใกล้จะดับขันธ์นิพพานแล้ว
อย่ารบกวนพระองค์เลย พระองค์เหนื่อยมากแล้ว
ตอนนี้ก็นั่งไม่ไหวแล้ว นอนอย่างเดียว
สุภัททปริพาชกก็อ้อนวอนขอจะเข้าเฝ้าให้ได้
อยากจะไปถามปัญหา
พระอานนท์ก็ห้ามไว้
พระพุCr.เจ้าได้ยินเสียงระหว่างพระอานนท์กับสุภัททะ
พระองค์ก็เลยตรัสให้พระสงฆ์มาบอก
ปล่อยเถอะ ให้เขาเข้ามาเถอะ
เขาจะได้มาถามปัญหาธรรมะ
ไม่เป็นการรบกวนตถาคต
นี่คือความกรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กำลังพระองค์อ่อนล้าเต็มทนแล้ว
ธาตุในกายที่จะแตกสลาย
ก็ยังมีกะใจที่จะสอน
ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สุภัททะพอได้รับอนุญาตก็เข้าไปถาม
ยกเอาพวกครูที่มีชื่อเสียงสมัยนั้นทั้ง ๖
ที่ประชาชนนับถือกันมากแข่งขันกัน
มีนิครนถนาฏบุตรบ้าง สัญชัยปริพาชก มักขลิโคสาลศาสดาจารย์
เขามีคนนับถือเยอะ
ถามว่าองค์ไหนตรัสรู้เป็นพระอรหันต์แล้วบ้าง
องค์ไหนยังไม่ได้ตรัสรู้บ้าง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
สุภัททะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงตั้งใจฟัง เราจะกล่าว
#ที่ใดไม่มีการเจริญอริยมรรคมีองค์๘
#ที่นั้นจะไม่มีสมณะที่๑ที่๒ที่๓ที่๔
#ก็หมายถึงจะไม่มีอริยบุคคล #โสดาบัน #สกทาคามี #อนาคามี #พระอรหันต์ที่เข้าถึงนิพพาน
โสดาบันเข้าถึงนิพพานแล้ว รู้จักกระแส เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน
#ถ้าไม่มีการเจริญอริยมรรคมีองค์๘จะไม่มีการเข้าถึงความดับทุกข์ได้เลย
#แต่ในธรรมวินัยนี้มีการเจริญอริยมรรคมีองค์๘
#ฉะนั้นธรรมวินัยนี้มีอริยะที่๑ที่๒ที่๓ที่๔
นี่เป็นข้อยืนยันว่า
ไม่มีคำสอนที่อื่นที่จะสอนให้ถึงวิมุตติหลุดพ้นได้
แต่สอนไปสวรรค์ได้
สอนให้คนทำความดีมีเมตตากันรักกัน
อันนี้ไปสวรรค์
แต่จะให้ถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นเข้าถึงพระนิพพานไม่มีที่อื่น
มีเฉพาะในธรรมวินัยนี้
สมัยนั้นพระพุทธเจ้าใช้คำว่า “พระธรรมวินัย” คือพุทธศาสนา
เราเรียกกันปัจจุบัน “พุทธศาสนา”
#เราถือว่าโชคดีที่เราเกิดมาพบพุทธศาสนา
#ไม่อย่างนั้นเราอาจจะหลงผิดไปทำผิด
อาจจะไปฆ่าสัตว์บูชายัญโดยคิดว่านั่นคือบุญกุศลความดี
อย่างบางแห่ง ที่เนปาลฆ่ากันเป็นแสนเป็นประจำเป็นทุกปี
เอาควายมาตัดคอไม่ใช่ตัวสองตัว เป็นแสน
โดยเขาคิดว่านั่นคือเขาทำความดี
เขาไม่ได้คิดว่าทำบาป
เขาไม่ได้ฆ่าด้วยความโกรธแค้น
เขาไม่ได้ฆ่าเพื่อเอาเป็นอาหาร
แต่เขาฆ่าเพื่อบูชายัญ คือหมายถึงว่าบูชาเทพเจ้า
คิดว่าเป็นบุญ เป็นงานบุญของเขา
เป็นงานความดี เป็นงานความดียิ่งใหญ่ของเขา
มันไม่ใช่ชีวิตสองชีวิต เป็นแสน
นี่คือความเห็นผิด หลงผิด
ถ้าเราไม่มีบุญ
เราไปอยู่ในกลุ่มอย่างนั้น อยู่ในถิ่นฐานอย่างนั้น
เกิดมามีคนสอนแบบนั้น ๆ
มันก็จะพลอยเห็นผิดไป
เรามาอยู่ในพุทธศาสนา
เราเริ่มฟังมาตั้งแต่เด็กอะไรเป็นบาป
อย่าฆ่าสัตว์ เป็นบาป เราได้ยินมา
อย่าไปลักขโมยฉ้อโกงเขา
อย่าไปล่วงทำอย่างนั้นอย่างนี้
จะถูกสอนมา
ถึงแม้เราจะไม่ได้เรียนพุทธศาสนาโดยตรง
แต่มันก็ได้ยินได้ฟังมา ถูกหล่อหลอมมา
รู้จักบาป รู้จักบุญ
แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะมีความรู้ที่จะเอามาปฏิบัติ
จนกระทั่งหมดกิเลส ทำให้ดับทุกข์ให้ตัวเอง
แต่เราก็ได้รู้เรื่องบุญเรื่องบาป นรกสวรรค์ ได้ยินมา
แต่ถ้าเราเข้ามาแล้วเรามาศึกษาให้มากขึ้น
แล้วก็มาประพฤติปฏิบัติ
เราก็จะดับทุกข์ให้ตัวเองได้
ก็คือต้องมาสู่การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมที่จะดับทุกข์ โลกุตรธรรม
มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
#โดยเฉพาะนิพพานเป็นที่ดับทุกข์จะเกิดขึ้นได้ต้องปฏิบัติธรรม
#คือการเจริญสติปัฏฐาน๔
เจริญการกำหนดพิจารณากายในกายอยู่เนือง ๆ
กำหนดพิจารณาเวทนาในเวทนาอยู่เนือง ๆ
กำหนดพิจารณาจิตในจิตอยู่เนือง ๆ
กำหนดพิจารณาธรรมในธรรมอยู่เนือง ๆ
ที่จะต้องหมั่นอบรมเจริญสติอยู่
ระลึกรู้กาย
ก็คือระลึกรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก
ระลึกรู้การยืน การเดิน การนั่ง การนอน
สรุปแล้วก็พยายามให้มีสติมาอยู่กับตัว
นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่
ตลอดทั้งการทำความรู้สึกในการคู้ เหยียด เคลื่อนไหว
ขณะเคี้ยว ขณะลิ้ม ขณะกลืน
ขณะคู้ เหยียด เคลื่อนไหว ระลึกรู้สึกตัวหมด
ใส่ใจมาที่กาย
ใส่ใจมาที่เวทนา สุข ทุกข์
บางครั้งกายรู้สึกเป็นสุข บางครั้งเป็นทุกข์
จิตใจบางครั้งสุข บางครั้งทุกข์
ระลึกรู้อยู่เรื่อย ๆ
จิตเป็นอย่างไร จิตรู้สึกอย่างไร
สภาพธรรมเป็นอย่างไร
ตลอดทั้งการเห็น การได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก
ระลึกจนกระทั่งสติตั้งมั่น ไม่หลง ไม่ลืม ไม่เผลอ
ปัญญาก็จะทำงานประกอบ เห็นแจ้งในตัวเอง
ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสังขารนี้ไม่เที่ยง
… ไม่เที่ยงจริง ๆ
กำหนดไปตรงไหนมันเปลี่ยนไป มันหมดไป
สังขารนี้เป็นทุกข์
… มันก็เป็นทุกข์จริง มันทนอยู่ตั้งอยู่ไม่ได้
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
… มันก็เป็นอนัตตาจริง มันบังคับไม่ได้
ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเรา ตัวตนของเรา
สักแต่ว่าเป็นสิ่งหนึ่ง ๆ เป็นธรรมชาติ
มันจะเกิดปัญญารู้เห็นอย่างนี้
ที่ทำให้จิตของตัวเองเข้าถึงความสะอาดบริสุทธิ์ได้
ธรรมบรรยาย ร้อยกรองพระธรรมวินัย (ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี ๒๕๖๑)
.............................
ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
Cr.https://www.facebook.com/share/RjVFKaqJEGezR2DP/?mibextid=oFDknk
Cr
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น