วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ความไม่ประมาท


     มีคหบดีคนหนึ่ง นำภรรยาและลูกหลานมาหาหลวงพ่อที่วัด แต่ละคนมีสีหน้าแสดงถึงความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ทุกคนกราบหลวงพ่อแล้ว ท่านคหบดีได้กล่าวขึ้นว่า:-
    " เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา (ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕) มีข่าวหน้ากลัวมากว่า ในอนาคตอันไม่นานนี้จะเกิดมหาสึนามิ ประเทศไทยอาจหมดไปครึ่งประเทศ สาเหตุที่อาจจะเป็นไปได้มีอยู่ ๓ เรื่อง คือ
      ๑.พายุสุริยะทำให้มีรังสีแกมม่า ความร้อน ซึ่งส่งผลให้สนามแม่เหล็กในโลกเปลี่ยนแปลง
      ๒.การกลับของขั้วโลกจะส่งผลให้โลกหยุดหมุนไป ๐.๐๐๐๑ วินาทีแต่แรงเฉื่อยซึ่งคงทำให้น้ำในมหาสมุทร ยังหมุนตามอยู่ จะส่งผลให้น้ำพัดขึ้นมาบนแผ่นดิน
      ๓.การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก อาจจะส่งผลให้แผ่น Sanda Plate(ประเทศอินโดนีเซีย) จมลง ๔๐ ฟุต
       ส่งผลให้เกิดมหาสึนามิมาทางอ่าวไทย ผมมีธุระกิจที่สำคัญอยู่ใกล้อ่าวไทยพอดี ผมจึงเครียดมากๆ เลย"
        หลวงพ่อจึงพูดว่า
       " ผู้มีสติปัญญา ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท สถานการณ์ภายนอก เราก็ต้องจัดการ ป้องกันหรือแก้ไขกันไป ตามเหตุปัจจัย  แต่ที่สำคัญ จิตใจต้องไม่วิตกกังวล ภายนอกอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แต่จิตใจเราจะต้องไม่เป็นทุกข์เพราะน้ำ คือความตระหนกวิตกกังวลท่วม "
........................
จากหนังสือ นิทานพุทธะ  พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ)

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทันโลก...


ภาพจาก http://www.creativestockphoto.com/images-of-save-earth.html

     มีดอกเตอร์คนหนึ่งทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เขาเดินทางมาทำธุระที่หัวหิน จึงถือโอกาสมาเที่ยววัดป่าสุญญตา และได้พบกับหลวงพ่อ หลังจากสนทนากันในเรื่องทั่วๆ ไปแล้ว ท่านดอกเตอร์ก็พูดขึ้นว่า
    " ปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ชีวิตจะก้าวหน้าได้ต้องรู้ทันสถานการณ์ของโลก  โดยเฉพาะพระภิกษุ ซึ่งทำหน้าที่สอนประชาชน ฉะนั้น ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ เช่นต้องดูโทรทัศน์ทุกวัน อ่านหนังสือพิมพ์ ดูอินเตอร์เนต เป็นต้น เพื่อนำไปสอนได้ถูกกับสถานการณ์ของสังคมที่เป็นอยู่จริง
      หลวงพ่อจึงพูดขึ้นว่า:-
     " แม้ว่ามีความรู้ต่อสถานการณ์ของโลกอย่างกว้างขวาง แต่ถ้าจิตใจยังถูกโลกธรรมแปดครอบงำ ก็ชื่อว่าเป็นคนไม่ทันโลก;ส่วนผู้มีจิตอิสระ  ไม่ถูกโลกธรรมแปดครอบงำ ชื่อว่าเป็นคนทันโลก  พระอรหันต์เป็นผู้ทันโลก นำโลก อยู่เหนือโลก "
......................
(จากหนังสือ นิทานพุทธะ  พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ)

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อารมณ์...


     อนุสติ ๑๐  หมายถึง ความระลึกถึง , อารมณ์อันควรระลึกถึงเนืองๆ
    ๑.พุทธานุสติ  ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์
    ๒.ธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม
    ๓.สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์
    ๔.สีลานุสติ ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติ ปฏิบัติ บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย
   ๕.จาคานุสติ ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน
   ๖.เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตรำลึกถึงเทวดาที่ตนเคยรู้ และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำให้บุคคลเป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน
   ๗.มรณานุสติ ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะทำให้เกิดความไม่ประมาท
    ๘.กายคตาสติ สติอันไปในกาย คือพิจารณากำหนดกายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงไหลมัวเมา
   ๙.อาณาปานสติ สติกำหนดลมหาใจเข้าออก
   ๑๐.อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์
.....................
**** อนุสติ ๑๐  เป็น ๑ ใน กรรมฐาน ๔๐ (อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต)
.....................
(จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต))

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

บนเส้นทาง....



เพราะรู้จริง
สรรพสิ่งยอมเปลี่ยนแปลง
ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใดในโลก
ยึดกาม ยึดทุกข์

จึงฝึกตน
ฝึกกายฝึกใจให้ยอมรับความจริง
เวลากระทบไม่กระเทือนทุกข์มาก

ด้วยความอดทน
ความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลสได้ดีเยี่ยม 
ความอดทนเป็นอาวุธที่ทรงพละ
ที่ใช้ในการต่อสู้กับอุปสรรค

และเสียสละทานสร้างเพื่อนและกัลยาณมิตร
ความสมบูรณ์พร้อมในการสร้างบารมีความดี

ภูริทัตตา
(จาก Facebook  Bhuritatta Samaneri)

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นิ่งดับ - ขยับเกิด..


     มีภิกษุชื่อ สุพละ ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ไปพบข้อความสั้นๆ ท่านมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนต่อข้อความดังกล่าว จึงนำเป็นเรียนถามหลวงพ่อว่า
    " หลวงพ่อคร้บ! คำว่า"นิ่งดับ ขยับเกิด" หมายความว่าอย่างไรครับ "
    หลวงพ่ออธิบายให้ฟังว่า
    " นิ่งดับ ขยับเกิด " เป็นลักษณะสังขตะคือสิ่งปรุงแต่ง ยังไม่ใช่ อสังขตะ คือสิ่งไม่ปรุงแต่ง หรือที่เรียกว่า พระนิพพาน ; นิ่ง หมายถึงจิตเป็นกลาง, ดับ หมายถึง ดีใจ เสียใจดับลง, ขยับ หมายถึงจิตขยับไปซ้ายหรือไปขวา , เกิด หมายถึง ดีใจ เสียใจเกิด "
    พระสุพละจึงถามต่อไปว่า
    " แล้วอสังขตะหรือพระนิพพานละครับ เป็นอย่างไร "
    หลวงพ่ออธิบายว่า
    " ไม่มีนิ่ง ไม่มีดับ ไม่มีขยับ  ไม่มีเกิด "
.........................
(จากหนังสือ นิทานพุทธะ พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ)

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เห็นสมณะเป็นมงคล


     มีอุบาสิกาคนหนึ่ง ศรัทธาต่อพระอาจารย์รูปหนึ่งมาก เพราะว่าพระอาจารย์รูปนี้แสดงธรรมก็ลึกซื้งไพเราะ ปฏิปทาก็งดงามน่าเลื่อมใส สังคมให้การยกย่องสรรเสริญกันอย่างกว้างขวาง
    วันหนึ่งมีข่าวออกมาว่า พระอาจารย์รูปดังกล่าวมีความผิดถึงขั้น ปาราชิก อุบาสิกาหมดความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาไปเลย  ถึงขนาดเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น ต่อมาอุบาสิกามีธุระบางอย่างที่ต้องไปพบหลวงพ่อที่วัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านตนเอง จึงปรารภกับหลวงพ่อว่า
   " หลวงพ่อคะ  มีสุภาษิตว่า  การเห็นสมณะเป็นมงคลสูงสุด  แต่ดิฉันเห็นสมณะทุกครั้ง รู้สึกไม่เป็นมงคลเลย เพราะเห็นแล้วไม่มีความศรัทธา แต่ทำให้จิตใจขุ่นเคืองเกลียดชัง "
    หลวงพ่อทราบเหตุการ์ณที่เกิดขึ้นดี จึงพูดให้ฟังว่า
   " สมณะ แปลว่า ความสงบ พระนิพพานเป็นความสงบสูงสุด ที่ว่าการเห็นสมณะเป็นมงคลสูงสุด ก็คือ เห็นพระนิพพาน สมณะอยู่ที่ใจ เห็นสมณะต้องเห็นที่ใจ "
..............
(จากหนังสือ  นิทานพุทธะ  พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ )

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กระแสธรรม


      มีพระนวกะรูปหนึ่ง บวชมาหนึ่งพรรษา ในช่วงเข้าพรรษาก็เรียนนักธรรมด้วย และมีข้อสงสัยอยู่ตอนหนึ่ง เขาจึงเข้าไปถามพระอาจารย์ว่า
     " พระอาจารย์ครับ ที่ว่าหลังจากพระสิทธัตถะเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้วนำถาดไปลอยที่แม่น้ำเนรัญชรา ปรากฏว่าถาดลอยทวนกระแสน้ำ ในหนังสืออธิบายว่า การปฏิบัติธรรมต้องทวนกระแสจิต ผมมีความเห็นว่าเป็นเรื่องยากมาก "
      พระอาจารย์พูดว่า
      " ที่จริงการปฏิบัติธรรม คือ การวางจิตให้ไหลไปตามกระแสแห่งทางสายกลาง เพียงระวังอย่าให้จิตเอนเอียงไปทางฝ่ายซ้าย คือ ยินร้าย และฝ่ายขวา คือ ยินดี  แล้วจิตก็ไหลไปสู่่นิพพานเป็นที่สุด "
....................
(จากหนังสือ นิทานพุทธะ พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ )

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เรียนอภิธรรมที่ใจ


        ปัจจุบันมีหลักสูตรการเรียนอภิธรรมกันอย่างแพร่หลาย ไปเรียนที่ศูนย์การเรียนโดยตรงก็มี หรือเรียนทางไปรษณีย์ก็มี โดยเฉพาะทางไปรษณีย์ชาวพุทธนิยมเรียนกันมาก
       วันหนึ่ง มีอุบาสิกา ซึ่งเรียนอภิธรรมทางไปรษณีย์ไปหาหลวงพ่อที่วัด ได้ปรารภกับหลวงพ่อว่า
       " หลวงพ่อคะ  เดี๋ยวนี้ดิฉันเรียนอภิธรรมทางไปรษณีย์ด้วย  แต่ยิ่งเรียนก็ยิ่งเครียด เพราะว่าต้องท่องจำกันมาก จิตมีกี่ดวง เจตสิกมีเท่าไร พออายุมากความจำก็ไม่ค่อยดี ดิฉันก็เลยลังเลว่า จะเลิกเรียนหรือเรียนต่อ "
        หลวงพ่อจึงพูดให้ฟังว่า
       " อภิธรรม แปลว่า ธรรมะอันยิ่งใหญ่ ฉะนั้นอภิธรรมที่แท้จริงก็คือจิตว่างหรือพระนิพพาน ผู้ใดเห็นแจ้งต่อพระนิพพาน ดำเนินชีวิตด้วยจิตที่ไม่มีความทุกข์ ผู้นั้นชื่อว่า เรียนจบอภิธรรม "
.................
(จากหนังสือ นิทานพุทธะ พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ)


วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

..เช่นนั้นเอง..


ตา เป็นใหญ่ใน การเห็น
หู เป็นใหญ่ใน การฟัง
จมูก เป็นใหญ่ใน รับกลิ่น
ลิ้น เป็นใหญ่ใน รับรส
กาย เป็นใหญ่ใน สัมผัส
ใจ เป็นใหญ่ใน รับรู้
ถ้ามีสติรู้ตัวเสมอ จะไม่ไหลไปใน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ฝึกให้เป็น สักแต่ว่า เห็น
สักแต่ว่า เสียง
สักแต่ว่า กลิ่น
สักแต่ว่า รส
สักแต่ว่า สัมผัส
สักแต่ว่า รับรู้
รู้แล้วละ รู้แล้วละอารมณ์
ก็จะไม่ทุกข์ รู้ เข้าใจ ยอมรับสัจธรรมที่ว่า
ทุกสิ่งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
ตามเหตุและปัจจัย
เหตุมี ก็เกิด
เหตุหมด ก็ดับ
เป็นเช่นนั้นเอง
ฝึกอยู่ ก็ฝึกกันไป
เมื่อใดจิตยอมรับความจริง ก็จะไม่ทุกข์
จะรู้เลยว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกที่สมควรทุกข์
ภูริทัตตา
(จาก Facebook  Bhuritatta Samaneri )

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สมาธิที่แท้...


        การนั่งสมาธิ กับจิตเป็นสมาธิไม่ใช่สิ่งเดียวกัน; บางคนชอบนั่งสมาธิ แต่จิตฟุ้งซ่านไม่เคยเป็นสมาธิเลย, บางคนจิตเป็นสมาธิทุกการเคลื่อนไหว โดยที่เขาไม่ได้เน้นการนั่งสมาธิ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือจิตเป็นสมาธิ
       มีอุบาสกคนหนึ่ง เป็นผู้คงแก่เรียน แม้ว่าตนเองจิตใจมักฟุ้งซ่านและไม่ค่อยได้นั่งสมาธิสักเท่าไหร่  แต่ก็ศรัทธาเลื่อมใสนักบวชที่ชอบนั่งสมาธิ และสอนการนั่งสมาธิ
       วันหนึ่งอุบาสกคนดังกล่าว ได้นำเครื่องไทยธรรมมาถวายหลวงพ่อเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด  หลังถวายแล้ว อุบาสกก็เอ่ยถามหลวงพ่อขึ้นว่า :-
          " ท่านทำสมาธิวันละกี่ชั่วโมง ?"
         หลวงพ่อได้ตอบว่า
          " ทุกอิริยาบถ "
.............................................
(จากหนังสือ นิทานพุทธะ  พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ)

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อยู่กับปัจจุบัน..


ภาพจาก Facebook    Bhuritatta Samaneri

อะตีตัง นานะวาคะเมยยะ  นัปปะฏิกังขา อะนาคะตัง
...ฯลฯ...
บุคคลไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ด้วยอาลัย
และไม่พึงพะวงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งที่เป็นอดีตก็ละไปแล้ว
สิ่งเป็นอนาคตก็ยังไม่มา
ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ 
อย่างแจ่มแจ้ง
ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน
เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้
ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้
ใครจะรู้ความตายแม้วันพรุ่งนี้
เพราะการผลัดเพี้ยนต่อมัจจุราชซึ่งมีเสนามาก
ย่อมไม่มีสำหรับเรา
มุนีผู้สงบย่อมกล่าวเรียก ผู้มีความเพียรอยู่เช่นนั้น
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนว่า
" ผู้เป็นอยู่แม้ราตรีเดียว ก็น่าชม "

(ภัทเทกรัตตคาถา)



https://youtu.be/yZYXDdzgToM?list=PL7044C869CE13337D

******************
ยุ่งจริงหนอ..(คลิก)

.......................


วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การสวดมนต์


           มนต์ หมายถึง คำสอนอันเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น การสวดมนต์ก็หมายถึง การท่องบ่นคำสอนอันเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อให้จำได้ และเอาไปคิดพิจารณา จะได้เกิดปัญญาในเรื่องนั้นๆ ไม่ไช่สวดเพื่อความขลัง หรือเรื่องที่จะทำให้เราเป็นไปโดยความขลัง
          เวลาสวด ควรสวดให้มีจังหวะจะโคนอย่าเร็วเกินไป พยายามสวดให้มีวรรคตอนพอดีๆ จะได้เกิดความสบายใจ ในขณะที่สวดก็คงจะคิดไม่ทันเรื่องความหมายของถ้อยคำที่เราสวด แต่ว่าเราสวดเพื่อให้จำได้ จำได้แล้วก็เอาไปพิจารณาในตอนหลัง ถึงความหมายของบทสวดมนต์แต่ละบท เช่น ถ้ามีหนังสือสวดอยู่ที่บ้าน ว่างๆ เราก็เอามาเปิดอ่าน เป็นบทๆ แล้วพิจารณาถึงบทสวดนั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจในความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะเพียงแต่สวดเฉยๆ ทำให้จำได้อย่างเดียว แต่ว่าเราไม่เข้าใจถึงเนื้อความในเรื่องที่สวด ทำให้ผลที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่สมบูรณ์
           ถ้าเราเข้าใจความหมายของเนื้อเรื่องนั้นถูกต้อง แล้วนำเรื่องนั้นไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นั่นแหละจะช่วยให้เราได้ประโยชน์จากการสวดมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงใคร่ขอแนะนำว่า เวลาเราอยู่บ้านว่างๆ ไม่มีอะไรจะทำ จะไปคิดเรื่องอะไรมันก็กลุ้มใจไปเปล่าๆ เป็นการหาเรื่องทุกข์มาให้ตนเอง เราก็เอาหนังสือสวดมนต์มานั่งพิจารณา..
                               หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
............................
(จากหนังสือ คู่มืออุบาสก อุบาสิกา ฯ ของ สำนักสวนโมกขพลารามไชยา)

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อยู่อย่างพุทธะ


       ภายในวัดป่าสุญญตา ณ ด้านหน้าศาลาอเนกประสงค์ มีข้อความสั้น ๆ เขียนไว้บนแผ่นป้ายเล็ก ๆ ว่า " อยู่อย่างพุทธะ "
     วันหนึ่งมีพระอาคันตุกะมาขอพัก และได้อ่านข้อความนั้น
     ในวันรุ่งขึ้น หลังจากออกบิณฑบาตและฉันภัตตาหาร พระอาคันตุกะก็เอ่ยพูดถึงข้อความดังกล่าว พร้อมกับแสดงภูมิปัญญาออกมาว่า "ผู้เป็นอยู่อย่างพุทธะ คือ ผู้มีจิตใจใสสะอาดอยู่ภายในกายอันเกลีัยงเกลาบริสุทธิ์ ซึ่งเปรียบดั่งน้ำใสสะอาดอยู่ในแก้วที่ใสบริสุทธิ์ ฉันใดก็ฉันนั้น "
      หลวงพ่อซึ่งเป็นประธานสงฆ์เมื่อได้ฟังดังนั้น ก็หยั่งรู้ได้ทันทีว่า พระอาคันตุกะยังไม่เข้าใจสัจธรรม จึงได้พูดขึ้นว่า
       " พุทธะที่แท้จริงจะปรากฏออกมาได้ ต้องไม่มีจิตที่เปรียบด้วยน้ำใสสะอาด และไม่มีกายที่เปรียบดั่งแก้วใสบริสุทธิ์ "
...............
(จากหนังสือ นิทานพุทธะ  พระคัมภีรญาณ อภิปุญโญ)

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ศัตรูที่แท้จริง


ศัตรูที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่
คือ ตัวเรา กับ ใจเรานี้เอง
อะไร ๆ ที่เกิดขึ้นก็เกิด
จากตัวจากใจของเรา
ก่อนจะส่งเป็นคลื่น
พลังออกไปข้างนอก
ส่งพลังบวกดีบารมีก็เพิ่ม
ส่งพลังลบไม่ดีบารมีก็ลด
ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่
ไม่ได้อยู่ที่ใหนไกลเลย
แค่ฝึกเอาชนะตัวเอาชนะใจตนเอง
เป็นชัยชนะที่แท้จริง
การปฏิบัติธรรม คือ
การฝึกที่จะ ชนะใจตนเอง
ฝึกที่จะไม่ทำตามใจตนเอง
ฝึกที่จะฝืนใจตนเอง
จึงเป็นการทรมานใจตนเอง
เพราะทำตรงข้ามกับกิเลส
ความต้องการ เหมือนการพายเรือ
การพายเรือทวนน้ำ ถ้าไม่พยายาม
พายไปข้างหน้าก็จะถูกน้ำพัดพาให้
ถอยกลับไปแน่นี้เป็นความจริง
ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
อาวุธที่สำคัญที่จะชนะตัวชนะใจ
ความเพียรและสติ คือ
ความระลึกได้
เตือนตนเอง
สอนตนเอง
ถามตนเอง
ตอบตนเองบ่อย ๆ
ว่าเราดีแล้วหรือยัง
เอาชนะกิเลส ความอยากได้หรือยัง
ถ้ายังต้องฝึกไป ทำไป เพียรไป 
อดทนไปเดี๋ยวดีเอง 
หนทางหมื่นลี้ เริ่มได้ที่ก้าวแรกที่มั่นคง
คิดไว้เสมอ เรามาไกลเกินกว่า
ที่จะถอยหลังกลับแล้ว
เดินไปข้างหน้าใกล้กว่าถอยหลังกลับ
จะทำให้มีกำลังใจ ก้าวต่อไปข้างหน้า
เมื่อก้าวเดินสักวันต้องมีวันถึง
ภูริทัตตา
(จาก facebook   Bhuritatta Samaneri)

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559