วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

กลิ่นชั้นสูง..(ต่อ)


.....ต่อจาก กลิ่นชั้นสูง (๑)......
       ท้าวสักกะเสด็จออกจากเรือน ทรงไหว้พระเถระแล้วเอาพระหัตถ์ทั้งสองยันพระชานุ ถอนพระทัย เสด็จลุกขึ้นย่อพระองค์ลงหน่อยหนึ่ง พลางตรัสว่า
      " พระผู้เป็นเจ้าเป็นพระเถระรูปไหนหนอ ? ตาของกระผมฝ้าฟางเสียแล้ว "ดังนี้แล้วทรงป้องหน้าดู เมื่อเห็นชัดจึงตรัสว่า
      " โอ้ ! พระผู้เป็นเจ้าพระมหากัสสปะของเรานั่นเอง นาน ๆ มายังประตูกระท่อมของพวกเราครั้งหนึ่ง มีอะไรอยู่ในเรือนบ้างไหมหนอ "
       สุชาดาทำกุลีกุจออยู่หน่อยหนึ่ง ขึงให้คำตอบออกมาว่า " มี ตา "
      ท้าวสักกะจึงตรัสกับพระเถระว่า " ขอพระคุณเจ้าอย่าได้คิดว่าทานนี้เศร้าหมองหรือปราณีตเลย โปรดทำการสงเคราะห์กระผมทั้งสองด้วยเถิด " ดังนี้แล้วทรงรับบาตของพระเถระ
      ฝ่ายพระเถระก็คิดจะสงเคราะห์เขาจริง ๆ ว่า " จะเป็นผักดองหรือรำกำหนึ่งก็ตาม เราจะรับบิณฑบาตเพื่อสงเคราะห์คนชราทั้งสองนี้ " ดังนี้แล้วได้มอบบาตให้
       ท้าวสักกะเสด็จเข้าไปในเรือน ทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อใส่ให้เต็มบาต มอบถวายแด่พระเถระ บิณฑบาตนั้นมีแกงและกับมากมาย
        พระเถระพิจารณาว่า " ชายผู้นี้มีศักดิ์น้อย แต่บิณฑบาตเขาเหมือนคนมั่งคั่ง เขาเป็นใครหนอ ? "  พิจารณาไปจึงรู้ว่าเป็นท้าวสักกะ จึงต่อว่า "พระองค์ทรงแย่งสมบัติของคนยากจน เป็นกรรมหนัก เพราะใคร ๆ ก็ตามเป็นเข็ญใจที่ถวายบิณฑบาตแก่อาตมาในวันนี้พึงได้ตำแหน่งและสมบัติ "
      " พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจเหมือนกัน ใคร ๆ อื่นจะเข็ญใจยิ่งกว่าข้าพเจ้ามิได้มี " ท้าวสักกะว่า
      พระเถระจึงกล่าวว่า "พระองค์เสวยสิริทิพยสมบัติในเทวโลก จะเรียกว่าเป็นคนเข็ญใจได้อย่างไร ตั้งแต่นี้ต่อไปท่านอย่าทำอย่างนี้อีก "
       " เมื่อข้าพเจ้าลวงท่านถวายทาน กุศลจักเกิดมีแก่ข้าพเจ้าหรือไม่ ? "
       " มี พระองค์ " พระเถระตอบ
       " เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำบุญย่อมเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า "
       ท้าวสักกะตรัสดังนี้แล้ว ทรงไหว้พระเถระ พาสุชาดากระทำประทักษิณแล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส พลางเปล่งอุทานว่า
       " โอ ! ทานเป็นทานอันเยี่ยม เราได้ถวายดีแล้วแก่พระมหากัสสปะ " ดังนี้  ๓  ครั้ง
        พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหาร ณ เวฬุวนาราม ทรงสดับเสียงท้าวสักกะแล้ว จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
        " ฟังเถิดภิกษุทั้งหลาย ฟังเสียงอุทานของท้าวสักกะผู้ถวายบิณฑบาตแก่กัสสปะบุตรของเราแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ทั้งเทพยดาและมนุษย์ก็ย่อมพอใจภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เช่นกัสสปะบุตรของเรา " ดังนี้แล้วทรงเปล่งพระอุทานเหมือนกันว่า
        " เทวดาและมนุษย์ย่อมพอใจภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงเฉพาะตน ไม่เลี้ยงผู้อื่น ผู้มั่นคง ผู้สงบ มีสติทุกเมื่อ "
         " ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จมาถวายบิณฑบาตแก่บุตรของเรา เพราะกลิ่นศีลโดยแท้ " ดังนี้แล้วจึงตรัสพุทธพจน์ว่า
         " กลิ่นกฤษณาและกลิ่นจันทร์ เป็นกลิ่นเล็กน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลเป็นกลิ่นสูงสุด ย่อมฟุ้งไปแม้ในหมู่เทพ " (ขุ. ธ.๒๕/๑๔/๒๒)
********
(จากหนังสือ โลกสงบร่มเย็นด้วยศีล  สมเด็จพระวันรัต(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศ )    
********

วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

กลิ่นชั้นสูง..(๑)


.................

...ท่านว่า พวกเทพไม่ค่อยมายุ่งกับมนุษย์ เพราะพวกมนุษย์มีกลิ่นตัวแรง นอกจากนี้ยังพบว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีศีลธรรม มนุษย์คนใดมีศีลดี มีธรรมงาม ย่อมเป็นที่รักของทวยเทพ ทวยเทพย่อมคุ้มครองรักษา ขจัดอันตรายออก น้อมนำแต่สิ่งอันเป็นศิริมงคลเข้าไปให้
    การทำบุญอุทิศให้เทวดาเป็นพลีอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า เทวตาพลี เทวดาย่อมรักและตั้งใจสงเคราะห์บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรม หากเป็นพระที่มีศีลาจารวัตรดี เทวดาย่อมเคารพบูชายิ่ง เช่น พระมหากัสสปเถระเป็นตัวอย่าง
    พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเรื่องนี้ เมื่อประทับอยู่เวฬุวัน ทรงปรารภการถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ มีเรื่องย่อดังนี้
     วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านว่าการทำบุญกับพระที่ออกจากนิโรธสมาบัติมีอานิสงส์แรงและไม่ข้ามวัน คือให้ผลในวันนั้น ท่านมหากัสสปเถระมีความประสงค์จะสงเคราะห์คนยากจนคนใดคนหนึ่งในเมืองราชคฤห์ แต่พวกเทพอัปสรประมาณ ๕๐๐ นางรู้เสียก่อน ต้องการให้บุญเป็นของตนเอง จึงเตรียมอาหาร ๕๐๐ สำรับ ไว้คอยดักถวายพระเถระ  ขอให้พระเถระรับอาหารเพื่อสงเคราะห์พวกตน
       พระเถระรู้ว่า นี่เป็นเหล่าเทพธิดา จึงบอกให้หลีกไปเสีย ท่านจะไปสงเคราะห์คนยากจน พวกเทพธิดารวยอยู่แล้วจะโลภไปถึงไหน แม้พวกเทพธิดาจะอ้อนวอนสักเพียงไรก็หาฟังไม่ พวกเทพธิดารอหน้าไม่ติดจึงหลีกไปยังภิภพของตน ไปพบท้าวสักกะ ท้าวสักกะถามว่าไปไหนกันมา เมื่อทราบเรื่องจากเทพอัปสรทั้งหมดแล้ว ปรารถนาอยากได้บุญบ้างจึงคิดหาอุบาย ได้มองเห็นอุบายอย่างหนึ่งแล้ว จึงปลอมตัวเป็นชายแก่ยากจน เป็นช่างหูก แม้สุกัญญาเทพกัลยา ก็ปลอมตัวเป็นหญิงแก่ช่างหูกเหมือนกัน ท้าวสักกะได้เนรมิตถนนช่างหูกอยู่สายหนึ่ง ทอหูกอยู่
       พระเถระก็มุ่งหน้าเข้าเมือง เพื่อสงเคราะห์คนจน เห็นถนนสายที่ท้าวสักกะเนรมิตขึ้นอยู่นอกเมือง เห็นคนแก่ ๒ คนกำลังทอหูกอยู่พระเถระคิดว่า " คน ๒ คน นี้แก่แล้วยังต้องทำงานอยู่ ในเมืองนี้เห็นทีจะไม่มีใครเข็ญใจยิ่งกว่า ๒ คนนี้ เราจักรับอาหารเพื่อทำการสงเคราะห์คนชราทั้งสอง "  ดังนี้จึงได้บ่ายหน้าไปยังเรือนของเขา
        ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระเถระกำลังเดินมายังเรือนของตนจึงกระซิบสุชาดาเทพกัญญาว่า ให้ทำเหมือนไม่เห็น  ฉันจักลวงท่านสักครู่เพื่อให้ท่านตายใจแล้วถวายบิณฑบาต
        พระเถระมายืนอยู่ที่ประตูเรือน สองผัวเมียทำเป็นเสมือนไม่เห็นท่าน ก้มหน้าทำงานอยู่ ครู่หนึ่งผ่านไป ท้าวสักกะจึงกล่าวขึ้นว่า
        " ที่ประตูเรือนดูเหมือนมีพระเถระยืนอยู่รูปหนึ่งยายลองไปดูซิ "
        "ตาไปดูเองเถอะ ฉันยังยุ่งอยู่ " สุชาดาตอบ
.....(ยังมีต่อ).....


********
(จากหนังสือ โลกสงบร่มเย็นได้ด้วยศีล สมเด็จพระวันรัต(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร)

******


วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558

อุ้มขึ้นสวรรค์...



พฤติกรรมที่เป็นบุญ ๔ อย่าง
ผู้ที่งดเว้นจากกายกรรมอันเป็นอกุศล ๓  อย่าง วจีกรรมอันเป็นอกุศล ๔ อย่าง มโนกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่าง เท่านั้น จึงจัดว่าเป็นผู้ทำกุศลส่งผลให้ไปเกิดในสุคติก็หาไม่   แม้ผู้ที่ชักชวน ยินดี และพูดสรรเสริญ บุคคลอื่นในการประพฤติกุศลกรรมเหล่านั้น ก็จัดว่าเป็นกุศลกรรมนำไปสู่สุคติได้ทั้งสิ้น
   ดังนั้น ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงสรุปพฤติกรรมที่จัดเป็นกุศลได้ ๔ อย่าง คือ
   ๑.การทำ การพูด การคิดสิ่งที่เป็นกุศลด้วยตนเอง
   ๒.การชักชวนผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิดสิ่งที่เป็นกุศล
   ๓.การยินดีกับบุคคล ผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิดสิ่งที่เป็นกุศล
   ๔.การยกย่องสรรเสริญ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน บุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิดสิ่งที่เป็นกุศล
    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในกัมปถวรรค อังคุตตรนิกาย ซึ่งขอยกมากล่าวแต่ใจความโดยย่อว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนมีคนอุ้มไปวางไว้  ธรรม ๔ ประการคือ
  ๑. เป็นผู้ทำเอง พูดเอง คิดเอง ๒.เป็นผู้ชักชวนผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิด ๓.เป็นผู้ยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด ๔.เป็นผู้สรรเสริญและผู้งดเว้นจาก  ปาณาติบาท  อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร  มุสาวาท  ปิสุณวาจา  ผรุสวาจา  สัมผัปปลาปะ  อภิชฌา  พยาบาท  มิจฉาทิฐิ  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนมีคนมาอุ้มไปวางไว้
*******
(จาก หนังสือคู่มือ ธรรมศึกษาชั้นเอก ของสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง พ.ศ.๒๕๕๐)



วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ผู้อยู่เป็นสุขทุกเมื่อ


....ฯลฯ....
....คราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ที่ลาดด้วยใบไม้ (ปณฺณสนฺถเร) (ที่หล่นเอง โดยการกวาดมารวมกันเป็นกอง มีผ้าจีวรปูทับอีกทีหนึ่ง แล้วประทับนั่งบนนั้น) ในป่าสีสปา คือป่าประดู่ลาย(สีสปาวัน หรือ สิงสปาวัน) ใกล้ทางโค  เมือง อาฬาวี 
    ครั้นนั้น หัตถกราชกุมาร ชาวเมืองอาฬาวี เที่ยวเดินเล่นอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ จึงเสด็จเข้าไปเฝ้า ทูลถามว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรทมเป็นสุขดีอยู่หรือ ? "  พระศาสดาตรัสตอบว่า " บรรดาผู้ที่นอนเป็นสุขทั้งหลาย เราเป็นผู้หนึ่ง "
     หัตถกราชกุมาร ทูลว่า " ตอนนี้เป็นราตรีฤดูหนาวระหว่าง ๘ วันแห่งสมัยหิมะตก อากาศหนาวจัด พื้นดินแข็งแตกระแหง กองใบไม้ที่ประทับนั่งก็แห้งบาง ต้นไม้มีใบห่าง ผ้ากาสายะของพระองค์ก็เย็น ลมหนาวก็พัดมาเสมอ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงบรรทมเป็นสุขอย่างไร ?"
      พระศาสดาตรัสยืนยันการบรรทมเป็นสุขเหมือนเดิม และตรัสถามเพื่อให้หัตถกกุมารตอบตามความเห็นตามความจริงว่า " คหบดีหรือบุตรของคหบดี นอนในเรือนยอดอันสวยงาม มีประตูหน้าต่างมิดชิด ลมเข้าไม่ได้ มีบังลังก์(ที่นั่ง) ซึ่งลาดด้วยผ้ามีขนยาว ลาดด้วยเครื่องลาดชนิดต่าง ๆ ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดงวางทั้งสองข้าง มีประทีปโคมไฟสว่างไสว มีปชาบดี(ภริยา)งาม ๆ ๔ นางบำรุงบำเรอให้เพลิดเพลินเจริญใจ พวกเขาพึงนอนเป็นสุข นั่งเป็นสุขหรือไม่ ? "
       " ต้องเป็นสุขแน่นอน พระเจ้าข้า " หัตถกะทูลตอบ
      พระศาสดาตรัสถามต่อไปว่า
       " ความเร่าร้อนทางกาย ทางจิตอันเกิดจาก ราคะ โทสะ โมหะ  อันเผาลนให้เขาเป็นทุกข์มีหรือไม่ ? "
       " มีแน่นอนพระเจ้าข้า "
       " ดูก่อนหัตถกะ  ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นเครื่องเผาลนทำให้เร่าร้อน  นั่งนอนเป็นทุกข์เราได้ตัดขาดแล้ว ถอนรากขึ้นได้แล้ว ไม่ให้เกิดไม่ให้มีขึ้นได้อีก เพราะเหตุนี้แหละเราจึงนั่งนอนเป็นสุขในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ "
       พระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า
        " พราหมณ์ (พระขีณาสพ,พระอรหันตฺ) ผู้ดับสนิทแล้วย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย เย็นสนิท ไม่มีกิเลส ตัดเครื่องเสียดแทงใจออกได้หมดแล้ว นำความกระวนกระวายใจออกได้แล้ว ถึงความสงบแห่งใจ ย่อมอยู่เป็นสุข " ดังนี้
                                                           ๒๐/๑๗๓/๔๗๕
 ....ฯลฯ....
********
(จากหนังสือ ปกิณกธรรม เล่ม ๒  โดย วศิน อินทสระ )

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

..เทศนาสามกาล..(๓)


ฯลฯ
ค.ปัจฉิมโพธิกาล  ทรงแสดงปัจฉิมเทศนาในที่ชุมชนพระอริยสาวก ณ พระราชอุทยานสาลวันของมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินารา ในเวลาจวนปรินิพานว่า หนฺทานิ อามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สังฺขารา อปฺมาเทน สมฺปาเทถ  เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาสังขารที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป
    เมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาเช่นนั้นจักเป็นผู้แทงตลอด พระองค์ตรัสพระธรรมพระเทศนาเพียงเท่านี้ก็ปิดพระโอษฐ์มิได้ตรัสอะไรต่อไปอีก
     จึงเรียกว่า ปัจฉิมเทศนา อธิบายความต่อไปว่า สังขารมันเกิดขึ้นที่ใหน อะไรเป็นสังขาร
      สังขารมันก็เกิดขึ้นที่จิตของเราเองเป็นอาการของจิตพาให้เกิดขึ้น สมมติทั้งหลายสังขารนี้แล เป็นตัวการสมมติบัญญัติสิ่งทั้งหลายในโลก
      ความจริงในโลกทั้งหลายหรือธรรมธาตุทั้งหลายเขามีเขาเป็นอยู่อย่างนั้น แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ฟ้า แดด เขาไม่ได้ว่าเป็นนั้นเป็นนี้เลย
       เจ้าสังขารตัวการนี้เข้าไปปรุงแต่งว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้จงหลงกันว่าเป็นจริง ถือเอาว่าเป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เราเสียสิ้น
      จึงมีราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นทำจิตดั้งเดิมให้หลงตามไป เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอเนกภพ อเนกชาติ เพราะเจ้าตัวสังขารนั้นแลเป็นตัวเหตุ จึงสอนให้พิจารณาสังขารว่า  สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา ให้เป็นปรีชาญาณอันชัดแจ้ง เกิดจากผลแห่งการเจริญปฏิภาคเป็นส่วนเบื้องต้น จนทำให้จิตเข้าภวังค์
        เมื่อกระแสแห่งภวังค์หายไป มีญาณเกิดขึ้นว่า " นั้นเป็นอย่างนั้นเป็สภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ " เกิดขึ้นในจิตจริง ๆ จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์ ก็รู้เท่าสังขารได้
        สังขารก็มาปรุงแต่งให้จิตกำเริบอีกไม่ได้ ในคาถาว่า อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต เมื่อสังขารปรุงแต่งจิตไมได้แล้ว ก็ไม่กำเริบรู้เท่าธรรมทั้งปวง สนฺโต ก็เป็นผู้สงบระงับถึงซึ่งวิมุตติธรรม ด้วยประการฉะนี้
        ปัจฉิมเทศนานี้เป็นคำสำคัญแท้ ทำให้ผู้พิจารณารู้แจ้งถึงที่สุด  พระองค์จึงได้ปิดพระโอษฐ์แต่เพียงนี้
        พระธรรมเทศนาใน  ๓  กาลนี้  ย่อมมีความสำคัญเหนือความสำคัญในทุก ๆ กาล  ปฐมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม
        มัชฌิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม ปัจฉิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม รวมทั้ง ๓ กาล ล้วนแต่เล็งถึงวิมุตติธรรมทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้ 
******
(จากหนังสือ มุตโตทัย จัดพิมพ์ครั้งที่ ๔ เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน เนื่องในงานอุปสมบทของคุณ วิทิต วรรณวิทยาภา )
******


วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

..สิ่งที่ไกลกันแสนไกล...


สุวิทูรสูตร

       [๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการ  ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฟ้ากับแผ่นดิน นี้เป็นสิ่งที่ไกลกัน แสนไกล ประการที่ ๑       ฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งสมุทร นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล ประการที่ ๒     พระอาทิตย์ยามขึ้นและยามอัสดงคตนี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๓      ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๔    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการนี้แล ฯ
             นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า  
    ฟ้ากับดินไกลกัน   
    ฝั่งสมุทรก็ไกลกัน   
    พระอาทิตย์ส่องแสงยามอุทัยกับยามอัสดงคตไกลกัน                        บัณฑิตกล่าวว่า  
    ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น 
การสมาคมของสัตบุรุษ มั่นคงยืดยาว ย่อมเป็นอย่างนั้นตราบเท่ากาลที่พึงดำรงอยู่        
    ส่วนการสมาคมของอสัตบุรุษ ย่อมจืดจางเร็ว
เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษ จึงไกลจากธรรมของอสัตบุรุษ ฯ

******* 
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓  อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

..เทศนาสามกาล..(๒)


...ฯลฯ...
ข.มัชฌิมโพธิกาล  ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในชุมชนพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ณ พระราชอุทยานเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ พึงเป็นผู้ทำจิตให้ยิ่ง การที่จะเป็นผู้ทำจิตให้ยิ่งได้ต้องเป็นผู้สงบระงับ อิจฺฉา โลภ สมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ เมื่อประกอบด้วยความอยากดิ้นรนโลภหลงอยู่แล้วจักเป็นผู้สงบระงับได้อย่างไร
     ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ คือ ปฏิบัติพระวินัยเป็นเบื้องต้น และเจริญกรรมฐาน ตั้งต้นแต่การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำให้มาก เจริญให้มาก
     ในการพิจารณามหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเบื้องแรก พึงพิจารณาส่วนแห่งร่างกาย โดยอาการแห่งบริกรรมสวนะ คือพิจารณาโดยอาการคาดคะเน ว่าส่วนนั้นเป็นอย่างนั้นด้วยการมีสติสัมปชัญญะไปเสียก่อน เพราะเมื่อพิจารณาเช่นนี้ ใจไม่ห่างจากกายทำให้รวมง่าย
     เมื่อทำให้มากในบริกรรมสวนะแล้ว จักเกิดขึ้นซึ่งอุคคหนิมิตให้ชำนาญ ในที่นั้นจนเป็นปฏิภาค ชำนาญในปฏิภาคโดยยิ่งแล้วจักเป็นวิปัสสนา
     เจริญวิปัสสนาจนเป็นวิปัสสนาอย่างอุกฤษฏ์ ทำจิตเข้าถึง ฐีติภูตํ ดังกล่าวแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาชื่อว่า ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว โมกฺขํ จึงจะข้ามพ้น จึงพ้นจากโลกชื่อว่าโลกุตตระธรรม เขมํ จึงเกษมจากโยคะ(เครื่องร้อย)
    ฉะนั้น เนื้อความในมัชฌิมเทศนาจึงสำคัญเพราะเล็งถึงวิมุตติธรรม ด้วยประการฉะนี้แล ฯ
ค.ปัจฉิมโพธิกาล....  (ยังมีต่อ)
*****
(จากหนังสือ มุตโตทัย จัดพิมพ์ครั้งที่ ๔ เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน เนื่องในงานอุปสมบทของคุณ วิทิต วรรณวิทยาภา )

..เทศนาสามกาล..(๑)  (คลิก)
...เทศนาสามกาล..(๓)  (คลิก)

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

..เก็บมาฝาก.." คำถามเดียวกัน "..


....อยากรวย..!!??
********
คำถามเดียวกัน
แต่ต่างคำตอบ
ต่างภพภูมิ 
ต่างวาระ
ต่างบารมี 
ต่างความคิด ต่างการกระทำ ต่างจุดมุ่งหมาย

ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อยากจะทำอะไร ?"

เทวดาตอบว่า
"
เราจะพิจารณาธรรม เพราะมนุษย์มีกายสังขาร ที่เหมาะกับการพิจารณาธรรมมาก ร่างกายของมนุษย์เป็นเครื่องมือที่ใช้พิจารณาธรรมได้ดีที่สุด น่าอิจฉาพวกมนุษย์จริงๆ "
พญานาคตอบว่า
"
บวชสิ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะบวช ... เป็นพญานาคมีฤทธิ์มากก็จริง แต่บวชไม่ได้ พ้นทุกข์ไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้นาคบวช แต่มนุษย์บวชได้ มนุษย์ไปนิพพานได้ แสนประเสริฐ"
พระภูมิเจ้าที่ตอบว่า
"
ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง คราวนี้เราจะไปทำบุญใส่บาตรทุกวัน ไม่ต้องมานั่งรอคนอุทิศส่วนกุศลมาให้เราอีก ไปทำเองเลย เพิ่มบารมีได้เร็วทันใจดี"
สัตว์เดรฉานตอบว่า
"
ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะสงเคราะห์สัตว์ตัวอื่นๆ ... เป็นสัตว์นั้นทุกข์มาก พูดก็ไม่ได้ คิดอะไรฉลาดๆ ก็ไม่ได้ ... เป็นมนุษย์มีสมอง มีปัญญา เราจะใช้ปัญญาของมนุษย์ทำให้ตัวเองไม่ต้องมาเป็นสัตว์อีก"
เปรตตอบว่า
"
เราไม่อยากมีหน้าตาน่าเกลียด ไม่อยากมีปากเท่ารูเข็ม มีรูปร่างสูงเหมือนต้นตาล ... ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะถือศีล จะได้ไม่ต้องมาเป็นเปรตผู้หิวโหย อดๆ อยากๆ ทนทุกข์ทรมานแบบนี้"
สัตว์นรกในอเวจีตอบว่า
"
ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะทำความดี จะไม่ผิดศีลอีก จะปฏิบัติธรรม ... เพราะนรกมันร้อน มันโหดร้าย อยู่แล้วมีแต่ความเจ็บปวด ทุรนทุราย ... ถ้าข้ามีโอกาสอีกครั้ง เราจะไม่ทำเลว เราไม่อยากทรมาน ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นสัตว์นรกอีก"
แต่เมื่อถามคำถามเดียวกัน
มนุษย์ตอบว่า...อยากรวย...??? อนิจจาน่าสงสารมนุษย์ผู้ที่อยากรวยแต่ทรัพย์สมบัติภายนอก ทั้งที่มีโอกาสจะทำบุญกุศลมากกว่าเพื่อน ทำให้มีอริยทรัพย์คือทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัว อยู่ภายในใจ มี ๗ สิ่ง คือ 
-
สัทธา 
-
ศีล 
-
หิริ
-
โอตตัปปะ
-
พาหุสัจจะ
-
จาคะ 
-
ปัญญา
ขอแชร์ต่อดีมากๆ ขอให้ผู้ได้และอ่านเกิดปัญญา สาธุ
*********
 ขอขอบคุณ @Chidchom  Love King  จาก Facebook



******

วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

..เทศนาสามกาล..(๑)


..ฯลฯ..
๑๖.ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา
      พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน ๓ กาล มีความสำคัญยิ่ง อันพุทธบริษัทควรสนใจพิจารณาเป็นพิเศษ คือ
      ก.ปฐมโพธิกาล  ได้ทรงแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี  เป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา เรียกว่า ธรรมจักรเบื้องต้นทรงยกส่วนสุด ๒ อย่าง อันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นมาแสดงว่า  เทว เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกา และ อัตตกิลมถา อธิบายว่า
            กามสุขัลลิกา เป็นส่วนแห่งความรัก
            อัตตกิลมถา เป็นส่วนแห่งความชัง
      ทั้ง ๒ ส่วนนี้เป็นตัว สมุทัย เมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งทั้งสองข้อนี้ ชื่อว่ายังไม่เข้าทางสายกลาง
      เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิ จิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจ ครั้งเมื่อจิตนึกคิดฟุ้งซ่านรำคาญก็เสียใจ ความดีใจนั้นคือ กามสุขัลลิกา ความเสียใจนั้นแล คือ อัตตกิลมถา  ความดีใจก็เป็น ราคะ  ความเสียใจก็เป็นโทสะ
      ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ ทั้งสองนี้เป็นโมหะ ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกต้องกระทบส่วนสุดทั้งสองนั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน ๒ นั้นอยู่
       ชื่อว่าผิดอยู่แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียว ต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ก็ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน
        แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ซ้ำเป็นมิจฉาทิฐิมาก่อนแล้วทั้งสิ้น แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่น ๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้น
       ต่อเมื่อพระองค์มาดำเนินทางกลาง ทำจิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์ได้ญาณ ๒ ในสองยามเบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ ๓ คือ อาสวักขยญาณในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลางอันแท้จริง
       ทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิด กล่าวคือส่วนทั้ง ๒ นั้น พ้นจากสมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยโคตร อริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ และอริยประเพณี
        ส่วนอริยสาวกทั้งหลายนั้นเล่าก็มารู้ตามพระองค์ ทำให้ได้อาสวักขยญาณ พ้นจากความผิดตามพระองค์ไป
        ส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรก ๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าแล้วทำให้ถูก เมื่อยังมีดีใจเสียใจในการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ ก็ตกอยู่ในโลกธรรม
       เมื่อตกอยู่ในโลกธรรม จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะความดีใจเสียใจนั่นแหละ ชื่อว่าความหวั่นไหวไปมา อุปฺปนฺโน โข เม โลกธรรมจะเกิดที่ไหนเกิดที่เรา
        โลกธรรมมี ๘  มรรคเครื่องแก้ก็มี ๘  มรรค ๘ เครื่องแก้โลกธรรม  ๘
        ฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาแก้ส่วน ๒ เมื่อแก้ส่วน ๒ ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรค ตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็น จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (สละสลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน ๒ ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง
        เมื่อผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง ๒ แล้ว ก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโมฆะ
        จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมาก พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไร เพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้
        โลกธาตุก็มิใช่อะไรอื่น คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหวเพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นนจากส่วน ๒ ธาตุของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะจะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล
      ข.มัชฌิมโพธิกาล  ......(ยังมีต่อ)
**********
(จากหนังสือ มุตโตทัย จัดพิมพ์ครั้งที่ ๔ เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน เนื่องในงานอุปสมบทของคุณ วิทิต วรรณวิทยาภา )

      

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

บัณฑิต


.....ฯลฯ.....
ถาม  บัณฑิต แปลว่าอะไร  ?
ตอบ  บัณฑิต แปลว่า ผู้รู้ ผู้ฉลาด ผู้มีปัญญา
ถาม   แล้ว บัฑิต รู้ในเรื่องอะไร ?
ตอบ  ถ้าตอบให้ถูกต้องตามความจริง ก็ต้องตอบว่า..บัณฑิตสูงสุด หรือบัณฑิตในอุดมคติต้องเป็นผู้รู้เรื่อง " อริยสัจ ๔ " แต่ก็อาจจะดูยากเกินไป...ถ้างั้นตอบแค่ว่า ..บัณฑิต ต้องเป็น.." ผู้รู้ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ 
ถาม เราไม่ได้บวช คงไม่ได้เป็นบัณฑิตสูงสุด เราเป็นแค่ชาวบ้าน ต้องประพฤติ ปฏิบัติตนยังไง จึงจะเรียกว่า..เป็นผู้ทำประโยชน์ให้แก่ตน และทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ?
ตอบ  เป็นคำถามที่ดีมาก..ตั้งใจพินิจพิจารณาคำตอบนี้ให้ดีนะ จะสรุปประเด็นสำคัญให้ฟัง..พระพุทธองค์ทรงสอนว่า  อุบาสก  อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น นั้นต้อง
๑. มีศรัทธาในพระรัตนตรัย และชักชวนผู้อื่นให้เกิดศรัทธา
๒. รักษาศีล และชักชวนผู้อื่นให้รักษาศีล
๓. จาคะ เสียสละ และชักชวนให้ผู้อื่นให้จาคะ เสียสละ
๔. อยากเห็นพระภิกษุ พระภิกษุณี ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และชักชวนให้ผู้อื่นอยากเห็นพระภิกษุ พระภิกษุณี ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
๕. อยากฟังพระสัทธรรมของผู้มีพระภาคเจ้าและชักชวนให้ผู้อื่นอยากฟังพระสัทธรรม
๖.อยากทรงจำธรรม และชักชวนผู้อื่นให้อยากทรงจำธรรม
๗. อยากพินิจพิจารณาธรรมและชักชวนให้ผู้อื่นอยากพินิจพิจารณาธรรม
๘. เมื่อพิจารณารู้แจ้งผลประโยชน์ รู้แจ้งธรรม(รู้อรรถ รู้ธรรม)รู้เหตุ รู้ผลแล้ว อยากปฏิบัติธรรม และชักชวนผู้อื่นให้อยากปฏิบัติธรรม
                               (มหานามสูตร องฺอฏฺฐก.๓๗/๑๑๕)
.......ฯลฯ.......
(จากหนังสือ บัณฑิตยุคใหม่ ที่สังคมไทยต้องการ โดย ภิกษุณีรุ้งเดือน นนฺทญาณี(สุวรรณ) อารามภิกษุณีนิโรธาราม  สำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
****

วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558

พระสิทธัตถะ



...ประวัติมีอยู่ว่า  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๓  ได้มีฝรั่งชาวอังกฤษท่านหนึ่งชื่อนายแพทย์ เบอร์นาร์ด ได้มาเที่ยวที่ประเทศอินเดียและได้มาพบเห็นประเพณีโบราณหลายอย่าง บางอย่างก็ดูทารุณโหดร้าย บางอย่างก็สกปรก บางอย่างล้าสมัยเหยียดหยามกัน นึกตำหนิอยู่ในใจ 
      เมื่อได้เที่ยวมาถึงพุทธคยา ได้มาชมประเพณีเวียนเทียนวันวิสาขบูชาที่เจดีย์พุทธคยา ได้เห็นประชาชนเวียนเทียนกราบใหว้ต้นโพธิ์ที่สัมมาสัมพุทธเจ้าเคยประทับนั่งตรัสรู้ก็นึกตำหนิในใจว่า ประชาชนพวกนี้โง่มากขนาดกราบไหว้ต้นไม้ได้ ครั้นสอบถามได้รับคำตอบว่าเป็นต้นไม้โพธิ์ที่ประทับนั่งตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะในครั้งแรกทำให้เกิดศาสนาพุทธขึ้น  ฝรั่งผู้นี้ก็นึกในใจว่าเรื่องเจ้าชายสิทธัตถะเป็นเพียงนิยายที่แต่งขึ้นมานับถือเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องมีจริงนึกเหยียดหยามชาวพุทธอยู่ในใจว่าโง่งมงาย แต่ไม่พูดอะไรกลัวมีเรื่อง
      ครั้นกลับที่พักแล้วตอนดึกของคืนนั้นหลับฝันไปว่าตนเองได้ย้อนกลับมาที่พุทธคยานี้อีก แต่เห็นสถานที่แปลกตาออกไป เห็นต้นโพธิ์ใหญ่มีพระนั่งอยู่องค์หนึ่งมีรัศมีงดงามจึงเข้าไปถามว่าท่านเป็นใคร มานั่งที่นี่ทำไม ได้รับคำตอบว่า  " เราชื่อพระสิทธัตถะ สละราชสมบัติมาบวชและได้เคยมานั่งค้นคว้าพระธรรมที่นี่จนได้ตรัสรู้ "  ฝรั่งสงสัยจึงย้อนถามว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีจริงหรือ  ทรงตอบว่า  ใช่ เจ้าชายสิทธัตถะมีจริงได้ตรัสรู้เป็นพระพุุทธเจ้าจริง ณ โคนต้นไม้โพธิ์นี้เป็นที่แรกตรัสรู้ของเรา  ท่านไม่เชื่อเพราะไม่เคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อนเลย ท่านเก่งทางวิทยาศาสตร์แต่ท่านไม่ได้เก่งเรื่องธรรมะ  ถ้าท่านได้ศึกษาธรรมะท่านก็จะรู้ได้และจะไม่ไปตำหนิคนอื่นเขาอย่างนี้อีก สิ่งใดที่เราไม่เคยเรียนไม่เคยรู้ไม่เคยค้นคว้าศึกษามาก่อนแล้วจะไปว่าคนอื่นที่เขาศึกษาค้นคว้าว่าโง่เง่าอะไรนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าท่านได้ศึกษาแล้ว พิสูจน์แล้วหากปรากฏว่าเหลวไหลไร้สาระจริงจึงประณามก็สมควรทำ ท่านไม่ศึกษาเลยแล้วมาประณามเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ควรทำ  เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมอาจผิดพลาดได้  ในฝันของฝรั่งคิดในใจว่าถ้าตนเอากล้องถ่ายรูปมาจะถ่ายภาพพระสิทธัตถะองค์นี้ออกอวดชาวโลกว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีจริงจะได้แก้ข้อสงสัยของชาวโลกได้ แต่ในฝันตนลืมกล้องถ่ายรูปไป ได้สนทนาได้รับคำตอบที่ถูกใจมาก จนลากลับ และได้ตื่นขึ้นในตอนเช้า
      ครั้นตื่นแล้วติดใจในความฝัน ลุกขึ้นค้นหากล้องถ่ายรูป คิดว่าจะไปถ่ายรูปนี้มาให้ได้ ครั้นอาบน้ำ รับประทานอาหารแล้วได้ไปซื้อฟิลม์มาใหม่ ๑ ม้วน ใส่กล้องออกเดินทางมาที่พุทธคยาอีกครั้ง ตั้งต้นถ่ายรูปไปทีละฟิลม์รอบต้นโพธิ์ นึกในใจว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีจริงหรือ นั่งตรงใหนจึงได้ตรัสรู้ ถ้าจริงขอให้ติดสักภาพเถิด จะได้ไปอวดเขาได้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีจริง ได้ถ่ายภาพต้นโพธิ์ทุกแง่ทุกมุม เสร็จแล้วถอดฟิลม์ให้ช่างล้างให้
       ปรากฏว่าได้ภาพเดียวคือภาพนี้ ภาพที่ถ่ายมาด้วยกันไม่ติดภาพอะไรเลยแม้แต่ต้นหญ้า ทั้งนี้เพราะฝรั่งตั้งใจขอภาพเดียว จึงได้ภาพเดียว
       ครั้นได้แล้วก็ดีใจกลับประเทศของตน อวดลูก อวดเมีย ก็ไม่เชื่อ ซ้ำยังถูกว่าโง่เง่าเชื่อในสิ่งเหลวไหลอีก จึงได้เก็บใส่กระเป๋าคงอยู่ในอัลบั้มอย่างนั้นไม่ได้อวดใครอีกต่อไป
      ฝรั่งผู้นี้ไม่รู้ว่าการปิดภาพบุคคลที่ทำบุญบารมีมาเพื่อโปรดสัตว์ ทำบารมีมามากมายหลายร้อยหลายพันชาติจนได้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกได้จริงเช่นนั้นเป็นบาป อย่างน้อยที่สุดใส่กรอบแขวนไว้ข้างฝาก็จะพ้นบาปไม่ผิดสัจจะที่ขอมาว่าจะให้ชาวโลกเขาดู
       เมื่อผิดสัจจะอย่างนี้ฝรั่งผู้นี้จึงประสบวิกฤติส่วนตัว ชีวิตผันผวนอย่างมาก ผิดหวังในชีวิตหลายอย่าง รู้สึกสิ้นหวังได้คิดถึงคำสอนของพระสิทธัตถะที่ว่า " ให้ทดลองศึกษาธรรมะดูบ้าง เพราะวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาจนจบแล้ว "  ได้ตัดสินใจหิ้วกระเป๋าใบเก่ากลับมาขอบวชอยู่ที่วัดพุทธคยา  เมื่อคนไทยไปเที่ยวคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ได้ไปสนทนากับท่าน ถามท่านว่ามีเหตุอะไรจึงได้มาบวช จึงได้ทราบเรื่องราวดังกล่าว..
******
(จากหนังสือสวดมนต์ฉบับพิเศษ เรียบเรียงโดย กนฺตสิริ ภิกฺขุ สำนักปฎิบัติธรรม(ถ้ำชี) ต.ไร่ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี)
*******

*********


*******************

******************************

วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

...ของฝากจากยาย...

...๖ มกราคม ๒๕๕๘..  ๑๑.๒๐...
.......
"  กระบอกละเท่าไร..ยาย.."
"  กระบอกละสิบห้า..มัดละ ร้อยห้าสิบ..แบ่งขายนะ..ซื้อกี่กระบอกก็ได้.."
"  ขายหมด...ใหมยาย..."
"  ขายหมดทุกวันแหละ...ของใหม่ทุกวันนะ...เก็บไว้พรุ่งนี้ก็ไม่เสีย...ยายรับรอง.."
"  ยายมองกล้องหน่อย..  "
"...ไม่ละ..!! เขาชอบถ่ายรูปยาย บอกว่าจะเอาไปออกทีวี..ยายอายเขานะ !!??...ไม่อยากถ่ายรูปหรอก..."
"อยากรู้จักชื่อยายนะครับ..."
"..ไม่บอกหรอก ไม่อยากให้ใครรู้จักชื่อ.."
................
..ยายบอกว่า พักอยู่ที่บ้านเตาถ่าน..จะเข็นรถขายข้ามหลามจากบ้านเตาถ่าน ตามถนนสุขุมวิท ไปจนถึงแยกเจ...(ระยะทางที่เข็นรถเข็นไปประมาณ ๓ - ๔ กม...จะพบกับยายช่วงเวลาประมาณ ๑๐๐๐ - ๑๑๐๐ น.)
(ขอบคุณ"ยาย" รถเข็นขายข้ามหลาม ริมถนนสุขุมวิท ช่วง บ้านเตาถ่าน - แยก เจ)