..ฯลฯ..
๑๖.ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา
พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน ๓ กาล มีความสำคัญยิ่ง อันพุทธบริษัทควรสนใจพิจารณาเป็นพิเศษ คือ
ก.ปฐมโพธิกาล ได้ทรงแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา เรียกว่า ธรรมจักรเบื้องต้นทรงยกส่วนสุด ๒ อย่าง อันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นมาแสดงว่า เทว เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกา และ อัตตกิลมถา อธิบายว่า
กามสุขัลลิกา เป็นส่วนแห่งความรัก
อัตตกิลมถา เป็นส่วนแห่งความชัง
ทั้ง ๒ ส่วนนี้เป็นตัว สมุทัย เมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งทั้งสองข้อนี้ ชื่อว่ายังไม่เข้าทางสายกลาง
เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิ จิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจ ครั้งเมื่อจิตนึกคิดฟุ้งซ่านรำคาญก็เสียใจ ความดีใจนั้นคือ กามสุขัลลิกา ความเสียใจนั้นแล คือ อัตตกิลมถา ความดีใจก็เป็น ราคะ ความเสียใจก็เป็นโทสะ
ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ ทั้งสองนี้เป็นโมหะ ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกต้องกระทบส่วนสุดทั้งสองนั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน ๒ นั้นอยู่
ชื่อว่าผิดอยู่แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียว ต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ก็ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน
แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ซ้ำเป็นมิจฉาทิฐิมาก่อนแล้วทั้งสิ้น แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่น ๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้น
ต่อเมื่อพระองค์มาดำเนินทางกลาง ทำจิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์ได้ญาณ ๒ ในสองยามเบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ ๓ คือ อาสวักขยญาณในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลางอันแท้จริง
ทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิด กล่าวคือส่วนทั้ง ๒ นั้น พ้นจากสมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยโคตร อริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ และอริยประเพณี
ส่วนอริยสาวกทั้งหลายนั้นเล่าก็มารู้ตามพระองค์ ทำให้ได้อาสวักขยญาณ พ้นจากความผิดตามพระองค์ไป
ส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรก ๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าแล้วทำให้ถูก เมื่อยังมีดีใจเสียใจในการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ ก็ตกอยู่ในโลกธรรม
เมื่อตกอยู่ในโลกธรรม จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะความดีใจเสียใจนั่นแหละ ชื่อว่าความหวั่นไหวไปมา อุปฺปนฺโน โข เม โลกธรรมจะเกิดที่ไหนเกิดที่เรา
โลกธรรมมี ๘ มรรคเครื่องแก้ก็มี ๘ มรรค ๘ เครื่องแก้โลกธรรม ๘
ฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาแก้ส่วน ๒ เมื่อแก้ส่วน ๒ ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรค ตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็น จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (สละสลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน ๒ ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง
เมื่อผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง ๒ แล้ว ก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโมฆะ
จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมาก พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไร เพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้
โลกธาตุก็มิใช่อะไรอื่น คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหวเพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นนจากส่วน ๒ ธาตุของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะจะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล
ข.มัชฌิมโพธิกาล ......(ยังมีต่อ)
**********
(จากหนังสือ มุตโตทัย จัดพิมพ์ครั้งที่ ๔ เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน เนื่องในงานอุปสมบทของคุณ วิทิต วรรณวิทยาภา )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น