วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สิบสองวันในอินเดีย(๓)


(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)

...เราออกจากที่พักวัดไทยสารนาถ แต่เช้ามืดเพื่อไปล่องเรือในแม่น้ำคงคา โชคดีที่กำลังอยู่ในเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู ริมฝั่งจะมีผู้คนมาทำพิธีกันมากมาย ..ว่ากันว่าริมฝั่งคงคามีท่า(ฆาฏ)ที่จะลงไปสู่แม่น่ำคงคาถึง ๘๔ ท่า  คณะของเราตั้งใจว่าจะไปลงที่ท่า มณีกรรณิกา แต่เนื่องจากมีเทศกาลไม่สามารถจอดรถได้จึงต้องไปลงท่าถัดไป..

......................


....ทางเดินที่ลงไปสู่ท่าน้ำเป็นซอยเล็ก ๆ สังเกตเห็นคล้ายบันไดทำด้วยไม้ไผ่วางอยู่ตามหน้าคูหาเล็ก ๆ ภายในก็มีผ้าสีวางอยู่ด้วย นอกจากนี้ก็จะมีกองฟืนกองอยู่ทั่วไป..พระอาจารย์วิทยากรบอกว่า ที่เห็นคล้ายบันไดคือแคร่ที่ใช้หามศพลงไปเผาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ผ้าสีสำหรับคุมศพและกองฟืนที่เตรียมพร้อมสำหรับการเผาศพ...พอเดินลงไปถึงริมน้ำก็เห็นกองเถ้า เศษฟืน ตรงที่มีควันนั้นก็เพิ่งมีการเผาศพไปไม่นานนัก...

................


...นักท่องเที่ยวที่ล่องเรือจะได้ร่วมลอยกระทง มีดอกไม้และเทียนในกระทงใบน้อย..แม่พระคงคาถือว่าเป็นเทพเจ้าที่ชาวไทยเราเคารพนับถือเช่นเดียวกันเราจึงลอยกระทงกันในวันเพ็ญเดือนสิบสอง แต่ถ้าไปที่อินเดียแล้วลอยได้ตลอดเวลา..มีเรื่องเล่าว่า ราว พ.ศ.๒๓๓๗ พระราชาเมืองพาราณสี ได้รื้อสถูปธัมมราชิก ที่สารนาถ พบพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าจึงนำมาลอยในแม่น้ำคงคา ถือได้ว่าเราลอยกระทงเพื่อสักการะองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าของเราด้วย..
......เรากลับไปทานอาหารเช้าที่วัดไืทยสารนาถ แล้วจะไปนมัสการสังเวชนียสถาน "อิสิปตนมฤคทายวัน" ...
................

ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน


(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)

    สารนาถ " ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน " เป็นสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง จุดที่ตั้ง "ธัมเมกขสถูป"เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา ของพระพุทธเจ้าให้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า โกณทัญญะได้บรรลุโสดาบันขอบวชเป็นพระพุทธสาวกรูปแรก เป็นวันแรกที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบองค์พระรัตนตรัย "วันอาสาฬหบูชา " คือ วันเพ็ญกลางเดือนแปด..."ธัมมราชิกสถูป" เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง อนันตลักขณสูตร ให้กับปัญจวัคคีย์สี่องค์คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ  ปัญจวัคคีย์ทั้งหมดได้ทูลขอบรรพชาเป็นพระภิกษุสงฆ์..


พระอาจารย์นำสวดมนต์บูชาสถานที่ และอฐิษฐานจิตแผ่บุญที่มูลคันธกุฎีที่พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาแรก


...ยสเจดีย์..ที่ที่เชื่อกันว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ ยสกุลบุตร ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้ให้บิดาของยสกุลบุตรได้เป็นปฐมอุบาสก  มารดาและภริยาได้เป็นปฐมอุบาสิกา
 ...ได้เวลาเที่ยงวันพอดีเราจะกลับไปทานอาหารกลางวันที่วัดไทยสารนาถ จากนั้นจะทอดผ้าป่าทำบุญ แล้วจะเดินทางต่อไปพุทธคยา...ก่อนจากสารนาถก็จะแวะชมพิพิธภัณฑ์สารนาถและชมผ้า"กาสี"ที่ขึ้นชื่อของพาราณสี..


ที่พักพร้อมอาหารสามมื้อที่วัดไทยสารนาถ

ทอดผ้าป่า


โรงเรียนในวัดไทยสารนาถ


......นักเรียนของโรงเรียนวัดไทยสารนาถกำลังซ้อมการแสดง
ที่จะแสดงในวันทอดกฐิน.....


....เยี่ยมชมสถานที่ผลิตและจำหน่ายผ้ากาสี ที่เก่าแก่ของพาราณสี  ทดลองห่มส่าหรีกันเลย..สวยใหมคะ....
                                            ................


....ขอแนะนำพระอาจารย์วิทยากรประจำคณะของเราครับ พระอาจารย์ จิตติพันธ์ กิตติวังโส นักศึกษาปริญญาเอกของ ม.พาราณสี พระอาจารย์จะเดินทางร่วมไปกับเราตลอดเส้นทางสังเวชนียสถาน..ครับ
    ได้เวลาเดินทางต่อแล้วครับ..จะถึงพุทธคยา ตอนค่ำ ๆ ครับ..ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ













วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สิบสองวันในอินเดีย(๒)


(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)

.. "ฮัดช่า "(अच्छा)..เป็นภาษาอินเดียแปลว่า"ดี"..มื้อแรกยามเช้าเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิสู่โกลกัตตา เป็ันผัดไทยกุ้งสด..ฮัดช่า จริงๆ..Jet Airway ใช้เวลาบินประมาณ ๒ ชม.ถึงโกลกัตตาประมาณแปดโมงเช้า คณะของเราจะต้องต่อเครื่องบินภายในประเทศไปพาราณสีในราวบ่ายสามโมง เรามีเวลาที่โกลกัตตาประมาณ ๗ ชม.ก็ขอเข้าไปชมเมืองโกลกัตตาสักหน่อย...


..ภาพที่เห็นบนท้องถนนจากสนามบินเข้าไปในเมือง ปัญหารถติดไม่แตกต่างกับกรุงเทพของเรามากนัก แต่ที่น่าสนใจคือคนขับรถบีบแตรกันเกือบตลอดเวลา ถ้าเป็นในบ้านเราสงสัยว่าต้องมีเรื่องกันแน่นอนเลยครับ..แต่ที่นั่นถือว่าปกติ.."อนุสรณ์สถานวิกตอเรีย" คือจุดหมายที่เราจะไปเยี่ยมชมกัน..


...อนุสรณ์สถานวิกตอเรีย (Victoria Memorial) สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียของสหราชอาณาจักรและจักรพรรดินีแห่งอินเดีย เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙  และเปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ เป็นอาคารขนาดใหญ่ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ภายในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เรื่องราวของชาวอังกฤษในอินเดีย รวมทั้งจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ เช่น อาวุธ  ภาพวาด แผนที่ เหรียญ แสตมป์ สิ่งทอต่าง ๆ ฯลฯ..เกือบลืมบอกไปว่าที่นี่ต้องเสียค่าเข้าชม และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในนะครับ


(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)

...หลังจากรับประทานอาหารกลางวัน แล้วเราก็กลับมาที่สนามบินอีกครั้งเพื่อเดินทางต่อไปพาราณี จะถึงพาราณสีราว ๕ โมงเย็น จุดหมายปลายทางคือวัดไทยสารนาถ ครับ


..............................................
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ









วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สิบสองวันในอินเดีย(๑)


(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)

....เมื่อสัปดาห์ก่อนได้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ.(ผู้บังคับบัญชาที่บ้าน) บอกว่าให้ร่วมเดินทางไปอินเดีย..ทั้ง ๆ ที่บอกปฏิเสทไปแล้วว่าไม่มี "งบประมาณ"ในการเดินทาง..แต่ได้รับการ"ยืนยัน" ว่าการเดินทางเที่ยวนี้มีงบประมาณสนับสนุนให้ทั้งหมด...เลยไม่สามารถ"ขัดคำสั่ง"ได้...จากข้อมูลการเดินทางเบื้องต้นจาก"วันแรมทางทัวร์" แล้วสิบสองวันในอินเดียคงจะต้องเดินทางประมาณ ๑๗๐๐ กิโลเมตร..
....การเดินทางครั้งนี้เป็นทริปที่ผู้จัดบอกว่า " ทัวร์แสวงบุญสังเวชนียสถาน อินเดีย - เนปาล " ก็จะขอนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป นะครับ...

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พุทธคุณ(๘)


...จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าวิชชาจรณสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะ พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นวิชชาสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ซึ่งได้แสดงอธิบายแล้ว จึงจะแสดงจรณะสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ (จรณะ ๑๐) คำว่าจรณะนี้แปลกันว่าข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา ใน อัมพัทธสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เองเป็น ๑๐ ประการ คือ สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล  อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ถึงพร้อมด้วย สติ สัมปชัญญะ สันโดษ เสพเสนาสนะอันสงัด ชำระจิตจาก นิวรณ์ ทั้งหลาย รวมเป็น ๖ข้อ  และรูปฌานที่ ๑ รูปฌานที่ ๒ รูปฌานที่ ๓ รูปฌานที่ ๔ อีก ๔ ข้อ ก็รวมเป็น ๑๐ ประการหรือ ๑๐ ข้อ..(สมเด็จพระญาณสังวร)


วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พุทธคุณ(๗)


....วิชชา ๓ ที่ได้แสดงไปแล้วก็คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้จักระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าระลึกชาติได้ ๒ จุตูปปาตญาณความรู้จักจุติคือความเคลื่อน และอุปบัติคือความเข้าถึง ชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน วิชชา ๘ ที่จะแสดงในวันนี้ ก็คือมีเติมเข้าอีก ๕ ข้อข้างต้น ส่วน ๓ ข้อข้างหลังก็คือวิชชา ๓ นั้นเอง  ๕ ข้อข้างต้นที่เติมเข้ามานั้น ก็คือ วิปัสสนาญาณ ความรู้จักด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงในกายนี้ซึ่งมีวิญญาณอาศัยอยู่ ว่าเป็นไปตามคติธรรมดาคือโดยไตรลักษณ์ อันได้แก่การที่มาพิจารณากายใจนี้ หรือนามรูปนี้โดยไตรลักษณ์ ว่ากายนี้อันเป็นส่วนรูป ประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลม อาศัยอาหารมีข้าวเป็นต้นบำรุงเลี้ยง เป็นของไม่เที่ยง ต้องทะนุบำรุงมีบีบนวดเยียวยารักษาต่างๆ เป็นต้น และแม้นามคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ความรู้จำได้หมายรู้ ความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิด ความรู้ที่เรียกว่าเห็นที่ได้ยินได้ทราบที่ได้คิดได้รู้ทางอายตนะ...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เหตุ...ผล


     จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย..หากนำมาพิจาณาก็น่าจะเข้ากันได้กับรูปภาพด้านบนนี้ พุทธองค์ทรงค้นพบมากว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว....คนๆหนึ่งไม่ว่าจะเรียกอย่างไร " วีรบุรุษ " หรือ "ทรราช" ...สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้น " สังสารจักร "นี้ได้..
    @ กิเลส ที่เป็นตัวการให้คิดปรุงแต่งยึดเยื้อพิสดาร เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น 
    ๑.ตัญหา คือความทะยานอยาก ความอยากได้อยากเอา  
    ๒.ทิฏฐิ ความคิดเห็นความเชื่อ อุดมการณ์ๆต่างที่ยึดถืออย่างงมงาย ไม่ยอมรับฟังใคร คิดเตลิดไปข้างเดียว ตลอดจนเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนบีบคั้นผู้อื่นที่ไม่ถืออย่างตน
    ๓.มานะ  ความถือตัว ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ถือสูงถือต่ำ ยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าผู้อื่น ความอยากเด่นอยากยกชูตนให้ ยิ่งใหญ่
    @ กรรม การกระทำไม่ว่าดี ชั่ว ทำอะไรโดยมีเจตนา คือจงใจทั้งที่รู้ย่อมเป็นกรรม
    @ วิบาก  คือผลที่มาจากกาลก่อน ผลดีเกิดจากการทำดี  ผลชั่วเกิดจากการทำชั่ว
    พุทธองค์ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นแล้ว หากเราฝึกตนด้วยดี ดังที่ทรงบำเพ็ญเป็นแบบอย่าง โดยเชื่อเรื่อง กรรม เชื่อเรื่องผลของกรรม  เชื่อว่าสัตว์บุคคลมีกรรมเป็นของตนเอง แต่ละคนเป็นเจ้าของต้องเสวยวิบากไปตามกรรมของตน แล้วฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมที่สูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้
    (อ้างอิง: จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต)
*******

From past events in every era..if taken into consideration, it should be compatible with the picture above.  The Lord Buddha discovered more than 2500 years ago....that a person, no matter how he is called a "hero" or a "tyrant"...in the end, cannot escape this "Samsara Chakra"..

    @ Defilements that are the cause of thoughts and manipulations that cling to strange tissues.  There are many problems such as 

1. Problem is desire.  Desire to take

2. Views, opinions, beliefs.  Various ideologies that are held ignorantly  Don't listen to anyone  Thinking sideways  As well as being a cause of oppression and oppression of others who do not share their views.

    3. Mana  self-conceit.  The importance of oneself being this or that, being considered high or being considered low, being as great as or inferior to others.  The desire to stand out, to exalt oneself to greatness.

  @ Karma, any action, whether good or bad, is done with intention.  That is, knowingly doing it intentionally is karma.

  @ Vipaka  is the result of a past time.  Good results come from doing good things.  Evil results come from doing bad things.

The Buddha is a demonstrated guide.  If we train ourselves well  As he served as an example  By believing the story  Karma believes in the results of karma. It is believed that living beings have their own karma.  Each owner must experience the suffering according to his own karma. Then, with good training, one can reach the highest, pure, liberating Dhamma landscape.

​   (Reference: From the Buddhist Dictionary  Dhamma compilation edition  Phra Phromkhunaporn P.A.Payutto)


วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อธิปไตย


อธิปไตย ในทางพระพุทธศาสนา มี ๓ ประการ คือ 
๑.อัตตาธิปไตย  ความมีตัวตนเป็นใหญ่ ถือตนเป็นใหญ่  ผู้เป็นอัตตาธิปกพึงใช้สติให้มาก
๒.โลกาธิปไตย  ความถือโลกเป็นใหญ่  ผู้เป็นโลกาธิปกพึงมีปัญญาครองตนและรู้พินิจ
๓.ธัมมาธิปไตย  ความมีธรรมเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นใหญ่ กระทำการด้วยความปรารภความถูกต้องเป็นจริง สมควรตามธรรม ผู้เป็นธรรมาธิปกพึงประพฤติให้ถูกหลักธรรม ผู้เป็นหัวหน้าหมู่นักปกครองพึงถือธรรมาธิปไตย......(จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต)

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พุทธคุณ(๖)


....พระพุทธคุณบทนี้แปลตามศัพท์ว่าผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ วิชชาได้แก่ความรู้ที่ถูกต้องถ่องแท้แจ่มแจ้งตามเป็นจริง  วิชชานี้ที่ตรัสแสดงไว้เองถึงพระองค์เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ปฏิบัติในข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเครื่องดำเนินถึงวิชชา ที่เรียกว่าจรณะก็ได้ ก็ได้ทรงบรรลุวิชชา และวิชชาที่ได้ตรัสแสดงไว้โดยมากก็คือวิชชา ๓ อันได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้จักระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตญาณ ความรู้จักจุติ และบังเกิดอาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พุทธคุณ(๕)


...พระพุทธคุณบทนี้ ซึ่งประกอบด้วยคำว่า สัมมา สัง และ พุทธะ สัมมา นั้นแปลว่าโดยชอบ สัง แปลว่า สามัง คือเอง พุทธะ ก็ตรัสรู้ รวมกันเป็นสัมมาสัมพุทธะที่แปลว่าผู้ตรัสรู้โดยชอบและเอง หรือแปลว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบก็ได้  คำว่าโดยชอบนี้มีความหมายถึงว่า ความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความตรัสรู้โดยชอบคือถูกต้อง และมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นความตรัสรู้โดยชอบที่มีพยาน หรือผู้รับรองในความตรัสรู้นั้น ว่าเป็นความตรัสรู้โดยชอบหรือถูกต้อง ความหมายประการแรกว่าโดยชอบหรือถูกต้อง ก็หมายถึงว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความถูกต้อง ที่อาจยกเอา สัมมัตตะ คือความเป็นสิ่งถูกต้อง หรือความเป็นสิ่งชอบ ซึ่งได้ตรัสแสดงไว้ ๑๐ ประการ  คือมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ทั้ง ๒ นี้รวมเข้าเป็นปัญญา สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ ๓ นี้รวมเข้าเป็นศีล สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ ๓ นี้รวมเข้าเป็นสมาธิ หรือจิตตสิกขา  จึงรวมเข้าเป็นปัญญาหรือปัญญาสิกขา รวมเข้าเป็นศีลหรือสีลสิกขา รวมเข้าเป็นสมาธิหรือจิตตสิกขา นี้เป็น ๘ กับอีก ๒ คือ สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ชอบ สัมมาวิมุติ ความพ้นชอบ สัมมาญาณะความหยั่งรู้ชอบนั้น ก็อาจยกญาณ ๓ ขึ้นแสดงได้ คือญาณความหยั่งรู้ที่ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในกาลก่อน คือระลึกชาติได้ ญาณที่หยั่งรู้ความจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงภพชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย และญาณคือความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน สัมมาวิมุติหรือวิมุติความหลุดพ้นชอบ ก็คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงสิ้นเชิง รวมเป็นสัมมัตตะคือความเป็นสิ่งชอบหรือถูกต้อง พระพุทธเจ้าตรัสรู้โดยชอบ ก็โดยเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบเป็นต้น เหล่านี้...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พุทธคุณ(๔)


..อรหํ ในความหมายว่าผู้สมควร ..ความหมายที่เป็นพระพุทธคุณนี้ คือเป็นผู้ที่สมควร เป็นผู้ที่สมควรตั้งต้นแต่ในทางปฏิบัติเพื่อที่จะได้ตรัสรู้ เมื่อก่อนจะตรัสรู้ก็อยู่ในฐานะที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ และก็ได้ทรงเรียกพระองค์เองว่าโพธิสัตว์ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางได้สมบูรณ์ เป็นผู้ที่สมควรจะตรัสรู้ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่เป็นผู้ที่สมควรจะตรัสรู้ ก็ไม่อาจจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ที่สมควร เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ มีคุณปฏิบัติอันสมควร อันสมบูรณ์ อันเหมาะสมแก่ความที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พุทธคุณ(๓)


..อรหํ ว่าผู้หักกำแห่งสังสารจักร สังสาระ หรือสงสารแปลว่าท่องเที่ยวไป จักร ก็คือ จักกะ หรือ จักกระ ที่แปลว่าล้อ  ล้อแห่งเกวียน ล้อแห่งรถ ก็เรียกว่าจักร คือจักกระ หรือจักกะ สังสาระจักรก็คือล้อแห่งการท่องเที่ยวไป หรือว่าล้อที่เป็นเครื่องท่องเที่ยวไป คือล้อที่หมุนนำให้ท่องเที่ยวไป และกำของสังสาระจักร ก็คือกำของล้อแห่งการท่องเที่ยวไปดังกล่าว  อันล้อนั้นพระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าย่อมมีดุม มีกำ มีกง นำเข้ามาเทียบกับธรรมะที่ตรัสแสดงในปฏิจจสมุปบาทคือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ท่านเทียบไว้ว่า ดุมก็เปรียบเหมือนอย่างอวิชชา กง ก็เปรียบเหมือนชรามรณะ ดุมคืออวิชชาเป็นต้น กงคือชรามรณะ ซึ่งหมายรวมถึงโสกะปริเทวะเป็นต้นด้วย ก็เป็นเหมือนกงเป็นปลาย ส่วนกำก็เหมือนอย่างปัจจยาการที่เหลือทั้งหมด ระหว่างอวิชชาและชรามรณะ พร้อมทั้งโสกะปริเทวะเป็นต้น...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พุทธคุณ(๒)


...อรหํ ตามความหมายที่ ๒ ว่า ผู้กำจัดข้าศึก ผู้ทำลายข้าศึก ......พระพุทธเจ้าทรงกำจัดข้าศึก หมายถึงทรงกำจัดข้าศึกภายในคือกิเลส พร้อมทั้งบาปอกุศลทุจริตทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นเพราะกิเลสได้สิ้นเชิง ด้วยว่ากิเลสนั้น ชื่อว่าเป็นข้าศึก ซึ่งเป็นผู้ทำลายล้าง คือเป็นผู้ทำลายล้างคุณงามความดีทั้งหลาย ทำลายล้างความสุข ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อกิเลสบังเกิดขึ้น เช่นโลภะความโลภ หรือราคะความติดใจยินดี โทสะความขัดเคือง โมหะความหลง หรือที่เรียกว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ย่อมทำให้จิตใจเดือดร้อน เหมือนอย่างก่อไฟขึ้นในใจ เผาใจตนเอง ฉะนั้น จึงเรียกกิเลสเหล่านี้ว่าเป็นอัคคีคือไฟ ดังที่เรียกว่าไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ในอาทิตตปริยายสูตรของพระพุทธเจ้า ...(สมเด็จพระญาณสังวร)