วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พาป้ากลับบ้าน...



..........ป้าเปรยเติบโตมากับท้องทุ่งท้องนา สายน้ำลำคลอง มีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร จนสุดท้ายของชีวิตก็จากไปอย่างสงบพร้อมกับสายน้ำที่หลากท่วมลุ่มเจ้าพระยา  สายน้ำที่ฉ่ำเย็นแม้จะสร้างความเสียหายให้กับผู้คน แต่ที่บ้านชายสิงห์  อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทุกปีน้ำก็ยังหลากทุ่งท่วมเป็นธรรมชาติของถิ่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่  เพียงแต่ปีนี้น้ำมากกว่าเดิมทำให้ชีวิตไม่เป็นปกติเหมือนที่เคยอยู่เคยเป็น  จนทำให้ป้าเปรยต้องจากไกลไปจากบ้าน ป้าเปรยซึ่งเติบโตมากับสายน้ำและย่อมเข้าใจวิถีชีวิตนี้เป็นอย่างดี น้ำหลากมาก็ต้องหลากไปมีน้ำขึ้นก็ต้องมีน้ำลงไม่มีอะไรมั่นคงถาวร เหมือนชีวิตคนที่เกิดมาก็ต้องดับไปในที่สุด  ป้าเปรยก็ดุจเดียวกับสายน้ำแต่เป็นสายน้ำที่ให้ความฉ่ำเย็นหล่อเลี้ยงหลานๆ ให้พบแต่ความสุขดับความเดือดร้อนทุกข์ยากในสมัยเยาว์วัย จนในวันนี้ทุกคนเติบโตมีสัมมาอาชีพที่มั่งคง  และเมื่อสายน้ำนี้ก็ไหลจากไป  หลานๆ ทุกคนจะจดจำความฉ่ำเย็นนี้ไว้ในจิตใจตลอดไปไม่เสื่อมคลาย และด้วยบุญกุศลที่ป้าเปรยได้ทำมาชั่วชีวิต อีกทั้งที่หลานทุกคนได้ประกอบกรรมดีมา ขอให้สายน้ำที่หลากทุ่งชายเคืองนี้เปรียบประดุจแม่พระคงคา ได้นำพาป้าเปรยไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า สถิตอยู่ยังสัมปรายภพที่ดีด้วยเทอญ

                                                 ดาราวรรณ  สุภานันท์ 


จะพาป้ากลับบ้านหลังน้ำลด  http://navy09.blogspot.com/2011/10/blog-post_16.html


พี่ทองดีหลานสาวคนโตและน้อง ๆ พาป้ากลับมาที่บ้าน......
**************
๒๔ ธันวาคม ๕๔,๑๓๐๐ ลอยอังคาร กลางอ่าวดงตาล สัตหีบ..


*********


*********

*********

*********




4 ความคิดเห็น:

  1. เรื่องของป้า....จากความทรงจำ
    ป้าเปรย เป็นพี่สาวคนน้องสุดในบรรดาพี่ทั้ง ๘ คนของแม่ ป้าเปรยเกือบจะได้เป็นลูกคนสุดท้องของตาและยาย (ตากราน – ยายหลง ดีวงษา) เพราะมีอายุห่างกับแม่ที่เป็นลูกคนสุดท้องถึง ๕ ปี วันเกิดของป้าเปรยตามรายการทะเบียนบ้านบันทึกว่า เกิดเมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปี ๒๔๕๙ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน ๒๔๕๙ ปีมะโรง ที่บ้านชายสิงห์ ตำบลอุทัย อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ป้าเปรยบอกว่า เกิดวันพุธ ก็อาจคลาดเคลื่อนได้เพราะสมัยก่อนไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการเหมือนกับในสมัยปัจจุบัน พี่น้องของป้าเปรย ๘ คน ล้วนแต่ถึงแก่กรรมไปก่อนป้าเปรยทั้งสิ้น
    ๑. ลุงคลื่น ดีวงษา ถึงแก่กรรม
    ๒. ป้าปริ่ง ดีวงษา ถึงแก่กรรม
    ๓. ลุงงาม ดีวงษา ถึงแก่กรรม
    ๔. ป้าอาบ เอี่ยมสะอาด ถึงแก่กรรม
    ๕. ลุงปลูก ดีวงษา ถึงแก่กรรม
    ๖. ลุงคลาย ดีวงษา ถึงแก่กรรม
    ๗. หลวงลุงมหาล้วน ภูริปัญโญ ถึงแก่กรรม
    ๘. ป้าเปรย ดีวงษา
    ๙. แม่ (สดับ สุภานันท์) ถึงแก่กรรม
    ชีวิตวัยเด็กของป้าเปรย เนื่องจากตากับยายมีอาชีพทำนา ลูกๆ ย่อมจะมีชีวิตเหมือนเด็กท้องนาตามปกติของคนท้องทุ่งท้องนาทั่วไป พี่อบ(ลูกป้าอาบ ซึ่งเป็นหลานป้าเปรย(หลานน้า)) บอกว่าน้าเปรยเรียนหนังสือกับครูแช่มที่โรงเรียนวัดโคกช้าง ส่วนจะจบประถม ๔ เหมือนแม่หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ป้าเปรยอ่านหนังสือออกแตกฉาน สามารถสอนหลานอ่านหนังสือออกก่อนเข้าเรียน ป.๑ ได้ทุกคน เรื่องนี้จำได้ดีเพราะเป็นหลานที่ป้าเปรยสอนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก หนังสือแบบเรียนที่มี “พ่อหลีพี่หนูหล่อ” ป้าเปรยเป็นคนสอนอ่าน ป้าเปรยไม่ได้แต่งงานอยู่กับตากรานยายหลง(พ่อแม่ของป้าเปรย) จนกระทั่งตายายสิ้นอายุขัยไป ก็ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ที่เป็นน้องสาวคนสุดท้องตลอดมา แม้ว่าแม่จะแต่งงานกับพ่อป้าเปรยก็ยังคอยดูแลเลี้ยงดูหลาน .......

    ตอบลบ
  2. ....ป้าเปรยไม่ใช่คนช่างพูด แต่จำเรื่องเล่าพื้นบ้านที่ป้าเปรยเล่าให้ฟังตอนเด็กๆได้ ป้าเปรยเล่าสั้นๆ ว่า “ยุงขึ้นไปขอฆ้ อนพระอินทร์ที่บนฟ้า พระอินทร์บอกให้ยุงไปเอาฆ้ อนที่เมืองมนุษย์ ยุงก็มาเอาฆ้ อนที่เมืองมนุษย์ มนุษย์ก็ให้ฆ้ อนกับยุง แล้วป้าเปรยก็ทำท่าตบยุง” ตอนเด็กๆ ฟังก็เฉยๆ แต่พอโตขึ้นนึกถึงเรื่องยุงขอฆ้ อนพระอินทร์ แล้วมนุษย์ให้ฆ้ อน โดยการตบยุงตาย ก็ขำๆ แล้วก็นึกไปเองว่า คนโบราณนี่เขามีวิธีเล่าเรื่องตบยุงให้เป็นเรื่องโจ๊กได้เหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาที่ยุงต้องโดนตบ อีกเรื่องคือ การแสดงออกป้าเปรยไม่ใช่คนชอบแสดงออกเป็นคนเฉยเงียบๆ ไม่เคยเห็นร้องเพลงหรือรำวงซึ่งต่างกับแม่ แล้วก็ไม่เคยเห็นป้าเปรยร้องไห้หรือแสดงความรู้สึกอะไร เห็นครั้งเดียววันไล่ทหาร(เกณฑ์ทหาร) สมัยก่อนประเทศไทยค่อนข้างจะรุนแรงในช่วงภัยคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่อยากให้ลูกหลานเป็นทหารเกณฑ์ นพ ดล หลานชายต้องเกณฑ์ทหารต้องจับใบดำใบแดง พอนพ ดล จับได้ไปดำ ป้าเปรยเอางอบที่สวมหัวอยู่ชูขึ้นแล้วก็ร้องไชโยไชโยไชโยดังลั่น เมื่อนึกย้อนไปก็จะรู้สึกได้ว่า การไชโยๆ นั้น คือ การแสดงออกของความรักความห่วงใยหลานนั่นเอง ป้าเปรยเป็นธรรมชาติจริงๆ......

    ตอบลบ
  3. ......ประมาณปี ๒๕๒๖-๒๕๒๗ ป้าเปรยที่ปกติเป็นคนแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยอะไร ได้เป็นโรคงูสวัดบริเวณแขนข้างซ้าย ทำให้แขนข้างซ้ายใช้การได้ไม่สะดวกแต่ก็ไม่เจ็บป่วยอะไร นอกจากร่างกายร่วงโรยไปตามกาลเวลา ในช่วงเวลานี้แม่ได้เกษียณอายุราชการมาอยู่บ้านตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ป้าเปรยกับแม่ ก้าวเข้าสู่วัยชราด้วยกัน และป้าเปรยก็รักแม่มาก แม่เคยไปอยู่โรงพยาบาลหลายวัน ป้าเปรยก็เป็นห่วงอีหนู(ป้าเปรยเรียกแม่ว่าอีหนู) น้องของป้าเสมอ ชีวิตวัยชราของป้าเปรยมีหลานสาว(วิภาดา สุภานันท์ และสุนันทา อรุณพงษ์) เป็นคนดูแลมาตลอด จนกระทั่งเมื่อ ๒ ปี ที่ผ่านมาแม่จากไป ป้าเปรยก็ต้องอยู่คนเดียวไม่มีแม่พูดคุยด้วยเหมือนเคย ตอนกลางวันที่เคยอยู่กันสองคนพี่น้องก็เหลือเพียงคนเดียว แต่หลานๆ ก็แก้ปัญหาโดย หลานชาย(นาวาเอกทวีศักดิ์ สุภานันท์) ได้ Early Retire ออกจากราชการ มาดูแลป้าเปรยในเวลากลางวัน ตลอด ๒ ปีสุดท้ายของชีวิต .......

    ตอบลบ
  4. .....ต้นเดือนตุลาคม มหาอุทกภัยที่ได้หลากท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาหลายจังหวัดมาก่อนหน้านี้ ก็ได้มาเยือนทุ่งชายเคือง บ้านชายสิงห์ อำเภออุทัย น้ำเริ่มระดับสูงขึ้นจนท่วมพื้นบ้านเกิดของป้าเปรย ในคืนวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ ทำให้หลานๆ ต้องตัดสินใจย้ายป้าเปรยออกจากบ้านที่ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ไปพักอยู่ที่บ้านหลานชาย(ทวีศักดิ์) ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และเช้าวันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ป้าเปรยได้สำลักอาหารและมีอาการนิ่งเงียบไป หลานชายได้นำส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. แพทย์ได้พยายามรักษาป้าเปรยอย่างเต็มที่ จนความดันเริ่มดีขึ้นเมื่อเวลา ๑๖.๐๐ น. แพทย์ได้แจ้งว่า ป้าเปรยอาการดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวังยังไม่ปลอดภัยทีเดียวนัก ทำให้หลานๆ ทุกคนที่เฝ้าอยู่มีความหวัง แต่ในที่สุดเมื่อเวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ป้าเปรยก็หลับไปอย่างสงบ ด้วยอายุขัย ๙๕ ปี ๔ เดือน ๘ วัน
    ป้าเปรยเติบโตมากับท้องทุ่งท้องนา สายน้ำลำคลอง มีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร จนสุดท้ายของชีวิตก็จากไปอย่างสงบพร้อมกับสายน้ำที่หลากท่วมลุ่มเจ้าพระยา สายน้ำที่ฉ่ำเย็นแม้จะสร้างความเสียหายให้กับผู้คน แต่ที่บ้านชายสิงห์ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทุกปีน้ำก็ยังหลากทุ่งท่วมเป็นธรรมชาติของถิ่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ เพียงแต่ปีนี้น้ำมากกว่าเดิมทำให้ชีวิตไม่เป็นปกติเหมือนที่เคยอยู่เคยเป็น จนทำให้ป้าเปรยต้องจากไกลไปจากบ้าน ป้าเปรยซึ่งเติบโตมากับสายน้ำและย่อมเข้าใจวิถีชีวิตนี้เป็นอย่างดี น้ำหลากมาก็ต้องหลากไปมีน้ำขึ้นก็ต้องมีน้ำลงไม่มีอะไรมั่นคงถาวร เหมือนชีวิตคนที่เกิดมาก็ต้องดับไปในที่สุด ป้าเปรยก็ดุจเดียวกับสายน้ำแต่เป็นสายน้ำที่ให้ความฉ่ำเย็นหล่อเลี้ยงหลานๆ ให้พบแต่ความสุขดับความเดือดร้อนทุกข์ยากในสมัยเยาว์วัย จนในวันนี้ทุกคนเติบโตมีสัมมาอาชีพที่มั่งคง และเมื่อสายน้ำนี้ก็ไหลจากไป หลานๆ ทุกคนจะจดจำความฉ่ำเย็นนี้ไว้ในจิตใจตลอดไปไม่เสื่อมคลาย และด้วยบุญกุศลที่ป้าเปรยได้ทำมาชั่วชีวิต อีกทั้งที่หลานทุกคนได้ประกอบกรรมดีมา ขอให้สายน้ำที่หลากทุ่งชายเคืองนี้เปรียบประดุจแม่พระคงคา ได้นำพาป้าเปรยไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า สถิตอยู่ยังสัมปรายภพที่ดีด้วยเทอญ....

    ดาราวรรณ สุภานันท์

    ตอบลบ