วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สัมพันธภาพ


ในวันที่ 17 เมษายน 1955 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล หมอพบว่าหลอดเลือดเอออร์ตาส่วนท้องปริแตก ทำให้เลือดไหลในช่องท้อง เขาต้องได้รับการผ่าตัด ทว่าอัจฉริยะของโลกบอกหมอว่าเขาไม่ปรารถนาจะรับการผ่าตัดใด ๆ เขากล่าวว่า “ฉันต้องการจากไปเมื่อฉันต้องการ มันไร้รสชาติที่ต่ออายุอย่างผิดธรรมชาติ ฉันทำงานของฉันจบแล้ว ถึงเวลาไปแล้ว ฉันจะจากไปอย่างสง่างาม”
แล้วไอน์สไตน์ก็จากโลกไปในวันรุ่งขึ้น วัยเจ็ดสิบหก ง่าย ๆ เช่นนั้น
เป็นเรื่องอัตโนมัติอย่างยิ่งสำหรับหมอและญาติคนไข้ที่จะยืดชีวิตคนไข้ให้อยู่ในโลกนานที่สุด โดยความคิดว่าการมีชีวิตยืนยาวที่สุดเป็นเรื่องดี ต่อให้รู้อยู่แก่ใจว่าการอยู่ในโลกนานกว่ากำหนดโดยมีสายช่วยชีวิตระโยงระยาง เป็นความทุกข์ที่เราสร้างขึ้นเอง กระนั้นก็ยังทำทุกวิถีทางเพื่อต่อชีวิตให้ยาวที่สุด
คนไข้จำนวนมากในโลกมีชีวิตอยู่ในสภาพตายไปครึ่งตัว บางคนอยู่ในสภาวะโคม่านาน 10-20 ปี บางคนสมองตายแต่ยังหายใจอยู่ เพราะญาติไม่ยอมให้ถอดเครื่องช่วยชีวิต เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะค่านิยมและความเชื่อว่า “ชีวิตเป็นของมีค่า”
ไอน์สไตน์กลับมองว่า ‘ความมีค่า’ กับ ‘ความยาว’ ของชีวิต ไม่ได้อยู่ในสมการเดียวกัน
เขารู้ว่าความยาวของเวลาเป็นเพียงมายา เพราะเวลาเป็นเพียงค่าสัมพัทธ์
ไอน์สไตน์สมแล้วที่เป็นคนฉลาดที่สุดคนหนึ่งในโลก มิเพียงจะเข้าใจหลักฟิสิกส์อย่างดีเยี่ยม หากยังสามารถใช้หลักฟิสิกส์ในชีวิตจริง! เข้าใจสมการชีวิตอย่างลึกซึ้ง และเขาก็ใช้ชีวิตเช่นแนวคิดเรื่องสัมพัทธภาพของเขา!
…………
แนวคิดเรื่องสัมพัทธภาพอาจฟังดูซับซ้อนเกินเข้าใจ แต่เมื่อมองในมุมการเข้าถึงธรรมของพุทธ จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก เพราะปรัชญาพุทธอธิบายหลักการใช้ชีวิตให้มีทุกข์น้อยที่สุดได้โดยการละวางทวิลักษณ์ เนื่องจากมันเป็นมายา
เป็นมายาอย่างไร?
ชายคนหนึ่งเที่ยวรอบโลกอย่างสนุกสนานนานหกเดือน เขารู้สึกว่าเวลาหกเดือนสั้นอย่างยิ่ง แต่หากเขาต้องโทษจำคุกหกเดือน หกเดือนเท่ากันนั้นจะยาวนานอย่างยิ่ง
นี่ก็คือสัมพัทธภาพ มันเกิดจากการเปรียบเทียบเวลาที่บวกความสนุกกับเวลาที่บวกความไม่สนุก ย่อมรู้สึกว่าแตกต่าง ทั้งที่เป็นเวลาเท่ากัน
สมมุติว่าธรรมชาติสร้างให้มนุษย์ทั้งโลกมีอายุเฉลี่ย 30 ปี เราจะเคยชินกับตัวเลขนี้ และรู้สึกว่าถ้าใครอายุถึง 40 คือยืนยาวมาก
แต่ใน พ.ศ. นี้ อายุเฉลี่ยของมนุษย์คือ 70-80 ปี ตัวเลข 40 ก็กลายเป็น ‘สั้น’ ขึ้นมาทันที ทั้งที่เป็นระยะเวลาเท่ากัน
ถ้าวันหนึ่งในอนาคต อายุเฉลี่ยของมนุษย์สูงขึ้นถึง 150 ปี ตัวเลข 80 ที่เรารู้สึกว่า ‘ยาว’ ในวันนี้ก็จะกลายเป็น ‘สั้น’ ขึ้นมาทันที
ความยาว-สั้นจึงเป็นสัมพัทธ์และเป็นมายา
เมื่อเราเอามือแตะน้ำเดือด เรารู้สึกว่ามัน ‘ร้อน’ เมื่อแตะน้ำเย็น เรารู้สึกว่า ‘เย็น’
แล้วเราก็ตั้งเป็นกฎขึ้นมาว่า 100 องศาเซลเซียสคือร้อน 0 องศาคือเย็น
ทว่าสัตว์น้ำหลายพันธุ์ซึ่งอาศัยบริเวณปล่องภูเขาไฟระอุใต้มหาสมุทรกลับอยู่ในน้ำเดือดปุดอย่างสบาย พวกมันไม่รู้สึกว่าบ้านน้ำเดือดของมันร้อนแต่อย่างไร เพราะพวกมันชินของพวกมันอย่างนั้น ถ้าพวกมันรู้สึก ‘ร้อน’ สุดทนทาน ก็คงย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นแล้ว
ค่า ‘ร้อน’ จึงไม่สัมบูรณ์ ไม่ตายตัว ไม่ใช่ความจริงสูงสุด เพราะเราชาวมนุษย์กับสัตว์ใต้ทะเลพวกนั้นเห็นต่างกัน เราบอกว่าร้อนเพราะเราใช้มาตรฐานความเคยชินของเราวัด พวกมันบอกว่าไม่ร้อนเพราะใช้มาตรของพวกมันวัด
ร้อน-เย็นจึงเป็นสัมพัทธ์และเป็นมายาเช่นเดียวกัน
ทุกข์-สุขก็เป็นมายา ไม่ใช่ค่าตายตัว เป็นสัมพัทธภาพขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราวัดด้วยความรู้สึกและอารมณ์ในแต่ละช่วงเวลา
คนคนหนึ่งเห็นว่าเรื่องหนึ่งเป็นทุกข์มาก อีกคนหนึ่งมองเรื่องเดียวกันว่าทุกข์น้อยหรือไม่ทุกข์เลย มันไม่มีค่าสัมบูรณ์อย่างแท้จริง
สัมพัทธภาพในโลกนี้ก็คือทวินิยม ร้อน-เย็น ยาว-สั้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำหนดให้ตัวเองรู้สึกเองทั้งสิ้น โดยใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐาน
เวลาต่างกันก็ทำให้มายาเดิมส่งผลต่างกันได้ เช่น ทุกครั้งที่รถคันอื่นแซง จะรู้สึกโกรธ แต่หากวันนั้นได้รับโบนัสห้าเดือน ถูกรถแซง อาจไม่รู้สึกโกรธอย่างที่เคยเป็น สามารถฮัมเพลงอย่างสบายอารมณ์ด้วยซ้ำ
ความรู้สึกที่เรียกว่า ‘ทุกข์’ มีหลายระดับ ขึ้นกับความรู้สึกและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ไม่เหมือนกันทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน
ยึดมายาเป็นค่าสัมบูรณ์เมื่อไร เราก็ทุกข์เมื่อนั้น
ความรู้สึกและความเคยชินทำให้เรามองข้ามข้อเท็จจริง แล้วติดฉลากสิ่งที่เราไม่ชอบว่า ‘ปัญหา’
ชีวิตก็คือสัมพัทธภาพ ความยาว-สั้นของเวลาชีวิตเป็นเพียงมายา จะอยู่ในโลกนานขึ้นอีกห้าปี สิบปี อาจไม่แตกต่างอะไร หากเวลาที่เรามีนั้นไร้คุณภาพหรือไร้ความหมาย ดังนั้นถ้าหลงคิดว่าตัวเลขอายุมาก ๆ คือดี ก็อาจหลงทาง มองคุณค่าของชีวิตผิดเพี้ยนไป
ลองถามตัวเองว่าหากมีชีวิตยาวขึ้นอีกวันสองวัน ร้อยวัน สร้างความแตกต่างอะไรหรือไม่ หากไม่แตกต่าง จำนวนวันบนโลกก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เร็วหรือช้าไม่มีผลอะไรต่อโลกอีกแล้ว
บางทีความยาวของชีวิตอาจไม่สำคัญเท่าว่าช่วงชีวิตที่มีลมหายใจ เจ้าของชีวิตทำอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร ที่ทำให้การมีชีวิตอยู่บนโลกของเขานั้นดีกว่าการไม่มี
เมื่อเข้าใจสัมพัทธภาพแห่งชีวิต เราก็จะเข้าใจมายาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก และเมื่อนั้นเราก็อาจสามารถกำหนดชีวิตของเราได้เอง
เมื่อพบทุกข์ ก็สามารถพิจารณาว่ามันเป็นเพียงระดับความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความเคยชินหรือด้วยประสบการณ์เก่า เมื่อเข้าใจเราก็อาจสามารถลดมาตรวัดความทุกข์ลง ทำให้รู้สึกแย่น้อยลงทั้งที่เป็น ‘ทุกข์’ อันเดิม
ดังนั้นเวลาสุขอย่าลืมตอนทุกข์ เวลาทุกข์อย่าลืมตอนสุข เวลาเศร้าอย่าลืมตอนหัวเราะ เวลาหัวเราะอย่าลืมตอนเศร้า เวลาซึมอย่าลืมตอนสดชื่น เวลาเหงาอย่าลืมตอนมีเพื่อน ฯลฯ
เพราะทุกอารมณ์เป็นเรื่องเดียวกัน ต่างที่ว่าจะไปจับตรงช่วงไหนของเรื่องนั้น
.
จากหนังสือใหม่ ความสุขเล็ก ๆ ก็คือความสุข
วินทร์ เลียววาริณ

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ทฤษฎี 90/10

รู้จักกับ ‘ทฤษฏี 90/10’ ที่จะทำให้เราเข้าใจ ในความเป็นไปของชีวิตมากยิ่งขึ้น…
เป็นธรรมดาที่คนยุคใหม่อย่างเราๆ มักจะหาคำคม คำนิยาม หรือทฤษฎีต่างๆ มาใช้เป็นคำอธิบายถึงความเป็นไปของปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิต
คราวนี้เราจะพาไปรู้จักกับทฤษฎีที่เรียกว่า ‘กฏ 90/10’ จากนักเขียนชื่อดัง Stephen Covey โดยเจ้าตัวเคลมว่าถ้าเราเข้าใจหลักทฤษฎีนี้แล้ว มันจะช่วยเปลี่ยนมุมมองการมองโลกของเรา และรับมือกับสถานการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ดียิ่งขึ้น
หลักการนี้คืออะไร
เป็นเรื่องง่ายๆ คือ 10% ของชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ ส่วนอีก 90% นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของเราในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ นัยยะของเรื่องนี้คือ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและอยู่เหนือความคาดคิด หรือที่เราไม่สามารถควบคุมได้เพียง 10%
เช่น เราไม่สามารถห้ามรถยนต์ไม่ให้เสีย หรือการที่เครื่องบินมาถึงล่าช้ากว่ากำหนดจนทำให้กำหนดการต่างๆ คลาดเคลื่อนไป หรือเราขับรถถูกช่องจราจร แต่ถูกรถคันอื่นขับปาดหน้า เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ 10% นี้ที่เกิดกับเรา แต่อีก 90% ที่เหลือนั้นเราสามารถกำหนดได้ ทำอย่างไร?
คำตอบคือ ด้วยปฏิกิริยาของเรา เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เราสามารถควบคุมปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์เหล่านั้น เราสามารถเลือกวิธีการตอบสนองได้
เรามาลองศึกษาจากตัวอย่างต่อไปนี้
สมมุติว่าเรากำลังรับประทานอาหารเช้ากับครอบครัว บังเอิญลูกสาวเราพลาดทำกาแฟหกใส่เสื้อเชิ้ตเรา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เหนือการควบคุมของเรา
เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องของปฏิกิริยาสนองตอบของเรา เราอาจจะสบถและดุด่าลูกสาวเราอย่างรุนแรงจนทำให้เธอร้องไห้ และตามด้วยการหันไปบ่นกับภรรยาเราว่า วางแก้วกาแฟไว้ที่ริมโต๊ะมากเกินไป เหตุการณ์ต่อมาคือ การถกเถียงกันเล็กน้อย แล้วเราก็เดินปึงปังขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อในห้องชั้นบน เมื่อกลับลงมาก็พบว่าลูกสาวเรายังคงร้องไห้ไม่หยุด ไม่พร้อมที่จะไปโรงเรียน ในที่สุดก็พลาดรถโรงเรียน ภรรยาเราก็ต้องรีบออกไปทำงานทันที ดังนั้นเราจึงต้องรีบขับรถเพื่อจะพาลูกสาวเราไปส่งโรงเรียน
แต่เป็นเพราะเรากำลังสาย จึงเร่งขับรถด้วยความเร็วบนทางด่วน 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกินกว่าพิกัดความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่กฎหมายกำหนดไว้ สิ่งที่ตามมาก็คือ หลังจากเสียเวลาไป 15 นาที และค่าปรับอีก 500 บาท เมื่อมาถึงโรงเรียน ลูกสาวเราก็รีบกระโดดลงจากรถโดยไม่ร่ำลาเลยสักคำ
ส่วนตัวเราเองก็มาถึงที่ทำงานสาย 20 นาที ซ้ำร้ายกว่านั้น เราพบว่าตัวเองได้ลืมกระเป๋าทำงานไว้ที่บ้าน วันนั้นจึงเป็นวันที่แย่และเลวร้าย และดูเหมือนว่ามันยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ จนทำให้เรารู้สึกอยากกลับบ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้าน เราได้สัมผัสกับความหมางเมินของภรรยาและลูกสาวเรา ความสัมพันธ์ไม่เหมือนเดิม
ทำไม?  ทุกอย่างเกิดจากปฏิกิริยาของเราต่อเหตุการณ์เมื่อตอนเช้านั่นเอง เราลองมาสำรวจสาเหตุของวันที่แสนแย่นี้ด้วยกัน
ก. กาแฟเป็นต้นเหตุอย่างนั้นหรือ? หรือ
ข. ลูกสาวเราเป็นคนก่อเหตุใช่ไหม? หรือ
ค. ตำรวจเป็นสาเหตุของเรื่องหรือเปล่า? หรือ
ง. ตัวเราเองนั่นแหละ ทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้งหมด?
 คำตอบคือ ข้อ ง.
เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับกาแฟแก้วนั้นได้ แต่ปฏิกิริยาของเราใน 5 นาทีแรกนั่นเอง คือสิ่งที่ก่อให้เกิดวันเลวร้ายนั้น
ต่อไปนี้คือ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น
เมื่อกาแฟหกเลอะตัวเรา ลูกสาวเรากำลังตกใจและขวัญเสียจนจะร้องไห้ เราควรจะพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “ไม่เป็นไรลูก ต่อไปขอให้ระวังมากกว่านี้ก็แล้วกัน” หลังจากนั้นรีบหาผ้าซับและไปเปลี่ยนเสื้อพร้อมหยิบกระเป๋าทำงาน เมื่อเราลงมาก็พบว่าลูกสาวเรากำลังขึ้นรถโรงเรียน เธอหันมาโบกมือลา ตัวเราเองก็ถึงที่ทำงานก่อนเวลา 5 นาที สามารถสนทนากับเพื่อด้วยอารมณ์เบิกบาน จนเจ้านายทักว่าคงเป็นวันที่ยอดเยี่ยมมากของเรา
เห็นความแตกต่างไหม? ความแตกต่างกันของ 2 เหตุการณ์ ที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน แต่จบต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทำไม? เพราะทุกอย่างเกิดจากปฏิกิริยาของเราในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ 10% นี้ที่เกิดกับเรา แต่อีก 90% ที่เหลือนั้นเราสามารถกำหนดได้
ลองนึกถึงเหตุการณ์ เรากำลังขับรถไปทำงานตอนเช้าในช่วงเวลาที่รีบเร่ง ทันใดนั้นมีรถคันอื่นมาปาดหน้าเราในระยะกระชั้นชิด เราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร เราอาจจะตกใจ สูญเสียสติในการควบคุมรถชั่วขณะ และประคองพวงมาลัยรถ ตั้งสติทำใจให้เย็นลงเพื่อระงับอารมณ์ที่ไม่พอใจของตนเอง หรือเราจะเหยียบคันเร่งตามจี้รถคันหน้า พยายามปาดหน้าเพื่อเอาคืน หรือพุ่งชนท้ายให้สะใจ แล้วได้รับผลที่จะตามมาจากเหตุการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ 10% ที่เกิดขึ้นตอนแรกลองนึกถึงอีกสักตัวอย่าง มีเพื่อนสักคนมาพูดถึงเราหรือวิพากษ์วิจารณ์เราไปในทางที่ไม่ดี ก็อย่าทำตัวเป็นฟองน้ำที่พร้อมจะซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ แต่ให้ตัวเราเป็นเสมือนกระจกที่เมื่อมีน้ำมากระทบก็จะไหลหยดผ่านไป เราต้องไม่ปล่อยให้การวิพากษ์วิจารณ์มามีผลกระทบต่อเรา การตอบสนองของเราในวิถีทางที่ไม่ถูกต้องจะทำลายความสุขของเราและส่งผลกระทบที่เลวร้ายตามมา อาจทะเลาะกับเพื่อน สูญเสียความเป็นเพื่อน
ตอนนี้ เรารู้เรื่อง กฎ 90/10 แล้ว นำกฎนี้ไปใช้แล้วเราจะประหลาดใจกับสิ่งดีๆที่ได้รับ
เราจะไม่เสียอะไรเลย ถ้าเราลองใช้กฎนี้  กฎ 90/10 นี่ยอดเยี่ยมมากเลย  มีคนจำนวนไม่มากที่รู้จักและนำกฎนี้ไปใช้
ผลล่ะเป็นอย่างไร?  คนหลายล้านที่มีปัญหาจากความเครียด การฟ้องร้อง ปัญหาต่างๆ และเรื่องกวนใจ  เราทั้งหมดต้องเข้าใจและนำกฎ 90/10 ไปใช้  กฎนี้สามารถทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปได้

********
Cr.Fwd.line

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ตัณหา


ตัณหาเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่ายังขาดบางสิ่งอยู่ ตัณหาบอกให้เราหาสิ่งนั้นประสบการณ์นั้นมาเติมชีวิตให้เต็ม มิฉะนั้นชีวิตเราจะไม่สมบูรณ์ ตัณหามาพร้อมกับความร้อนรนกระวนกระวายและลังเลที่จะยับยั้งชั่งใจด้วยหลักศีลธรรมใดๆ ตัณหากระซิบข้างหูเราว่า “อย่ามัวคิดมาก ทำไปเลย”

สมาธิภาวนาให้ความรู้สึกอิ่มเต็ม ไม่มีอะไรพร่องหรือขาดหายไป เมื่อการเจริญสติเข้าสู่ความสงบนิ่งและแจ่มชัด ตัณหาจะเกิดน้อยลงและอ่อนกำลังลง ยามที่เกิดตัณหา เราจะรับรู้เต็มที่ว่าเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่ง เราจะไม่รู้สึกถูกบังคับให้ต้องทำตามแรงเร่งเร้านั้น ตัณหาไม่อาจบงการให้เราคล้อยตามได้อีกต่อไป เราจะสามารถเฝ้าดูตัณหาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปด้วยจิตอันสงบ

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ
******
Cr.https://www.facebook.com/318196051622421/posts/2311991565576183/

พระพุทธศาสนาในนิวยอร์ค

พระอเมริกันในนิวยอร์ค:

ปัญญาชนยุโรปและอเมริกาหันมานับถือพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกวัน ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าอเทวนิยม (Atheists) สื่อมวลชนยุโรปและวารสารวิจัยทางพระพุทธศาสนาร่วมสมัย เคยพยากรณ์กันในช่วงยุค 90s ว่า พระพุทธศาสนาจะมาแรงที่สุดในยุโรปในศตวรรษที่ ๒๑

พระฝรั่งสองรูปนี้ทดลองฝึกสมาธิมานาน เมื่อฝึกสมาธิจนประสบความสุขทางใจแล้วก็ออกบวช มีฉายาว่า สุทฺธาโส และ อยฺยโสโม พอออกบวชก็ยิ่งมีเวลาฝึกสมาธิมาก  ยิ่งฝึกสมาธิเพียงไร ยิ่งเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพียงนั้น อยากเผยแผ่คำสอนพระพุทธศาสนาให้คนอเมริกันทั่วไปได้รู้จักบ้าง

เช้าๆ ทุกวันพุธท่านจึงพากันเดินบิณฑบาตไปที่ยูเนียนสแควร์ กลางมหานครนิวยอร์ค ยืนรอรับบิณฑบาตจากสาธุชนทั่วไป ชาวพุทธผ่านไปเห็นก็ถวายอาหารบิณฑบาต หากแม้ไม่มีคนใส่บาตรเลยก็อุ้มบาตรเปล่ากลับสำนักสงฆ์ มีญาติโยมจัดอาหารรอถวาย 

การเดินไปบิณฑบาตเป็นการนำตัวเองไปให้คนท้องถิ่นรู้จักตัวท่านและพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น คนพบเห็นบ่อยๆ ก็จะไต่ถาม ท่านก็จะมีโอกาสอธิบายหลักการของพระพุทธศาสนา เขาเรียกกันว่า *บิณฑบาตเอาคน* เหมือนที่หลวงพ่อชา สุภทฺโท เคยทำมาแล้วในประเทศอังกฤษ

พระฝรั่งเหล่านี้ กล้าหาญชาญชัยถึงขนาดเดินไปรอรับอาหารบิณฑบาตกลางใจเมืองมหานครนิวยอร์คก็เพราะมั่นใจในพระพุทธศาสนา เห็นภาพนี้แล้ว ท่านก็วางใจได้แน่นอนครับว่าชาวอเมริกันที่เรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างจริงจังมีอยู่ และพร้อมจะอธิบายให้คนอเมริกันด้วยกันฟังอย่างมีเหตุมีผล

ความมั่นใจและตั้งใจอย่างเปี่ยมล้นของพระชาวอเมริกันเหล่านี้ ทำให้เรามั่นใจได้ว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาแน่นอนครับ

@ ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์
๒ ตุลาคม ๒๕๖๒
..........
Cr.Fwd.Line

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

การรักษาจิตให้แน่วแน่อยู่ในปัจจุบันขณะ


"จุดมุ่งหมายของการทำสมาธิลักษณะนี้คือ 
ความเงียบที่งดงาม ความสงบนิ่ง
และความกระจ่างแจ้งแห่งจิต"

การทำสมาธิ
คือหนทางที่จะนำไปสู่ความปล่อยวาง
ในขณะที่เราทำสมาธิ
เราปล่อยวางโลกภายนอกที่ซับซ้อน
 เพื่อเข้าถึงโลกภายในที่สงบเย็น
ตามความเชื่อทางศาสนาและลัทธิต่างๆ 
การทำสมาธิคือเส้นทางไปสู่จิตที่บริสุทธิ์และทรงพลัง
การมีจิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากโลกนี้
เป็นประสบการณ์ที่อัศจรรย์และเปี่ยมสุข

**************
  จากหนังสือ สมาธิสบายใจ The basic method of meditation... อาจารย์พรหม...