วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เก็บมาฝากจากไลน์


#10 ความน่าเสียดาย สำหรับผู้ไม่ฝึกฝนวิปัสสนา(อย่างสม่ำเสมอ)
(วิปัสสนา คือวาระแห่งชาติ)
#พศิน อินทรวงค์

1. ผู้ไม่เคยฝึกวิปัสสนา จะไม่มีวันเห็นชีวิตตามความเป็นจริง เพราะระบบชีวิตตามความเป็นจริง หรือสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งส่วนประกอบของชีวิตทั้งห้าส่วนนี้ ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่าน การฟัง และไม่สามารถคิดนึกเอาเองได้ จำเป็นต้องฝึกสติโดยผ่านกระบวนการวิปัสสนาซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงคิดค้นขึ้น เพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาสรู้ความจริง เกี่ยวกับชีวิตของตนเอง

2. โดยทั่วไปแล้วคนเรา มีแนวโน้มที่จะยึดติดมากกว่าปล่อยวาง  แม้ปล่อยวางได้เป็นพักๆ  แต่ความคิดปรุงแต่งก็จะวนเวียนเข้ามาเรื่อยๆ  ขอให้สังเกตชีวิตของตนเองอย่างเป็นกลาง ว่ามีความทุกข์มากกว่าความสุขจริงหรือไม่ ในแต่ละวัน มีความขุ่นมัวหรือความเบิกบานใจมากกว่ากัน มีความฟุ้งซ่านหรือสงบนิ่งมากกว่ากัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการที่สติอ่อนกำลัง ไม่เท่าทันความคิด นี่คือธรรมชาติของจิตที่ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่น่าแปลกใจเลย ที่คนส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับความทุกข์อันเกิดจากความคิดของตนเองอยู่ตลอดเวลา

3. ความคิดและจิตไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเห็นสภาวะเกิดดับของรูปนามผ่านกระบวนการความคิด  ความรู้ว่าชีวิตคืออะไร คือจุดเริ่มต้นที่จะทำอะไรๆ ในชีวิตให้ถูกต้อง เมื่อไม่รู้จักสภาพชีวิตตามความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างในชีวิตย่อมมีแต่ความผิดพลาดไปทั้งหมด คือผิดก็คิดว่าถูก รวมความว่า "เป็นผู้ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้" และ "เป็นผู้ไม่รู้แต่ดันไปคิดว่าตนเองรู้แล้ว" เป็นความไม่รู้แบบซ้ำซ้อนอันเกิดจากการที่ปลงใจเชื่อตนเองแบบไม่เฉลียวใจ ไม่ศึกษา เปรียบเหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดที่เหลือก็ไม่มีวันถูกต้องไปได้

4. ส่วนใหญ่แล้วเป้าหมายใดๆ ในชีวิต ก็เป็นเพียงเป้าหมายแบบสมมุติบัญญัติ เป็นเป้าหมายที่อาจรู้สึกว่าถูกต้องในวันนี้ อาจเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามเสียมากมายในวันนี้ แต่สิ่งเดียวกันนี้ อาจกลายเป็นสิ่งไร้สาระในวันหน้า จากที่ชอบกลายเป็นไม่ชอบ จากที่เคยเทิดทูนบูชา กลายเป็นรู้สึกจืดชืดชินชา เป้าหมายชีวิตของคนที่ไม่รู้จักชีวิตตามความเป็นจริงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามวันเวลา ตามวัย ตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป้าหมายที่มั่นคงชัดเจนที่ใช้ได้ชั่วชีวิต เนื่องจากเป็นการตั้งเป้าหมายจากสิ่งที่ตนสมมุติขึ้นมาเองแต่แรก เมื่อสมมุติเปลี่ยน เป้าหมายย่อมเปลี่ยน ถึงวันหนึ่ง แม้ลาโลกไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดเป็นมนุษย์คืออะไร

5. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมชาติของจิต เหมือนน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำ  แม้ปล่อยให้ตนเองเสพกามสุขโดยไม่เฉลียวใจ  ย่อมเกิดการยึดติดในกาม อันเป็นต้นทางของความทุกข์และการเบียดเบียนผู้อื่น  เราเรียนคณิตศาสตร์อย่างเป็นระบบ เรียนธุรกิจอย่างเป็นระบบ เราเรียนภาษาต่างๆ อย่างเป็นระบบ แต่จิตใจซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เรากลับปล่อยให้ตนเองเรียนรู้ไปตามยถากรรม สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลทั่วไป

6. สติมีอยู่สามระดับ คือสติระลึกรู้ สติเห็นความคิด และมหาสติมหาปัญญา สติระดับแรก จะมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน แม้ในสัตว์บางชนิดก็มีสติเช่นนี้อยู่ในบางครั้ง แต่สติสองระดับหลัง จะมีอยู่ในผู้ที่ฝึกวิปัสสนาเท่านั้น สติระดับแรก อาจใช้ทำมาหากินได้ ใช้สร้างความสุขแบบโลกๆ ได้ แต่ใช้ดับทุกข์ไม่ได้ ใช้ในการศึกษาความจริงของตนเองไม่ได้ ใช้ในการดับกิเลสก็ไม่ได้ แม้ผู้ใดมีกำลังสติเพียงระดับแรก ชีวิตนี้ก็มีอันต้องพบกับความสุขความทุกข์สลับกันไปมา และจะพลาดหนทางแห่งการเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติไปโดยสิ้นเชิง

7. จิตที่ไม่เคยฝึกวิปัสสนาย่อมมีการปรุงแต่งสูงอยู่แล้วตามธรรมชาติ เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ปรุงแต่งเป็นความทุกข์ เป็นความท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง เบื่อ ซึม เซ็ง ต่อเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ปรุงแต่งต่อไปเพื่อสร้างภพภูมิใหม่ เป็นจิตที่มีโอกาสสูงที่จะคิดนึกในเรื่องอกุศล หรือมีความขุ่นมัวในวินาทีสุดท้าย พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์ที่ตายไปแล้วและได้เกิดมาเป็นคนอีก จะเหลือเพียงเศษดินปลายเล็บ จากดินทั้งหมดในมหาปฐพี หมายความว่า คนส่วนใหญ่เมื่อตายไปแล้ว ก็มีอบายภูมิเป็นที่ไป พูดง่ายๆ ว่าเป็นคนเสร็จในชาตินี้ก็ไปตกนรกต่อ และบุคคลผู้นั้นก็จะพบกับความทุกข์เจ็บปวดชนิดที่ไม่สามารถจินตนาการได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น เพราะเขาไม่มีกำลังสติในการควบคุมจิตสุดท้ายได้เท่านั้นเอง

8. ปกติแล้วมนุษย์จะมีกิเลสทุกชนิดอยู่ในตนเอง ถ้ามีเหตุปัจจัยไปก่อกวน กิเลสก็จะฟุ้งกระจายออกมา เกิดเป็นความคิด คำพูด และการกระทำที่เป็นอกุศล วิปัสสนานั้น ไม่ได้ช่วยป้องกันกิเลสฟุ้งกระจายเท่านั้น แต่ยังสามารถสะสางกิเลสออกจากใจเป็นการถาวรได้ด้วย เราเรียกผู้ที่สามารถสำรอกกิเลสออกจากตนเองว่า พระโสดาบัน พระสกกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

9. เมื่อฝึกวิปัสสนาถึงระดับหนึ่ง จิตจะได้รับความสุขในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นความสุขแบบละเอียด เรียกว่าสุขจากสมาธิ และสุขจากวิมุติ ซึ่งเป็นความสุขชั้นสูงที่มีไว้เฉพาะผู้ฝึกจิตเท่านั้น ปกติคนเราจะได้รับความรู้อยู่เพียงระดับกามสุข คือมีโอกาสเข้าถึงแค่ความสุขชั้นตื้นอันเกิดจากสัมผัสรับรู้ต่างๆ แม้มนุษย์ผู้ใด สัมผัสเพียงความสุขระดับกามสุข มนุษย์ผู้นั้นก็เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

10. วิปัสสนา ทำให้คนไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ทำให้คนพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง แท้จริงแล้ว วิปัสสนาคือวิถีชีวิตในอุดมคติที่พระพุทธเจ้าต้องการให้มนุษย์ทุกผู้นำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างสังคมของพระโสดาบันให้เกิดขึ้นในโลก สังคมของพระโสดาบันนี้ เป็นสังคมของผู้มีกิเลสน้อย เป็นสังคมแห่งสันติภาพ เป็นสังคมของคนเอาการเอางานแต่ไม่เอาชนะคะคาน เป็นสังคมแห่งความเมตตาอารีย์ ชาวพุทธทั้งหลาย จึงสมควรอย่างยิ่ง ที่จะทำการศึกษาวิชาวิปัสสนาอย่างจริงจัง ให้เข้าใจ ให้รู้จริง ให้ขึ้นใจ เพื่อจะนำไปปฏิบัติลงในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติลงในการยืน เดิน นั่ง นอน รู้คิด รู้หยุดความคิด รู้เท่าทันความคิด รู้จักอยู่เหนือความคิดอันนำไปสู่การอยู่เหนืออัตตาตัวตน เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะได้สร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น ต่อเมื่อลมหายใจสุดท้าย ก็มีโอกาสได้พบสุคติภูมิเป็นที่หมาย มีโอกาสไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด แม้ไม่สนใจวิปัสสนาเลย โอกาสเป็นมนุษย์โดยสมบูณณ์ก็ยากยิ่ง โอกาสสู่สุคติภูมิก็ยากยิ่ง โอกาสยุติการเวียนว่ายก็เป็นไปไม่ได้ ต้องมีชีวิตสุขๆ ทุกข์ๆ แบบโลกๆ เช่นนี้ไปชั่วอนันตกาล!!!

ป.ล. ทุกวันนี้ผู้คนมีความทุกข์กันมาก
การไม่เท่ากันกิเลสของตน
นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ตนเองแล้ว  ยังสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง  และสังคมด้วย  ถึงเวลาแล้วหรือยัง
ที่การเจริญสติหรือวิปัสสนากรรมฐาน
จะกลายเป็นวาระแห่งชาติสำหรับประชาชนชาวไทย!!!

******************************************ติดต่อ "พศิน อินทรวงค์"
วิทยากร/ หนังสือ/บทความ
https://www.facebook.com/talktopasin2013
******************************************
Cr.Fwd.line

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น