วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562

สมาธิ 3 นาที


มีเวลาหายใจไหมครับ

ขอแนะนำวิธีทำสมาธิ
" 3 นาที มีคุณค่า" 
ดังนี้

1. หายใจเข้าช้าๆ ให้ลึกๆ ยาวๆ ไม่กดคอห่อไหล่ปล่อยธรรมชาติให้เลือดกับออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง จะท่านอน หรือนั่ง ก็ได้ นอนดีที่สุด

2. หยุดลมหายใจ และเลือดไว้เลี้ยงสมอง 3-5วินาที เพื่อให้เลือดและออกซิเจน ทำปฏิกิริยากันและล้างสารหลอนประสาทที่เกิดอยู่ในสมองของแต่ละคน

3. จากนั้น ปล่อยลมหายใจออกมาทางปาก ทำปากกลมๆ จนสุดลม

       ทำอย่างนี้ 10-20 ครั้งติดกัน แล้วใช้ทรวงอกปั๊มเลือดและลมขึ้นไปเลี้ยงสมอง ให้อกพองท้องแฟบอีก 20 ครั้ง ติดกัน

4. จากนั้น ผ่อนคลาย จิต จะหยุดคิดเรื่องในอดีต อนาคตโดยอัตโนมัติ แล้วจะเกิด ปีติ ตามมา

5. อาการปีติ เช่น ตัวเบา ตัวโยก น้ำตาไหล ขนลุก แสงสว่าง เกิดขึ้น

6. ระหว่างที่มีอาการเหล่านี้ แสดงว่า ร่างกายเรากำลังผลิตสเตมเซลล์ เพื่อซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย โดยธรรมชาติ ปกติได้จากการหลับลึก

7. การหยุดคิด 1 นาที จะเท่ากับหลับลึก 1 ชม.

8. ให้ทำทุกครั้งที่คิดได้ หรือเวลาจำกัด เอาเวลาเล่นไลน์ มาฝึกหายใจ ก็ดีนะ ให้ทำอย่างน้อยวันละ 10 ครั้ง

ผลดีคือ
อารมณ์ จะดีขึ้น
ความจำ ดีเยี่ยม
มิตรภาพดี
สุขภาพดี
การงานดี
ความคิดเชิงบวกมีมากขึ้น
   
ลองฝึกดู ไม่มีอะไร เสีย มีแต่ ได้ กับ ได้
บุญรักษานะครับ
******
Cr.Fwd line

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

เก็บมาฝาก

อ่านยัง ช่างคิดน่ะ

ถ้าหากตัวอักษร ภาษาอังกฤษ 26 ตัว
A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z

ทั้งหมดนี้ แปลงเป็นตัวเลข
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26

ดังนั้น

Knowledge (ความรู้)
K+N+O+W+L+E+D+G+E
11+14+15+23+12+5+4+7+5 = 96%

Workhard (ทำงานหนัก)
W+O+R+K+H+A+R+D 23+15+18+11+8+1+18+4 = 98%

แสดงว่าความรู้กับการทำงานหนักมีความสำคัญเท่ากับ 96% และ 98% ต่อชีวิต

แล้ว LUCK (โชค ดวงดี)
L+U+C+K
12+21+3+11 = 47%

LOVE (ความรัก)
L+O+V+E
12+15+22+5 = 54%

ดูๆ แล้วสิ่งที่เรานึกว่าเป็นสิ่งสำคัญ ก็ไม่ได้สำคัญอย่างที่เราคิดไว้

แล้วอะไรหละ ที่จะเป็น 100% ของชีวิตคนเรา ?

มันคือ Money (เงินทอง) อย่างงั้นเหรอ ?
M+O+N+E+Y
13+15+14+5+25 = 72%

ก็ไม่ใช่นะหรือว่าคือ Leadership (การเป็นผู้นำ)
L+E+A+D+E+R+S+H+I+P
12+5+1+4+5+18+19+9
+16 = 89%
ก็ยังไม่ใช่อีก

จริงๆ แล้วสิ่งที่จะทำให้ชีวิตเราเต็มร้อยนั่นก็คือ
ATTITUDE
(ทัศนคติ/ความคิด)
A+T+T+I+T+U+D+E
1+20+20+9+20+21+4+5
= 100%

เยี่ยมมั๊ย
สำหรับใครที่ยังไม่อ่าน.อ่านแล้วชอบก้อส่งต่อให้เพื่อนๆด้วยนะครับ
*****
Cr.Fwd.Line

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562

17 เมษายน...

★ ๑๗ เมษายน ๒๒๗๗ ... วันพระราชสมภพ
.. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ..!!
.
✩ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า “สิน” (ชื่อจีนเรียกว่า “เซิ้นเซิ้นซิน) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ “นายไหฮอง” ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ”นางนกเอี้ยง” ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ ๓)  ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ครั้นอายุ ๕ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำไปฝากเรียนกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (วัดคลัง) ทรงศึกษาหนังสือขอมและหนังสือไทยจนจบบริบูรณ์ ตลอดจนศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ต่อมาเมื่ออายุครบ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำราชการกับหลวงศักดิ์นายเวร ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาจักรี เมื่อมีเวลาว่างจะศึกษาหาความรู้ กับอาจารย์ชาวจีน อาจารย์ชาวญวน และ อาจารย์ชาวแขก จนเชี่ยวชาญและสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วทั้ง 3 ภาษา

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดโกษาวาส ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศได้ ๓ พรรษา จึงลาสิกขา และกลับมารับราชการตามเดิม ด้วยความฉลาด รอบรู้ขนบธรรมเนียมตลอดจนภารกิจต่างๆ อย่างดี สามารถทำงานต่างพระเนตรพระกรรณได้ จนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดเล็ก รายงานราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และ กรมวังศาลหลวง

ครั้น พ.ศ. ๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๓ เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓” (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก ครั้นพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น “พระยาตาก ปกครองเมืองตาก”

ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗ พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย โดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ เมืองทางใต้ได้อย่างง่ายดาย ตีเรื่อยตลอดหัวเมืองทางใต้จนถึงเมืองเพชรบุรี จนกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพไทย มีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตากไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนตีพม่าแตกถอยไปทางด่านสิงขร

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๐๘ พม่ายกกองทัพมาตีไทยอีก พระยาตากได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้ จึงได้ปูนบำเหน็จความดีความชอบ ได้รับโปรดเกล้าให้เลื่อนเป็น “พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร” แต่ยังไม่ทันได้ปกครองเมืองกำแพงเพชร ก็เกิดศึกกับพม่าครั้งสำคัญ จึงถูกเรียกตัวให้เข้ารับราชการในกรุง เพื่อป้องกันพระนคร จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๙ ขณะที่ไทยกับพม่ากำลังรบกันอย่างดุเดือด พระยาวชิรปราการ เกิดท้อแท้ใจหลายประการคือ

๑.      พระยาวชิรปราการ คุมทหารออกไปรบนอกเมืองจนได้ชัยชนะยึดค่ายพม่าได้ แต่ทางผู้รักษาพระนครไม่ส่งกำลังไปหนุน ทำให้พม่าสามารถยึดค่ายกลับคืนได้

๒.    ขณะที่ยกทัพเรือออกรบร่วมกับพระยาเพชรบุรี พระยาวชิรปราการ เห็นว่าพม่ามีกำลังมากกว่าจึงห้ามมิให้พระยาเพชรบุรีออกรบ แต่พระยาเพชรบุรี ฝืนออกรบ จนพ่ายแพ้แก่พม่าจนตัวตายในสนามรบ พระยาวชิรปราการ ถูกกล่าวหาว่าทอดทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย

๓.     ก่อนเสียกรุง ๓ เดือน พม่ายกทัพเข้าปล้นพระนคร ทางด้านที่พระยาวชิรปราการรักษาอยู่ เห็นจวนตัว จึงยิงปืนใหญ่ขัดขวาง โดยมิได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุน จึงถูกฟ้องชำระโทษภาคทัณฑ์

ด้วยสาเหตุดังกล่าว พระยาวชิรปราการเห็นว่าขืนอยู่ช่วยป้องกันพระนครต่อไป ก็ไม่มีประโยชน์อันใด และเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าในครั้งนี้เป็นแน่ ดังนั้นในช่วงพลบค่ำวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. 2309 ) พระยาวชิรปราการได้พาเหล่าทหารเอกคือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา (ต่อมาเป็นพระพิชัยดาบหัก) หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี พร้อมสมัครพรรคพวกประมาณ ๕๐๐ นาย ตีฝ่าวงล้อมออกจากค่ายพิชัยมุ่งออกไปจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตีออกมาทางบ้านหันตรา (ทุ่งหัตรา อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน) กองทัพพม่าบางส่วนได้ไล่ติดตามมาทันที่บ้านข้าวเม่า บ้านส้มบัณฑิต (ในเขตอำเภออุทัย) และต่อสู้กันจนถึงเที่ยงคืนพม่าก็ถอยทัพกลับไป พระยาวชิรปราการจึงพากองกำลังเข้าเลียบชายทะเลด้านตะวันออกเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวบ้านให้เข้าร่วมในกองกำลังเข้าโจมตี และผ่านมาที่บ้านนาเริง (เขตอำเภอบ้านนา) แขวงเมืองนครนายก ข้ามแม่น้ำมาที่บ้าน กงแจะ ด่านเมืองปราจีนบุรี พวกพม่าทราบข่าวได้ตั้งกำลังต่อต้านอยู่ที่ ปากน้ำเจ้าโล้ (ไหลลงแม่น้ำบางประกง อำเภอบางคล้า) แขวงเมืองฉะเชิงเทรา จึงเกิดการปะทะกันทั้งสองฝ่ายในวันอังคาร ขึ้น 14 ค้ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. 2309)

หลังจากพระยาวชิรปราการได้รับชัยชนะที่ปากน้ำเจ้าโล้แล้ว ได้เดินทางมาทางบ้านหัวทองหลาง สะพานทอง (อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี) ล่วงเข้ามาในเมืองชลบุรี บริเวณบ้านบางปลาสร้อย และเดินทัพมายังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง นายกลม (หรือฉบับพระราชหัตถเลขาชื่อว่า นายกล่ำ) เป็นนายซ่องสุมไพร่พลหัวหน้า ต่อมาในวันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. 2309) นายกลมได้นำกำลังของพระยาวชิรปราการมาค้างแรมที่ “ทัพพระยา” (บางฉบับเรียกว่าพัทยา) รุ่งขึ้นไปที่บ้านนาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ประทับแรมหนึ่งคืน แล้วเดินทัพตามชายทะเลไปถึงตำบลหิงโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง เมื่อถึงเมืองระยอง มีพระยาระยอง (บุญเมือง) เป็นเจ้าเมือง ไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระยาวชิรปราการ จึงทำการตีเมืองระยองได้ และปะทะกับกลุ่มของขุนรามหมื่นซ่องที่บ้านประแส แขวงเมืองจันทบูร บ้านไร่ บ้านกล่ำเมืองแกลง จนได้รับชัยชนะ มุ่งหน้ายึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น เจ้าเมืองจันทบุรีมิยอมสวามิภักดิ์ พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบมาใช้กับแม่ทัพนายกอง ฟื้นฟูขวัญกำลังใจของไพร่พล เพื่อต้องการรบให้ชนะ โดยสั่งให้ทุบ หม้อข้าวหม้อแกง พร้อมเปล่งวาจา

“เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมดหมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว”

ครั้นถึงเวลาค่ำ พระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้วให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเข้าเมืองพร้อมกัน มิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมืองได้ พอได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา พระเจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชรพร้อมยิงปืนสัญญาณ แจ้งแก่เหล่าทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ทรงไสช้างเข้าพังประตูเมือง จนยึดเมืองได้สำเร็จ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าก็ยกทัพตีพระนคร นับเป็นเวลาที่พม่าล้อมค่ายอยู่ถึง ๑ ปี ๒ เดือน  กรุงศรีอยุธยาจึงเสียแก่พม่า ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ถือเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว บ้านเมืองเกิดแตกแยก หัวเมืองต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่ต่างคนต่างรวมสมัครพรรคพวกตั้งเป็นก๊กต่างๆ ได้แก่ ก๊กสุกี้พระนายกอง ก๊กพระยาพิษณุโลก ก๊กพระเจ้าฝาง ก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และก๊กเจ้าพิมาย พระยาวชิรปราการได้จัดเตรียมกองทัพอยู่เป็นเวลา ๓ เดือน ก็ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา จนตีเมืองธนบุรีแตก จับนายทองอินประหาร แล้วเลยไปตีค่ายโพธิ์สามต้น แตกยับเยิน สุกี้พระนายกองตายในที่รบ ขับไล่พม่าออกไปพ้นแผ่นดินไทยสำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งใช้เวลากู้อิสรภาพกลับคืนจากพม่า ภายในเวลา ๗ เดือนเท่านั้น

จากนั้น พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงยกทัพกลับมากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔” แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” จากนั้นทรงยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ ๓ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๑ – พ.ศ. ๒๓๑๓ จนกอบกู้เอกราช รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวดังเดิม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๕ ปี จึงทรงสวรรคตเมื่อ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สิริพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กอบกู้ประเทศชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้

ประชาราษร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า “มหาราช” รัฐบาล ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ บริเวณหน้า “ศาลาว่าการเมืองพัทยา” เพื่อน้อมรำลึกในพระเกียรติประวัติ เกียรติยศและเกียรติคุณให้ปรากฏกับอนุชนรุ่นหลังตราบเท่าทุกวันนี้

.
ที่มา : http://www.pattaya.go.th/history/ประวัติสมเด็จพระเจ้าตาก/

.
Cr.จินดาศรี รามจุล กลุ่มเรื่องเล่า ภาพเก่าในอดีต

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2562

จัณฑาล ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย

ขอบคุณ ภาพจาก อินเตอร์เนต

◎ 14 เมษายน ค.ศ. 1891 (พ.ศ.2434)...
● ชาตกาล ..ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ...
" จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย " ...
...........✩✩✩✩..........
○ “มหาตมะมาแล้วก็ไป แต่จัณฑาลถึงอย่างไรก็เป็นจัณฑาลอยู่วันยังค่ำ” ..○
※ ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ..
.
ในทศวรรษ ๑๙๓๐ จอห์น สติลล์ นักเขียนพเนจรชาวอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตในหนังสือชื่อ The Jungle Tide ว่า “ความทรงจำของมนุษย์นั้นเป็นด้ายที่เปราะบางเกินกว่าจะแขวนประวัติศาสตร์ได้”

แต่บางครั้ง วีรกรรมของใครบางคนก็ได้รับการถ่ายทอดจากปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น ถักทอด้ายความจำของปัจเจกจนกลายเป็นผืนผ้าแห่งความทรงจำร่วมกันของสังคมที่แน่นหนา และสะท้อนความจริงอย่างซื่อสัตย์กว่าประวัติศาสตร์ที่จารึกในหน้าหนังสือหรืออนุสาวรีย์ใดๆ

มหาตมะคานธีอาจเป็นชาวอินเดียที่คนทั่วโลกรู้จักดีที่สุดตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แต่อินเดียคงไม่มีวันทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้เลยหากปราศจากชายชื่อ บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ (ค.ศ. ๑๘๙๑-๑๙๕๖) ผู้สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่ชาวอินเดียนับล้านคนที่ถูกเพื่อนร่วมชาติหมิ่นแคลนสืบมานานนับพันปี

ดร. บาบาสาเฮบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๑ ในตระกูลคนอธิศูทร (ชื่อเรียกคนวรรณะจัณฑาล) ที่ยากไร้ตระกูลหนึ่งในรัฐมหาราษฏระของอินเดีย เป็นบุตรชายคนที่ ๑๔ และคนสุดท้องของนายรามจิกับนางพิมมาไบ สักปาล บิดามารดาตั้งชื่อเขาว่า “พิม”

แม้จะยากจน นายรามจิกับนางพิมมาไบก็สู้อดมื้อกินมื้อ ทำงานแบกหามสารพัดเพื่อส่งเสียให้เด็กชายพิมได้เรียนจนจบชั้นมัธยม แต่กว่าจะเรียนจบเด็กชายพิมก็ต้องกัดฟันทนพฤติกรรมหยามเหยียดของครูและเพื่อนร่วมชั้นซึ่งเป็นคนในวรรณะสูงกว่า ครูและนักเรียนรังเกียจกระทั่งไม่ยอมให้เขานั่งเก้าอี้ พิมต้องไปปูกระสอบนั่งเรียนกับพื้นอยู่มุมห้องทุกวัน ทุกครั้งที่ครูสั่งให้พิมออกมาทำแบบทดสอบหน้าห้อง เพื่อนนักเรียนจะวิ่งไปเอาปิ่นโตและห่ออาหารที่วางไว้บนรางชอล์กกระดานดำออกมา เพราะกลัวว่าเสนียดของพิมจะไปติดอาหารของพวกเขา เวลาที่พิมกระหายน้ำเขาก็ดื่มน้ำจากแก้วตรงๆ ไม่ได้ ต้องวิงวอนขอความเห็นใจจากเพื่อนให้คอยเทน้ำลงในปากของเขา

โชคดีที่โลกวัยเยาว์ของพิมไม่ได้มีแต่คนใจไม้ไส้ระกำ ครูคนหนึ่งในวรรณะพราหมณ์มีเมตตาต่อพิม คอยหาโอกาสแบ่งอาหารให้เขารับประทาน ครูผู้นี้เล็งเห็นว่าสาเหตุข้อหนึ่งที่พิมถูกรังเกียจคือ “สักปาล” นามสกุลของเขาซึ่งบ่งบอกความเป็นอธิศูทร จึงไปแก้ทะเบียนที่โรงเรียน เปลี่ยนให้พิมใช้นามสกุลของตนคือ “อัมเบดการ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา นามสกุลใหม่นี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าพิมเป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานที่เขาต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี

พิมบากบั่นเล่าเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ด้วยผลการเรียนดีเด่น จนมีนักสังคมสงเคราะห์พาเขาเข้าเฝ้ามหาราชาแห่งเมืองบาโรดา มหาราชาผู้ประสงค์จะสนับสนุนการศึกษาให้แก่คนอธิศูทร พระองค์พระราชทานเงินทุนจนพิมเรียนจบปริญญาตรี และหลังจากนั้นก็ส่งเขาไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา
..
ชีวิตนักศึกษาที่อเมริกาเปิดประตูให้พิมได้ลิ้มรสชาติของความเท่าเทียมทางสังคมเป็นครั้งแรก เพราะที่นั่นไม่มีใครแสดงอาการรังเกียจความเป็นอธิศูทรของเขาเหมือนอย่างในอินเดีย พิมเดินทางกลับอินเดียด้วยความมุ่งมั่นว่าจะต่อสู้เพื่อคนในวรรณะเดียวกัน สร้างสังคมอินเดียที่เสมอภาคให้จงได้

พิมเข้าเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยซิดนาห์ม บอมเบย์ (มุมไบปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. ๑๙๑๘ ต่อมาย้ายไปเป็นข้าราชการในเมืองโครักขปุระตามคำเชิญของมหาราชาชาหุที่ ๑ ผู้ทรงสนับสนุนสิทธิของคนอธิศูทร มหาราชาพระองค์นี้นอกจากจะรับพิมเข้าทำงานแล้วยังออกทุนให้เขาเขียนและตีพิมพ์วารสารรายสัปดาห์ชื่อ มุขนายก (ผู้นำพลังเงียบ) ในบอมเบย์ตั้งแต่ปี ๑๙๒๐ พิมใช้วารสารฉบับนี้โจมตีนักการเมืองอนุรักษนิยมที่ไม่แยแสต่อการกดขี่คนวรรณะต่ำ

ต่อมาเขากลับไปเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (แอลเอสอี) ในอังกฤษ ด้วยเงินที่ยืมจากมหาราชาและเพื่อน ใช้ชีวิตในอังกฤษอย่างแร้นแค้น มุมานะจนเรียนจบปริญญาโทที่นั่น และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ทั้งยังสอบผ่านเนติบัณฑิต วุฒิการศึกษาสูงลิ่วจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่พิมซึ่งตอนนี้เป็น ดร. อัมเบดการ์ ได้มาด้วยความยากลำบาก ทำให้ในที่สุดเขาก็กลับมาทำงานเป็นทนายความในศาลสูงของบอมเบย์ได้สำเร็จ

ข้อเขียนที่วิพากษ์นักการเมืองอย่างตรงไปตรงมาและการเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิของคนจัณฑาลอย่างต่อเนื่องทำให้ ดร. อัมเบดการ์ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวอินเดียร่วมวรรณะมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี ๑๙๓๒ เขาได้รับเชิญไปร่วมงานเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับอนาคตของอินเดียที่กรุงลอนดอน ในห้วงเวลาที่จักรวรรดิอังกฤษเริ่มเปิดพื้นที่ให้คนอินเดียมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ

ดร. อัมเบดการ์เชื่อมั่นว่า ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตของคนวรรณะจัณฑาลทั้งมวลจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามี “อัตลักษณ์” ต่างหากจากทั้งสภาคองเกรสแห่งชาติ (ซึ่งมีมหาตมะคานธีเป็นผู้นำ) และอังกฤษเจ้าอาณานิคม ด้วยเหตุนี้เขาจึงเรียกร้องว่าชาวจัณฑาลควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนต่างหาก คานธีไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ ดร. อัมเบดการ์ (ทั้งที่เห็นว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อาทิชาวมุสลิม และซิกข์ควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน) เนื่องจากเกรงว่าการกันผู้แทนให้แก่จัณฑาลโดยเฉพาะจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมฮินดูรุ่นหลัง (เพราะมองว่าจัณฑาลยังเป็นฮินดู ไม่ใช่คนต่างศาสนาอย่างมุสลิมหรือซิกข์)

ระหว่างที่รัฐบาลอังกฤษเห็นด้วยกับ ดร. อัมเบดการ์ว่าจัณฑาลควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน คานธีก็เริ่มอดอาหารประท้วงข้อเสนอดังกล่าวระหว่างที่ถูกคุมขังในคุกเมืองปูเน เรียกร้องว่าชาวฮินดูทั้งมวลจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประกาศว่าจะอดอาหารจนถึงแก่ชีวิต การประท้วงของคานธีได้รับการสนับสนุนมหาศาลจากมวลชนทั่วทั้งอินเดีย ผู้นำหัวอนุรักษนิยมชาวฮินดูและนักกิจกรรมชั้นแนวหน้าขอนั่งโต๊ะเจรจากับ ดร. อัมเบดการ์และผู้สนับสนุนเขา พยายามกดดันให้ ดร. อัมเบดการ์ยอมยกเลิกข้อเรียกร้องเรื่องผู้แทนของจัณฑาล แรงกดดันประกอบกับความหวั่นเกรงว่าคนในวรรณะจัณฑาลจะตกเป็นเป้าความโกรธแค้นของชาวฮินดูหมู่มากถ้าหากคานธีสิ้นชีวิตจริงๆ ทำให้ ดร. อัมเบดการ์ยอมละทิ้งจุดยืนที่เคยยึดมั่น

ดร. อัมเบดการ์มองว่าการประท้วงอดอาหารของคานธีเป็นอุบายอันแยบยลที่จะกีดกันไม่ให้จัณฑาลมีสิทธิทางการเมือง และเขาก็มองว่าสภาคองเกรสแห่งชาติภายใต้การนำของคานธีอย่างดีที่สุดก็จะทำให้ชาวฮินดูรู้สึกสมเพชเวทนาจัณฑาล แต่ยังปฏิเสธว่าพวกเขาควรมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม คานธีก็หาได้ผูกใจเจ็บ ดร. อัมเบดการ์ไม่ หากมองว่าเขาเป็นเสาหลักที่สำคัญต่ออนาคตของอินเดีย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ คานธีหว่านล้อม เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรก ให้แต่งตั้ง ดร. อัมเบดการ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และเชิญเขาให้มามีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

ร่างรัฐธรรมนูญที่ ดร. อัมเบดการ์เขียนขึ้นนั้นชัดเจนว่ามุ่งสร้าง “การปฏิวัติทางสังคม” ในอินเดียเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยการประกันและคุ้มครองสิทธิพลเมืองนานัปการ ตั้งแต่เสรีภาพในการนับถือศาสนา การยกเลิกวรรณะจัณฑาล และประกาศให้การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ดร. อัมเบดการ์ยังเสนอให้ใช้โควตาในระบบราชการ โรงเรียน และวิทยาลัยเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐธรรมนูญที่ ดร. อัมเบดการ์เป็นหัวหอกผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๙

หลังจากที่ผลักดันรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ก้าวต่อไปของดร. อัมเบดการ์ คือการเขียนกฎหมายกฎบัตรฮินดู (Hindu Code Bill) เพื่อแทนที่จารีตฮินดูซึ่งผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ด้วยกฎหมายที่มอบสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะเรื่องมรดก การแต่งงาน และเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่า ดร. อัมเบดการ์จะได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเนห์รู ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภา ความขัดแย้งส่งผลให้ ดร. อัมเบดการ์ตัดสินใจลาออกจากคณะรัฐมนตรีในปี ๑๙๕๑ ปีต่อมาเขาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่แพ้การเลือกตั้ง เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีเดียวกัน และเป็นวุฒิสมาชิกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ค.ศ.๑๙๒๗ ดร.อัมเบดการ์นำพิธีสัตยาเคราะห์ดื่มน้ำในสระโชว์ดาร์
ที่เมืองมหัท(Mahad)ซึ่งเดิมห้ามคนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระนี้
นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ “ศตวรรษแห่งความเสมอภาค”

ดร. อัมเบดการ์เป็น “บิดาแห่งอินเดียสมัยใหม่” ที่คนนอกอินเดียรู้จักน้อยที่สุด ต่างจากรัฐบุรุษร่วมสมัยที่ได้รับสมญานามนี้อีก ๒ คน คือเนห์รูกับคานธี แต่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจำนวนมากรู้จักเขาในฐานะผู้นำคนอธิศูทรกว่า ๕ แสนคน เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะพร้อมกันในงานฉลองพุทธชยันตี เมืองนาคปุระ ในปี ค.ศ. ๑๙๕๖

เหตุผลที่ ดร. อัมเบดการ์ประกาศตนเป็นชาวพุทธและชักชวนเพื่อนร่วมวรรณะให้เป็นพุทธด้วยนั้นชัดเจนจนไม่ต้องอธิบายให้มากความ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ปิดกั้นใคร มองคนทุกคนเสมอกันในความเป็นมนุษย์ ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะเหมือนศาสนาฮินดูซึ่ง ดร. อัมเบดการ์เคยตั้งข้อสังเกตในวารสารของเขาว่า

“สังคมฮินดูมีส่วนประกอบอยู่ ๓ ประการ คือ พราหมณ์ มิใช่พราหมณ์ และอธิศูทร พราหมณ์ผู้สอนศาสนามักกล่าวว่าพระเจ้ามีอยู่ในทุกหนแห่ง ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าก็ต้องมีอยู่ในอธิศูทร แต่พราหมณ์กลับรังเกียจคนอธิศูทร เห็นเป็นตัวราคี นั่นแสดงว่าเขากำลังเห็นพระเจ้าเป็นตัวราคีใช่หรือไม่”

พิธีปฏิญาณตนของ ดร. อัมเบดการ์และชาวอธิศูทรในวันนั้นเป็นที่โจษขานกันสืบมาว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ นอกจากคำปฏิญาณตน ๒๒ ข้อจะรวมหลักธรรมะเช่น “ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า” และ “ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา” แล้ว ยังมีข้อที่สะท้อนเจตนารมณ์ของ ดร. อัมเบดการ์ เช่น “ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน”

ดร. อัมเบดการ์เลือกเมืองนาคปุระเป็นสถานที่ในการประกอบพิธี แทนที่จะเลือกเมืองใหญ่อย่างเดลีหรือบอมเบย์ ด้วยเหตุผลว่าเมืองนี้เป็นเมืองแห่งนาค ซึ่งตามพุทธประวัตินาคเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกชาวอารยันย่ำยีข่มเหง คล้ายกับที่คนวรรณะต่ำถูกกดขี่จากคนวรรณะสูงกว่า ชนเผ่านาคเลื่อมใสในศาสนาพุทธหลังจากได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรม ร่วมกันเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วทั้งอินเดีย จวบจนปัจจุบันศูนย์กลางพุทธศาสนาก็ยังอยู่ที่เมืองนาคปุระ แม้หลังจากที่ถูกชาวฮินดูขับไล่กดขี่จนถูกปรามาสว่าเป็นชนชั้นจัณฑาล (เหตุนี้ชาวจัณฑาลส่วนใหญ่จึงสืบเชื้อสายมาจากชาวพุทธ เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ ดร. อัมเบดการ์ใช้จูงใจให้คนอธิศูทรเปลี่ยนศาสนา)

ดร. อัมเบดการ์ถึงแก่กรรมก่อนกาลในวันที่ ๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ด้วยโรคร้าย เพียง ๓ เดือนหลังจบพิธีพุทธชยันตี ท่ามกลางความตกใจและเศร้าโศกเสียใจของชาวอินเดียนับล้านคน นายกรัฐมนตรีเนห์รูกล่าวคำสดุดีเขาตอนหนึ่งว่า

“เพชรของรัฐบาลได้จากไปเสียแล้ว…ชื่อของอัมเบดการ์จะต้องถูกจดจำชั่วกาลนาน ในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อลบล้างความอยุติธรรมในสังคมฮินดู”

รูปปั้น ดร.อัมเบดการ์ในชุมชนคนอธิศูทร
ถึงแม้ว่าเขาจะล่วงลับไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ มรดกทางความคิดและอิทธิพลของ ดร. อัมเบดการ์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบว่ายิ่งใหญ่เพียงใด ถ้าหากมหาตมะคานธีเป็นมโนธรรมของโลกแล้วไซร้ ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ก็เป็นมโนธรรมของอินเดียอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าหากคานธีเป็นสัญลักษณ์ของอุดมคติทางศีลธรรม ดร. อัมเบดการ์ก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังทางการเมืองและการปฏิวัติสังคม และถ้าหากคุณูปการของคานธีคือการปลุกเร้ามโนธรรมของชนชั้นสูงให้มองเห็นการกดขี่ข่มเหงคนวรรณะต่ำ คุณูปการของ ดร. อัมเบดการ์ก็ยั่งยืนยิ่งกว่านั้นในแง่ที่มอบอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่คนวรรณะต่ำ และมอบความเชื่อมั่นในตนเองให้พวกเขาลุกขึ้นสู้กับความ             อยุติธรรมในสังคม

ขณะที่มหาตมะคานธีเป็นวีรบุรุษในดวงใจของชาวโลกและปัญญาชนผู้มีฐานะในอินเดีย คน (ไม่) สำคัญของโลกแต่สำคัญสำหรับอินเดีย นาม ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ก็เป็นวีรบุรุษที่ลูกหลานคนอธิศูทรในอินเดียไม่มีวันลืม ชีวิตของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ด้อยโอกาสจำนวนมหาศาลฮึดสู้กับโชคชะตา มุมานะเล่าเรียนและทำงานหนักเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง มีส่วนร่วมอย่างเต็มภาคภูมิในการเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าทึ่งของอินเดีย

ชาวพุทธในอินเดียเชื่อว่าวิญญาณของเขายังเวียนวนอยู่ในภพนี้ คอยช่วยเหลือพวกเขาและผู้ด้อยโอกาสทั้งมวล ด้วยเหตุนี้จึงนับเขาเป็นสรณะทัดเทียมกับพระรัตนตรัย โดยเพิ่มชื่อเดิมต่อท้ายบทสวดไตรสรณคมน์ว่า “พิมพัง สรณัง คัจฉามิ” สืบมาจนทุกวันนี้
.
ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓๑๑ มกราคม ๒๕๕๔
.
Cr.sarakadee.com
. .....

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562

ส่งต่อออกไป

ครั้งหนึ่งนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะคนหนึ่งของโลก พอล แอร์ดิช (Paul Erdős) ได้ยินว่าลูกศิษย์คนหนึ่งไม่สามารถเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ดได้ เพราะขาดเงิน เขาจึงมอบเงินให้ลูกศิษย์เรียนต่อจนจบ หลายปีต่อมาลูกศิษย์คนนั้นกลับมาหาอาจารย์และคืนเงินที่อาจารย์ให้ยืม อาจารย์ตอบว่า“คุณเอาเงินนี้ไปให้นักศึกษาคนอื่นที่ต้องการใช้เงิน ให้เขาใช้เรียนต่อ”

เคยไหมที่เรายื่นหนังสือที่อ่านแล้วให้คนแปลกหน้า เขาบอกว่า “แล้วผมจะคืนคุณยังไง?”

“ก็ส่งต่อให้คนอื่นอ่านก็แล้วกัน”

เคยไหมที่เมื่อการจราจรติดขัด รถคันหนึ่งยอมเปิดทางรถให้เรา เรารู้สึกดีจนเมื่อมีรถคันอื่นขอทางบ้าง เราก็เปิดทางให้รถอีกคันหนึ่ง

เหล่านี้ดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ เหมือนหยดน้ำใสหยดเล็กที่ไม่มีพลังอำนาจใด แต่เมื่อรวมกัน ด้วยจำนวนคนที่ส่งต่อหยดน้ำใสมากพอและนานพอ หยดน้ำใสก็สามารถเปลี่ยนบ่อน้ำครำทั้งบ่อเป็นน้ำใสได้

สังคมเราโอบรับความเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกที มากจนสำลัก คนส่วนใหญ่ไม่คิดจะทำดีเพื่อคนอื่นหากไม่ได้รับสิ่งตอบแทน และมองว่าการให้คนอื่นเป็น ‘ความโง่’

นี่คือแนวคิดที่เรียกว่า pay it forward

pay it forward เป็นสำนวน หมายถึงการตอบแทนบุญคุณที่ได้รับจากใครคนหนึ่งให้คนอื่นแทน

นี่มิใช่แนวคิดใหม่ เชื่อว่ามันเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ และมีนักคิดนักเขียนไม่น้อยเขียนแนวคิดนี้ มันเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้น

นักเขียนผู้เร่ิมใช้วลี Pay It Forward คนแรกคือ Lily Hardy Hammond ในหนังสือเรื่อง In the Garden of Delight ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1916 ท่อนหนึ่งในหนังสือเขียนว่า “You don’t pay love back; you pay it forward.”

คุณไม่รักตอบ คุณรักต่อ

pay it forward ฟังดูเหมือนเรื่องเพ้อฝัน อุดมคติโง่ ๆ ไม่มีประโยชน์ แต่หากทุกคนตอบแทนความดีที่ได้รับต่อให้คนอื่น โลกจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เราไม่ควรปล่อยการทำดีเป็นหน้าที่ของมูลนิธิหรือองค์กรการกุศล มันเป็นหน้าที่ของเราทุกคน

มันเป็นงานที่ยาก แต่มันเป็นไปได้

เพราะในโลกที่คนไม่แยแสสังคมส่วนรวม การเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นไม่อาจกระทำได้ง่าย ๆ

ความดีเป็นสิ่งแปลกอย่างหนึ่ง ยิ่งให้ยิ่งงอกเงย ยิ่งส่งต่อยิ่งสวยงาม

บุญคุณได้รับแล้วสมควรตอบแทน แต่การตอบแทนสามารถไปได้กว้างกว่าคืนเจ้าของเดิม

และนี่คือความรักโดยไม่มีข้อแม้ที่แท้จริง

ไม่ต้องตอบแทนความรัก ส่งมันต่อออกไป

.……………….

จากหนังสือ 1 เปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้

วินทร์ เลียววาริณ
********
Cr.ขอบคุณ จาก Fwd.Line

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562

คำสอนล้ำค่าของพ่อ


วันนี้มีเรื่องเล่าดีๆ มีข้อคิด มาฝากจ้า
....สละเวลาอ่านสักนิด ชีวิตจะมีแต่ความโชคดีเข้ามาหา

❤ คำสอน “ล้ำค่า” ของ “พ่อ” ❤

..ค่ำคืนหนึ่ง พ่อยกบะหมี่ร้อนๆ ออกมาจากครัว สองชาม ชามหนึ่ง
มีไข่ต้มหนึ่งฟอง อยู่ด้านบน อีกชาม เห็นมีแต่..เส้นบะหมี่ล้วนๆ
..ยุคสมัยนั้น ไข่ไก่ เป็นของหายาก มีราคาสูง
นานๆที หรือในเทศกาลพิเศษ จึงจะได้ลิ้มรสไข่ไก่
ตาผม ลุกวาวทันที เมื่อเห็นไข่ต้มสีขาวนวลฟองโต อยู่ในชาม
..พ่อถามผมว่า อยากได้ ชาม..ไหน
ผมหยิบเอาชาม ที่มีไข่โดยไม่ลังเล กำลังกินด้วยความเอร็ดอร่อย
เหลือบไปเห็นชาม ของพ่อมีไข่ สองฟองอยู่..ข้างล่าง
ผมได้แต่ เสียดาย ใจร้อน ไปหน่อย
...พ่อสอนผมว่า "จำไว้ สิ่งที่เห็น..อาจจะ ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
คิดแต่จะ เอาเปรียบคนอื่น สุดท้ายคนที่เสียเปรียบคือเรา"
..คืนถัดมา..พ่อเตรียมบะหมี่ออกมาสองชามเหมือนเดิม
สภาพเหมือน เมื่อคืน คราวนี้ ผมคิดว่า ผมฉลาดขึ้น
ขอเลือกชาม ที่ไม่มีไข่ พ่อมองหน้าผม อย่างเงียบๆ
ไม่ปริปาก พูดอะไรสักคำ ผมรีบนำตะเกียบ คุ้ยเส้นบะหมี่
แน่ใจว่าวันนี้ ต้องได้กินไข่สองฟอง
แต่ปรากฏว่า ทั้งชามมีแต่เส้นบะหมี่ ไม่มีอะไรอยู่ข้างล่าง
*พ่อพูดกับผมว่า.. “ลูกเอ๋ย อย่ามั่นใจ กับประสบการณ์ของตนเองเกินไป
บางครั้งชะตากรรม ก็ต้องการหลอกลวง หรือทดสอบเรา
มันอาจจะผิดพลาด หรือผิดคาด ต่างจากประสบการณ์ ครั้งก่อนๆ
ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องเศร้า นั่นก็แค่บทเรียนชีวิตบทหนึ่ง ที่ควรต้องจดจำ
เรื่องพวกนี้ คงต้องประสบพบเจอด้วยตัวเอง ไม่มีสอนกันในห้องเรียน"
..คืนที่สาม พ่อเตรียมบะหมี่ ออกมาสองชามเหมือนเดิม
มีไข่หนึ่ง ไร้ไข่หนึ่ง พ่อให้ผมเลือกก่อน แต่ผมได้บอกพ่อด้วยความจริงใจว่า
."พ่อครับ พ่อเป็นผู้ใหญ่ พ่อเป็นคนเสียสละ เลี้ยงดูผมมามากแล้ว
... พ่ออยากได้ชามไหน เชิญพ่อเลือกไปก่อนเถอะครับ"
.พ่อไม่ได้ปฏิเสธ พ่อยกเอาชามที่มีไข่ไป ผมก็แน่ใจว่า
ชามผมต้องมีแต่เส้นบะหมี่ล้วนๆ แต่กลับปรากฏว่า
ชามของผมมีไข่สองฟองโตๆ ซ่อนอยู่ข้างล่าง
.พ่อเงยหน้าขึ้น แววตาพ่อ เต็มไปด้วยแววแห่งความรัก และห่วงใย
"ลูกรัก จำไว้อย่าได้ลืม ถ้าลูกเป็นคนมีน้ำใจ
คิดถึง คนอื่นก่อนเสมอ สิ่งดีๆ ในชีวิต ก็จะแวะเวียนมาหาลูก
แต่หากชีวิตลูกต้องประสบพบเจอคนที่แล้งน้ำใจบ้าง
ก็ไม่ต้องไปใส่ใจถือโทษคนจำนวนน้อยเหล่านั้น
จงรักษาความมีน้ำใจของเราต่อไป"
... คำพูดของพ่อ ทำให้ผมละอายใจ อย่างที่สุด
จากนั้นเป็นต้นมา ผมจำคำสอนของพ่อ ไม่มีลืม..
ไม่ว่าจะทำอะไร เจอใคร หรือทำธุรกิจกับใคร
ผมมักจะคิดถึงหัวอก หรือความรู้สึกของคนอื่นด้วย
ผมเริ่มเป็นคน มีน้ำใจ.. เริ่มมีแต่คนรัก-คนชอบ
เริ่มมีคนอยากคบค้าสมาคมกับผม
...แล้วมันก็จริง ที่อย่างที่พ่อทำนายไว้
สิ่งดีๆ วิ่งเข้ามาหาผมในชีวิตมากมาย
... ตอนนี้ ผมมีครอบครัวที่อบอุ่น
มีสังคมที่ห้อมล้อมไปด้วยคนดีๆ
และธุรกิจของผม มีแต่เจริญรุ่งโรจน์ไม่รู้จักจบจักสิ้น
...ขอบพระคุณสำหรับคำสอนดีๆ ของคุณพ่อ
ผมรู้ซึ้งแล้วว่า พ่อพยายามทุกวิถีทาง…
..ที่จะปลูกฝัง ให้ผมเป็นคนดีไม่เห็นแก่ตัว
นี่เป็นตัวอย่างบทหนึ่ง ที่พ่อสอดแทรกเข้ามาในชีวิตผมตั้งแต่เด็ก
โลกทัศน์ของผมค่อยๆ เปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว
@ผมขอถือโอกาส..ส่งมอบ..สิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไปให้ทุกๆท่าน
และถ้าจะกรุณาส่งต่อๆ กันไป ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีงาม
สังคมที่ดีมีน้ำใจไมตรีต่อกัน ช่วยกันพัฒนาคนละไม้คนละมือ
แม้จะกินเวลา ... แต่สังคมต้องดีขึ้นแน่นอน
.และที่สำคัญที่สุด อย่าลืมปรับปรุงตัวเราเองเสียก่อน
แล้วสิ่งดีๆ ในชีวิตจะบังเกิดขึ้นกับเราไม่จบไม่สิ้น

ขอบคุณแหล่งที่มา : S.sopit (ธรรมะสุขใจ)

ขอให้มีความสุขกับการใช้ชีวิต ครับ
..:ღ´¨)
¸.•´¸.•*´¨) ¸.•*¨)
(¸.•´ (¸.•` ❤ สหพุทธ ღ¸¸.•*¨*•.
*******
Cr.Fwd.Line

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562

ความช้าของเวลาชีวิต


มีใครบางคนถามฉันว่า...จะผ่านช่วงเวลามรสุมของชีวิตไปได้อย่างไร ใช้เวลานานเท่าไหร่ แล้วเราจะผ่านมันไปได้ไหม พอนึกย้อนกลับไป สิ่งที่จำได้คือเวลาที่เดินช้าลง
.
ความเนิ่นนานของเวลาที่ช้าเหลือเกินจนทำให้เราสัมผัสทุกรายละเอียดของอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และบรรยากาศของสิ่งรอบข้าง เห็นแม้กระทั่งเม็ดฝนที่ตกลงสู่พื้นดิน แสงอาทิตย์ยามเช้ามืดที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้เงยหน้าขึ้นมอง ได้ยินเสียงของคนรอบข้าง จากที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งใจฟัง
.
“ความช้าของเวลาชีวิต” ทำให้เรามองเห็นความห่วงใย มิตรภาพ และความรักของคนใกล้ชิดที่เรามักจะหลงลืมเขาไป จังหวะเวลาที่ช้าลงทำให้เราได้หันกลับมาทบทวนและเรียนรู้ชีวิตให้ลึกซึ้งมากขึ้น
.
บางทีฉันก็อยากจะบอกคนที่ถามไปว่า ไม่ต้องรีบร้อนที่จะพาตัวเองให้พ้นจากมรสุมนั้นหรอก แค่ใช้เวลาของชีวิตให้ช้าลง สังเกตอารมณ์ความรู้สึกที่แปรปรวน มองเห็นความรู้สึกนั้น จนกระทั่งมันค่อยบรรเทาเบาบางลง
.
มรสุมที่พัดผ่านไป จะทำให้ใจที่บอบบางเข้มแข็งขึ้น ขอเพียงเราทำจังหวะชีวิตให้ช้าลง เราน่าจะรับมือกับพายุลูกใหม่ที่พัดผ่านเข้ามาได้อย่างคนที่เรียนรู้ที่จะเข้าใจจังหวะการเดินทางของเวลาชีวิตได้ดีมากยิ่งขึ้น
.
#ความช้าของเวลาชีวิต #Fridayvibes
***
Cr.Fwd line :supamonta