วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

สร้างบารมี..ปีใหม่

                           
.................

      ในคืนวันตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี ๑๐ ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับบทความตอนนี้จะเล่าขยายความเรื่องบารมี ๑๐ ทัศ เป็นเบื้องต้น

          ก่อนที่พระโพธิสัตว์อันสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต จะได้ทรงตรัสรู้บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อโปรดชาวโลกนั้น พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ อันได้แก่

๑. พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ การถือบวชสูงสุด
๒. พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยะบารมี คือ ความพากเพียรสูงสุด
๓. พระสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ ความเมตตาสูงสุด
๔. พระเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความมีจิตที่แน่วแน่สมบูรณ์
๕. พระมโหสถ ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ความมีปัญญาสูงสุด
๖. พระภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี คือ ความมีศีลที่สมบูรณ์สูงสุด
๗. พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดกลั้นสูงสุด
๘. พระนารทพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การมีอุเบกขาสูงสุด
๙. พระวิธูรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี คือ ความมีสัจจะสูงสุด
๑๐. พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี คือ การรู้จักการให้ทานสูงสุด

บารมี ๑๐ หรือ ทศบารมี (ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น ได้แก่ ทานบารมี, ศีลบารมี, เนกขัมมบารมี, ปัญญา บารมี, วิริยบารมี, ขันติบารมี, สัจจบารมี, อธิษฐานบารมี, เมตตาบารมี, อุเบกขาบารมี เป็นบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญมาอย่างยิ่งยวด จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเป็น ๓ ขั้น ตั้งแต่อย่างธรรมดา เรียกว่า "บารมี" อย่างกลาง เรียกว่า "อุปบารมี" จนถึงอย่างละเอียด เรียกว่า "ปรมัตถบารมี "

ในระดับ "บารมี " ทรงบำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงทรัพย์สมบัติ ยศฐาบรรดาศักดิ์ และคนที่พระองค์รัก ทรงหวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนคนรักและทรัพย์สมบัติ จึงสละได้แม้กระทั่งคนรักและทรัพย์สมบัติ

ในระดับ "อุปบารมี" ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงอวัยวะร่างกาย ทรงหวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนอวัยวะร่างกาย จึงสละได้แม้กระทั่งอวัยวะร่างกาย

ในระดับ "ปรมัตถบารมี" ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงชีวิต ทรงหวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต จึงสละได้แม้กระทั่งชีวิต

ทศบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ทรงบำเพ็ญละเอียดขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่บารมีอย่างธรรมดา อย่างกลาง ไปจนถึงอย่างละเอียดที่สุด รวมเป็น ๓๐ บารมี ดังนี้

๑. เนกขัมมบารมี หมายถึง การพรากกายและจิตออกจากเครื่องผูกรัดอันเป็นอุปสรรคต่อการขัดขวางการทำความดี ด้วยการบังคับกายไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งยั่วยุทางกาย ในเบื้องต้นแม้จะยังไม่ถึงกับออกบวช ก็เป็นการพรากกายออกไปจากความวุ่นวายสับสนของเหตุการณ์และของโลกในขณะนั้น เป็นกายวิเวก และการตั้งจิตให้อยู่ในความสงบ เป็นจิตวิเวก อย่างสูงสุดหมายถึงออกจากกิเลสทั้งปวง โดยมีความดับทุกข์เป็นเป้าหมาย

พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติในเนกขัมมบารมีมาโดยลำดับ ตั้งแต่อย่างหยาบ อย่างกลาง จนถึงอย่างละเอียด บางพระชาติก็ออกบวช บางพระชาติแม้มิได้ออกบวช แต่ก็ทรงดำรงตนอย่างมีสติน้อมใจให้ออกจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองต่างๆ บางพระชาติออกบวชขณะยังหนุ่มแน่น บางพระชาติออกบวชเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีอย่างแรงกล้าตามลำดับ ดังนี้

(๑) เนกขัมมบารมี ได้แก่ ออกไปด้วยความรักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รัก และทรัพย์สมบัติ จึงตัดความห่วงใย ปลีกตนออกไปบำเพ็ญกายวิเวก คือ ความสงัดทางกาย สงัดจากกามและอกุศลกรรมทั้งหลาย เนกขัมมะในระดับนี้ แม้คนรักและทรัพย์สมบัติจะสูญสิ้นไป ก็ไม่ทำลายปณิธาน ไม่ยอมให้กายไปเกี่ยวข้องกับกาม พยาบาท อวิหิงสา ตลอดจนอกุศลกรรมทั้งหลาย เพราะมีเป้าหมายอยู่ที่พระโพธิญาณ

(๒) เนกขัมมอุปบารมี ได้แก่ ออกด้วยความรักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะ ร่างกาย จึงตัดความห่วงใย ปลีกตนออกบำเพ็ญจิตวิเวก คือ ความสงัดทางจิต จากกามและอกุศลทั้งหลาย ด้วยฌานและสมาธิ เนกขัมมบารมีระดับนี้ แม้อวัยวะร่างกายจะแตกทำลายไปก็ไม่ทำลายปณิธาน เป็นขั้นฝึกบังคับใจไม่ให้เกี่ยวข้องในกาม พยาบาท อวิหิงสา ตลอดจนอกุศลกรรมทั้งหลาย ด้วยฌานและสมาธิ เพราะมีเป้าหมายอยู่ที่พระโพธิญาณ

(๓) เนกขัมมปรมัตถบารมี ได้แก่ ออกด้วยความรักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต จึงตัดความห่วงใย ไม่อาลัยในชีวิต ปลีกตนออกบำเพ็ญอุปธิวิเวก คือ ความสงัดจากกิเลส รวมทั้งกามและอกุศลทั้งสิ้น ด้วยอริยมรรคญาณ แม้ชีวิตจะแตกทำลายไปก็จะไม่ทำลายปณิธาน เนกขัมมบารมีในระดับนี้ เป็นขั้นสงัดจากกาม พยาบาท อวิหิงสา ตลอดจนกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ด้วยอริยมรรคญาณ

๒. วิริยบารมี หมายถึง ความเพียรพยายามอยู่ร่ำไปไม่ท้อถอย จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ เพียรพยายามในการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล และในการที่จะทำกุศลให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความเพียรที่จะไม่ทำความชั่ว เพียรทำดี และเพียรชำระจิตของตนให้ผ่องแผ่ว

ความเพียรมีหลายด้าน ตั้งแต่ความเพียรพยายามอย่างธรรมดาไปจนถึงความเพียรพยายามอย่างสูงสุด แต่ความเพียรพยายามในทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ อันจะเป็นเหตุแห่งวิริยบารมี มุ่งหมายเอาความเพียรพยายามที่จะพ้นทุกข์ และความเพียรที่จะต้องตั้งไว้เป็นเป้าหมายสูงสุด คือ สังวรปธาน เพียรละวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ภาวนาปธาน เพียรทำความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น อนุรักขนาปธาน เพียรทำความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่

พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติในวิริยบารมีอย่างแรงกล้า มุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมายสูงสุด ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) วิริยบารมี ได้แก่ ความเพียรที่บำเพ็ญด้วยความมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย รักเพียรเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน จึงเพียรพยายามที่จะตัดใจสละคนที่รักและทรัพย์สินเพื่อมุ่งหวังโพธิญาณ

(๒) วิริยอุปบารมี ได้แก่ ความเพียรที่บำเพ็ญด้วยความมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย มีความเพียรพยายามเพื่อบรรลุพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน ไม่คำนึงถึงอวัยวะร่างกาย จึงกล้าสละได้แม้กระทั่งอวัยวะร่างกาย

(๓) วิริยปรมัตถบารมี ได้แก่ ความเพียรที่บำเพ็ญด้วยความมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย รักความเพียรพยายามเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตตน ไม่คำนึงถึงชีวิต เพื่อที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณ จึงกล้าสละได้แม้กระทั่งชีวิต

๓. เมตตาบารมี หมายถึง ไมตรีจิต ความรัก ความปรารถนาดีความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจดีต่อกัน ต้องการสร้างเสริมประโยชน์สุขให้แก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เมตตาจัดเป็นธรรมพื้นฐานของใจขั้นแรก ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งทำให้มองกันในแง่ดี หวังดีต่อกัน พร้อมที่จะรับฟัง และเจรจากันด้วยความเข้าใจ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีอคติ คือ ความโกรธ ความเกลียด เป็นที่ตั้ง เป็นหลักธรรมพื้นฐานสำหรับสร้างความสามัคคีและเอกภาพของหมู่ชน ประกอบด้วยเมตตากายกรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมตตาวจีกรรม การพูดจากันด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนโยน ว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดีและจริงใจ เมตตามโนกรรม การมองกันในแง่ดี มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความสงสาร มีความเห็นใจ อยากช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ คิดทำแต่สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่กันและกัน

ความเมตตาอย่างสูงสุดมุ่งที่จะเห็นผู้อื่นพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ จึงยอมสละได้แม้กระทั่งทรัพย์สิน คนรัก อวัยวะร่างกาย หรือแม้กระทั่งชีวิต เห็นการเกิดแก่เจ็บตายของสรรพสัตว์เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติในเมตตาบารมีอย่างแรงกล้ามาโดยลำดับ ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) เมตตาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีมาโดยลำดับ ทรงรักษาปฏิบัติในเมตตาบารมีเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่ารักษาคนที่รักและทรัพย์สิน

(๒) เมตตาอุปบารมี พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมียิ่งขึ้นโดยลำดับ ทรงรักษาเมตตาบารมียิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย คือ ทรงรักษาปฏิบัติในเมตตาบารมีเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย

(๓) เมตตาปรมัตถบารมี พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีอย่างสูงสุด ด้วยการรักษาเมตตาบารมียิ่งกว่าชีวิต คือ ทรงรักษาปฏิบัติในเมตตาบารมีเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต

๔. อธิษฐานบารมี หมายถึง อธิษฐานใจให้ชีวิตมีเป้าหมาย มุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ หรือเพื่อบรรลุผลในสิ่งที่พึงประสงค์ การอธิษฐานที่จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลที่พึงประสงค์นั้น ต้องมีวิริยะ คือ ความเพียรพยายามอยู่ร่ำไปไม่ท้อถอย มีขันติ คือ ความอดทน มีสัจจะ คือ ความจริงใจ และรักษาความตั้งใจไว้อย่างมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว ผู้ที่ต้องการก้าวไปสู่ความสำเร็จในชีวิตต้องอาศัยแรงอธิษฐาน คือ กำหนดเป้าหมายไว้แล้วก้าวเดินไปอย่างมุ่งมั่น

ลักษณะแห่งการอธิษฐานธรรมนั้น ต้องประกอบด้วยปัญญา สิ่งนั้นต้องเป็นจริงและมีความจริงใจซื่อตรงต่อสิ่งที่อธิษฐาน สละได้แม้กระทั่งทรัพย์สิน คนรัก อวัยวะร่างกาย หรือแม้กระทั่งชีวิตที่จะทำให้เป้าหมายที่อธิษฐานไว้เปลี่ยนไป ตลอดจนแสวงหาความสงบส่งเสริมให้จิตมีความมั่นคงต่อสิ่งที่อธิษฐาน

สิ่งที่จะต้องอธิษฐานไว้สูงสุด คือ อธิษฐานให้สามารถดับทุกข์ได้เป็นเป้าหมายสูงสุด พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติในอธิษฐานบารมีอย่างแรงกล้า โดยมีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) อธิษฐานบารมี พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีมาโดยลำดับ ทรงรักษาอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่ารักษาคนที่รักและทรัพย์สิน แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สินไปก็จะไม่ละทิ้งเป้าหมายที่อธิษฐานไว้

(๒) อธิษฐานอุปบารมี พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมียิ่งขึ้นโดยลำดับ ทรงรักษาอธิษฐานยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย คือ ทรงรักษาอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกายไปก็จะไม่ละทิ้งเป้าหมายที่อธิษฐานไว้

(๓) อธิษฐานปรมัตถบารมี พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีอย่างสูงสุด ด้วยการรักษาอธิษฐานยิ่งกว่าชีวิต คือ ทรงรักษาอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต แม้จะสูญเสียชีวิตก็จะไม่ละทิ้งเป้าหมายที่อธิษฐานไว้

๕. ปัญญาบารมี หมายถึง ความรอบรู้ เป็นพื้นฐานที่ใช้เป็นเครื่องพิจารณาไตร่ตรอง รู้จริงตามเหตุและผล ช่วยในการวินิจฉัยเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาให้รู้ว่า ผิด ถูก ชั่ว ดีอย่างไร อะไรจริง อะไรเท็จและ อะไรเป็นสัจธรรม เลือกยึดถือเอาแต่สิ่งที่ถูกต้อง ละทิ้งสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ปัญญามีหลายระดับ และที่จะเป็นปัญญาบารมี ต้องเป็นปัญญาที่มุ่งให้เกิดความพ้นทุกข์ โดยอบรมศีลให้เจริญ ศีลอบรมสมาธิ และสมาธิอบรมปัญญาจนเกิดความรู้ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงจนสามารถตัดกิเลสได้ อย่างสิ้นเชิง พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญปัญญาบารมีโดยประการต่างๆ ดังนี้

(๑) ปัญญาบารมี ได้แก่ ปัญญาที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนรักและทรัพย์สิน แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สินไปก็จะไม่ละทิ้งสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญญา

(๒) ปัญญาอุปบารมี ได้แก่ ปัญญาที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกายไปก็จะไม่ละทิ้งสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญญา

(๓) ปัญญาปรมัตถบารมี ได้แก่ ปัญญาที่บำเพ็ญด้วยมุ่งพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน แม้จะสูญเสียชีวิตไปก็จะไม่ละทิ้งสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญญา

๖. ศีลบารมี หมายถึง การระวังกายไม่ให้ทำร้ายผู้ใด หรือสัตว์ใดจนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังวาจาไม่ให้กระทบกระทั่งผู้ใดหรือสัตว์ใด จนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังใจไม่ให้คิดที่จะทำร้ายผู้ใดหรือสัตว์ใด ไม่ให้มีความต้องการที่จะเห็นผู้ใดหรือสัตว์ใด ได้รับความพินาศย่อยยับ การรักษาศีลจึงเป็นการประคับประคองจิตไม่ให้ คิดร้าย ประคับประคองวาจาไม่ให้พูดร้าย ประคับประคองกายไม่ให้ทำร้ายใครๆ อันเป็นเหตุให้เขาเกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เกิดความโศกเศร้าเสียใจนั่นเอง สูงสุดเพื่อจะรักษาศีลจึงยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต

พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญศีล สั่งสมเป็นศีลบารมีมาตลอดเวลาช้านาน ทั้งรักษาจิตมิให้โกรธรักษาศีลไว้โดยไม่อาลัยแก่ชีวิตเลือดเนื้อ ดังนั้

(๑) ศีลบารมี ได้แก่ ศีลทีบำเพ็ญด้วยรักษายิ่งกว่าคนที่รักษาทรัพย์สิน เพื่อพระโพธิญาณแม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์ แต่จะไม่ยอมทำลายศีล

(๒) ศีลอุปบารมี ได้แก่ ศีลที่บำเพ็ญด้วยรักศีลยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน เพื่อพระโพธิญาณแม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกาย แต่จะไม่ยอมทำลายศีล

(๓) ศีลปรมัตถบารมี ได้แก่ ศีลที่บำเพ็ญด้วยรักษาศีลกว่าชีวิตของตน เพื่อรักษาศีลยอมสละได้แม้กระทั้งชีวิต ซึ่งเป็นการรักษาศีลอย่างสูงสุด โดยมีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย ดังพระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อครั้งเกิดเป็นภูริทัตว่า "ใครต้องการ หนัง เอ็น กระดูก หรือเลือดเนื้อของเรา" 

๗. ขันติบารมี หมายถึง ความอดทน อดกลั้นต่อความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ในเบื้องต้นเป็นความอดทนต่อความตรากตรำทั้งหนาวร้อน หิวกระหาย ทนต่อทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย สูงสุดสามารถทนต่อความเจ็บปวดใจ ต่อถ้อยคำที่คนอื่นดูถูกเหยียบหยาม เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญขันติบารมี ๓ ขั้น คือ

(๑) ขันติบารมี ได้แก่ ขันติที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักขันติเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สมบัติ ก็จะไม่ละทิ้งขันติ

(๒) ขันติอุปบารมี ได้แก่ ขันติที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้ารักขันติ เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน แม้จะสูญเสียอวัยวะร่างกาย ก็จะไม่ละทิ้งขันติ

(๓) ขันติปรมัตถบารมี ได้แก่ ขันติที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้ารักขันติ เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าชีวิตของตน แม้จะสูญเสียชีวิตก็จะไม่ละทิ้งขันติ

๘. อุเบกขาบารมี หมายถึง การวางใจให้เป็นกลาง แม้จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความลำบากยุ่งยากใจ ก็มีใจเป็นกลางไม่โกรธเกลียด มองทุกสิ่งและยอมรับตามความเป็นจริง อุเบกขาในเบื้องต้น เป็นการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ให้อคติมามีอิทธิพลทำให้เอนเอียงไปด้านในด้านหนึ่ง ด้วยอำนาจของความรักชัง อุเบกขาอย่างสูง ได้แก่ อุเบกขาในฌาน อันเป็นผลมาจากกำลังสมาธิที่เกิดจากความสงบระงับอย่างสูง 

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญอุเบกขาสูงสูดด้วยการเกิดเป็นพรหม ดำรงอยู่ในอุเบกขาอันเป็นสุขอย่างสูงสุด เพราะไม่มีความทุกข์สุขอันเป็นผลมาจากรักชัง แม้เช่นนั้นก็ทรงปรารถนาพระโพธิญาณ อุเบกขามี ๓ ขั้น คือ

(๑) อุเบกขาบารมี คือ อุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขายิ่งกว่ารักษาคนและทรัพย์สิน

(๒) อุเบกขาอุปบารมี คือ อุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขายิ่งกว่ารักษาอวัยวะของตนเอง

(๓) อุเบกขาปรมัตถบารมี คือ อุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขายิ่งกว่ารักษาชีวิตของตน

๙. สัจจบารมี หมายถึง ความจริง หรือความซื่อตรง พูดไว้อย่างไรก็ยอมรับตามนั้น ตั้งใจไว้อย่างไรก็ทำตามนั้น มุ่งแสวงหาความจริงหรือความถูกต้องเที่ยงธรรม และรักษาความเที่ยงธรรมไว้ ลักษณะแห่งสัจจบารมีทางกาย ได้แก่ การตั้งสัจจะกับตนไว้ว่า จะไม่ทำสิ่งชั่วร้าย จะไม่พูดสิ่งชั่วร้าย และจะไม่คิดสิ่งชั่วร้ายโดยประการต่างๆ จะทำแต่สิ่งที่ดีงาม จะพูดแต่คำจริง คำอ่อนโยน คำที่ทำให้เกิดความสามัคคีก่อให้ประโยชน์ จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่อิจฉาตาร้อน เมื่อตั้งสัจจะไว้อย่างนี้แล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตารักษาสัจจะด้วยความซื่อสัตย์ต่อความตั้งใจของตน

สัจจบารมีในเบื้องต้น ได้แก่ ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ต่อการงาน ซื่อสัตย์ต่อบุคคล และซื่อสัตย์ต่อความเที่ยงธรรม สูงสุดได้แก่การรักษาสัจจะยอมสละได้แม่ชีวิต เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญสัจจบารมีอย่างแรงกล้า ไม่ยอมทิ้งสัจจะที่ได้พูดไว้ แม้จะต้องสละชีวิต ๓ ขั้น คือ

(๑) สัจจบารมี ได้แก่ สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน แม้จะสูญเสียคนรักและทรัพย์สมบัติ ก็จะไม่ละทิ้งสัจจะ

(๒) สัจจอุปบารมี ได้แก่ สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน แม้จะสูญเสียคนอวัยวะร่างกาย ก็จะไม่ละทิ้งสัจจะ

(๓) สัจจปรมัตถบารมี ได้แก่ สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน แม้จะมีอันตรายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ก็จะไม่ละทิ้งสัจจะ

๑๐. ทานบารมี หมายถึง การให้เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ขาดแคลน เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นการผูกมิตรภาพไมตรีจิต หรือเพื่อบูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นการบูชาคุณหรือตอบแทนคุณ หรือเป็นการบำเพ็ญบุญในบุญเขต ในเบื้องต้นได้แก่การสงเคราะห์ผู้อื่นและสัตว์อื่นด้วยวัตถุสิ่งของ เรียกว่า "อามิสทาน" นับตั้งแต่ญาติพี่น้อง พวกพ้อง สมณะพราหมณ์ผู้ทรงศีล และสัตว์เดรัจฉาน ตามโอกาส และเหมาะสมแก่ฐานะของคนนั้นๆ 

สูงขึ้นไป ได้แก่ การให้ธรรมะเป็นทาน ตลอดจนการแนะนำ สั่งสอนให้ผู้อื่นคิดดีทำดี ให้เขาสามารถครองชีวิตอยู่ได้ด้วยความดีงาม เป็นการสงเคราะห์โดยธรรม เป็นการให้ปัญญาแก่เขาได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและมีคุณค่า เรียกว่า "ธรรมทาน"

พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิโพธิญาณ ได้ทรงบำเพ็ญทาน ทรงสั่งสมเป็นทานบารมีมาช้านาน ทานบารมีของพระองค์ ได้เต็มยิ่งขึ้นตามลำดับ ๓ ขั้น ดังนี้

(๑) ทานบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์ โดยมีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย หวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนคนรักและทรัพย์สมบัติ เพื่อพระโพธิญาณจึงยอมให้ทานได้แม้กระทั่งคนรักและทรัพย์สมบัติ

(๒) ทานอุปบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละอวัยวะ หวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนอวัยวะร่างกาย เพื่อพระโพธิญาณจึงยอมให้ทานได้แม้กระทั่งอวัยวะร่างกาย

(๓) ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละชีวิต หวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต เพื่อพระโพธิญาณจึงยอมให้ทานได้แม้กระทั่งชีวิต 
***************
ขอขอบคุณ บทความนี้จาก   http://www.watconcord.org/teachings/teachings-25/377-2012-08-07-04-37-57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น