วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สมบัติอันประเสริฐ


    ๑.คติสมบัติ นั้นได้แก่เราเกิดมาเป็นคนเป็นมนุษย์นี้ อันนี้เป็นสมบัติอันหนึ่งหาได้ยากในการที่จะเกิดเป็นคนต้องมีบุญวาสนาบารมีที่จะได้เกิดมาเป็นคน
    ๒.กาลสมบัติ  ที่เราได้มาพบศาสนาของพระพุทธเจ้านี้เป็นการยาก เราพบพระวินัย พบพระสงฆ์ พบพระธรรม วินัยนั้น เราก็มีทุกบาทก้าวเราระมัดระวังเป็นศีล  พบพระธรรรม คือการเจริญวิปัสสนาในแนวสติปัฏฐานทั้ง ๔  นี้แหละเป็นกาละ  เป็นสมบัติอันประเสริฐ ที่เรานั้นมาพบเกิดมาพบพระธรรม พระวินัยของพระพุทธเจ้า
    ๓.กุลสมบัติ เราเกิดในตระกูลที่ดี พ่อแม่เรานับถือพุทธศาสนาพวกเราก็ได้เข้าสู่การนับถือศาสนาพระพุทธเจ้า เพราะตระกูลเราเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา เราได้มาตามตระกูล ตามปู่ย่า ตายายของเรา ได้แสดงให้เห็นในที่เราเกิดมาเมื่อเป็นเด็กเล็ก ๆ เราได้เห็นพ่อเห็นแม่ของเราได้ไปวัดไปวาตระกูลของเรานี้นับถือพระพุทธศาสนา
   ๔.อุปธิสมบัติ  อุปธิ นั้นได้แก่การที่สมบัติของเราทั้ง ๖ ประการ คือ ตา หู จมูก กาย ใจ สมบัติทั้ง ๖ ประการ อุปธิสมบัติคือการที่เราไม่เป็นคนบ้าใบ้เสียจิตใจ ได้เป็นคนปกติดีมีกายมีใจอันสบายรับรู้ทั้งทวารทั้ง ๖ อันนี้เป็นสมบัติอันล้ำค่าเราจะแลกเอา สมบัติโลกิยะและโลกุตตระสมบัติได้  ในเวลานี้เราเอา ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ สมบัติอันนี้มาทำให้แลกเอา โลกุตตระสมบัติ
..........................
(จากหนังสือ ธรรมะจากหลวงปู่ ๑๖  พระธรรมมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร)

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อาหาร


สัมมาทิฏฐิสูตร...สูตรว่าด้วยความเห็นชอบ
      พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ เชตวนาราม พระสารีบุตรได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องความเห็นชอบ โดยยกเอาการรู้จักอกุศลและมูลรากของอกุศล การรู้จักกุศลและมูลรากของกุศลขึ้นแสดงก่อน เมื่อภิกษุทั้งหลายถามถึงปริยายอย่างอื่นอีก ก็แสดงยักย้ายนัยเรื่อย ๆ ไปอีก ๑๕ ข้อ (รวมเป็น ๑๖ ข้อทั้งนัยแรก)....
     สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบอีกข้อหนึ่ง คือ ความรู้จักอาหาร  รู้จักอาหาระสมุทัย เหตุเกิดแห่งอาหาร รู้จักอาหารนิโรธ ความดับอาหาร และรู้จักอาหาระนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางให้ถึงความดับอาหาร
      คำว่า อาหาร นั้นมิใช่หมายความถึงเพียงอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอาหารอย่างอื่นด้วย ท่านพระสารีบุตร ได้แสดงอธิบายอาหารไว้ ๔ ประการ คือ
     ๑.กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว หมายถึง อาหารที่บุคคลและสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายบริโภค และหมายคลุมถึงอาหารทุกอย่างที่บริโภคสำหรับบำรุงเลี้ยงร่ายกาย  เป็นอาหาร ของ รูปธรรม
     ๒.ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ หมายถึงอายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณ มาประชุมกันเรียกว่า สัมผัสหรือผัสสะ อันแปลว่ากระทบ เป็นอาหาร แห่ง นามธรรม คือ เวทนา  สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่เกิดสืบเนื่องกันไป
     ๓.มโนสัญเจตนาหาร คือความจงใจ เป็นอาหารของกรรม กรรมคือการงานที่บุคคลกระทำ  กรรมที่กระทำทุกๆ อย่าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรือบุญกรรม ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมหรือบาปกรรม ย่อมมีเจตนา คือความจงใจหรือมโนสัญเจตนา เป็นเหตุคือเป็นอาหาร เป็นปัจจัยซึ่งนำผลมาให้บังเกิด กรรม
     ๔.วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ วิญญาณเป็นอาหารสำคัญ ของนามรูป หรือของขันธ์ ๕ หรือว่าของรูปกายนามกาย เมื่อวิญญาณนี้ยังอยู่ นามรูปก็ยังดำรงอยู่ แต่เมื่อปราศจากวิญญาณเสียแล้ว นามรูปก็เป็นอันว่าแตกสลาย ฉะนั้นวิญญาณจึงเป็นอาหาร ของ นามรูป
*******
(จากหนังสือ พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน และเทปธรรมบรรยาย อบรมจิต โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช)

  *******