วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พระพุทธเจ้า

 


หากตัวเอกในบทละครโศกนาฏกรรมของเช็คสเปียรส์เป็นเจ้าชายอินเดีย ไม่ใช่เจ้าชายเดนมาร์ก  แฮมเล็ตอาจมีบทรำพึงรำพันเชิงปรัชญาว่า "จะ(มีชีวิต)อยู่หรือจะไม่อยู่ นั่นคือข้อกังขา หรือจะทั้งอยู่และทั้งไม่อยู่ หรือจะอยู่ก็ไม่ใช่ไม่อยู่ก็ไม่ใช่"  เพราะปรัชญาอินเดียมีทางเลือกที่ละเอียดกว่าปรัชญาตะวันตก  


ในวัยนั้น แฮมเล็ตคงจะครุ่นคำนึงถึงปัญหาโลกแตกที่มีทางเลือกสี่ทางนี้ระหว่างเรียนในสำนักตักศิลาเป็นแน่แท้ และหากได้พบพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แฮมเล็ตก็อาจจะยิ่งสับสนไปใหญ่ หรือว่าบางทีอาจจะไม่สับสนเท่านี้ก็ได้  เนื่องจากพระรูปนั้นคงสอนว่า ทางเลือกทั้งสี่นี้ไม่อาจใช้กับผู้บรรลุธรรมได้


ครั้งหนึ่ง โทณพราหมณ์รู้สึกทึ่งเมื่อเห็นรอยพระบาทของพระพุทธองค์ จึงทูลถามว่าทรงเป็นเทวดา คนธรรพ์ หรือยักษ์ ทรงตอบว่าไม่ได้เป็น  พราหมณ์จึงทูลถามอีกว่า ถ้าอย่างนั้นทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาหรือ ทรงรับสั่งว่าไม่ได้เป็น  ทรงเป็น 'พระพุทธเจ้า'  ต่างหาก  พุทธดำรัสนี้แสดงว่าไม่ได้ทรงแยกหมวดหมู่ของความเป็นพุทธะออกมาอีกประเภท  แต่ทรงกล่าวถึงโลกุตรธรรมอันพ้นไปจากความเข้าใจของมนุษย์


การจัดประเภทและหมวดหมู่เป็นอุบายอันมีประโยชน์ในการจัดระเบียบข้อมูลให้นำไปใช้ได้  ทว่า  ความจริงสูงสุดอยู่นอกเหตุเหนือผลจนไม่อาจจัดลงในกรอบความคิดอันจำกัดของมนุษย์ได้  จึงเหลือวิสัยที่มนุษย์จะใช้ภาษาไปอธิบายสิ่งที่อยู่เหนือภาษาได้


มีทางเดียวที่วางใจได้ว่าจะช่วยให้เราเข้าถึงปัญหาลึกซึ้งของความเป็นพุทธะ นั่นคือการลงมือปฏิบัติธรรม  ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระวักกลิว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นพระตถาคต" 


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

******

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid038FzZTUarDupKLosiHKJ5hhSV3Ym7MJosnjU73S1o7BpsDZjchqU1R3B7EuAVVdnfl&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น